Skip to main content
sharethis

เปิดตัวหนังสือ ‘ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน’ เล่าถึงชุมชนที่กำลังจะสูญเสียอัตลักษณ์และถูกรัฐละเมิดสิทธิ หมู่บ้านที่อยู่มากว่า 100 ปี ก่อนถูกเผาและหายไปจากแผนที่ นักวิชาการเสนอแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ-วัฒนธรรมมีพื้นที่ให้ชุมชนดำรงอยู่

 


ภาพจาก benarnews.org

 

3 ก.ค. 62 วันนี้ที่ห้องประชุมชั้น 4 สถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีงานเปิดตัวหนังสือ ‘ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน’ และงานเสวนาวิชาการเรื่องชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน กับการขึ้นทะเบียนแก่งกระจานเป็นมรดกโลก จัดขึ้นโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

‘ใจแผ่นดิน’ ชุมชนที่กำลังจะสูญเสียอัตลักษณ์และถูกรัฐละเมิดสิทธิ

พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์ ผู้เขียนและเรียบเรียงหนังสือเล่าว่า หนังสือเล่านี้เป็นบทบันทึกเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้ของชาวบ้าน แกนนำในการเรียกร้องความเป็นธรรม ที่น่าสนใจคือการร่วมมือระหว่างเครือข่ายของชาวบ้าน และกระบวนการต่อสู้ที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญและได้เสนอทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้

ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ เจ้าหน้าที่จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ผู้เขียนและเรียบเรียงหนังสืออีกคนกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการรวบรวมข้อมูลนั้นเริ่มตั้งแต่ปี 54 โดยลงพื้นที่เพื่อนำข้อมูลมาทำคดี แต่พอลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ กลับพบความสูญเสียมากกว่านั้นคือ การสูญเสียจิตวิญญาณความเป็นชาติพันธุ์ของชุมชน จึงคิดว่าทำคดีอย่างเดียวไม่ได้แล้ว และทำการเก็บข้อมูลตั้งแต่นั้นมา

ทิพย์วิมลกล่าวว่า หนังสือ ‘ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน’ ซึ่งเรียบเรียงมาจากเอกสารและคำบอกเล่าที่สืบต่อกันมา จะสะท้อนเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ที่ต้องประสบกับชะตากรรมอันขมขื่น และหนังสือเล่มนี้เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดินที่กำลังจะสูญเสียอัตลักษณ์ ความเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม วิถีชีวิต วัฒนธรรมในการดำรงชีวิตของตนที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน นานนับร้อยปี

ทิพย์วิมลกล่าวถึง พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนกะเหรี่ยง ที่ถูกบังคับให้สูญหายไป ยังไม่ทราบชะตากรรมจนบัดนี้ กว่า 5 ปีแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สะท้อนให้เห็นว่า รัฐไทยยังไม่ยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ และสิทธิชุมชน รวมทั้งสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

 


ภาพจาก benarnews.org

 

‘ใจแผ่นดิน’ หมู่บ้านที่อยู่มากว่า 100 ปี ก่อนถูกเผาและหายไปจากแผนที่

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ‘ใจแผ่นดิน’ เป็นพื้นที่ไกลที่สุดของไทย เดินเท้าเป็นทางเดียวที่จะไปได้นอกจากการใช้เฮลิคอปเตอร์ ใช้เวลา 4-5 วัน อยู่ในป่าที่ใหญ่สุดในไทยคือผืนป่าแก่งกระจาน

คนที่อยู่ในชุมชนไม่ได้รับการติดต่อจากภายนอกเท่าไหร่นัก แต่เขาได้รับสัญชาติไทย พูดภาษาไทยได้น้อยมาก แต่คนเหล่านี้กลับถูกกระทำรุนแรงที่สุดเท่าที่พบในประวัติศาสตร์สังคมไทย ถูกเจ้าหน้าที่เผาบ้านกว่า 100 หลัง เผาทรัพย์สินทิ้ง ประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่ปรากฏในสังคมไทย

“ชาวบ้านกลุ่มนี้อยู่มานาน หลักฐานคือแผนที่กรมแผนที่หทารปี 2455 ระบุถึงชื่อหมู่บ้าน ใจแผ่นดิน แผนที่ปี 2512 ก็ระบุ หมู่บ้านใจแผ่นดินเพิ่งหายไปจากแผ่นที่เมื่อปี 2554 เมื่อมีการเผา ปัจจุบันหมู่บ้านนี้ไม่มีแล้วในไทย”

คนเหล่านี้ลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกเขา สู้ถึงศาลปกครองสูงสุด เป็นเรื่องน่าชมเชย เผชิญกับคำกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นคนค้ายา คนบุกรุก แต่บัดนี้ศาลปกครองก็ได้ยืนยันสิทธิชุมชนของคนกลุ่มนี้ ปู่คออี้ได้รับบัตรประชาชน ได้รับการยืนยันสิทธิในทรัพย์สิน และบ้านที่เจ้าหน้าที่เผาไป เรื่องเหล่านี้เป็นความพยายามของทุกคนที่ช่วยกัน” สุรพงษ์ระบุ

