Skip to main content
sharethis

จากเหตุการณ์ผู้ชุมนุมบางส่วนในฮ่องกงบุกเข้าไปในอาคารสภานิติบัญญัติเมือวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา สื่อฮ่องกงฟรีเพรสนำเสนอว่ามีอะไรเกิดขึ้นในนั้น ซึ่งมีทั้งการเคลื่อนไหวแสดงสัญลักษณ์ ภาวะกดดันจากการจะถูกเข้าเคลียร์พื้นที่ และการสนับสนุนกันและกันระหว่างผู้ชุมนุม

ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในที่ทำการสภานิติบัญญัติฮ่องกง (LegCo) เมื่อคืนวันที่ 1 กรกฎาคม (ที่มา: Facebook Live/Apple Daily)

4 ก.ค. 2562 ไม่นานนักก่อนหน้าเวลาสามทุ่มของวันที่ 1 ก.ค. กลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกงฝ่าแผงกั้นสุดท้ายที่แยกพวกเขากับด้านในอาคารสภานิติบัญญัติของฮ่องกงเอาไว้

ผู้ชุมนุมฮ่องกงยึดสภานิติบัญญัติ-เดินต้านอิทธิพลจีนครบรอบ 22 ปีคืนส่งคืนเกาะ

แผ่นกระจกจำนวนมากทางด้านนอกของอาคารถูกทุบทำลายไปแล้วตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันนั้น แต่ก็ใช้เวลาอีกราวหนึ่งชั่วโมงถัดมาหรือมากกว่านั้นก่อนที่ผู้ชุมนุมจะฝ่าประตูชัตเตอร์เหล็กเข้าไปได้

ผู้ชุมนุมพากันเดินเข้าไปทางประตูทางเข้าสำหรับประชาชนทั่วไปประตูที่ 1 ตั้งอยู่ใกล้กับเขตชุมนุมที่มีคนตั้งชื่อให้มันว่าเป็น "ก้นหม้อ" ทางนี้นำไปสู่ฟ้องโถงว่างโล่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธปราบจลาจลยืนคุ้มกันอยู่ที่อีกฝั่งของประตูชัตเตอร์มาเป็นเวลาหลายชั่วโมงแล้ว แต่เห็นได้ชัดว่าพวกเขาล่าถอยและออกจากอาคารไม่นานนักก่อนที่ผู้ประท้วงจะฝ่าเข้ามา

ภายในไม่กี่นาทีหลังผู้ประท้วงเข้ามาในอาคารพวกเขาก็เริ่มพ่นสเปรย์คำขวัญไปตามกำแพงโถงทางเดินและทำลายรูปของประธานสภานิติบัญญัติ ต่อมาในช่วงสามทุ่มครึ่งผู้ชุมนุมก็ผ่านเข้าไปยึดพื้นที่ประชุมสภาในชั้น 1 เอาไว้ได้

ฮ่องกงฟรีเพรสระบุว่าเหตุการณ์บุกเข้าไปในสภาฯ ในวันนั้นเป็นการยกระดับเหตุการณ์ความไม่พอใจที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้รายข้ามแดนของรัฐบาล โดยที่ผู้ชุมนุมประณามแคร์รี แลม ผู้ว่าการฮ่องกงว่าไม่สามารุถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องใดๆ ของพวกเขา ทำให้ประชาชนออกมาประท้วงเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์และมีปฏิบัติการอารยะขัดขืนแบบไม่มีการนำที่ชัดเจน 

อย่างไรก็ตามพอถึงจุดหนึ่งก็มีผู้ชุมนุมที่เข้าไปในอาคารเหล่านี้เริ่มรู้ตัวว่าพวกเขาถลำเข้ามาสู่ที่ๆ ไม่คุ้นเคย สื่อฮ่องกงฟรีเพรสระบุว่าพวกเขาเห็นผู้ชุมนุมในนั้นปรึกษากันเพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ควรจะอยู่ต่อหรือออกจากที่นั่น เรื่องที่ฟังดูเหมือนตลกร้ายคือการปรึกษากันของพวกเขาเกิดขึ้นในห้องประชุมสภาฯ สะท้อนให้เห็นการตัดสินใจของกลุ่มคนเล็กๆ ไม่กี่คนที่ไม่มีผู้ประสานงานตัวกลาง ผู้ประท้วงเหล่านี้ต้องตัดสินใจกันเอาเองว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ในที่สุดก็มีผู้ประท้วงรายหนึ่งตะโกนขณะยืนอยู่บนโต๊ะว่า "เรียกสหายของพวกคุณให้เข้ามาที่นี่! ... พวกเราไม่ได้มาที่นี่เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดี พวกเราจะอยู่ที่นี่อีกเป็นเวลานาน เป็นการปักหลักต่อต้านในระยะยาว... พวกเราจะวางระเบียบ และแต่ละคนจะทำตามบทบาทของพวกเรา"

มีนักกิจกรรมรายหนึ่งชื่อเหลียงไคปิงถอดหน้ากากของตัวเองออกและอนุญาตให้ถ่ายรูปเขาได้ เขาบอกว่าที่เขาถอดหน้ากากออกนั้นเพราะต้องการให้ทุกคนรู้ว่า "พวกเราชาวฮ่องกงไม่มีอะไรจะเสียไปมากกว่านี้แล้ว" เขาเรียกร้องให้ผู้คนเข้าร่วมการชุมนุมมากกว่าขึ้นโดยบอกว่ายิ่งถ้ามีผูุ้ชุนนุมเป็นจำนวนมากก็จะยิ่งการันตีความปลอดภัยส่วนตัวของผู้ชุมนุมได้มากขึ้นและได้รับความชอบธรรมในสายตาประชาชน

"ถ้าพวกเราไม่ปักหลักอยู่ที่นี่ โทรทัศน์ในวันพรุ่งนี้จะป้ายสีพวกเราว่าเป็นผู้ก่อจลาจล ... ใบหน้าของพวกเราถูกบันทึกเอาไว้หมดแล้ว ถ้าพวกเราออกไป ภาคประชาสังคมของฮ่องกงจะล้าหลังกลับไปอีก 10 ปี พวกเราจะไปย้อนกลับไปแบบนั้นอีก" เหลียงไคปิงกล่าว

ระหว่างช่วงสามทุ่มถึงเที่ยงคืนผู้ประท้วงยึดครองพื้นที่ชั้นล่างของสภาฯ รวมถึงเข้าไปในห้องทางผ่าน ห้องประชุม และห้องสำนักงานหลายห้อง มีบางคนที่พูดข่าวลือว่าตำรวจกำลังจะมาถึง หลังจากนั้นก็กลับมาบอกว่าข่าวลือที่ว่าเป็นข่าวหลอก

ถึงแม้ว่าผู้ชุมนุมจะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและมีการพ่นกราฟิตีต่างๆ แต่ก็มีบางพื้นที่ๆ ผู้ชุมนุมจัดให้เป็นพื้นที่ห้ามเข้า เช่น พื้นที่เก็บเอกสารในห้องสมุดและห้องนักข่าว กระจกที่หน้าห้องสมุดถูกทำให้แตกแต่ก็มีบางคนแปะป้ายเตือนว่า "อย่าทำความเสียหายกับหนังสือ" ทำให้ชั้นหนังสือไม่มีใครไปยุ่ง

มีผู้ประท้วงรายหนึ่งบอกว่าเป้าหมายของพวกเขาคือการ "ยึดคินสภานิติบัญญัติของประชาชน" ไม่ใช่การสร้างความเสียหายอย่างไม่เจาะจงเป้าหมาย จากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่บุกเข้าไปในอาคารไม่มีแกนนำอย่างชัดเจนทำให้พวกเขาไม่ค่อยบอกอะไรในเชิงเป็นแถลงการณ์กับผู้สื่อข่าวทั้งในและต่างประเทศ มีผู้ประท้วงไม่กี่คนที่ประสานเสียงคำขวัญว่า "ถอดกฎหมายการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนออก" และ "แคร์รี แลม จงลงจากตำแหน่ง"

ในช่องทางแช็ตของผู้ประท้วงมีบางคนระบุว่ามันขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่ออยู่ในห้องประชุมสภาฯ ว่าจะแถลงการณ์ว่าอย่างไรถ้าหากพวกเขามีอะไรจะแถลง แต่แรงบันดาลใจในแถลงการณ์ของพวกเขาก็มาจากสิ่งที่รวบรวมจากฝูงชน (crowd-sourced) ซึ่งมาจากสิ่งที่ชาวเน็ตโพสต์ตามโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะในกระดานข่าว LIHKG

จนถึงช่วงเวลา 4 ทุ่ม 20 นาที ก็มีผู้ใช้งาน L1HKG โพสต์แถลงการณ์ที่มีการเผยแพร่ไปทั่วระบุว่า "พวกเราเป็นผู้ประท้วงของประชาชน พวกเราไม่มีทางเลือกอื่น มันไม่ใช่ความปรารถนาของพวกเราเลยที่จะต้องประท้วงต่อต้านเผด็จการทรราชโดยเอาตัวเองเข้าแลก หรือจำต้องยึดสภานิติบัญญัติในฐานะเครื่องมือสำหรับต่อรอง"

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า "รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้เน้นเรื่องให้ผลประโยชน์ของประชาชนชาวฮ่องกงมาก่อน เพื่อให้เสียงของพวกเราเป็นที่ได้รับฟังต่อรัฐบาล พวกเราไม่มีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการอาศัยวิธีการยึดครองและต่อต้าน รวมถึงการยึดครองสภานิติบัญญัติในวันนี้"

หลังจากมีการเผยแพร่แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นครั้งแรก ก็มีการนำแถลงการณ์นี้มาพูดแถลงในห้องประชุมสภาฯ หน้าโพเดียมของประธานสภา

ผู้ประท้วงตั้งข้อเรียกร้องหลักๆ 5 ข้อ คือให้มีการถอนการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนทั้งหมด สองคือห้ามไม่ให้จัดผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อจลาจล สามคือยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อผู้ที่ถูกจับกุมจากการประท้วง สี่คือให้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระในการสืบสวนการใช้กำลังขอองตำรวจ และห้าคือเรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยเต็มหน่วยในการเลือกผู้แทนสภานิติบัญญัติและผู้ว่าการรัฐ

ผู้ประท้วงพ่นสีสเปรย์ใส่โพเดียมหน้าห้องประชุมด้วยคำขวัญต่างๆ หนึ่งในนั้นระบุว่า "ดอกทานตะวัน ฮ่องกง" ซึ่งสื่อถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่ในไต้หวันเมื่อปี 2557 ที่เรียกว่า "ขบวนการดอกทานตะวัน" ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงครั้งนั้นเคยถูกฟ้องร้องต่อศาลแต่ศาลไต้หวันก็ตัดสินให้ไม่มีความผิดเพราะเป็น "การแสดงออกของประชาธิปไตย"

การประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้อาจจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับขบวนการในแบบของไต้หวันในคราวนั้น แต่ทว่าเมื่อเวลา 22.21 น. ตำรวจก็ประกาศทางวิดีโอว่าพวกเขาจะเคลียร์พื้นที่รอบสภานิติบัญญัติในอีกไม่นาน นั่นทำให้ผู้ชุมนุมพากันหารือว่าจะทำอย่างไรในอีกชั่วโมงถัดไป มีเพียงแค่ 20 คนเหลืออยู่ในห้องประชุมสภา ซึ่งมีน้อยกว่าจำนวนผู้สื่อข่าว มีคนๆ หนึ่งพูดขึ้นว่า "พวกเราจะอยู่ที่นี่ทำไม มี ส.ส.ฝ่ายประชาธิปไตยบอกว่าจะไม่ช่วยพวกเรา ทำไมพวกเราถึงจะอยู่ที่นี่ให้เพื่อช่วยให้พวกเขาชนะการเลือกตั้งล่ะ" คนอื่นๆ ก็เริ่มพูดถึงว่าการปะทะกับตำรวจปราบจลาจลเป็นเรื่องที่ไม่ได้ส่งผลดีอะไรและจะดีกว่าถ้าจะเก็บแรงไว้สู้ในวันต่อๆ ไป

นั่นทำให้ผู้ประท้วงได้มติร่วมกันว่าใครจะกลับออกไปหรือครจะยังคงปักหลักอยู่ก็แล้วแต่การตัดสินใจของตัวเองโดยจะต้องตัดสินใจในเรื่องนี้ก่อนเวลาเที่ยงคืนของวันนั้น ฮ่องกงฟรีเพรสระบุว่าในทางทฤษฎีมันเป็นเรื่องดีที่ผู้ชุมนุมจะเลือกระดับการเข้าร่วมของตัวเองแต่ในเชิงยุทธศาสตร์แล้วจะติดปัญหาตรงที่ว่าถ้าหากยังมีผู้คนปักหลักชุมนุมเหลืออยู่เพียงไม่กี่คนพวกเขาก็จะกลายเป็นฝ่ายเสี่ยงมากขึ้นเพราะจำนวนคนน้อยลง

เมื่อจำนวนคนในห้องเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ก็มีคนหนึ่งขอร้องผ่านเครื่องขยายเสียงให้ทุกคนที่ชุมนุมอยู่ในย่านแอดไมรัลตีทำทุกอย่างเพื่อที่จะคุ้มครองผู้ที่ยังคงปักหลักในนั้น "พวกเราไม่สามารถกลับบ้านแล้วมองการเสียสละจากที่ไกลๆ ได้" ในที่สุดก็เหลือผผู้ที่ปักหลักอยู่ 4 คน

ไม่กี่นาทีก่อนจะถึงเที่ยงคือ มีคนหนึ่งที่ปักหลักอยู่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า เขาอาจจะต้องเข้าคุกไปเป็นเวลา 8-10 ปี และอาจจะบาดเจ็บไปทั่วทั้งตัว แต่เขาก็จะไม่โทษเพื่อนผู้ชุมนุมที่ออกไปก่อน แต่เขาก็ยังต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากผู้ประท้วงที่ยังอยู่ด้านล่างในเขตชุมนุม

ผู้ปักหลักทั้ง 4 เตรียมพร้อมตั้งรับกับการต่อสู้ตัดสินชะตาของพวกเขาไว้แล้ว แต่พอเมื่อเวลาเลยเที่ยงคืนไปหนึ่งนาทีก็มีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มที่บุกเข้ามาในอาคารสภานิติบัญญัติไม่ใช่ตำรวจ แต่เป็นผู้ชุมนุม พวกเขาพากันตะโกนว่า "ออกมาด้วยกัน" และดึงเอาตัวผู้ปักหลักที่เหลือออกมา ผู้ปักหลักคนสุดท้ายยังคงพยายามยึดตัวเองไว้กับราวแต่ก็ถูกดึงตัวออกมาได้ในที่สุด

หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ตัดสินใจเข้าไปดึงตัวผู้ปักหลักออกมาให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาเข้าไปพาตัวผู้ปักหลักออกมาด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน "พวกเรามาด้วยกัน พวกเราก็ต้องออกไปด้วยกันกับพวกเขา ถ้าหากพวกเขาไม่ออกมา พวกเราก็ไม่กลับ" นั่นทำให้ฝูงชนข้างล่างที่กลัวการปราบปรามจากตำรวจเช่นกันตัดสินใจเสี่ยงขึ้นไปพาตัวผู้ปักหลักออกมา "พวกเราทุกคนเป็นห่วง แต่พวกเราจะกังวลมากกว่าถ้าพวกเราไม่ได้เห็นพวกเขา (ผู้ปักหลัก) ในวันพรุ่งนี้"

เจ้าหน้าที่ตำรวจออกจากศูนย์บัญชาการย่านหว่านไจ๋ไปถึงสภานิติบัญญัติในเวลาเที่ยงคืน 15 นาที พวกเขายิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมในขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังเคลื่อนพลไปที่ถนนฮาร์คอร์ทในย่านแอดไมรัลตีแล้วหลังจากนั้นก็สลายการชุมนุมไป หลังจากที่ทำให้ผู้ชุมนุมออกไปจากพื้นที่โดยรอบอาคารได้แล้วตำรวจก็เข้าไปตรวจค้นในตัวอาคารเพื่อดูว่าจะยังมีผู้ชุมนุมคนใดปักหลักอยู่ในนั้นหรือไม่ ซึ่งผลก็คือไม่พบว่ามีผู้ชุมนุมคนใดอยู่ในนั้นแล้ว

เรียบเรียงจาก

‘Taking back the legislature’: What happened during the 3-hour occupation that shook Hong Kong, Hong Kong Free Press, Jul. 3, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net