Skip to main content
sharethis

ณัฏฐา มหัทธนา ชี้ระบอบ คสช. เปรียบระบอบมาเฟีย มีกำลังคือกองทัพ องค์กรอิสระเป็นสิ่งค้ำยันระบอบ และมีรัฐธรรมนูญเป็นดั่งกฎหมู่ ย้ำต้องทำให้ คสช. ถึงตอนอวสาน เร่งสร้างความเข้าใจให้คนในสังคม รู้เท่าทันปฏิบัติการสร้างความเกลียดชัง

แฟ้มภาพประชาไท

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2562 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เวลาประมาณ 16.00 น.  ตามเวลาในประเทศไทย ณัฏฐา มหัทธนา หรือ “โบว์” นักกิจกรรมและแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้กล่าวปาฐกถาในงานสมัชชาประชาธิปไตย จัดโดย สมาคมนักประชาธิปไตยไร้พรมแดน ที่นำโดย จรัญ ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ลี้ภัยทางการเมือง

ณัฏฐาได้กล่าวถึงประเด็นที่สำคัญสามประการคือ นิยามของระบอบประยุทธ์ หรือ ระบอบ คสช. ทำไมจึงต้องเอาชนะระบอบนี้ และสุดท้ายคือจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ระบอบนี้ไปถึงจุดอวสาน

000000

ระบอบ คสช. ระบอบมาเฟีย - สร้างกฎเอง ใข้กำลังคุมเอง

5 ปีที่ผ่านมาในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เราพอจะเห็นการจัดการประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง ด้วยอำนาจพิเศษอย่าง มาตรา 44 วิธีใช้คือการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. หลายฉบับ ซึ่งถูกนำมาบังคับควบคุมประชาชนเสมือนกฎหมาย หนึ่งในอำนาจที่น่าสนใจนั้นคือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรียกคนมาพูดคุยสอบสวน โดยใช้ชื่อกระบวนการนี้ว่า “การปรับทัศนคติ” ส่งผลให้ประชาชนที่เห็นต่างทางการเมืองจำนวนนับพันถูกเรียกปรับทัศนคติ ซึ่งอำนาจเหล่านี้กำลังถูกโอนย้ายไปยัง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อันเป็นกองกำลังที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อภารกิจเฉพาะคือการปราบปรามคอมมิวนิสต์ และมีการขยายกำลังและเตรียมความพร้อมในยุค คสช. ณัฏฐามองว่านี่คือ “ระบอบมาเฟีย” อันเป็นดั่งนิยามความหมายของ “ระบอบประยุทธ์” หรือบางคนเรียกว่า “ระบอบ คสช.”

อ่านเรื่อง กอ.รมน. เพิ่มที่ :

สุรชาติ บำรุงสุข: บทบาทที่ไม่หายไปของ กอ.รมน. และการเกิดขึ้นของอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง

พวงทอง ภวัครพันธุ์: ‘มวลชนจัดตั้ง’ ของทหารในยุคต้านประชาธิปไตย เมื่อพวกเขาอยู่รอบตัวเรา

ณัฏฐาอธิบายว่า ปกติมาเฟียจะมีกองกำลังเป็นของตนเอง ซึ่ง คสช. มีทั้งกองทัพ แม้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีการตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งทำให้องค์กร คสช. สิ้นสุดลง แต่แท้จริงแล้ว คสช. ไม่ได้หายไปไหน เพราะมีการถ่ายอำนาจสำคัญที่เคยอยู่ในยุค คสช. เข้าไปอยู่ใน กอ.รมน. ซึ่งเป็นระบบที่เข้มแข็งมาก จะเห็นได้ว่า คำสั่ง คสช. บางฉบับ อย่างเช่น คำสั่งที่ให้อำนาจทหารเรียกคนมาปรับทัศนคติ หรือสอบสวนอะไรก็ได้ โดยยังไม่ต้องมีการดำเนินคดี หรือตั้งข้อกล่าวหา อำนาจเหล่านั้นก็จะถูกถ่ายโอนไปยัง กอ.รมน. ซึ่งถูกกำกับโดยคนที่เป็นหัวหน้า คสช. ปัจจุบัน โดยที่ภายใต้การกำกับนั้น มีทั้ง ทหาร ตำรวจ อัยการ และผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นอำนาจที่กำกับกระบวนการยุติธรรมเกือบจะทั้งหมด เหลือแค่ศาล ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับนี้ แต่ไม่รู้ว่าจะได้อิทธิพลจากสิ่งนี้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้การถ่วงดุลอำนาจหายไป ถ้าตำรวจเป็นคนตั้งข้อหา แล้วอัยการก็อยู่ภายใต้การกำกับของคนเดียวกัน ถ้าผู้ต้องหาเกิดเป็นคนที่อยู่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล หรือต่อต้านคนที่กำกับ กอ.รมน. อยู่ ถามว่าความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้ที่ไหน?

ณัฏฐาเปรียบเทียบเพิ่มเติมให้เห็นลักษณะของระบอบมาเฟีย กับระบอบ คสช. ว่า หนึ่ง มีกองกำลังเป็นของตัวเอง และสองมีอำนาจที่สร้างขึ้นด้วยกฎของตัวเอง

“ปกติมาเฟียก็จะมีกฎหมู่เป็นของตัวเอง กฎของตัวเองของระบอบ คสช. ก็เริ่มมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญแล้ว ที่ให้อำนาจมาตรา 44 เอาไว้ มีคำสั่ง คสช. ที่จะชอบด้วยกฎหมายตลอดไป ด้วยการรับรองของมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ 2560 นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญดังกล่าว ยังมีการกำหนดให้มี ส.ว. 250 คน ที่มาจากการเลือกของ คสช.แล้วก็ได้ผลอย่างที่เห็น คือ เราได้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรี จากคนที่เขาเลือกมาเอง แล้วมันไม่ใช่แค่ ส.ว. 250 คนนี้ เพราะด้วย ส.ว. 250 คนนี้ยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพรรคการเมือง เราจึงเห็นการตสัตย์ของพรรคการเมืองอย่าง ประชาธิปัตย์ เราจึงเห็นการตบัติสัตย์ของพรรคการเมืองอย่าง ภูมิใจไทย ที่เป็นการตัดสินใจโดยมีพื้นฐานว่า ยังไงอีกฝั่งหนึ่งก็รวมไม่ได้ 376 เสียง เขาจึงตัดสินใจแม้ว่าจะต้องเดิมพันกับอนาคตตัวเองเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะมี ส.ว. 250 เสียง ทดอยู่ในใจ เพราะฉะนั้น ส.ว. 250 คน มีผลกระทบโดยตรงที่ทำให้เกิด คสช. ภาคสอง หรือระบอบประยุทธ์ ภาคสอง” ณัฏฐา กล่าว

เธอเห็นว่า ระบอบประยุทธ์เป็นระบอบที่ใช้การเลือกตั้ง “ฟอกตัว” ให้กับตัวเอง มีการถกเถียงกันว่าต่อไปนี้เราจะเรียกเขาว่าอะไร เราจะยังเรียกเขาว่ารัฐบาลเผด็จการอยู่ได้หรือไม่ เพราะว่าเขาผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว เธอมองว่า เป็นคำถามที่หน้าเศร้า เพราะการฟอกตัวมันทำให้ได้ผลจริงๆ จนบางคนคิดว่าจะเรียกเขาว่าเผด็จการได้หรือเปล่า

ณัฏฐายังกล่าวเพิ่มเติมถึงองค์กรอิสระในยุค คสช. ว่าเป็นมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ได้เกิดแค่ ตำรวจ ศาล แต่ยังรวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่กระทำโดยองค์กรอิสระ เช่น กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ป.ป.ช. เราได้เห็นการตัดสินเรื่องนาฬิกา เราได้เห็นการคำนวนสูตร ส.ส. พิสดาร เราได้เห็นการปฏิบัติสองมาตรฐานกรณี ส.ส. ถือหุ้นสื่อ เราได้เห็นเรื่องบางเรื่องที่ถูกส่งไปไม่ถึงศาลรัฐธรรมนูญสักที เพราะว่าถูกผู้ตรวจการแผ่นดินปัดตก สิ่งเหล่านี้คืออำนาจที่ค้ำยันระบอบประยุทธ์เอาไว้

ผลพวงมรดก คสช. ทำภาคการเมือง+ปชช. อ่อนแอ ระบอบ คสช. ต้อง End Game

ประเด็นถัดมาที่ณัฏฐาพูดถึงคือ ทำไมเราต้องเอาชนะระบอบประยุทธ์ และทำไมเราต้องทำให้ คสช. ภาคสอง กลายเป็น คสช. “End Game” หรือไปสู่จุดอวสาน

เธอกล่าวว่า ระบอบ คสช. เป็นระบอบที่บิดเบือนอำนาจประชาชน ทำลายหลักการ “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” ทั้งหมด เพราะเรามี ส.ว. 250 คน ที่ถูกเลือกโดยคนคณะเดียว ในขณะที่ประชาชนชาวไทยเลือก ส.ส. ได้ 500 คน แต่ คสช. คณะเดียวเลือกได้ 250 คน นอกจากนั้น ระบบการเลือกตั้งที่สร้างขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ 2560 ยังทำให้ภาคประชาชนและภาคการเมืองอ่อนแอ แม้ว่าผลในทางรูปธรรมจะเห็นว่า พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมากๆ กลายเป็นว่าเหมือนถูกลงโทษด้วยการไม่ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ นั่นหมายความว่าบุคคลแถวหน้าๆ ของพรรคการเมืองนั้น ถูกกีดกันไม่ให้เข้าสภา ด้วยรัฐธรรมนูญแบบนี้ ซึ่งเอื้อให้เกิดพรรคเล็กบางพรรคที่ได้ไม่กี่หมื่นเสียง ได้ ส.ส. เข้าไปในสภา เกิดรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก

สิ่งเหล่านี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพรรคการเมืองออ่นแอ ก็หมายความว่าประชาชนอ่อนแอด้วย เนื่องจากพรรคการเมืองคือ ตัวแทนของประชาชน ตลอดห้าปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองถูกสร้างภาพให้กลายเป็นสัตว์ การชุมนุมถูกสร้างให้กลายเป็นเครื่องมือที่ชั่วร้าย สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนอ่อนแอ 

“เมื่อเกิดความอ่อนแออย่างนี้ แน่นอนว่า รัฐบาลก็จะมีเสถียรภาพไม่มั่นคง นี่ยังไม่รวมกับศักยภาพในการบริหารประเทศ ความไม่มั่นคงไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคง นั่นหมายความว่าประเทศเราถอยหลังไปแล้วห้าปี แล้วการมีรัฐบาลโดยรัฐธรรมนูญ 2560 จะทำให้เราถอยหลังไปอีกขนาดไหน” ณัฏฐา กล่าว

ณัฏฐาอธิบายว่า ที่ใดที่มีสงคราม หรือมีความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้น ร้อยทั้งร้อยเกิดจากสิ่งหนึ่งที่หายไปคือ ความยุติธรรม ที่ไหนไม่มีความยุติธรรม บุคคลกลุ่มคนกลุ่มใดที่ประสบกับความอยุติธรรม สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือความไม่พอใจ เกิดซ้ำๆ ก็น้อยใจ โกรธ เจ็บปวด ความเจ็บปวดถ้าเกิดขึ้นมากพอคนเราจะเกิดความแค้น เมื่อไหร่มีความแค้นเกิดขึ้นจากความอยุติธรรมของระบบต่างๆ สันติภาพจะหายไป

“เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าคุณอยู่กับนายกฯ โง่ แล้วแค่เศรษฐกิจแย่ แต่มันคือระบบทั้งระบบมันอำนวยความยุติธรรมไม่ได้ แล้วภาคประชาชนอ่อนแอจนเกิดความคับแค้น เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ถ้าเราไม่ต้องการให้สันติภาพในประเทศไทยหายไป สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องมีการพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องหยุดระบอบนี้โดยเเร็ว และทำให้ระบอบ คสช. end game” ณัฏฐา กล่าว

สร้างพลังประชาชนล้มมาเฟีย คสช.

ในช่วงท้ายณัฏฐากล่าวถึงวิธีการที่จะทำให้ คสช. ไปถึงจุดอวสาน และเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จ เธอกล่าวถึงรูปธรรมที่จะทำให้อำนาจแบบเดิมหายไปก็คือ “การเข้าสู่อำนาจอย่างชอบธรรม” ต้องเกิดขึ้น หมายความว่า พรรคการเมืองปกติทุกพรรค จะต้องขึ้นสู่อำนาจอย่างเป็นธรรม ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญต้องเกิดขึ้นจากพรรคการเมืองร่วมกับภาคประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เรียกได้ว่าแก้ไม่ได้ด้วยกลไกทุกอย่างที่เป็นกับดักไว้ แค่ต้องใช้เสียง ส.ว. กลุ่มหนึ่งมาหนุน ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะขนาดโหวตนายกรัฐมนตรี ส.ว. ทั้งหมดยังโหวตให้คนๆ เดียว นั่นหมายความว่าเสียงเขาไม่แตกแน่นอน ดังนั้นการเมืองภาคประชาชนจะหยุดทำงานไม่ได้เลย

“จริงๆ ก่อนการเลือกตั้ง โบว์คิดไว้เลยว่า หลังเลือกตั้งจะหยุด ไปใช้ชีวิตปกติ นั่นคือแผนการชีวิตที่มีให้กับตัวเอง ไปทำงานที่ถนัด คืองานสื่อมวลชนกับงานสอนหนังสือ ปรากฏว่า เลือกตั้งมาจะสี่เดือนแล้ว ก็เห็นอนาคตตัวเองว่า ยังคงต้องวนเวียนอยู่ แม้ว่าจะลดบทบาทลง เนื่องจากมีตัวแทนในสภา ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็อยากจะให้โอกาสให้เขาได้ทำงาน แต่เนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญคือเป้าหมายร่วมของทุกคน ภาคประชาชนจึงไม่สามารถที่จะหยุดบทบาทได้ ยังต้องมีเสียงสนับสนุน หาก ส.ส. ของเราจะแก้กฎหมาย หรือยกเลิก คำสั่ง คสช. ด้วยการออกพระราชบัญญัติมา ถ้าไม่มีเสียงประชาชนข้างนอกสนับสนุน มันอาจจะไม่มีพลังพอ” ณัฏฐา กล่าว

ณัฏฐาเชิญชวนว่า หลังจากนี้หากเราเห็นแคมเปญแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะจากพรรคการเมือง หรือภาคประชาชน ขอให้ทุกคนแสดงพลัง ออกไปร่วมกันลงชื่อ ออกไปร่วมงานเสวนา เผยแพร่ความรู้ จนกระทั่งให้เกิดฉันทามติร่วมกันของสังคมว่ารัฐธรรมนูญนี้ มันต้องแก้ เมื่อนั้นมันจะเกิดพลัง แล้วอย่าห่วงเรื่องวิธี เมื่อมีพลังเดี๋ยววิธีมาเอง ให้นึกถึงความเป็นไปได้เข้าไว้

ณัฏฐากล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องทำอันดับถัดไป “การปฏิรูปกองทัพ” โดยต้องทหารออกจากการเมืองให้ได้ และควรเป็นไปตามขั้นตอนของรัฐสภา รวมถึงต้องมีการเปลี่ยนวัฒนธรรม เอาทหารออกจากการเมือง ไม่ใช่เพียงแค่แก้กฎหมาย แต่ต้องทำงานทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น สื่อมวลชนไม่ควรให้พื้นที่กับผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เพราะข้อความที่ถูกสื่อสารออกมามักเป็นการ ไล่คนเห็นต่างออกนอกประเทศ การมีพื้นที่สื่อลักษณะนี้ยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับประเทศ เพราะฉะนั้น ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมความคาดหวังของสังคมต่อกองทัพ วัฒนธรรมท่าทีของสื่อต่อกองทัพ ท่าทีของพรรคการเมืองต่อกองทัพ รวมถึงต่อไปควรจะมีกฎหมายที่กำกับท่าทีของกองทัพ ถ้าคุณเกิดพูดอะไรที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของกองทัพภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็ควรมีบทลงโทษ

 

“ทุกวันนี้ทุกคนคงเห็นว่าแรงต้านมันค่อยข้างจะเยอะ แต่พูดคำว่าประชาธิปไตย ก็แทบจะโดนตราหน้าว่า ไอ้พวกประชาธิปไตยจ้า คำก็ประชาธิปไตย สองคำก็ประชาธิปไตย นี่เป็นปรากฏการณ์ที่วิปริตมาก เพราะประชาธิปไตย มันเอามาเป็นคำด่าคนได้ยังไง?” ณัฏฐา กล่าว

 

ประชาธิปไตย แปลว่า การเคารพหลักการ หนึ่งคนหนึ่งเสียง การรับฟังกัน การมีพื้นที่ให้กับความเห็นต่าง สิ่งเหล่านี้มันเป็นคำด่าได้อย่างไร ที่ประชาธิปไตยมันกลายเป็นคำด่าได้ นี่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขก่อน มันเป็นคำด่าได้ เพราะเรามีคำแปลไม่เหมือนกัน ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งสร้างคือ ภาพที่ตรงกัน นิยามที่ตรงกัน ของสามสิ่ง คือ

 

หนึ่ง ประชาธิปไตย ทำอย่างไร ให้คนไทยไม่รู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ใช่คำด่า

 

สอง สิทธิมนุษยชน วันนี้ลองไปถาม พลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตร ถามว่าสิทธิมนุษยชนแปลว่าอะไร เวลาเราบอกว่าเขาละเมิดสิทธิ เขาย่อมมีคำแปลไม่เหมือนเรา มีคำแปลไม่เหมือนองค์การสหประชาชาติ หรือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยไปลงนามไว้ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องให้การศึกษษาว่า 30 ข้อในปฏิญญามีอะไรบ้าง คนไทยต้องรู้จัก ซึ่งเราสามารถให้คำความรู้ในได้ในวันที่โลกการสื่อสารไร้พรมแดน

 

สาม หลักนิติธรรม เราต้องโต้การบิดเบือนคำว่ากฎหมายที่เกิดขึ้นในห้าปีที่ผ่านมาให้ได้ ระบอบประยุทธ์คือ ระบอบที่ใช้คำว่ากฎหมายพร่ำเพื่อมากที่สุด ตัวอย่างเช่น เราออกไปชุมนุมบอกว่าเราทำผิดกฎหมาย ถามว่าข้อหาที่ตั้งให้เราคืออะไร ข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร จากการเดินไปอ่านแถลงการณ์หน้าทำเนียบรัฐบาล แล้วมีการตั้งข้อหาการจราจรให้เราบอกว่าเรากีดขวางการจราจร “โบว์เดินเท้านะ แต่ตำรวจปิดทั้งถนน บอกว่าเรากีดขวางการจราจร”

 

ณัฏฐากล่าวด้วยว่า รัฐบาลมักบอกว่าพวกนี้ทำผิดกฎหมาย แต่แท้จริงแล้วกลับมีการใช้กฎหมายผิดประเภท อย่างเช่น กฎหมายอั้งยี่ ซ่องโจร ทั้งที่ประชาชนเพียงแค่ออกมาแสดงออกอย่าสันติ แล้วก็บอกว่าทำผิดกฎหมาย รวมถึงกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องถือเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนจะได้รับคำตัดสิน แต่ในประเทศไทยมีการฝากขังในคดีที่ไม่เข้าเงื่อนไข บุคคลต้องหาเงินประกันตัวมาเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ในปฏิญญาสากล หลักนิติธรรมสากลบอกว่า “ต้องถือเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อน” การจ่ายเงินประกันสูงๆ คือการลงโทษล่วงหน้า แต่เพราะว่าคนไทยเอง หรือแม้ว่าศาลเอง ดูตัวบทกฎหมายแล้วไม่ได้นึกถึงความยุติธรรม ก็จึงมีพฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นการให้ความรู้เรื่องหลักนิติธรรมคืออะไรจึงสำคัญ เพื่อให้มีการหยุดการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการกับผู้เห็นต่าง

จากที่กล่าวเรื่องการสื่อสารภาพที่ตรงกันข้างต้น ณัฏฐาย้ำว่านี่เป็นภารกิจเฉพาะหน้าก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายของประชาธิปไตยได้

“สังคมที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเราสิ่งที่เขาต้องการที่ปลายทางภาพมันเหมือนกันไหม ถ้าภาพมันไม่เหมือนกัน อะไรที่ต่างกัน เพราะที่สุดแล้วภาพมันอาจจะไม่ได้ต่างกันขนาดนั้นอย่างที่เราคิดก็ได้ แต่ด้วยจินตนาการของแต่ละฝ่ายที่ต่างกัน มันจึงทำให้เราคุยกันไม่รู้เรื่อง ดังนั้นสื่อสารภาพที่ตรงกัน แล้วการใส่ร้ายป้ายสีจะน้อยลง” ณัฏฐา กล่าว

เราจะสู้กับ IO ที่สร้างความเกลียดชังได้อย่างไร

นอกจากการสื่อสารในระยะยาวแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เธอได้พูดถึงไว้อย่างน่าสนใจก็คือการทำงานระหว่างทาง เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นดั่งภารกิจเฉพาะหน้า โดยยกตัวอย่างเรื่องของการทำร้ายนักกิจกรรม และการปลุกกระแสความเกลียดชัง ด้วยปฏิบัติการทางจิตวิทยา หรือ “IO” ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนจะต้องรับมือและโต้กลับอย่างมีสติ

“วันนี้แน่นอนว่า ข่าวใหญ่ที่เราได้เห็นคือมีคนถูกทำร้าย นักกิจกรรมถูกทำร้ายรวมกันแล้วเกินสิบครั้ง นี่เราพูดถึงเฉพาะที่ถูกทำร้ายร่างกายนะ อย่าได้ลืมว่ามีการคุกคามในรุปแบบอื่นๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการไปเยี่ยมที่บ้าน การคุกคาม การข่มขู่หรือ IO แต่แน่นอนมันเห็นเป็นรูปธรรมคือการตีหัว” ณัฏฐา กล่าว

ณัฏฐากล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วสร้างความรู้สึกร่วมได้มากคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” เธอมองว่ากรณีนี้ไม่ได้ร้ายแรงไม่ได้มากไปกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนอื่น ก่อนหน้านี้มีคนที่เสียชีวิตไปแล้ว บางคนถูกตีซี่โครงหักอย่างกรณีของ เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับจ่านิวมันรุนแรง เพราะว่าด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้นมันน่าตกใจ จึงกระตุกให้สังคมมาสนใจเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วมันเป็นประโยชน์เพราะมันเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ทบทวนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับจ่านิว เป็นแค่เรื่องความเห็นต่างทางการเมืองหรือเปล่า

“คนที่จะเอาไม้เบสบอลไปตีใครโดยลักษณะที่หมายชีวิตหรือไม่แคร์ว่าจตะตายหรือเปล่า แค่ความคิดต่างมันไม่เกิดขึ้น แต่เป็นระดับของความเคียดแค้น ทีนี้มาดูว่าจ่านิวทำอะไรให้เขาเคียดแค้นขนาดนั้น จ่านิวเรียกร้องตรวจโกงอุทธยานราชภักดิ์ เรียกร้องตรวจโกงการเลือกตั้ง ต่อต้านอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายรัฐมนตรี แค่นี้ไม่มากพอที่ใครจะมาฆ่ากันแน่ๆ” ณัฏฐา กล่าว

ณัฏฐาชวนให้คิดว่า สิ่งที่เป็นความแค้นในการทำร้ายสิรวิชญ์คือเรื่องอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นอาจมาจากการสร้างเรื่องปั่นกระแสความเกลียดชัง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานก่อนที่สิรวิชญ์จะถูกทำร้าย คนทำแน่นอนอาจจะทำด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมือง ถ้าคิดด้วยเหตุผลคงไม่มีวัตถุประสงค์อื่น เพียงแต่เราไม่ฟันธงว่าใครทำ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าใครทำ

ณัฏฐากล่าวว่า สิ่งที่เราเห็นก็คือกระแสของความเกลียดชัง บางคนบอกว่าน่าจะตายไปเลย หรือบางคนสะใจ หรือคนที่บอกว่า “แล้วคนอื่นละ อยากให้โดนบ้าง” ณัฏฐามองว่าสิ่งนี้สำคัญกว่าว่าใครทำร้ายสิรวิชญ์ เพราะมีการสร้างความชอบธรรมให้ใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น จึงชวนย้อนกลับไปเรื่องที่บอกว่ามีการสร้างเรื่องที่ทำให้คนแค้น

“ถ้าเราไปดูที่เพจฝ่ายตรงข้าม เราจะเห็นทันทีว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น มันมีการป้ายสีเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของพวกเราเกิดขึ้น วันนี้ผู้ที่อยู่ฝั่งเรียกร้องประขาธิปไตยถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้า นี่คือหัวใจสำคัญของการทำให้เกิดการทำร้ายจ่านิว ในมุมมองของคนบางคนที่เขาอาจจะเสพสื่อเหล่านั้น แล้วมันตลกมาก เพราะทุกการเรียกร้องไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เราเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้ง เราเรียกร้องประชาธิปไตย แต่วันนี้มีการสร้างสงครามข้อมูลข่าวสารที่เรียกว่า IO ซึ่งไม่รู้ว่าใครทำ แต่เจตนาไม่ดีแน่ๆ ป้ายให้พวกเราทุกคน” ณัฏฐา กล่าว

ณัฏฐากล่าวว่า การป้ายสีเช่นนี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรง ดังนั้น ต้องกำจัดเงื่อนไขนี้ออกไป การโต้ตอบอย่างมีสติจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่าถ้าเราโกรธ เกลียด ด่ากลับกัน อันนี้เข้าทาง มันจะมีแต่สงครามน้ำลาย แล้วทุกครั้งที่โต้ตอบไปด้วยอารมณ์ ความเกลียดชังก็เพิ่มมากขึ้น จนเกิดเป็นความแค้น ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งสองฝ่าย แล้วเมื่อนั้นสันติภาพจะหายไปจากสังคมไทย สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างมาในระยะเวลาหนึ่ง ไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้ ดังนั้นการจะแก้ไขก็ต้องอาศัยระยะเวลาอีกช่วงหนึ่ง แล้วการการต่อสู้ที่ยาวนานต้องอาศัยสมาธิและความอดทนค่อนข้างมาก อดทนต่อการเบี่ยงเบนความสนใจ

“ถ้าเราดูตั้งแต่โซเชียลมีเดียลามไปจนถึงสื่อหลัก มันก็จะมีความพยายามสร้างบทสนทนาที่ทำให้เกิดการโต้ตอบกัน สิ่งเหล่านี้เบี่ยงเบนความสนใจเราไปจากเป้าหมายหลักทั้งสิ้น เป้าหมายหลักคือเราจะสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เราจะสร้างนิยามที่ตรงกัน...เมื่อมันมีปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารแล้วโยนบทสนทนาที่ไม่ก่อประโยชน์ให้พวกเรา”ณัฏฐา กล่าว

ต่อมาคือ “อดทนกับความเจ็บปวด” ณัฏฐากล่าวว่ายังมีหลายคนเจ็บปวดในระดับที่คนไม่โดนไม่มีวันจะเข้าใจ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ความเจ็บปวดนำเราไปสู่ความเคียดแค้นจนถึงจุดที่มันยากที่เราจะใช้สติปัญญาในการต่อสู้ เพราะเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะไม่เกิด มันเป็นสารตั้งต้นของความรุนแรง แล้วเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นใครจะแพ้ “ฝ่ายเราจะแพ้” เขามีกองทัพ เขามีอาวุธ

“ตอนนี้เราถูกทำลายเครื่องมือหลายอย่างมาก อย่างการชุมนุมเป็นเครื่องมือที่ชอบธรรมที่เราควรจะใช้ได้ อย่างเช่น ฮ่องกง กฎหมายมาตราเดียวทำให้คนหนึ่งในห้าของเกาะฮ่องกงออกมาต่อต้านแล้วชนะ แต่เมืองไทยไปถึงตรงนั้นไม่ได้ เพราะตลอดห้าปีที่ผ่านมาการชุมนุมถูกทำให้เป็นเครื่องมือที่ชำรุด ด้วยวิธีการบอกว่าการขุมนุมเท่ากับความวุ่นวาย ออกมาเดี๋ยวก็โดนยิงหรอก เมืองไทยกระสุนจริงนะ เดี๋ยวเข้าทางนะ... แล้ววันนี้เข้าทางไหม เข้าทางทุกประตูเลย” ณัฏฐา กล่าว

ณัฏฐาทิ้งท้ายว่า วันนี้การสื่อสารที่เราต้องการคือวอยซ์ (voice) ไม่ใช่นอยซ์ เราได้ยินนอยซ์ (noise) เยอะมากเสียงด่าเสียงทะเลาะเสียงแซะ เหล่านี้คือนอยซ์ทั้งสิ้น มันคือเสียงซุบซิบที่เบี่ยงเบนเราจากประเด็นหลัก เรามีวอยซ์น้อยมากในขบวนการที่จะพาเราไปข้างหน้า พอมันมีนอยซ์เยอะมันกลบวอยซ์ พอพูดเรื่องสาระไม่สนใจไม่อยากฟัง เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรให้วอยซ์มันดังขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net