สุรพงษ์กล่าวต่อว่า แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อปี 2553 ที่ให้ยุติการจับกุม ตั้งคณะกรรมการเข้าไปดูแล ชาวบ้านยังไม่สามารถกลับใจแผ่นดินได้ ชาวบ้านในชุมชนยังไม่ได้รับเงินชดเชย รวมทั้งปู่คออี้ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ ชาวบ้านไม่ได้สู้เพียงเพื่อชุมชน แต่จะรักษาป่าให้พวกเราด้วย

ขณะเดียวกันสุรพงษ์แสดงความกังวลว่าขณะนี้รัฐพยายามจะยกพื้นที่นี้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นแห่งที่สามของไทย ด้วยการไล่คนปกาเกอะญอออก และอีกสองวันจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ เป็นเหตุให้ชาวบ้านมีความกังวล

 

เสนอแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ-วัฒนธรรมมีพื้นที่ให้ชุมชนดำรงอยู่

สุนี ไชยรส มหาวิทยาลัยรังสิตได้แสดงความเห็นต่อประเด็นการเสนอผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกว่า ไม่เคยปฏิเสธการเป็นมรดกโลก แต่ขอให้แก้ปัญหาที่เจ็บปวดคาราคาซังให้ได้ก่อน จากที่เสนอให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่ข้อเสนอของตนคือทำอย่างไรให้มรดกโลกทางธรรมชาติกับทางวัฒนธรรมไปด้วยกัน เพราะถ้าให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ วิถีชีวิตของพี่น้องชาวปกาเกอะญอจะจบลง ดังนั้นต้องเป็นมรดกโลกที่มีชีวิตของผู้คนดำรงอยู่ได้ ไม่ใช่มรดกโลกที่ดูแลแค่ธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้พี่น้องก็ไปเคลื่อนไหว หน่วยงานของยูเอ็นก็มาทักท้วงรัฐบาลหลายรอบ

“รัฐบาลควรต้องหยุดดำเนินการเรื่องนี้ก่อน ต้องรับฟังความเห็นและต้องให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการและตัดสินใจก่อนจะเป็นมรดกโลก เพราะไม่งั้นเท่ากับว่าบรรทัดฐานของวิถีชีวิตคนปกาที่อยู่มายาวนาน ถ้าประกาศเป็นมรดกโลกจะเท่ากับว่ายูเนสโกกำลังยอมรับต่อการละเมิดที่ขัดกับหลักการมรดกโลก ซึ่งบอกว่าต้องมีเรื่องราวของชุมชน ต้องมีส่วนร่วมของชุมชน สิ่งนี้รัฐบาลไทยต้องรับผิดชอบเพราะเป็นคนชงเรื่องมาตลอดและละเลยการแก้ไขปัญหา” สุนีกล่าว

สุนียังพูดถึงกรณีการจัดการเรื่องคนกับป่าในกรณีอื่นๆ ที่มีคนติดคุกมากมายเต็มไปหมด มีคดีมากมาย เช่น ชาวบ้านไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีผู้ถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 14 ราย รวม 19 คดี นับเป็นแสนๆคนที่อยู่ในภาวะล่อแหลม

ทั้งนี้สุรพงษ์ได้นำข้อเสนอของเครือข่ายปกาเกอะญอเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี ที่ได้เคยยื่นเป็นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2559 ว่าอ่านทบทวนให้ฟังถึงเรื่องที่ควรจะจัดการก่อนที่จะเป็นมรดกโลกดังนี้

1. ต้องให้ชุมชนชาวกะเหรี่ยงคือผู้กำหนดพื้นที่ทางวัฒนธรรมการทำกินโดยระบบไร่หมุนเวียน ในวงรอบ ไร่หมุนเวียน 10 ปีด้วยตนเอง

2. ต้องกำหนดให้พื้นที่ห้วยกระซู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัย ไร่หมุนเวียนร่วมกัน ระหว่างรัฐกับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่

3. ต้องให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้เลือกพื้นที่อาศัยด้วยตนเอง

4. ต้องให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้บริหารดูแลจัดการพื้นที่อยู่อาศัยและไร่หมุนเวียนด้วยตนเอง ในรูปแบบคณะกรรมการชุมชน

5. ต้องยอมรับวิถีวัฒนธรรม สิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชนของชาวกะเหรี่ยง

6. ในการเสนอพื้นที่กลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเพื่อเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ต่อคณะกรรมการมรดกโลก ต้องเป็นการเสนอร่วมกันโดยรัฐบาลไทยกับเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี

7. หากไม่สามารถยอมรับและดำเนินการตามข้อเสนอเหล่านี้ทั้งหมดได้ ชาวกะเหรี่ยงก็ไม่ยอมรับการประกาศกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของคณะกรรมการมรดกโลกและประเทศไทย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net