Skip to main content
sharethis

7 ก.ค. 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง 'ของหาง่าย ของหายาก ไทยแลนด์ 4.0' กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,288 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ระหว่าง 1 – 6 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา พบประเด็นที่น่าพิจารณาหลายประเด็น ได้แก่

เมื่อถามถึงประสบการณ์ที่เคยพบเห็นแรงงานต่างด้าวทำกับข้าวขายแย่งอาชีพคนไทย พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.9 ระบุหาง่าย ในขณะที่ร้อยละ 23.1 ระบุหายาก อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้ามเมื่อถามถึงประสบการณ์ที่เคยเห็น งานดีมีเงินดี มั่นคงสำหรับคนไทย พบว่าส่วนน้อยหรือร้อยละ 16.0 ระบุหาง่าย ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.0 ระบุหายาก ที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อถามว่าคนไทยตกงานโรงงานใช้เทคโนโลยีแทนแรงงาน พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.2 ระบุหาง่าย ในขณะที่ส่วนน้อยหรือร้อยละ 18.8 ระบุหายาก

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงประสบการณ์เคยพบเห็น รัฐมนตรีมีคุณธรรม จิตใจดี ทำเพื่อประชาชนทั้งประเทศแท้จริง พบว่าส่วนน้อยหรือร้อยละ 13.6 ระบุหาง่าย ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.4 ระบุหายาก ในทางตรงกันข้าม เมื่อถามถึงประสบการณ์เคยพบเห็นเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบน วิ่งตำแหน่ง แสวงหาผลประโยชน์พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.6 ระบุหาง่าย ในขณะที่ส่วนน้อยหรือร้อยละ 11.4 ระบุหายาก ที่น่าพิจารณาคือเมื่อถามถึงประสบการณ์ของประชาชนที่เคยพบเห็น อาหารข้าวแกง ราคาถูก กินอิ่ม อร่อย พบว่าส่วนน้อยหรือร้อยละ 30.0 ระบุหาง่าย ในขณะที่ร้อยละ 70.0 ระบุหายาก ยิ่งไปกว่านั้นที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อถามถึงประสบการณ์ของประชาชนในเรื่อง ทำมาหากินขัดสน กฎระเบียบของรัฐเป็นอุปสรรคทำมาหากินของประชาชน พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.9 ระบุหาง่าย ในขณะที่ส่วนน้อยหรือร้อยละ 10.1 ระบุหายาก สุดท้ายด้านการเมือง เมื่อถามถึงประสบการณ์ของประชาชนที่เคยพบเห็น คนใกล้ชิดแวดล้อมนายกรัฐมนตรี เป็นคนดี มีคุณธรรม พบว่าส่วนน้อยหรือร้อยละ 20.7 ระบุหาง่าย ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.3 ระบุหายาก ในทางตรงกันข้าม นักการเมือง แย่งชามข้าว แย่งตำแหน่ง หาผลประโยชน์ส่วนตัว พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.6 หาง่าย ในขณะที่ส่วนน้อยเพียงร้อยละ 8.4 ระบุหายาก

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่าจากข้อมูลครั้งนี้เสนอทางออก 3 ประการช่วง “ขาลง” คะแนนนิยมตกต่ำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ 1) รวบรวมทรัพยากรที่กระจัดกระจายอยู่มาไว้ในการบริหารจัดการของรัฐบาล 2) ปรับแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อความมั่งคั่ง มั่งคง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน และ 3) กระจายทรัพยากรคืนกลับไปถึงมือประชาชนทั้งประเทศโดยเร็วเพราะกำลังเป็นช่วงเวลา “ขาลง” คะแนนนิยมของรัฐบาลตกต่ำโดยทำให้ของหายากเช่น งานดีมีเงินดีมั่นคงสำหรับคนไทย รัฐมนตรีมีคุณธรรม ทำเพื่อประโยชน์สุขให้ประชาชนทั้งประเทศกลายเป็นของหาง่าย

“ความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ข้อมูลล่าสุดที่ค้นพบประชาชนประมาณร้อยละ 10 ว่างงาน ไม่ใช่ตัวเลขร้อยละ 1 ที่ว่างงาน และประชาชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 35-40 ที่ระบงุานที่ทำไม่มีความมั่นคง ผลที่ตามมาคือ ฐานสนับสนุนรัฐบาลจึงลดต่ำลง ดังนั้นอย่าไปโทษสื่อมวลชนว่าเสนอข่าวด้านลบ เพราะความเป็นจริงของความเดือดร้อนยากลา บากอยู่ที่ประชาชนจริง ๆ จึงเสนอให้ผู้มีอำนาจได้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ค้นพบนี้ปรับปรุงยุทธศาสตร์ นโยบาย แผน ชุดโครงการและโครงการทั้งระดับพื้นที่ (AreaBase) และระดับประเทศ (National Base) เพื่อดึงฐานสนับสนุนของสาธารณชนต่อรฐับาลกลับคืนมา” ผศ.ดร.นพดล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net