วงถกเก็บข้อมูล ปชช. ทางดิจิทัลชี้ เรื่องสำคัญคือโปร่งใส มีปฏิสัมพันธ์ รับผิดรับชอบ

วงเสวนาถกเรื่องการเก็บข้อมูลตัวตนดิจิทัล เก็บข้อมูลอย่างไรให้ดี ต้องจัดสรรความโปร่งใสให้ถูกกับระดับอำนาจ ข้อกังวลเรื่องเลือกปฏิบัติ-ละเมิดสิทธิกรณี กอ.รมน. เก็บข้อมูลใบหน้าใน 3 จ. ภาคใต้ ตัวตนดิจิทัลต้องช่วย ปชช. เข้าถึงสิทธิ รัฐต้องมีความรับผิดชอบ ประชาชนตั้งคำถามได้

ซ้ายไปขวา: สุพจน์ เธียรวุฒิ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล สุนิล อับราฮัม กุสุมา กูใหญ่

เมื่อ 3 ก.ค. 2562 ศูนย์แม่โขงศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Centre for Humanitarian Dialogue (HD) และ Change Fusion จัดเวทีเสวนานักคิดดิจิทัล Thinkers Forum#1 เรื่อง “ตัวตนดิจิทัลกับสิทธิในข้อมูล เราควรไว้ใจใคร” จัดที่อาคารจามจุรี 10 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ในการเสวนาย่อยหัวข้อ "ระบบยืนยันตัวตนดิจิทัลกับสิทธิความเป็นส่วนตัว เราควรไว้วางใจใคร/อะไร" มีสุนิล อับบราฮัม ผู้อำนวย (ผอ.) การบริหารจากศูนย์เพื่ออินเทอร์เน็ตและสังคมจากประเทศอินเดีย สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและระบบโทรคมนาคม ผอ. โครงการ CU Transformation ผศ.กุสุมา กูใหญ่ ผอ. สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมเสวนา ดำเนินการเสวนาโดยกรรณิการ์ กิจติเวชกุล

เก็บข้อมูลตัวตนดิจิทัลอย่างไรให้ดี ต้องจัดสรรความโปร่งใสให้ถูกกับระดับอำนาจ

สุนิลกล่าวว่า ปัญหาของการทำตัวตนดิจิทัลกับรัฐนั้นอยู่ที่รัฐมักต้องการให้ประชาชนโปร่งใสต่อรัฐ แต่ในทางกลับกันรัฐกลับไม่มีความโปร่งใสกับประชาชน หากต้องการหาระบบข้อมูลตัวตนที่ดี วิธีหนึ่งคือต้องให้นักการเมืองและเศรษฐีใช้ระบบนั้นก่อน และถ้าผลออกมาว่าใช้ได้ดีก็แปลว่าระบบนั้นจะใช้กับคนจนได้ดีด้วย คำถามอีกคำถามก็คือจะจัดสมดุลระหว่างความโปร่งใสกับความเป็นส่วนตัวอย่างไร ความโปร่งใสควรจะเป็นสัดส่วนที่แปรผันตรงกับอำนาจ คนมีอำนาจมากก็ควรมีความโปร่งใสมาก หลักการออกแบบระบบตัวตนควรลดความเป็นส่วนตัวให้กับผู้มีอำนาจ และเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ไม่มีอำนาจ

สุนิลเปรียบเทียบระบบข้อมูลตัวตนของไทยกับอินเดียว่า ของไทยที่ใช้ระบบสมาร์ทการ์ดนั้นดีกว่าอินเดียที่ใช้ระบบข้อมูลทางชีวภาพ (biometric) เนื่องจากการใช้สมาร์ทการ์ดที่มากับการเข้ารหัสนั้นปลอดภัยและมีต้นทุนในการปลอมแปลงสูงกว่า การปลอมลายนิ้วมือนั้นใช้เพียงกาวและขี้ผึ้งและมีสอนตามยูทูป แต่การปลอมซิมการ์ดขึ้นมาต้องใช้ต้นทุนและฝีมือมากกว่านั้น เพียงแต่สมาร์ทการ์ดในไทยนั้นไม่ได้ใช้ส่วนที่สมาร์ทเท่าไรนัก ส่วนมากเป็นการส่งสำเนาบัตรให้กัน

สุนิลมีข้อเสนอแนะว่า ในระบบการทำข้อมูลตัวตนดิจิทัลนั้น จะต้องมีการจัดทำระบบรับผิดรอบชอบในขั้นตอนต่างๆ เจ้าของข้อมูลต้องทราบว่าเจ้าหน้าที่คนไหน ตำแหน่งอะไรรับผิดชอบในขั้นตอนใด เพื่อให้เห็นว่าใครมีส่วนรับผิดชอบหากมีการรั่วไหลของข้อมูลหรือเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น

ข้อกังวลเรื่องเลือกปฏิบัติ-ละเมิดสิทธิกรณี กอ.รมน. เก็บข้อมูลใบหน้าใน 3 จ. ภาคใต้

กุสุมากล่าวในประเด็นที่เพิ่งมีเหตุการณ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (หรือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) เชิญชวนประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (นาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย) ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งระบบจดทะเบียนและเติมเงิน ร่วมลงทะเบียนซิมการ์ดตรวจสอบอัตลักษณ์ภายใน 31 ต.ค. 2562 ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขนั้นๆ ได้ โดยตั้งคำถามในเรื่องความเพียงพอของการเก็บข้อมูลและปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติ

กอ.รมน.ภาค 4 ขอให้ผู้ใช้มือถือ ชายแดนใต้ลงทะเบียนซิม ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า และอัตลักษณ์

กุสุมากล่าวว่า ประกาศ กสทช. เรื่องการจดทะเบียนซิมการ์ดนั้นมีมานานแล้ว แต่พอเกิดใน 3 จ.ชายแดนใต้จึงเกิดข้อสงสัยขึ้นมากมาย ด้านบริบททางสังคมกำลังเกิดปัญหาในเรื่องการก่อเหตุรุนแรงต่างๆ รัฐจะจัดการกับพลเมืองอย่างไรในฐานะคนรับผิดชอบต่อพลเมืองผู้เป็นเจ้าของข้อมูลเหล่านั้น แต่กลับกลายเป็นว่า ในนามของภาวะฉุกเฉิน เหตุร้ายแรงฉุกเฉินและเรื่องความมั่นคง รัฐทำหน้าที่เหมือนจะผูกขาดการใช้ข้อมูล เป็นเจ้าของข้อมูลโดยปริยาย ทำให้คนในพื้นที่ไม่เห็นว่าข้อมูลเป็นของตนเองอีกต่อไป มีใครก็ไม่รู้สามารถเรียกตัวเข้าพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในนามความมั่นคง

คำถามก็คือความเพียงพอของข้อมูลที่รัฐมีและต้องการเพิ่มนั้นก็ต้องถามว่าที่มีอยู่นั้นเพียงพอหรือยัง ทำไมต้องการเพิ่มอีก เพราะใน 3 จ.ชายแดนใต้ การสแกนบัตรประชาชนและลายนิ้วมือมีมานานแล้วตั้งแต่ปี 2552 และปี 2558 ตามลำดับ ข้ออ้างที่ฝ่ายความมั่นคงอธิบายนั้นบอกว่า เพราะข้อมูลจากประชาชนถูกสวมสิทธิแล้วนำไปใช้จดทะเบียนซิมการ์ดมือถือเพื่อนำไปใช้ก่อเหตุรุนแรง คำถามก็คือ ข้อมูลลายนิ้วมือที่มีอยู่นั้นใช้ตรวจสอบไม่ได้หรือ การใช้ใบหน้าเพิ่มเข้าไปลดการปลอมแปลงตัวตนไปซื้อซิมเพื่อจุดระเบิดได้อย่างไร ทั้งๆ ที่สถิติการก่อเหตุในลักษณะนี้ก็มีไม่มาก และสถิติก็ลดลงอยู่เรื่อยๆ การออกมาอธิบายด้วยเหตุผลเช่นนั้นจึงฟังดูไม่มีเหตุผลเพียงพอเมื่อเทียบกับข้อสงสัยของประชาชนในเรื่องการเก็บข้อมูลเพื่อเฝ้าระวัง ตรวจสอบประชาชนทั้งหมดในนามของการถูกเลือกปฏิบัติในฐานะที่อยู่ในพื้นที่ และยังไปผูกโยงกับเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องชาติพันธุ์

ในเมื่อน้ำหนักคำอธิบายของฝ่ายความมั่นคงยังตอบได้อย่างไม่เพียงพอ นำไปสู่คำถามเรื่องการเลือกปฏิบัติ ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกอ่อนไหวกับเรื่องนี้มาก ในพื้นที่นั้น ในชิวิตประจำวัน ชาวบ้านเจอด่านตรวจก็ต้องยื่นหน้าหากล้อง ในเมืองต้องเปิดไฟ หมุนกระจกแล้วเอาหน้ายื่นออกมา ประชาชนอยู่กับมาตรการด้านความมั่นคงตลอดมา  นอกเหนือจากนั้น รถทุกคันมีการลงทะเบียนซิมที่ติดตามรถได้ด้วยจีพีเอส ทั้งในจักรยานยนตร์และรถยนตร์ มีการลงทะเบียนซิมพิกัดของพื้นที่แล้ว แต่ยังไม่ได้บังคับใช้ทั้งหมด

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยความขัดแย้งฯ และนักวิชาการเครือข่าย 20 องค์กรในนาม Peace survey การสำรวจความเห็นประชาชนมีการถามในประเด็นละเมิดสิทธิ มีคำถามว่า พฤติการณ์แบบไหนที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิ ก็มีหลายแบบตั้งแต่การตรวจค้น ถ่ายภาพใบหน้า ปิดล้อมค้น ทรมาน ทำร้ายร่างกาย อันดับหนึ่งที่ประชาชนตอบว่าเข้าข่ายคือการถูกตรวจค้นและบันทึกใบหน้าโดยไม่บอกสาเหตุ การดูแลข้อมูลนั้นมีเรื่องของความไว้วางใจ ประกาศ กสทช. ก็ระบุว่าข้อมูลที่ระบุถึงลักษณะพิการทางร่างกาย เรื่องอ่อนไหว DNA ก็มี เรื่องนี้จึงต้องคุยกันว่าข้อมูลอ่อนไหวแบบไหนที่ควรระวัง คำถามจากในพื้นที่คือ เรามีกลไกอะไรที่จะคุ้มครองการถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐ อะไรเป็นบทบาทของ กสทช. ที่จะมากำกับคำว่าใช้ข้อมูลเท่าที่จำเป็น

ตัวตนดิจิทัลต้องช่วย ปชช. เข้าถึงสิทธิ รัฐต้องมีความรับผิดชอบ ประชาชนตั้งคำถามได้

ฐิติรัตน์กล่าวว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองกับรัฐ การมีอยู่ของระบบตัวตนนั้นควรเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิที่ควรได้ในฐานะพลเมือง ส่วนความสัมพันธ์ระดับเอกชนนั้นก็เป็นทางเลือกของผู้บริโภค อย่างกรณีคนที่ไม่มีบัตรประชาชนแต่มีเลขบัตรและเคยมีบัตรทอง พอระบบประกันสุขภาพเปลี่ยนมาใช้บัตรประชาชนก็มีคนที่หลุดจากการเข้าถึงสิทธิของรัฐ ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิที่พลเมืองควรจะได้รับ

ในมุมความเป็นส่วนตัวกับระบบตัวตนดิจิทัลนั้น ฐิติรัตน์ตั้งคำถามว่าเราจะเชื่อใจใครได้บ้าง ระดับความน่าเชื่อถือของแต่ละองค์กรหรือบริษัทนั้นเป็นสิ่งที่ต้องสั่งสมผ่านประสิทธิภาพการ องค์กรรัฐก็ไม่ได้มีความน่าเชื่อถือเสมอไป ไม่เช่นนั้นจะมีการโพสท์เรื่องด่านตรวจตำรวจว่าเป็นด่านจริงหรือไม่ ข้อดีของโลกดิจิทัลคือเราเชื่อใจคนแปลกหน้าได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการมีอยู่ของแกรบ อูเบอร์ หรือแอร์ bnb ที่ทำให้คนกล้าเดินทางไปต่างประเทศแล้วไปนอนบ้านใครก็ไม่รู้แต่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ฟ้องร้องได้ มีรีวิวของผู้ใช้บริการคนก่อนๆ แต่อีกทางหนึ่ง คนก็อาจจะเมินแบรนด์ที่ไม่ได้รับความเชื่อถือได้มากขึ้น แบรนด์หรืออำนาจดั้งเดิมก็ต้องปรับตัว ทั้งนี้ ทุกระบบก็มีช่องโหว่ ต้องพิสูจน์กันจากผลงานเมื่อเวลาผ่านไป คนทำระบบพร้อมจะถูกตรวจสอบว่ามีความโปร่งใสในการปฏิบัติงานได้มากแค่ไหน

การสร้างความเชื่อใจนั้น ถ้าเจ้าของข้อมูลได้รู้ว่าตัวเองมีสิทธิจะท้าทายหรือตรวจสอบ ทำให้คนที่ให้บริการมีความรับผิดรับชอบในการอธิบายความผิดพลาดของระบบก็น่าจะทำให้ระบบน่าเชื่อถือมากขึ้น มันคือการที่พลเมืองตื่นตัว รู้และใช้สิทธิของตัวเอง ภาครัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลจะช่วยได้ด้วยการอำนวยความสะดวกให้การใช้สิทธิได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นก็มีคำถามกลับมาว่า ถ้าคนถามคำถามเยอะแล้วคนทำงานจะได้ทำงานหรือ เครือข่ายองค์กรที่ทำงานร่วมกันก็ควรคุยกันเพื่อหาแนวทางการทำงานที่ดีที่สุดที่พลเมืองเห็นว่าเป็นแนวปฏิบัติที่น่าเชื่อถือ อะไรที่ผิดไปจากนี้ก็ต้องตั้งคำถาม ดังนั้นสิ่งที่ควรหาร่วมกันคือมาตรฐานที่ควรจะเป็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท