'ราชทัณฑ์' ชี้ไม่มี VIP ในคุก ปัดแนวคิด 'คุกนักโทษการเมือง' เพราะใช้งบสูง

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ชี้แจงหลังแกนนำพันธมิตรฯ (พธม.) เปิดประสบการณ์ติดคุก VIP จัดเลี้ยงวันเกิด ยันไม่เคยอนุญาตจัดเลี้ยงแต่เป็นการลักลอบทำโดยใช้บุคคลภายนอกบริจาคเลี้ยงอาหารนักโทษ ปัดข้อเรียกร้องเปิด 'คุกนักโทษการเมือง-คุกยาเสพติด-คุกผู้สูงอายุ' เหตุต้องใช้งบประมาณสูง 

6 ก.ค. 2562 เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงข้อมูลจากเวทีเสวนาเรื่อง การปฏิรูปกระทรวงยุติธรรม เสียงสะท้อนจากเรือนจำ จัดโดยสถาบันปฏิรูปประเทศไทยร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่นำอดีตผู้ต้องขังกลุ่มแกนนำพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย มาถ่ายทอดประสบการณ์ในเรือนจำ ว่า เนื้อหาในการเสวนาอาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดในหลายประเด็น เช่น กรณีการใช้เครื่องพันธนาการเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานในกรณีผู้ต้องขังมีพฤติการณ์ที่น่าจะหลบหนีการควบคุม หรือเมื่อผู้ต้องขังต้องถูกควบคุมตัวออกนอกเรือนจำ หากเรือนจำไม่ควบคุมดูแลและใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขังตามที่ข้อกฎหมายกำหนด เมื่อผู้ต้องขังก่อเหตุหลบหนี เจ้าหน้าที่จะมีความผิดทางอาญา ขณะที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบด้านความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม เรือนจำจะไม่ใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขังอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปี ผู้ต้องขังหญิง หรือผู้ต้องขังซึ่งเจ็บป่วย

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยด้วยว่าการกล่าวถึงอาหารเรือนจำว่าเป็นระบบผูกขาด หากต้องการอาหารเมนูพิเศษในคุก นักโทษจะหาช่องทางบริหารจัดการกันเองนั้น ขอชี้แจงว่าเรือนจำได้จัดสรรอาหารให้กับผู้ต้องขังเพียงพอครบ 3 มื้อ โดยได้มีการปรับปรุงรสชาติให้เป็นกลางเพื่อทุกคน แต่ทั้งนี้ทางเรือนจำก็ได้จัดให้มีการปรุงอาหารจำหน่ายไว้บริการเสริมด้วย ส่วนที่มีการระบุว่านักโทษบางคนไม่อยากพ้นโทษเพราะมีรายได้ดีนั้น อยากชี้แจงว่า การดำเนินชีวิตภายในเรือนจำอาจไม่ต่างจากสังคมภายนอกที่ต้องปรับตัว การอยู่ร่วมกันของผู้ต้องขังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การดูแลกันอาจจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นการตกลงระหว่างผู้ต้องขังด้วยกันเอง

“ประเด็นการจัดเลี้ยงวันเกิดภายในเรือนจำ ยืนยันว่าระเบียบของเรือนจำไม่เคยอนุญาตให้ผู้ต้องขังจัดเลี้ยงวันเกิดหรือดูแลผู้ต้องขังอื่น กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการลักลอบปฏิบัติโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นเพื่อบริจาคเลี้ยงอาหารผู้ต้องขัง โดยแอบอ้างว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการและการสงเคราะห์ผู้ต้องขังในเรือนจำ” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว

สำหรับกรณีการเจ็บป่วยของผู้ต้องขัง การเข้าถึงแพทย์และยารักษาโรคนั้น เรือนจำทุกแห่งจะมีแพทย์เข้ารักษาผู้ต้องขังเป็นประจำ และพยาบาลวิชาชีพประจำสถานพยาบาลทุกแห่ง เพื่อให้บริการด้านสุขภาพกับผู้ต้องขัง แต่ด้วยอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ไม่สมดุลกับจำนวนผู้ต้องขังที่มีอยู่จำนวนมาก อาจทำให้ไม่ได้รับการบริการที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ ส่วนเรื่องการปิดประตูเรือนนอน เวลา 15.30 น. นั้น เป็นการปิดประตูก่อนเวลาพลบค่ำ เป็นการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมผู้ต้องขังเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังก่อเหตุแหกหักหลบหนีหรือก่อความวุ่นวายโดยอาศัยทัศนวิสัยในเวลากลางคืนข้อเสนอให้ขยายการปิดประตูเรือนนอนให้ล่าช้ากว่าเดิมจึงเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อระบบการควบคุมผู้ต้องขังและเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวถึงข้อเสนอให้มีคุกสำหรับนักโทษการเมือง คุกยาเสพติด หรือคุกสำหรับผู้สูงอายุ ว่าปัจจุบันมีเรือนจำและทัณฑสถานจำนวน 143 แห่ง และมีผู้ต้องขังในความควบคุมดูแลเกือบ 400,000 คน โดยได้กำหนดประเภทของเรือนจำสำหรับการควบคุมและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังเป็นการเฉพาะด้านอยู่แล้ว ทั้งนี้การพิจารณาสร้างเรือนจำเฉพาะทางเพิ่มเติม ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นสูงสุด ความสอดคล้องต่อนโยบายยุติธรรมทางอาญาในปัจจุบัน ตลอดจนประโยชน์ที่มีต่อสังคมและประชาชนผู้เสียภาษี เพราะต้องเกี่ยวข้องกับงบประมาณการก่อสร้าง ซึ่งเฉพาะอาคารสถานที่จะต้องใช้งบประมาณกว่า 850 - 1,500 ล้านบาท ยังไม่นับรวมอุปกรณ์เทคโนโลยีเสริมความมั่นคงและการควบคุม เช่น ระบบกล้องวงจรปิด เครื่องเอ็กซเรย์ ฯลฯ ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมกว่า 100 ล้านบาท และต้องเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้พอเพียงต่อการควบคุมผู้ต้องขังอีกด้วย

“ส่วนข้อเรียกร้องให้แก้ระเบียบเรือนจำให้ประชุมปรับชั้นนักโทษทุกเดือนนั้น การเว้นห้วงระยะเวลาในการเลื่อนชั้นผู้ต้องขัง ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้พัฒนาความประพฤติและจิตใจ ตลอดจนการประเมินผลพฤติกรรมโดยเจ้าหน้าที่ จึงเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการเลื่อนชั้นผู้ต้องขังในการหล่อหลอมและพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า เรือนจำประสบปัญหาผู้ต้องขังมีจำนวนมาก ทำให้เกิดข้อจำกัดในการดูแล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ หรือสถานที่ใน การควบคุมคับแคบเกิดความแออัด ซึ่งกรมราชทัณฑ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว

'สุริยะใส-พิภพ' แชร์ประสบการณ์ติดคุก 3 เดือน  ชี้เศรษฐศาสตร์เรือนจำสร้างรายได้ดี

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2562 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าสถาบันปฏิรูปประเทศไทยร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเวทีเสวนาเรื่องปฏิรูประบบยุติธรรม เสียงสะท้อนจากเรือนจำ โดยนายสุริยะใส กตะศิลา และนายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอดีตผู้ต้องโทษจำคุก ในคดีบุกรุกปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล

นายสุริยะใส ถ่ายทอดประสบการณ์ในเรือนจำว่า การเข้าไปติดคุกเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ทำให้รู้ว่าคนติดคุกไม่ใช่โจรหรืออาชญากรที่คนข้างนอกจะไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย วันแรกที่ถูกใส่กุญแจมือนำตัวไปเรือนจำ ตนถึงกับน้ำตาคลอ แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกเหมือนทำสงครามในใจและต้องสู้กับตัวเอง คือวันแรกที่ต้องเปลี่ยนไปใส่ชุดนักโทษ เยี่ยมญาติวันแรก และวันที่ต้องเบิกตัวออกศาล ซึ่งนักโทษต้องใส่โซ่ตรวนหรือกุญแจมือ อาหารในเรือนจำเป็นระบบผูกขาด มีนักโทษเป็นผู้ปรุง ทำให้รสชาติกินยาก ถ้าต้องการเมนูพิเศษนอกเหนือจากเมนูทั่วไป อาทิ ข้าวไข่เจียว กะเพราะหมูยอ ก็ต้องใช้วิธีพิเศษ เป็นเศรษฐศาสตร์ในคุกที่นักโทษหาช่องทางบริหารจัดการกันเอง

ทำให้นักโทษบางคนไม่อยากพ้นโทษ เพราะมีรายได้ในเรือนจำสูงถึง 40,000 บาทต่อเดือน รายได้มาจากค่าจ้างซักผ้าผืนละ 15 บาท และค่าอำนวยความสะดวกอื่นๆ แม้เรือนจำจะมีระเบียบห้ามนักโทษถือเงินสด โดยนักโทษเข้าใหม่ญาติต้องเปิดบัญชีเงินฝากให้ การใช้จ่ายจะต้องสแกนนิ้วมือ ค่าอำนวยความสะดวกต่างๆ ญาติจะจ่ายกันข้างนอก โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีให้กับเพื่อนผู้ต้องขัง

ในเรือนจำมีทั้งมุมขาวและดำ มีอาญากรตัวจริง นักค้ายา มือปาระเบิดใส่ม็อบ กปปส. หรือคนคิดต่างทางการเมือง ผมได้เจอกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ในคุกทุกคนมีสถานะเดียวกันคือเป็นนักโทษ ไม่มีใครได้สิทธิพิเศษ

"87 วันที่ติดคุก ไม่เคยได้สัมผัสห้องแอร์ ผมจัดเลี้ยงวันเกิดในเรือนจำ เลี้ยงอาหารนักโทษทั้งแดนเป็นงานเลี้ยงวันเกิดที่แพงที่สุด ภายในแดน 1 หรือแดนแรกรับ ซึ่งจัดเป็นแดนวีไอพี มีอยู่ 4-5 บ้าน ได้แก่ กลุ่มของนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา หรือเสี่ยบิ๊ก คดีทุจริต สกสค. อดีตประธานสโมสรเพื่อนตำรวจ, นายธาริต, นายสุพจน์, กลุ่มอดีตเจ้าคุณคดีเงินทอนวัด และกลุ่มแกนนำพธม." นายสุริยะใส กล่าว

นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า ตนอยากเสนอให้มีคุกนักโทษการเมือง คุกยาเสพติด หรือคุกสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อจำแนกผู้ต้องขังให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด ส่วนตัวมองว่าการสูญเสียอิสรภาพเป็นความทุกข์สูงสุด ทำให้คุณค่าความเป็นคนหายไปครึ่งหนึ่ง หลายคนตั้งคำถามว่าจะปฏิรูปคุกได้หรือไม่ แค่ทำให้ห้องน้ำสะอาด นอนสบาย อาหารอร่อย ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนทัศนคติสังคมภายนอกด้วยว่า การลงโทษอย่างไรจึงจะเหมาะควร ไม่ถึงขนาดต้องเปลี่ยนให้เป็นคุกแบบประเทศนอร์เวย์ ที่มีห้องออกกำลังกาย มีเกมส์ให้เล่น เพราะญาติผู้เสียหายได้เห็นจะรับได้หรือไม่ เรื่องคุกจึงไม่ใช่ภาระของราชทัณฑ์อย่างเดียวแต่เป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องร่วมมือกันให้ผู้พ้นโทษมีที่อยู่ที่ยืน

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ระบบยุติธรรมมีความพิกลพิการจนทำให้คนถูกส่งเข้ามาติดคุกจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะคนจนที่ไม่สามารถจ้างทนายเก่งๆที่มีประสบการณ์ บางคนถูกตำรวจตั้งข้อหาเกินจริงหรือบางคดีถึงขั้นยัดข้อหา แม้จะมีกองทุนยุติธรรมให้ความช่วยเหลือแต่ก็ไม่เพียงพอ การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมทำให้เกิดสภาพคนล้นคุก ถ้าแก้ปัญหาที่ต้นทางได้จำนวนผู้ต้องขังจะลดลงได้ 

ด้านนายพิภพ กล่าวว่า ระเบียบเรือนนอนปิดประตูเวลา 15.30 น. จากนั้นกุญแจจะถูกนำไปเก็บนอกแดน สิ่งที่นักโทษระวังมากที่สุดคือต้องไม่เจ็บป่วยเวลากลางคืน เพราะกว่าจะเบิกกุญแจมาเปิดแดนได้ต้องใช้เวลานาน ตนจึงเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และเตรียมจะเสนอความเห็นกับว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้แก้ระเบียบเรือนจำให้ปรับชั้นนักโทษทุกเดือนเพื่อสร้างกำลังใจให้กับผู้ต้องขัง เปลี่ยนเรือนจำให้เป็นมหาวิทยาลัย และไม่ควรนำคนสูงอายุหรือผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีมาขังคุกแต่ควรควบคุมด้วยกำไลอิเล็กทรอนิกส์ จนทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก สำหรับปัญหาการกระทำผิดซ้ำเกิดจากผู้ที่มีประวัติต้องโทษจะถูกปฏิเสธงาน เป็นทัศนคติแง่ลบของสังคมภายนอก จนทำให้นักโทษไม่มีที่ยืนจนต้องวนเวียนเข้าออกเรือนจำ

นักการเมืองไม่เคยสนใจสภาพคุก ไม่เคยเพิ่มงบประมาณให้เรือนจำ ขณะที่คำตัดสินของศาลส่งคนเข้าคุกเป็นจำนวนมาก นักโทษจะมีความสุขที่สุดคือตอนเช้าเมื่อประตูเรือนนอนถูกเปิดออก คนเราจะมีความสุขเมื่อได้กินอาหารอร่อยและอยู่สบาย แต่ทั้งหมดกรมราชทัณฑ์แก้ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนทัศนคติของสังคมภายนอกด้วย 

ทั้งนี้ ขอเสนอให้สถาบันการศึกษาเปิดหลักสูตรคุกศึกษา เอาผู้พ้นโทษ ผู้คุม ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา และตำรวจมาเรียน เพราะตำรวจและทนายประจำศาล ซึ่งมักจะแนะนำให้ผู้ต้องหารับสารภาพ เพื่อปิดคดีได้เร็ว มองว่ากระบวนการยุติธรรมมีปัญหาให้ต้องปรับปรุงหลายส่วน เพราะระบบแบบเดิมส่งผลให้เรือนจำแออัด นอกจากนี้เสนอให้มีนักจิตวิทยาในเรือนจำ เพื่อแก้ไขและบำบัดความกังวลของนักโทษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท