Skip to main content
sharethis

ปาฐกถา รศ.อนุสรณ์ อุณโณ เรื่องวิกฤติเสรีภาพในมหาวิทยาลัยภายใต้รัฐบาล คสช. เล่าประสบการณ์การกลายเป็นที่จับตามองของทหาร ทำเวทีเสวนาต้องสกรีนเนื้อหา-วิทยากร แจ้งกองทัพ ในท้องถิ่นโดนกดดันหนักกว่า มีการใส่หลักสูตรบังคับเรียนเพื่อสร้างพลเมืองแบบที่รัฐอยากให้เป็น ให้ทุนวิจัยแบบมีธงเรื่องความมั่นคง อาจารย์ต่างชาติก็ยังถูกสันติบาลเรียกตัว

รศ.อนุสรณ์ อุณโณ

7 ก.ค. 2562 รศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "มหาวิทยาลัยหรือค่ายทหาร?" ในเวที De-Talk: ล้างพิษรัฐประหาร ทวงคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน ที่คณะศิลปศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ โดยกล่าวถึงประสบการณ์ เรื่องราวที่พื้นที่ทางวิชาการถูกกดทับ คุกคาม และความพยายามทำให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ในการสร้างระบอบอำนาจนำใหม่ในช่วงตลอดห้าปีในยุครัฐบาล คสช. มีใจความดังนี้

หลังรัฐประหาร 2557 มีสภาวะการสิ้นสุดลองของการเคลื่อนไหวบนท้องถนน หรือขบวนการมวลชนกึ่งจัดตั้งไม่ว่าสีไหน เสื้ออะไร แกนนำทั้งหลายหากไม่ถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติก็ถอยร่น บางส่วนก็ลี้ภัย ในแง่นี้มหาวิทยาลัยกลายเป็นคล้ายๆ กับพื้นที่สุดท้ายในสังคมที่ผู้คนจะมารวมตัวกันแสดงออกถึงสภาวะจิตใจคับข้อง ขุ่นเคืองต่อสภาวการณ์บ้านเมือง มหาวิทยาลัยเลยเป็นที่จับตาของทหาร มีความพยายามเข้ามาจัดการมหาวิทยาลัยในฐานะค่ายทหารมากขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยตกอยู่ในเป้าสายตาของทหาร ก็เห็นกระบวนการเข้ามากดปราบ ไม่ให้การกระด้างกระเดื่อง สมัยรัฐประหารใหม่ๆ นักวิชาการส่วนหนึ่งถูกเรียกไปปรับทัศนคติไม่ต่างจากนักการเมืองหรือนักเคลื่อนไหว โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ตามภูมิภาคที่ถูกนับว่าเป็นแหล่งซ่องสุมคนต่อต้านรัฐบาลก็จะมีนักวิชาการถูกเรียกไปปรับทัศนคติ

เรายังเห็นการควบคุมกิจกรรมทางการเมือง การยับยั้งการชุมนุมทางการเมืองอย่างคำสั่ง คสช. ขณะเดียวกันก็มีมาตรการแทรกแซงกิจกรรมทางวิชาการซึ่งในต่างจังหวัดค่อนข้างหนาแน่นและรุนแรง ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีค่ายทหารใหญ่ๆ ในจังหวัดนั้น หรือมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่กลัวหรือมีทิศทางเดียวกันกับฝั่งทหาร ก็จะมีการส่งสัญญาณลงมาถึงนักวิชาการที่อยากจัดเสวนาวิชาการ อย่างในอุบลราชธานี เมื่อผู้ว่าฯ รู้ว่าจะมีเสวนาวิชาการก็มีการแจ้งไปยังผู้บริหาร ไปยังผู้จัดจนกระทั่งจัดไมได้ ครั้นจะไปจัดที่โรงแรมก็ไม่ได้เพราะเจ้าของโรงแรมก็กลัวจะประกอบธุรกิจต่อไปไม่ได้ ก็ไม่ให้จัดในโรงแรม สุดท้ายจัดไม่ได้ ใน มธ. เองก็ต้องมีการขออนุญาต เช่น ถ้านักศึกษาจะจัดเวทีเสวนาก็ต้องขออนุญาต สกรีนเนื้อหา วิทยากร แจ้งไป สน.ชนะสงคราม แล้วก็ไปแจ้งหน่วยงานกองทัพที่รับผิดชอบพื้นที่ ถ้าจัดที่ มธ. รังสิตก็มีภาคส่วนของกองทัพดูแล 

เราก็ผ่าทางตัน มีครั้งหนึ่งที่จัดเสวนาโดยไม่แจ้ง แล้วก็ใช้ชื่อว่า เสรีภาพทางวิชาการกับความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย ก็จัดได้แต่ก็มีพี่ๆ พรั่งพรูกันมา เราก็เห็นหน้าค่าตากันถึงทุกวันนี้ เป็นไม้เบื่อไม้เมา เป็นหอกข้างแคร่กันแบบนี้ ยักแย่ยักยันกันไป 

แม้มหาวิทยาลัยจะเป็นหนามยอกอกผู้มีอำนาจ แต่ก็ปิดไม่ได้ เพราะมันเป็นแหล่งสร้างความรู้ ประเทศจะไปไหนไม่ได้ถ้าไม่มีความรู้ ก็ต้องให้มันอยู่ แต่มหาวิทยาลัยเองก็เป็นแหล่งบ่มเพราะพลเมืองที่รัฐพึงประสงค์ เราเห็นความพยายามแทรกแซงผ่านหลักสูตรการศึกษา ในหลายๆ แห่งมีการกำหนดวิชาพื้นฐานที่นักศึกษาต้องเรียน ซึ่งมีวิชาจำพวกวิชากองทัพกับการพัฒนาประชาธิปไตย ลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่ผู้บริหารมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพ นอกจากหลักสูตรเหล่านี้แล้วก็จะมีกิจกรรมจำพวกขอความร่วมมือแกมบังคับต่างๆ เราจะเห็นกิจกรรมที่ขอให้ส่งนักศึกษา บุคลากรหรืออาจารย์เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านั้น

อีกสิ่งที่เห็นคือความพยายามกำกับ ควบคุม การผลิตความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย เรื่องทุนวิจัยของ วช. (สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ) ที่เป็นแหล่งทุนหลัก จะพบว่าใน 21 หัวข้อ เกือบครึ่งเป็นความพยายามสร้างสถาปนารัฐชุดใหม่ที่เขาอยากจะเห็น บางหัวข้อเป็นเรื่องความมั่นคง ถ้าไปดูรายละเอียดจะพบว่าเป็นการตอบคำถามว่ากองทัพจะทำอย่างไรต่อ จะอยู่ต่ออย่างไร นอกเหนือจากนักวิชาการไทยจะถูกควบคุมด้วยทุนทั้งหลายแหล่ นักวิชาการต่างชาติที่ไปลงนามในแถลงการณ์เวทีไทยศึกษาในช่วงปี 2560 จำนวน 50 กว่าคน หลังจากนั้นเวลาเข้าประเทศจะถูกกักไว้โดยเฉพาะ โดนดึงเข้าไปอีกห้องหนึ่ง เอาไปถามว่าเข้ามาทำไม หัวข้อวิจัยคืออะไร ล่าสุดเป็นประธานจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ AAS นักวิชาการต่างชาติชุดดังกล่าวที่เข้ามาก็ยังถูกสันติบาลเรียกไปสอบถามต่างหากอยู่ เมื่อถามว่าทำไมถามก็ได้รับคำตอบว่าไม่รู้ แต่มีชื่ออาจารย์ในลิสต์ ซึ่งลิสต์นี้ยังคงอยู่ต่อในรัฐบาลนี้

ตม.กักนักวิชาการต่างชาติ คาดเอี่ยวค้านคดี 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' ทั้งที่ยกฟ้องแล้ว

คิดว่าความพยายามทั้งหมดที่จะจัดการกับมหาวิทยาลัยมันมีลักษณะที่มีความท้าทายในตัว เพราะอุดมศึกษานั้น ในแง่หนึ่งอยู่ใต้กำกับของรัฐ ถูกออกแบบมาให้คนคิด มีวิจารณญาน เปิดโลกตัวเองให้กว้างที่สุด แต่กองทัพพยายามปิดกั้นความคิด ความเห็นต่าง การวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมันผิดธรรมชาติของมหาวิทยาลัย

อีกข้อที่เห็นว่าสำคัญคือความพยายามทั้งหลายที่จะแทรกตัวเข้ามาโดยเฉพาะในการขอความร่วมมือแกมบังคับที่ท้ายที่สุดกลับได้รับผลตรงกันข้าม เป็นการแกว่งเท้าหาเสี้ยนด้วยซ้ำไป แทนที่จะรู้สึกซาบซึ้งดื่มด่ำก็กลับกลายเป็นความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ ทำไมต้องมาบังคับกัน ทำไมไม่ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ภารกิจสำคัญจึงตกมาที่พวกเรา ในตอนนี้ก็ต้องประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงเป็นระยะ และดูว่าใครที่มีความสามารถจะแบกรับหรือทนทานกับแรงเสียดสีเหล่านี้ได้ก็ขอให้ทำต่อไป เพราะเรากำลังเผชิญหน้ากับการใช้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่สถาปนาระบอบอำนาจนำแบบใหม่ ถ้าเราไม่สามารถรักษาพื้นที่มหาวิทยาลัยเหล่านี้ไว้ได้แล้ว ประเทศนี้คงจะสินหวัง สำหรับคนที่อยากจะเห็นความเสมอภาคและการเคารพในความแตกต่างของผู้คนอย่างเท่าๆ กัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net