Skip to main content
sharethis

ตัวกลางเจรจาความขัดแย้งในซูดานประกาศว่า สภากองทัพซูดานกับฝ่ายพลเรือนสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ว่าจะมีการแชร์อำนาจร่วมกันทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่ก็มีผู้แสดงความกังวลว่าฝ่ายทหารจะเชื่อถือได้หรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยใช้กำลังปราบผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและทำการฉีกข้อตกลงเดิมมาก่อน

ภาพผู้ประท้วงในกรุงคาร์ทูม หน้าสำนักงานใหญ่กองทัพซูดาน เมื่อต้นเดือน เม.ย. 2562 (ที่มาภาพ wikipedia.org)

5 ก.ค. 2562 สภากองทัพซูดานที่ยึดกุมอำนาจของประเทศอยู่ในปัจจุบันบรรลุข้อตกลงการเจรจากับกลุ่มแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลทหารได้เป็นผลสำเร็จโดยจะจัดให้มีการแชร์อำนาจร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่ายในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

หลังจากที่ซูดานมีการรัฐประหารโค่นล่ม โอมาร์ อัลบาชีร์ อดีตประธานาธิบดีอำนาจนิยมผู้เคยถูกตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษย์ชาติ วิกฤตการเมืองในซูดานก็ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปีที่แล้ว (2561) จนถึงกลางปีนี้ (2562) จากการที่ฝ่ายกองทัพยังคงยึดกุมอำนาจและมีการปราบปรามประชาชนผู้ประท้วงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลพลเรือนแทนอำนาจจากสภาเปลี่ยนผ่านของกองทัพ (TMC)

จนถึงเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2562 โมฮัมเหม็ด ฮัสซัน ละบัตต์ ตัวกลางเจรจาจากสหภาพแอฟริกัน (AU) แถลงข่าวว่าทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ว่าจะจัดตั้งสภาอธิปัตย์โดยให้มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันระหว่างฝ่ายกองทัพกับฝ่ายพลเรือนภายในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง 3 ปีหรือนานกว่านี้เล็กน้อย

ข้อตกลงที่มีความสำคัญต่อสถานการณ์การเมืองในซูดานครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการหารือกันเป็นเวลา 2 วัน โดยที่ก่อนหน้านี้การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายล่มเพราะกองทัพใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างโหดเหี้ยมเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย หลังจากนั้นประเทศเอธิโอเปียและสหภาพแอฟริกันก็เพิ่มความพยายามในการเป็นตัวกลางเจรจาหารือเพื่อแก้ไขวิกฤตการเมืองในซูดาน หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้มาโดยตลอดในเรื่องรัฐบาลเปลี่ยนผ่านหลังจากโค่นล้มอัลบาชีร์เมื่อวันที่ 11 เม.ย.

โอมาร์ อัลเดกาอีร์ กลุ่มพลังเพื่อเสรีภาพและการเปลี่ยนแปลง (FFC) ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมกลุ่มฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเอาไว้หลายกลุ่มกล่าวว่า ข้อตกลงชุดนี้จะเปิดทางให้กับการจัดตั้งสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ด้านการเปลี่ยนผ่าน และพวกเขาหวังว่ามันจะเป็น "จุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่"

นายพล โมฮัมเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล รองประธานสภาเปลี่ยนผ่านของทหารกล่าวว่าข้อตกลงนี้จะ "มีความครอบคลุมและจะไม่กีดกันใครออกไป" นอกจากนี้ยังกล่าวขอบคุณสหภาพแอฟริกันและตัวกลางเจรจาจากเอธิโอเปียที่มีความพยายามและอดทนรวมถึงขอบคุณ "พี่น้องจากกลุ่มพลังเพื่อเสรีภาพและการเปลี่ยนแปลงสำหรับความใจดี"

อย่างไรก็ตามดากาโลเป็นผู้นำกองกำลังหน่วยสนับสนุนเคลื่อนที่เร็วที่ฝ่าย FFC กล่าวหาว่าเป็นกลุ่มกองกำลังที่ปราบปรามการปักหลักชุมนุมในวันที่ 3 มิ.ย.

ทั้งนี้ อะซัซ เอลชามี นักสิทธิมนุษยชนอเมริกันเชื้อสายซูดานบอกว่าข้อตกลงล่าสุดนี้เป็นแค่การประชาสัมพันธ์ตัวเองเท่านั้น เพราะเขามองว่าการแชร์อำนาจแบบนี้เชื่อถือไม่ได้เพราะมีฝ่ายทหารอยู่ในนั้นด้วย โดยที่ข้อตกลงนี้ให้อำนาจทหารอยู่นานถึง 2 ปี ขณะที่ฝ่ายพลเรือนที่เป็นสายเทคโนแครตจะได้เวลาปกครองต่อจากนั้น 1 ปี 

เอลชามีบอกว่าข้อตกลงนี้อาจจะน่าเชื่อถือได้ถ้าหากมีการทำข้อตกลงก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงในวันที่ 3 มิ.ย. เพราะในช่วงก่อนหน้านี้ประชาชนยังมีความเชื่อมั่นในตัวสถาบันกองทัพอยู่บ้างเล็กน้อย แต่สิ่งที่เขาเห็นในตอนนี้คือพลวัติทางอำนาจที่บีบให้ฝ่าย FFC ต้องยอมรับข้อตกลงที่อยู่ในระดับที่ผู้ถือผลประโยชน์อื่นๆ ยอมรับได้ และนี้จะเป็นก้าวแรกของกระบวนการที่ยาวนานมากๆ

เกิดอะไรขึ้นในซูดาน? เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวิกฤตสังหารหมู่ประชาชนครั้งล่าสุด

นอกจากเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ในข้อตกลงยังยอมรับให้มีการเปิดการสืบสวนสอบสวนอย่างโปร่งใสและเป็นอิสระในกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ในเรื่องการจัดตั้งสภานิติบัญญัติที่เคยตกลงไว้ก่อนหน้านี้นั้นในข้อตกลงล่าสุดบอกให้มีการเลื่อนออกไปก่อน โดยที่ในข้อตกลงก่อนหน้านี้ระบุให้แนวร่วม FFC มีตัวแทน 2 ใน 3 นั่งเก้าอี้สภานิติบัญญัติได้ แต่หลังจากที่มีการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมข้อตกลงเดิมนี้ก็ถูกยกเลิกไป

ในเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. เป็นต้นมานั้นหน่วยแพทย์พยาบาลฝ่ายต่อต้านรัฐบาลระบุว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 62 ราย ฝ่ายทหารตกอยู่ภายใต้การกดดันของนานาชาติหลังจากที่พวกเขาสั่งระงับการเจรจากับฝ่ายต่อต้านในช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงโดยที่ฝ่ายทหารอ้างว่าเป็นความรุนแรงจากกลุ่มติดอาวุธ

หลังจากการประกาศผลการเจรจา ประชาชนในเมืองอุมดูร์มานเมืองอีกฝั่งแม่น้ำไนล์ตรงข้ามกับกรุงคาร์ทูมก็พากันเฉลิมฉลองเมื่อได้ทราบข่าวนี้ ผู้คนหลายพันคนจากทุกช่วงวัยพากันตะโกน "พลเรือน! พลเรือน! พลเรือน!" ไปบนท้องถนน มีกลุ่มคนหนุ่มตีกลอง ผู้คนบีบแตร และกลุ่มผู้หญิงถือธงซูดานกู่ร้องด้วยความยินดี


เรียบเรียงจาก
Sudan military council, opposition reach power-sharing agreement, Aljazeera, 05-07-2019
https://www.aljazeera.com/news/2019/07/sudan-military-council-opposition-reach-power-sharing-agreement-190705013332385.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net