สุรพศ ทวีศักดิ์: Secularism ไม่ใช่การละทิ้งศาสนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


เมน็อคคิโอ (Menocchio) ชายชราผู้ตั้งคำถามต่อศาสนาและถูกเผาทั้งเป็น 
ที่มา
https://www.silpa-mag.com/culture/article_8136

บนเวทีอภิปรายแห่งหนึ่ง ผู้รู้ทางศาสนาอิสลามกล่าวว่า ตะวันตกพยายามเอาชนะโลกอิสลามทุกๆ ด้านด้วยแนวคิด “Secularism” ที่เป็นแนวคิด “ละทิ้งศาสนา” และพยายามแสดงความเหนือกว่าด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และความรู้สมัยใหม่ต่างๆ ที่มีร่องรอยมาแต่ยุคปรัชญากรีก แล้วมาเฟื่องฟูในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือ Renaissance และยุคสว่างทางปัญญาหรือ the Enlightenment 

ผมคิดว่าปัญหาสำคัญหนึ่งของผู้รู้ทางศาสนาทุกศาสนาเลยคือ เวลาวิพากษ์ความคิดอื่นเรามักวิพากษ์บน “วาระซ่อนเร้น” หรือ “agenda” ของตนเอง ทำให้มักไม่พูดความจริงทั้งหมดหรือไม่ก็มักพูดเกินจริง ด้วยเหตุนี้เวลาถกเถียงบนมุมมองทางศาสนา จึงมักจะมีปัญหาในเรื่องการใช้เหตุผล เรามักจะใช้ “ความเชื่อ” ซึ่งไม่เพียงแค่ยืนยันความเชื่อหรือศรัทธาในหลักศาสนาตนเองเท่านั้น(ที่เป็นเรื่องปกติ ไม่ผิดอะไร) แต่ยังเป็นการสร้างความเชื่อที่ผิดจากความจริงต่อความคิดที่ตรงกันข้าม(ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็น แต่ก็เป็นเรื่องปกติ)

อันที่จริง แนวคิด “Secularism” ที่แปลว่าฆราวาสนิยมบ้าง โลกวิสัยบ้าง ถ้าพูดให้ชัดคือเป็นแนวคิดที่ปฏิเสธ “อำนาจทางการเมืองแบบศาสนาสถาปนา” หรืออำนาจเทวสิทธิ์ของระบบกษัตริย์และศาสนจักร พูดอย่างรูปธรรมก็คืออำนาจผูกขาดของชนชั้นสูง ได้แก่ กษัตริย์ ขุนนาง นักบวช หรือผู้นำทางศาสนา ซึ่งเป็นอำนาจที่กลุ่มคนเหล่านี้ร่วมกันกำหนดขึ้นมา และแทนที่ด้วยอำนาจทางการเมืองที่เป็น “Secular แบบเสรีประชาธิปไตย” และ “Secular แบบสังคมประชาธิปไตย” 

ดังนั้น Secularism จึงเป็นแนวคิดหรืออุดมการณ์ขั้วตรงกันข้ามกับแนวคิดหรืออุดมการณ์ที่ยึดถืออำนาจทางการเมืองแบบศาสนาสถาปนาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอำนาจศาสนาคริสต์ อิสลาม พุทธ พราหมณ์ และอื่นๆ 

ถ้าจะบอกว่า Secularism ละทิ้งศาสนา ก็ชัดเจนว่าละทิ้งศาสนาแบบที่มีอำนาจทางการเมือง ทำไมจึงละทิ้ง? ก็เพราะว่าประวัติศาสตร์การเมืองภายใต้อำนาจสถาปนาของศาสนา คือประวัติศาสตร์การผูกขาดอำนาจไว้เฉพาะกลุ่มชนชั้นสูงคือกษัตริย์ ขุนนาง นักบวช หรือผู้นำศาสนาเท่านั้น ประชาชนทั่วไปไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีสิทธิเสรีภาพและมีส่วนร่วมทางการเมืองใดๆ และไม่มีแม้กระทั่งเสรีภาพทางศาสนา(แบบที่เรามีในปัจจุบัน) 

การเปลี่ยนประวัติศาสตร์อำนาจทางการเมืองแบบศาสนาสถาปนา มาสู่การเป็น secular แบบเสรีประชาธิปไตยผ่านทั้งประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสต์เอง การต่อสู้ทางความคิด และการปฏิวัติประชาธิปไตย 

เมื่อยกเลิกอำนาจผูกขาดแบบศาสนาสถาปนาลงได้ จึงเกิด Secular แบบเสรีประชาธิปไตย มนุษย์จึงมีความเป็น “ปัจเจกบุคคล” ที่มีสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจกำหนดตัวเองทางศีลธรรมและการมีส่วนร่วมทางการเมืองและจึงมี “เสรีภาพทางศาสนา” ได้จริง ดังนั้น Secularism จึงไม่ใช่การละทิ้งศาสนา แต่เป็นเรื่องของการทำให้ศาสนาไม่ใช่เรื่องของการใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจศาสนจักรบังคับยัดเยียดอีกต่อไป ปล่อยให้เป็นเสรีภาพที่แต่ละคนจะเลือกนับถือหรือไม่นับถือ คนที่ไม่นับถือศาสนาหรือเสนอความคิดเห็นโต้แย้งความเชื่อทางศาสนาก็ไม่ต้องถูกแขวนคอ เผาทั้งเป็น หรือติดคุกอีกต่อไป 

และศาสนาจะแยกเป็นกี่นิกาย จะมีศาสนาใหม่ๆ เกิดขึ้นมากน้อยอย่างไร ก็เป็นเรื่องสิทธิหรือเสรีภาพทางศาสนาที่รัฐไม่เข้าไปแทรกแซง ส่วนศาสนจักรก็มีกฎกติกาที่เป็นเอกเทศของตนเองแบบเอกชน ไม่เอาอำนาจรัฐไปใช้ควบคุมความเชื่อทางศาสนาและไม่เข้ามาก่ายก่ายแทรกแซงกิจการของรัฐ

โดยนัยนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่พูดแบบง่ายๆ ว่า Secular แบบเสรีประชาธิปไตย “กีดกันศาสนา” เพราะอันที่จริงเป็นเรื่องของการวาง “กติกาที่ฟรีและแฟร์” ระหว่างศาสนาต่างๆ นิกายต่างๆ และระหว่างผู้ที่ศรัทธาและไม่ศรัทธาผ่านหลักเสรีภาพทางศาสนามากกว่า ภายใต้ระบบอำนาจทางการเมืองแบบศาสนาสถาปนาทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างหากที่มักกีดกันศาสนาอื่นๆ และคนไม่มีศาสนา เพราะในระบบเช่นนั้นไม่เคยมีกติกาที่ฟรีและแฟร์เช่นนี้เลย 

อันที่จริงภายใต้ระบบอำนาจทางการเมืองแบบศาสนาสถาปนา ไม่เพียงแต่ไม่มีเสรีภาพทางศาสนาแบบสังคมเสรีเท่านั้น เสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางความคิดเห็นและอื่นๆ ก็ไม่เคยมี การปฏิเสธอำนาจทางการเมืองแบบศาสนาสถาปนาบนจุดยืน Secularism จึงมีเหตุผลเรื่องเสรีภาพ, ประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางสังคมบนฐานของความเสมอภาคในด้านต่างๆ อีกมาก

ปัจจุบันในประเทศอังกฤษยังมีการเคลื่อนไหวของเครือข่าย “National Secular Society” ที่ปฏิเสธสถานะประมุขศาสนจักรนิกาย “Church of England” ของราชินีและสถานะอภิสิทธิ์ของนักบวชนิกายดังกล่าวที่มีที่นั่งโดยตำแหน่งในวุฒิสภา เรียกร้อง “Secular democracy” และวิจารณ์ความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติด้วยอคติทางศาสนาที่เกิดขึ้นในการจัดการศึกษา พิธีแต่งงาน และอื่นๆ

รัฐไทยไม่ใช่ “รัฐโลกวิสัย” หรือ “Secular state” และไม่ใช่ “Secular แบบเสรีประชาธิปไตย” จึงมีอำนาจทางการเมืองทับซ้อนกันอยู่สองแบบ คือ “อำนาจแบบศาสนาสถาปนา” ที่เป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ กับ “อำนาจแบบประชาชนสถาปนา” คืออำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอันเป็นอำนาจแบบ secular 

ศาสนาเป็นกลไกของอำนาจแบบแรก และเมื่อศาสนาแสดงบทบาททางการเมืองก็มักจะเป็นไปเพื่อสนับสนุนอำนาจแบบแรก หรือไม่ก็เพื่อ “อภิสิทธิ์” ต่างๆ ขององค์กรศาสนานั้นๆ เอง เช่นเพื่อให้รัฐอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนา ให้อำนาจทางกฎหมายและงบประมาณแก่องค์กรศาสนา หรือให้องค์กรศาสนาส่งตัวแทนไปมีที่นั่งในสภา “โดยตำแหน่ง” เป็นต้น

จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การปฏิเสธ “การแยกศาสนาจากรัฐและการเมือง” ตามแนวคิด Secularism ในบ้านเรานั้น มีเหตุผลหลักๆ เพียงสองประการเท่านั้น คือ เพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองแบบศาสนาสถาปนาที่ศักดิ์สิทธิ์เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ และเพื่อปกป้องอภิสิทธิ์เกี่ยวกับอำนาจและผลประโยชน์ขององค์กรศาสนาต่างๆ 

ผลก็คือทำให้การเมืองบ้านเราไม่อาจสถาปนา Secular แบบเสรีประชาธิปไตยได้ และไม่สามารถวางกติกาที่ฟรีและแฟร์ทางศาสนาได้ รัฐเป็นเวทีแข่งกันมีอภิสิทธิ์ระหว่างศาสนาที่พยายามเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งในสังคมไทยก็ได้แก่พุทธกับอิสลาม คริสต์และศาสนาอื่นๆ เขาไม่ค่อยเข้ามายุ่งอะไรกับรัฐและการเมือง

คล้ายประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ เช่น ศรีลังกาและพม่าที่พยายามกีดกันศาสนาของคนส่วนน้อย หรือประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม คนพุทธและคนศาสนาอื่นๆ ก็ไม่ได้มีความเท่าเทียมกับชาวมุสลิมอย่างแท้จริง ขณะที่เราไม่ยอมรับฝรั่งเศสเรื่องห้ามสวมฮิญาบในพื้นที่สาธารณะ เราอาจลืมไปว่าประเทศมุสลิมบางประเทศห้ามพระภิกษุเดินทางเข้าประเทศ ดังนั้น รัฐที่ไม่เป็น Secular จึงไม่เคยมีเสรีภาพทางศาสนาในความหมายที่เปิดกว้างตามกรอบคิดเสรีนิยมได้จริง หากจะมีเสรีภาพทางศาสนาก้าวหน้าขึ้นมาบ้างก็เป็นเพราะความคิดแบบเสรีนิยมไปปรากฏอยู่ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราที่รับรองเสรีภาพทางศาสนา หรือในวิถีคิดของสังคม

เสรีภาพทางศาสนาในความหมายแบบเสรีนิยมไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากหลักความเชื่อหรือคำสอนศาสนาที่แสดงถึง “ความใจกว้าง” ของศาสนานั้นๆ ดังที่โฆษณาชวนเชื่อกัน เพราะในทางประวัติศาสตร์ศาสนาต่างๆ มักมีแนวโน้มกีดกันศาสนาอื่นๆ รังเกียจคนไม่นับถือศาสนา มองคนเชื่อต่าง คิดต่างเป็นพวกมิจฉาทิฐิ นอกรีต ไม่เคารพความเท่าเทียมทางเพศและไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ แม้ในปัจจุบันศาสนาที่พยายามเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองและมีอภิสิทธิ์ในโครงสร้างอำนาจรัฐ ก็มักเป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ

พูดให้ตรงกับข้อเท็จจริงคือ ศาสนาที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจรัฐอยู่แล้ว และที่พยายามแสดงบทบาทต่างๆ ทางการเมืองมากขึ้นนั้น ไม่ใช่เพื่อปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย หากแต่เพื่อปกป้องอำนาจทางการเมืองแบบศาสนาสถาปนา, เพื่ออภิสิทธิ์แห่งสถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ขององค์กรศาสนานั้นๆ เองเป็นด้านหลัก

ดังนั้น หากจะบอกว่า Secularism ละทิ้งศาสนา ก็ละทิ้งศาสนาในความหมายดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งเป็นศาสนาในความหมายของการผูกขาดอำนาจ และถืออภิสิทธิ์ของกลุ่มศาสนาตนเองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีภาพและประชาธิปไตย 

หมายเหตุผู้เขียน: ผู้อ่านที่สนใจข้อถกเถียงเกี่ยวกับ Secular, Secularism, Secularity, Secularization, Secular state และ Post secular ในหนังสือแปลและบทวิพากษ์อย่างละเอียด โปรดดู พิพัฒน์ พสุธารชาติ (บรรณาธิการ), ฮาเบอร์มาสกับสังคมแบบหลังฆราวาส: Post - Secular Society, (กรุงเทพฯ: Illuminations Editions, 2562)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท