ชีวิตที่ถูกละเมิดในรั้วมหาวิทยาลัยของอินโดนีเซีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เหตุการณ์ในไทยเมื่อไม่กี่วันก่อนนี้ ได้เกิดกรณีการถูกรุมทำร้าย “จ่านิว” และกรณีของนักศึกษาที่ถูกบังคับให้เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องจนต้องติดเชื้อต่อมทอนซิลอักเสบ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้มีให้เห็นตลอด ในบทความสั้นนี้ ผมไม่มีข้อเสนอที่จะช่วยให้เราก้าวพ้นจากภาวะอันโหดร้ายนี้ แค่อยากแบ่งปันประสบการณ์ที่พบในอินโดนีเซียเป็นเวลาหนึ่งปี ทั้งที่เห็นจากสายตาตัวเองและการบอกเล่าของเพื่อนๆ (เหยื่อ) ในหลายกรณี ซึ่งแม้ระบบอำนาจทางการเมืองด้านบนจะแตกต่างกัน แต่ระดับความรุนแรงหรือการกดขี่ก็พบได้ไม่ด้อยไปกว่ากัน

ประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย

ต้องยอมรับว่า ระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซียเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งดีกว่าไทย แม้อินโดจะมีประชาธิปไตยเมื่อหลังปี 1998 แต่ก็ประคับประคองมาอย่างน่าชื่นชม หลักฐานอันหนึ่งคือ อินโดนีเซียไม่มีการเกณฑ์ทหาร สิ่งนี้และการไม่มีสถาบันกษัตริย์หรือสุลต่านที่เป็นศูนย์รวมใจคนทั้งประเทศได้มีส่วนช่วยให้กองทัพอินโด ไม่แข็งแกร่งพอที่จะยึดอำนาจได้ หากต้องการอำนาจทางการเมือง ก็ต้องออกมาลงเลือกตั้งและสู้กับพลเรือนด้วยกติกาที่เป็นธรรม ซึ่งผลการเลือกตั้ง (แม้ครั้งที่ผ่านมา) ก็สะท้อนว่า คนอินโดยังฝักใฝ่ผู้นำที่เป็นพลเรือน 

การทำร้ายร่างกายผู้คิดต่างทางการเมืองในอินโดจึงมีให้เห็นน้อยกว่าไทย การชุมนุมประท้วงถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ มหาวิทยาลัยที่ผมเคยเรียนเมื่อปีที่แล้ว มีการชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยโดยปิดถนนให้รถวิ่งเลนเดียวเกือบทุกอาทิตย์ แน่นอนว่าแกนนำหลักมาจากหลักสูตรรัฐศาสตร์ ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การชุมนุมประท้วงกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นผู้นำ พูดอย่างตรงไปตรงมาคือ ถ้าใครอยากสมัครเป็นประธานสภาฯ ควรมีประวัติการขึ้นเวทีปราศัยที่จัดข้างถนนนั่นแหละ เพราะเท่ากับสะท้อนว่า เขามีความเป็นผู้นำและไม่เกรงกลัวต่อผู้มีอำนาจที่กดขี่ประชาชน

การชุมนุมโดยนักศึกษามักเริ่มในช่วงบ่าย และจะยุติลงราว 5 โมงเย็น สังเกตจากหน้ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเกาะสุลาเวสี ผมไม่เคยทราบข่าวการถูกสลายการชุมนุม อาจมีตำรวจราว 5-10 นาย มาดูแลความเรียบร้อย และบ้างก็มีตำรวจจราจรมาช่วยโบกมือให้รถสลับกันไป สลับกันหยุด รู้สึกอินโดจะมีกฏหมายควบคุมเรื่องการชุมนุมเช่นกัน อาจต้องให้ยุติลงช่วง 6 โมงเย็น ส่วนใครจะมาร่วมชุมนุมใหม่ในวันรุ่งขึ้นก็เป็นสิทธิที่พึงทำได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วงเวลากลางคืนอาจส่งผลต่อการถูกลอบทำร้ายหรือควบคุมเหตุการณ์ได้ยาก

นี่เป็นข้อดีของการแสดงออกทางการเมืองของอินโดนีเซีย ซึ่งมักไม่พบว่า นักศึกษาถูกรุมทำร้ายแบบที่พบเจอในไทย ส่วนหนึ่งเพราะประชาธิปไตยในระดับบน คือองค์กรทางการเมืองของรัฐในอินโดนีเซียก้าวหน้าขึ้นจริงๆ แต่การเคารพผู้อื่นและกดขี่กันเองในมหาวิทยาลัยก็มีไม่น้อยไปกว่าไทย ซึ่งผมอยากแบ่งปันประสบการณ์นี้เช่นกันครับ

ไม่บังคับเรื่องชุดนักศึกษา แต่ก็ไม่มีอิสระในการแต่งกาย

แม้อินโดจะไม่บังคับเรื่องชุดนักศึกษา แต่บังคับเรื่องการแต่งกายอยู่กลายๆ เช่น ห้องสมุดหลายที่จะไม่ยอมให้บริการกับนักศึกษาที่สวมเสื้อยืดกางเกงยีนส์ โดยมีป้ายระเบียบการแต่งกายติดไว้ข้างหน้า รองเท้าแตะก็เป็นหนึ่งในสิ่งต้องห้าม ทั้งที่ห้องสมุดควรมีเป้าหมายในการช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งข้อมูลให้มากที่สุด แต่ก็กลับมาทำหน้าที่ตรวจจับการแต่งกาย

แต่ละคณะจะมีรุ่นพี่ที่คอยแนะนำ (เชิงบังคับ) ว่าวันไหนควรใส่สีอะไร เช่น ครุศาสตร์ วันจันทร์ต้องใส่เสื้อบาติกสีน้ำเงิน วันอังคารมุสลิมผู้หญิงต้องคลุมผมด้วยญิยาบสีเหลือง เป็นต้น ดังนั้นถ้าเราเดินผ่านห้องเรียนของพวกเธอ ก็จะเห็นว่าทุกคนแต่งตัวเหมือนกัน แม้เขาจะไม่ถูกบังคับด้วยระเบียบมหาวิทยาลัย เพราะดังที่ผมเสนอไปแล้วว่า ระบอบประชาธิปไตยส่วนบนของอินโดก้าวหน้าดี กระทรวงศึกษาฯ ไม่ต้องมาเสียเวลากับเรื่องเสื้อผ้าและทรงผมเด็ก แต่พื้นที่ส่วนตัวของแต่ละองค์กร ก็จะออกระเบียบมุขปาฐะ มากดขี่กันเอง

เพื่อนผมจากสาขาภาษาอังกฤษเล่าว่า เธอต้องขึ้นรับประกาศนียบัตรผู้ทำประโยชน์ให้มหาวิทยาลัย แต่ถูกสั่งมาว่า ต้องใส่ผ้าคลุมสีแดงทุกคน ซึ่งเธอไม่มีสีนั้น และเธอก็ไม่มีสิทธิต่อรอง ได้แต่ต้องแก้ด้วยการไปหาซื้อผ้าคลุมตามที่กรรมการสั่งมา

สาขาที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงถูกควบคุมมากขึ้น
คณะวิศวะฯ ของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง นักศึกษาจำนวนมากเป็นชาย เพื่อนผมตัดสินใจย้ายคณะไปเรียนเอกภาษาอังกฤษในปีที่สอง เธอเล่าให้ฟังว่า “เธอย้ายเพียงเพราะอยากดัดฟัน” ความพิเศษของคณะวิศวะฯ แห่งนี้คือ ห้ามไม่ให้ น.ศ.หญิง แต่หน้าทาปาก ใครแต่งในระดับเล็กน้อยจะถูกตักเตือน แต่ใครแต่งหน้าอย่างเห็นได้ชัดจะไม่ถูกอนุญาตให้เข้าห้องเรียน เช่นเดียวกับคณะอิสลามและภาษาอาหรับ เพื่อนผมซึ่งเป็นคนไทยถูกไล่ให้กลับไปเปลี่ยนเสื้อเพราะเสื้อที่แกใส่อยู่ไม่มีกระดุม (เป็นเสื้อยืด)

เพื่อนที่ดัดฟัน ได้เปิดรูปใน IG ของรุ่นพี่ในคณะวิศวะฯ ซึ่งเขาโพสต์แบบสาธารณะให้ผมดู รุ่นพี่จำนวนมากไว้ผมยาว และถอดเสื้อถ่ายรูปกันเป็นกลุ่ม (แต่ละชั้นเรียน?) ซึ่งน่าสงสัยว่า ขณะที่ผู้ชายทำตัวเป็นแกงค์วัยรุ่นอันธพาลได้ แต่คนเหล่านั้นเอง ที่มาร่วมกันบังคับให้ผู้หญิงต้องอยู่ในกรอบ แต่เรื่องนี้ก็อาจไม่แปลก ดังที่ น.ศ. ไทยจำนวนมากก็ด่าเผด็จการ แต่ตนก็จัดงานรับน้องอย่างโหดร้าย

การรับน้องในอินโดก็ไม่แพ้ของไทย มีการต้องเดินเข่าบนโคลนตมตลอดจนกินสิ่งสกปรก และคนที่ปฏิเสธไม่ร่วมงานนี้จะถูกขู่ว่าอาจไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรุ่นพี่ เท่าที่ทราบ มี น.ศ. จำนวนน้อยมากที่ปฏิเสธการเข้าร่วม ที่โหดร้ายกว่านั้น บางมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเอกชน เช่นขึ้นกับองค์กรศาสนา ก็จะบังคับ น.ศ. ผ่านหลักสูตรอบรมจริยธรรม ซึ่งโหดร้ายไม่แพ้กัน

ถ้าเน้นจริยธรรม จะอ่อนแอในทางวิชาการและสิทธิมนุษยชน

ผมเคยขอเข้าร่วมโครงการอบรมจริยธรรมอิสลาม แต่ไม่ได้รับอนุญาต อาจเพราะกรรมการทราบดีว่าผมไม่ได้เป็นมุสลิม (แม้ผมจะเสนอจะทำตามระเบียบแบบคนอื่นๆ ทุกอย่าง) และคงกลัวการถูกสังเกตและเขียนรายงานแบบนักวิจัย โครงการนี้จัดขึ้นครั้งละ 6 วัน เหมือนการเข้าค่ายจริยธรรม น.ศ. ทุกคนจะต้องผ่านโครงการนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง และจะต้องใช้ใบประกาศนียบัตรนี้เป็นส่วนหนึ่งในการขอจบการศึกษา

อิสลามในอินโดเองก็มีหลายองค์กร แม้จะอ้างความจริงแท้ตามพระคัมภีร์ แต่อาศัยการตีความที่แตกต่างกัน การเข้าค่ายเช่นนี้จึงเป็นการ convert มุสลิมจากหลายๆ ความเชื่อให้มาเป็นหนึ่งเดียวภายใต้องค์กรศาสนานั้นๆ จากการสัมภาษณ์ กิจกรรมจะมีตั้งแต่สอนการละหมาด ฝึกทำนองการออกเสียงในการอ่านกุรอานที่ถูกต้อง (ตามจารีตขององค์กรนั้นๆ) กิจกรรมจะเน้นไปที่การฟังบรรยาย ซึ่งประสบความสำเร็จมาก น.ศ.หลายคนเล่ากับผมว่า เขารู้จักอิสลามที่แท้จริง (ในรูปแบบใหม่) ขึ้นมาได้เพราะผ่านโครงการเช่นนี้ 

ความโหดร้ายของโครงการเช่นนึ้คือ ยึดนาฬิกาและโทรศัพท์จาก น.ศ. ทุกคน (ค่ายหนึ่งอาจมี น.ศ. ราว 500 คน) จนผู้เข้าร่วมโครงการไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตนได้เข้านอนและตื่นนอนกี่โมง แค่ทำตามรุ่นพี่ที่ควบคุม แต่เขาสันนิษฐานว่า น่าจะปล่อยให้นอนหลังห้าทุ่มและตื่นนอนประมาณตีสอง แทบทุกคนไม่ได้อาบน้ำตลอดระยะเวลา 6 วัน เพราะไม่มีเวลาว่างที่มากพอ และห้องน้ำมีจำนวนจำกัด ซึ่งควรถูกใช้เพื่อการขับถ่ายเท่านั้น

นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ (ของมหาลัยเอกชนอิสลามแห่งหนึ่ง) จะถูกบังคับให้อยู่หอของมห่วิทยาลัยเป็นเวลา 1 ปี โดยต้องจ่ายค่าพอพักและค่าเข้าร่วมกิจกรรมศาสนาที่ทางหอพักจัดขึ้นจำนวน 50,000 บาทต่อหนึ่งภาคการศึกษา (ไม่รวมค่าเทอมที่ต้องจ่ายตามปกติ) กิจกรรมละหมาดร่วมกันและฟังบรรยายศาสนาจะมีในทุกวันศุกร์ ราว 18.00 – 20.00 น. และเวลา 21.00 น. ของทุกคืน จะมีรุ่นพี่พาท่องจำกุรอาน ตอนเช้าเวลาประมาณ 04.30 น. ทุกคนจะถูกปลุกด้วยเสียงอาซานละหมาด และราว 05.00 น. ก็ต้องรวมตัวกันเพื่อท่องจำกุรอาน 

เราอาจมองว่านี่ไม่ใช่ความโหดร้าย แต่คนที่ไม่ใช่มุสลิมและอยู่ที่หอนั้นกลับต้องถูกละเมิดไปด้วย น.ศ. ที่ได้รับการอบรมศาสนาอย่างเคร่งครัดจะมีความพยายามอย่างมากในการชักชวนให้เราเข้ารับอิสลาม (โดยไม่สนในตรรกะในการถกเถียง) และ น.ศ.เหล่านั้นก็มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “คนที่จบจากที่นี่ จะเป็นหมอที่มีคุณธรรม แม้องค์ความรู้ทางวิชาการของเราจะสู้มหาวิทยาลัยอื่นไม่ได้ แต่องค์ความรู้ทางโลกนั้น มิใช่สิ่งที่จะทำให้เราขึ้นสวรรค์ได้” แน่นอนว่า ผมได้ยินคำพูดประมาณนี้จากพระนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทยบ่อยมาก กลายเป็นว่า ที่ที่ศักยภาพในทางวิชาการไม่เข้มแข็ง จะหันมาเชิดชูคุณธรรม (ทั้งที่ไม่มีเครื่องชี้วัด) แต่นี่ดูเหมือนจะเป็นกฏสากลครับ

ต้องย้ำว่า เรื่องที่ผมเล่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในไม่กี่มหาวิทยาลัยของอินโดที่ผมมีโอกาสได้สัมผัสและมีเพื่อนที่พอจะบอกเล่าประสบการณ์ของเขาได้ ซึ่งอาจมีมหาวิทยาลัยอีกมากที่ไม่ได้เป็นเช่นนี้ หรือที่เข้มข้นกว่านี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นจากกรณีของอินโดคือ แม้ระบอบประชาธิไตยในโครงสร้างส่วนบนจะดี แต่องค์กรข้างล่างซึ่งขับเคลื่อนกันเองอย่างค่อยข้างอิสระ มักจะมีการกดขี่และละเมิดเสรีภาพกันเอง และถ้าพูดถึงความกระตือรือล้นในการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง ผมก็ยังรู้สึกว่า น.ศ.ไทยซึ่งอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่กดขี่ ยังแสดงออกในการต่อต้านมากกว่า น.ศ.อินโด

นี่เป็นปรากฏการณ์ที่อินโดก็ต้องประสบเช่นเดียวกับไทย ผมเชื่อว่า ประเทศในอาเซียนยังมีข้อจำกัดเรื่องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ และคงไม่เป็นชาตินิยมมากนัก ที่ผมจะเชื่อว่า ไทยอาจเป็นประเทศที่คนเติบโต ตั้งคำถาม และท้าทายกับระบอบเผด็จการทั้งทางการเมืองและการกดขี่ในรูปแบบอื่นๆ เช่น โรงเรียนและมหาวิทยาลัยมากที่สุดแล้ว

เพราะประเทศอื่นๆ เช่นอินโดนีเซีย ซึ่งแต่ก่อนผมก็เข้าใจว่ามีเสรีภาพมาก แต่เมื่อได้คลุกคลีกลับพบว่า ในมิติขององค์กรข้างล่าง ก็มีการละเมิดกันตามตัวอย่างที่กล่าวไปแล้ว แม้แต่เรื่องเพศสภาพ LGBT เองถูกพูดถึงน้อยมากในมหาวิทยาลัยของอินโดนีเซีย ซ้ำร้ายกว่านั้น มหาวิทยาลัยเอกชนอิสลามจัดบรรยายเรื่อง LGBT ก็เพื่อสะท้อนว่าเป็นโรคจิตที่ควรรักษา (ปี 2561) 

มองโดยภาพรวม การวิจารณ์ผู้คิดต่างในทางการเมืองในอินโดนีเซีย มีความปลอดภัยมากกว่าในไทย เพราะระบอบประชาธิปไตยส่วนบนค่อนข้างเข้มแข็งมากกว่า แต่ทั้งนี้ ก็มิได้หมายความว่า ประชาชนชาวอินโดเองจะตื่นรู้เรื่องความเท่าเทียมและเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นในทุกเรื่อง และการตื่นรู้ในระดับล่าง กระทั่งการกล้าต่อรองกับความไม่เท่าเทียม นักศึกษาไทยกลับเติบโตมากกว่า อย่างไรก็ตาม นี่เป็นความท้าทายในต่างระดับที่ประเทศในอาเซียนต้องเผชิญต่อไปครับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท