เล่นละครสดหน้า สตช. กระตุ้นสังคมตระหนักปัญหาความรุนแรง หลัง 'จ่านิว' ถูกรุมตี คดีไม่คืบ

คณะละครมาร็องดู และประชาชนเล่นละครสดบนสกายวอล์คหน้า สตช. กระตุ้นสังคมตระหนักถึงปัญหาความรุนแรง ผ่านการอ่านข้อความที่เย้ยหยัน 'จ่านิว' หลังถูกทำร้าย ผู้จัดปลื้มสำเร็จเกินคาด เหตุมีคนดูพร้อมท่องประโยคสุดท้ายของละครที่ว่า “เราคือเมล็ดพันธุ์ เหยียบเราให้จมดิน เราจะงอกขึ้นมาใหม่” ได้

ภาพละครสดกระตุ้นเตือนสังคมจากกรณีความรุนแรงต่อนักกิจกรรม ที่บริเวณสกายวอล์ค หน้า สตช. เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2562

6 ก.ค.2562 จากเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักกิจกรรมทางการเมือง กลุ่ม Start up people จนบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ณ ปากซอยรามอินทรา 109 กรุงเทพฯ โดยที่เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ที่กลุ่มบุคคลนิรนามได้กระทำความรุนแรงต่อเขา และที่ผ่านมาได้มีนักกิจกรรมทางการเมือง ที่ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนถูกทำร้ายร่างกายมาไม่น้อยกว่า 16 ครั้ง แต่ทว่าเจ้าหน้าที่รัฐแทบทั้งหมดไม่สามารถดำเนินการจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้เลยนั้น

วานนี้ (5 ก.ค.62) เวลาหลังเคารพธงชาติ 18.00 น. ที่บริเวณสกายวอล์ค หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) คณะละครมาร็องดู และประชาชนประมาณ 8 คน จัดกิจกรรมแสดงละครสดกระตุ้นเตือนสังคมจากกรณีความรุนแรงต่อนักกิจกรรมดังกล่าว ท่ามกลางผู้คนที่เดินไปมาบริเวณนั้น โดยนักแสดงทั้ง 8 คน แต่งกายในชุดเสื้อเชิ้ตขาว กางเกงดำ คล้าย สิรวิชญ์ พร้อมพูดข้อความที่เป็นการแสดงความเห็นในเชิงซ้ำเติมต่อกรณีที่สิรวิชญ์ถูกทำร้าย ก่อนทิ้งท้ายด้วยประโยคว่า "เราคือเมล็ดพันธุ์ เหยียบเราให้จมดิน เราจะงอกขึ้นมาใหม่" ก่อนที่ทุกคนจะเดินหายไปกลมกลืนกับผู้คนที่เดินทางบริเวณนั้น ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีในการแสดง 

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย นักการละครเป็นผู้ก่อตั้งคณะละครมาร็องดู

สำหรับความเป็นมาและเหตุผลที่ต้องออกมาจัดกิจกรรมในครั้งนี้นั้น ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย นักการละครเป็นผู้ก่อตั้งคณะละครมาร็องดู กล่าวว่า เริ่มแรกเดิมที่อยากจะทำการแสดงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ในกรณีจ่านิวที่ถูกออกมาในเชิงลบและรุนแรง ซึ่งโดยส่วนตัวรู้สึกสะกิดใจกับเรื่องนี้ว่าทำไมคนบางกลุ่มถึงมีความคิดเห็นกับคนที่โดนทำร้ายร่างกายซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คนที่โดนทำร้ายจะตายหรือเปล่า ไม่ใช่เพียงกรณีจ่านิวแต่รวมถึงกรณีของเอกชัย หงส์กังวาน ว่าทำไมถึงต้องโดนเผารถ หรือโดนทำร้ายร่างกายถึง 8 ครั้ง มันเป็นไปได้อย่างไร แล้วทำไมคนในสังคม และ รัฐบาล ยังไม่ทำอะไร เราจึงรู้สึกว่ามันไม่มีความปลอดภัย เป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ที่แสดงว่า คุณอย่ามาหือ อย่ามาสงสัย ไม่งั้นคุณจะโดน ดังนั้นจึงรู้สึกว่าบรรยากาศแบบนี้ไม่ได้เอื้อให้สังคมเกิดปัญญาในการพูดคุย หรือ การรับฟัง ไม่เกิดแน่นอนถ้าเป็นเช่นนี้ ก็เลยคิดว่าอยากจะทำการแสดง ได้รับการติดต่อจากนักกิจกรรมคนอื่นๆ ให้มาดูแลในส่วนออกแบบการแสดงว่าจะทำอย่างไรให้น่าสนใจ

ผู้ก่อตั้งคณะละครมาร็องดู กล่าวต่อว่า เมื่อเราอยากจะทำการแสดงจึงโทรไปหาคนในกลุ่มว่าอยากทำ Performance ให้ออกมาในรูปแบบไหน ซึ่งโดยปกติแล้วกลุ่มมาร็องดูทำงานหลายแบบแต่ถ้าเป็น Performance ที่ทำอยู่นี้ไม่ได้ทำเท่าไหร่ ถ้าทำก็จะเป็นประเด็นทางการเมืองที่เรารู้สึกว่าละครอื่นๆ ของเรามันยังใช้ไม่ได้ ต้องเป็น Performance อีกแบบหนึ่งไปเลยคือให้คนดูมีส่วนร่วม

ศรชัย กล่าวด้วยว่า กิจกรรมครั้งนี้ไม่ใช่คนในคณะละครมาร็องดูทั้งหมด เรียกได้ว่า มาร็องดูอาจจะมาดูในส่วนของทิศทางทางศิลปะของงานชิ้นนี้ แต่คนที่มามีส่วนร่วมก็มีหลากหลาย อย่างคนที่เป็นนักศึกษาก็มี แต่ก็ยังไม่ได้ตั้งชื่ออะไรกันจริงจัง

ทิศทางของการเคลื่อนไหวต่อจากนี้นั้น ศรชัย กล่าวว่า ต้องบอกก่อนว่าจริงๆที่ทำงานชิ้นนี้คือไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพียงแต่เราต้องการสะท้อนเสียงของคนที่พูด แสดงความเห็นในเฟซบุ๊คหรือในโซเชียลมีเดียที่เขาแสดงความเห็นกันแบบรุนแรง ซึ่งมันเป็นเพียงแค่ตัวหนังสือ ดังนั้นแนวคิดก็คือว่าเราจะเอาเสียงเหล่านั้น ออกมาทำให้เป็นภาพและการเคลื่อนไหว

"เพื่อที่จะให้รู้ว่าคำพวกนี้คุณรับได้ไหม หากพูดกับลูกหรือคนที่คุณรัก คุณจะรับได้ไหม อยากให้เขาเกิดการปะทะตรงนี้เพื่อให้เกิดการทบทวน เพราะถ้ามันอยู่ในจอมันไม่เห็นหรอก แต่เราทำให้มันกลายเป็นร่างกาย เป็นเสียง เป็นผัสสะ ให้เขารับรู้ด้วยเซนส์ของเขาทั้งหมดแล้วให้ตัดสินใจเองว่ามันรุนแรงหรือมันไม่รุนแรง" ผู้ก่อตั้งคณะละครมาร็องดู กล่าว

สำหรับการประเมินผลจากการจัดแสดงครั้งนี้ ศรชัย กล่าวว่า ส่วนตัวชอบมากที่ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ เรียกว่าเกินความคาดหมาย ซึ่งบางคนก็เดินผ่านไปแต่ว่าหลายๆ คนเขาหยุดดูและหยุดฟัง เมื่อสักครู่มีคนมาบอกว่าในตอนที่เราพูดประโยคสุดท้ายว่า “เราคือเมล็ดพันธุ์ เหยียบเราให้จมดิน เราจะงอกขึ้นมาใหม่” มีเด็กสองคนที่ดูอยู่ตลอดแล้วท่องประโยคนี้เดินออกไปหลังจากจบการแสดง ทำให้รู้สึกว่าสาส์นตัวนี้มันได้เข้าไปทำงานในใจคน ซึ่งการเคลื่อนไหวในครั้งต่อๆ ไปก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น แต่ในตอนนี้เราก็ได้ความเป็นเพื่อนกับผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในตรงนี้และเราก็จะสานต่อไปเป็นเรื่องอื่นๆ

อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมแสดงละครนี้

เช่นเดียวกับ อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมแสดงละครนี้ กล่าวถึงเหตุผลที่ร่วมว่า ปกติทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่ แล้วก็เราทำละครอยู่ด้วยเหมือนกันแล้วก็พอได้ยินว่ามีกิจกรรมแบบ Performance Art ตนก็เลยสนใจเพราะเราไม่เคยทำกิจกรรม Performance Art ด้วยตัวเองมาก่อน แล้วได้ยินชื่อคณะละครมาร็องดู มานานแล้ว เห็นว่าเขาทำเกี่ยวกับการเมืองก็เลยอยากมาลองดู พอได้มาลองก็รู้สึกว่าแปลกดี มันดูมีอะไรทำในการประท้วงในการทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะ ปกติแค่ชูป้าย แต่อันนี้มันค่อนข้างมี อะไรด้วยจุดประสงค์แบบนี้ แปลกดี

อ้อมทิพย์ กล่าวเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแทบจะบ่อยมาก ยิ่งช่วงหลังๆ ซึ่งมันไม่ควรมีใครต้องถูกทำร้ายกันเพราะความเห็นต่างทางการเมือง และมันไม่สามารถการันตีความปลอดภัยได้ด้วยรัฐแห่งนี้ มันจำเป็นมากเพราะสุดท้ายแล้วถ้ามันไม่มีการทำอะไร ต่อไปมันอาจเป็นลูกคุณหลานคุณเองก็ได้ มันไม่มีใครรู้ มันไม่มีระบบรัฐเข้ามาตรวจสอบ

สำหรับคณะละครมาร็องดู เป็นคณะละครเพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคมคำว่า “มาร็องดู” มาจาก “มาลองดู” ซึ่งหมายถึงละครเวทีรูปแบบใหม่ที่เชื้อเชิญให้ผู้ชม “ลองขบคิด” แก้ไขปัญหาที่นำเสนอในละคร หรือแม้กระทั่งลุกขึ้นมา “ลองเล่น” กับนักแสดงของเราในละครซึ่งหยิบยกปัญหาซึ่งเกิดขึ้นจริงในสังคมไทยของเรามา “ลองแก้ไข” เพื่อที่ผู้ชมจะได้เกิดความตระหนักรู้ว่าความคิดของเขาสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงมากน้อยแค่ไหน พูดอีกอย่างก็คือ ละครของเราจะกระตุ้นให้เกิด “นักทำผู้มีความคิด” มากกว่า “นักคิดผู้ทำไม่เป็น” ที่คิดอยู่บนหอคอยแต่ไม่เคยลงมือแก้ไขปัญหาและเผชิญอุปสรรคในชีวิตจริง พวกเราเชื่อว่าสังคมไทยยังขาดคนแบบนี้อีกมาก (ดูเฟซบุ๊คแฟนเพจ Malongdu Theatre)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท