นาฏกรรมของรัฐเพื่อสร้างความหวาดกลัวด้วย ม.112 (1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดยทั่วไปแล้วผู้ต้องขังในคดีความต่างๆ จะผ่านกระบวนการขัดเกลาที่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมเพื่อส่งกลับคืนสู่สังคม “ปกติ” ตามคำขวัญที่มักปรากฏอยู่ตามหน้าเรือนจำว่า “คืนคนดีสู่สังคม” ช่วงเวลาการจองจำบุคคลจึงอยู่ในสภาวะ “พิเศษ” แตกต่างจากวิถีชีวิตปกติ เป็นบุคคลในสภาวะยกเว้นจากระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคมภายนอก ถูกปฏิบัติแตกต่างตั้งแต่การกินอยู่ หลับ นอน การจัดลำดับชั้นอำนาจ เช่น การปฏิบัติตัวต่อ “นาย” หรือผู้คุม รวมทั้งการมี “บ้าน” หรือเข้าสังกัดที่มีผู้ลูกพี่และพวกพ้องที่เป็นผู้ต้องขังด้วยกันให้การปกป้องคุ้มครอง

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ยิ่งถูกปฏิบัติเป็นพิเศษแตกต่างจากผู้ต้องโทษในคดีความอื่นๆ เช่น การจับกุมคุมขังเป็นเวลาหลายวันแล้วค่อยชี้แจงข้อกล่าวหาในภายหลัง ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแม้ว่าจะมีการยื่นขอประกันตัวหลายครั้งหลายหน จำกัดการเข้าเยี่ยม ถูกแยกตัวและห้ามผู้ต้องขังคนอื่นมาพูดคุยหรือวิสาสะด้วย ถูกเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดเข้ามาสอบสวนเป็นระยะตลอดการคุมขัง ถูกคุมเรียกตัวไป “สั่งสอน” หรือด่าทอ ต่างๆ นานาเกี่ยวกับการไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งที่ผู้คุมคนนั้นไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับบทบาทดังกล่าว รวมทั้งถูกนักโทษด้วยกันติดตามสอดส่องตลอดเวลาเพื่อนำความเคลื่อนไหวไปรายงานให้แก่ผู้คุม บางคนรู้สึกว่าตนเองถูกกระทำรุนแรงเสียยิ่งกว่าอาชญากรในคดีฆาตกรรม ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ถูกปฏิบัติแบบนั้นทั้งที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สิ้นสุด และพวกเขา/เธอ ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด 

กระบวนการเหล่านี้ไม่ใช่เพียงการป้องปราม และทั้งไม่ใช่กระบวนการขัดเกลาความรู้สึกนึกคิด แต่เป็นส่วนหนึ่งของการสำแดงอำนาจรัฐให้เป็นที่ประจักษ์ต่อการรับรู้ของผู้ต้องหาและประชาชนทั่วไป

รัฐนาฏกรรม

ปรีดี หงษ์ต้น (2558) ใช้แนวคิด “รัฐนาฏกรรม” (Theatre State) ของคลิฟฟอร์ด เกิทซ์ (Clifford Geertz) วิเคราะห์ว่ารัฐไทยมักใช้วิธีการแบบรัฐจารีตจัดแสดง “เชือดไก่ให้ลิงดู” เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนยอมศิโรราบอยู่ภายใต้อำนาจ เขาศึกษากรณีที่รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บังคับใช้กฎหมายมาตรา 17 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 สั่งประหารชีวิตประชาชน 11 คน ระหว่างปี พ.ศ.2501 -2506 ซึ่งถูกข้อกล่าวหาว่าลอบวางเพลิง และผลิตเฮโรอีน รวมทั้งผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์

เทคโนโลยีการสื่อสารที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างและผลิตซ้ำความกลัว กล่าวคือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้นำเสนอข่าวและภาพผู้ต้องโทษประหารอย่างละเอียดและต่อเนื่อง ปรีดี อ้างถึงบทความ ของ Samson Lim ที่ชี้ว่า เทคโนโลยีการสื่อสารทำหน้าที่บันทึกหลักฐานความรุนแรงของรัฐ และเก็บความทรงจำเกี่ยวกับความรุนแรงเอาไว้ (Lim, 2001: 399-420 อ้างใน ปรีดี หงษ์ต้น, 2558: 65) ทำให้สิ่งที่เขาเรียกว่า “วัฒนธรรมเชือดไก่ให้ลิงดู” ทำงานได้กว้างขวางขึ้น 

ก่อนหน้าการประหารชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าว มีการพิพากษาและประหารนักโทษในคดีความร้ายแรงอีกกรณี หนึ่งที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนด้วยเช่นกัน ได้แก่ การประหารชีวิตนายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน และนายเฉลียว ปทุมรส ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 ในข้อหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ข้อกล่าวหา คำพิพากษา และการประหารชีวิต หนังสือพิมพ์แสดงภาพหีบศพที่ถูกแบกออกมาจาก เรือนจำ ภาพภรรยาของนักโทษที่ร้องไห้ฟูมฟายน่าสะเทือนใจ รวมทั้งมีหนังสือและสิ่งพิมพ์อีกจำนวนมาก จากผู้เขียนหลายคนและต่างสำนักตีพิมพ์เกี่ยวกับกรณีนี้ในเวลาต่อมา (เท่าที่รวบรวมได้มีไม่ต่ำกว่า 20 เล่ม)

จากสิ่งพิมพ์ที่ผู้เขียนรวบรวมได้ไม่ต่ำกว่า 20 เล่ม ได้สร้างข้อถกเถียงให้ผู้อ่านได้ขบคิดและสงสัยถึงความเป็นธรรมของคำตัดสิน แต่ในขณะเดียวกันสื่อเหล่านั้นก็มีส่วนสำคัญที่สร้างความ หวาดเกรงต่ออำนาจรัฐและสถาบันกษัตริย์ และร่วมสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์อันล่วงละเมิดมิได้ เพราะผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาหรือคาดเดาเหตุการณ์เป็นอย่างอื่นที่แตกต่างออกไปไม่อาจแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย

ในกรณีนี้สื่อจึงไม่ได้ทำหน้าที่แสดงและเผยแพร่ความจริง เพียงแต่บันทึกหลักฐานความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน และส่งผลต่อการผลิตซ้ำความทรงจำและความหวาดเกรงต่ออำนาจของผู้ปกครองที่รับรู้ร่วมกันว่าสูงส่งและอยู่เหนือความเป็นธรรมทั้งปวงที่จะต้องไม่มีการโต้แย้งหรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างเด็ดขาด

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอว่ารัฐนาฏกรรมดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการที่คนในรัฐมีส่วน “ร่วม” ในการแสดง ด้วยความเชื่อบางอย่างที่ประชาชนจำนวนมากยอมรับและเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2548 อ้างใน ปรีดี หงษ์ต้น 2558: 62) ซึ่งเท่ากับการยินยอมพร้อมใจ (consent) ตามแนวคิดการครอบงำทางอุดมการณ์ (Hegemony) ของ อัตโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) นั่นเอง 

คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ เสนอแนวคิดรัฐนาฏกรรมจากการศึกษารัฐโบราณของชวา ต่อมานักคิดหลายคนปรับใช้แนวคิดนี้อธิบายถึง นาฏกรรมของรัฐโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำหน้าที่สำแดงความยิ่งใหญ่ของรัฐผ่านพิธีกรรมทางศาสนา จารีต ประเพณี และสิ่งปลูกสร้างในเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ ความน่าเกรงขามและความสูงส่งของรัฐ อย่างไรก็ตาม มรดกตกค้างของรัฐนาฏกรรมยังปรากฏอยู่ในการปกครองของรัฐสมัยใหม่ ไม่เว้นแม้แต่รัฐไทย 

นาฏกรรมที่สำแดงผ่าน ม.112 

การศึกษานี้มองว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกใช้แสดงนาฏกรรมของรัฐไทย ด้วยกระบวนต่างๆ ที่ดำเนินการต่อผู้ถูกกล่าวหาถูกจัดให้เป็น “พิธีกรรม” ที่เคร่งขรึม ศักดิ์สิทธิ์ และคลุมเครือ ยากที่จะต่อสู้หรือโต้แย้งได้ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าผู้ถูกกล่าวหาในคดี นี้ มีโอกาสน้อยมากที่จะชนะการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม และยิ่งต่อสู้ก็จะยิ่งตัดโอกาสลดหย่อนโทษลงไปอีก

บทความของ Somchai Preechasilpakul and David Streckfuss (2008) ให้ข้อมูลว่าก่อนจะกลาย มาเป็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่สร้างความกลัวไปทั่วทั้งราชอาณาจักไทยดังเช่นทุกวันนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรม เดชานุภาพมีการตราและปรับแก้มาทั้งหมด 4 ครั้ง สองฉบับแรกบังคับใช้ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 โดยกฎหมายเก่าแก่ที่สุดสุดบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2443 บัญญัติให้ความคุ้มครองทั้งราชวงศ์ไทยและต่างชาติ และประมุขของประเทศ โดยเอาผิดกับผู้ปลุกระดม และก่อการกบฏ ต่อต้านราชวงศ์ หรือรัฐบาล และหมิ่นประมาทราชวงศ์เป็นรายบุคคล ตามกฎหมายนี้การต่อต้านกษัตริย์ หมายถึงการต่อต้านอำนาจ และการต่อต้านอำนาจรัฐก็คือต่อต้านกษัตริย์นั่นเอง 

การแบ่งแยกอำนาจรัฐออกจากอำนาจกษัตริย์ เกิดขึ้นในเวลาต่อมาจากการใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2451 ซึ่งมาตรา 98 บัญญัติ ว่าพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการจะต้องไม่ถูกอาฆาตมาดร้าย หรือหมิ่นประมาท ผู้กระทำผิดจะถูกลงโทษมากกว่าสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับก่อนหน้านี้ 

หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ไม่มีการแก้ไขกฎหมายข้อนี้ แต่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการกบฏเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเมือง ส่งผลให้พลเมืองมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับราชวงศ์ได้มากขึ้นหากเป็นการแสดงออกตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ หรือมีเจตนาดี และมีการลดโทษปรับและจำคุกผู้กระทำความผิด 

แต่ในปี พ.ศ.2499 โทษเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกแก้ไขอีกครั้งด้วยการปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา และบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2500 โดยตัดเรื่องสิทธิของปัจเจกบุคคลในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับราชวงศ์ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญออกไป กลายเป็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่บังคับใช้มาจนถึงทุกวันนี้

ช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย สังคมไทยเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสูง ปรากฏว่ารัฐได้บังคับใช้ ม. 112 อย่างเข้มงวดและแข็งกร้าว รายงานจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมาย ประชาชน (iLaw) ระบุว่านับจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม พงศ.2557 จนถึง พ.ศ. 2560 มีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาด้วย ม. 112 อย่างน้อย 94 ราย ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว บางส่วนยอมสารภาพตั้งแต่ชั้นสอบสวนเพื่อให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว บางส่วนถูกพิจารณาคดีแบบปิดลับ และมีอุปสรรคในการต่อสู้คดีต่างๆ นานา จนทำให้ตัดสินใจรับสารภาพในที่สุด ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษสูงสุดรวมโทษจำคุก 70 ปีแต่เนื่องจากรับสารภาพจึงได้ลดโทษลงเหลือ 30 ปี 60 เดือน ส่วนในปี พ.ศ.2561 ไม่มีการฟ้องคดีกับบุคคลใดเพิ่มเติม (ประชาไท, 2561) 

ข่าวการต้องโทษของบุคคลที่มีชื่อเสียงในทางสาธารณะถูกเผยแพร่ผ่านสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ในช่วงการจับกุมดำเนินคดี เช่น คดีของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 คดีของ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่ถูกจับกุมในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 และคดีของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554 ฯลฯ ส่วนสื่อออนไลน์ก็เผยแพร่ความ คืบหน้าเกี่ยวกับคดีความและชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษในที่คุมขังเป็นระยะๆ ทำให้ “112” กลายเป็นตัวเลขอันตรายและน่าเกรงขามสำหรับผู้ติดตามการเมือง เพราะเห็นว่าหากต้องโทษในคดีนี้จะมีโอกาสน้อยมากในการต่อสู้คดี  

นอกจากนักกิจกรรมการเมืองแล้ว ยังปรากฏว่ามีบุคคลสำคัญ มียศตำแหน่งสูงอย่างนายตำรวจ ทหารระดับนายพล ที่ตกเป็นข่าวคึกโครมทางสื่อสาธารณะว่าถูกจับกุมในข้อหา “หมิ่นเบื้องสูง” ในข่าวเหล่านั้นไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมการกระทำผิด ส่วนกระบวนการพิจารณาคดี และอัตราโทษที่ได้รับซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในภายหลังก็มักถูกปกปิด นอกจากนั้น ยังปรากฏว่ามีผู้ต้องหาบางคนเสียชีวิตในระหว่างที่กระบวนการพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุด สาเหตุการเสียชีวิต และกระบวนการจัดพิธีศพก็มักเป็นข่าวที่รวบรัด คลุมเครือ และมีเงื่อนงำ (ผู้อ่านสามารถค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางอินเทอร์เน็ต)
 
ในแวดวงนักกิจกรรมการเมืองโดยทั่วไป ช่วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงที่สุดคือช่วงหลังการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 มีการจับกุมดำเนินคดีประชาชนจำนวนมากโดยอ้าง ม. 112 โดยเริ่มจากการมีประกาศคำสั่ง คสช. หลายฉบับ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ออกชื่อสกุลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองให้ไปรายงานตัว ก่อนที่พวกเขาจะถูกกักขังในค่ายทหารเพื่อ “ปรับทัศนคติ” และสอบสวนถึงความเกี่ยวโยงกับ “ขบวนการล้มเจ้า” ประชาชนบางส่วนถูกกองกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจไป “บุกอุ้ม” มาจากเคหสถานโดยไม่เลือกเวลา มีการทำลายประตูบ้าน ยึดทรัพย์สินส่วนตัวและอุปกรณ์สื่อสาร นอกจากนั้นยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไปแสดงตัวตามสถานศึกษา สถานที่จัดประชุมสัมมนา ร้านอาหาร และบริเวณที่พักอาศัยที่คาดว่าจะมีการนัดพบปะพูดคุยเกี่ยวกับการเมือง 

กระบวนการต่างๆ ดังกล่าวทำให้บรรยากาศความหวาดกลัวแผ่ปกคลุมในวงกว้าง แต่ คสช. ก็ไม่สามารถทำให้นักกิจกรรมการเมืองศิโรราบต่ออำนาจได้เสียทีเดียว เพราะพวกเขาเห็นว่ารัฐบาลเผด็จการไร้ความชอบธรรมในการสถาปนาอำนาของตน นักกิจกรรมบางคนอาจลดบทบาทการเคลื่อนไหวเป็นเพียงเพราะว่าพวกปกป้องตนเองจากภัยที่อาจเกิดขึ้นต่อร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน และญาติมิตรของตน นาฏกรรรมของ คสช. ในนามของรัฐ จึงทำได้เพียงยับยั้งการเคลื่อนไหวไม่ให้ปรากฏอย่างเปิดเผยในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่มันก็พร้อมจะแทรกซึมและประทุออกมาได้ทุกเมื่อหากโอกาสอำนวย (ประเด็นนี้จะขยายความเพิ่มเติมในตอนอื่นๆ)

อะไรก็เป็นไปได้ ในนาม 112 

พี (นามสมมุติ) ถูกบุกอุ้มในเช้าวันหนึ่ง “น้าโทรบอกว่ามีคนมาหา เป็นทหาร น้าส่งโทรศัพท์ให้คุยกับเขา แล้วก็ได้ยินว่า “เฮ้ย ค้นเลย” พอผมเปิดประตูเข้าไปเจอทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบนับสิบ เขาเข้ามาที่ ห้องผม เอาคอมพ์ เอาโทรศัพท์มือถือของผมไป แล้วอุ้มขึ้นรถพาไปสถานีตำรวจ...ผมไม่รู้ เขาคิดอะไรที่พูดออกมา เช่น “เป็นตุ๊ดหรือเปล่า” “สติดีหรือเปล่า”” (สัมภาษณ์ 23 ธันวาคม 2561) จากนั้นเขาถูกคุมขังอยู่หลายวันกว่าจะมีการแจ้งข้อหาว่าเขาได้โพสต์เฟสบุ๊คที่มีข้อความเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเขาเป็น “รอยัลลิสต์” ส่วนข้อความที่เป็นหลักฐานกระทำผิดคือการโต้เถียงและด่าทอฝ่ายตรงกันข้าม เมื่อเจ้าหน้าที่ค้นข้อมูลในเฟซบุ๊กของเขาแล้วถึงกับแสดงความงงงวยเพราะภาพและข้อความส่วนใหญ่ล้วนแต่แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จากเบื้องลึกของจิตใจ กระนั้นก็ตาม เขาถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลานานหลายเดือน และผ่านกระบวนการกล่อมเกลาต่างๆ มากมายกว่าจะได้รับการปล่อยตัวโดยปราศจากความผิด เมื่อมีการเรียกร้องให้แก้ไข ม. 112 จะมีเสียงโต้แย้งว่า “ถ้าไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร” พี ไม่ใช่ผู้ถูกคุมขังรายแรกและรายเดียวที่ถูกจับกุมด้วยกระบวนการไม่ชอบมาพากลโดยที่เขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่ 

โอ (นามสมมติ) เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกจับกุมในปี พ.ศ. 2555 จากเหตุที่ญาติร่วมสายโลหิตมีความบาดหมางส่วนตัวกับเขาจึงไปแจ้งตำรวจว่าเขาพูดหมิ่นประมาทหน้าโทรทัศน์ขณะชมข่าวสองทุ่ม ก่อนหน้านั้นเขาไม่เคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ได้ไปชุมนุม และไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงนักกิจกรรมการเมือง การต่อสู้คดีความกินเวลายาวนาน โดยในช่วง 359 วันนั้น โอไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวสักครั้งเดียวจากการยื่นขอประกันตัวถึง 7 ครั้ง เมื่อศาลตัดสินยกฟ้อง เขาได้รับการปล่อยตัวและพ่วงด้วยหนี้สินมหาศาลจากการขาดรายได้และการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มพูนขึ้นโดยไม่จำเป็นในช่วงเวลาที่อยู่ในเรือนจำ 

อดีตผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับ ม.112 หลายคนกล่าวคล้ายกันว่าไม่ได้กลัวการติดคุกอีกแล้ว เพราะรู้แล้วว่าข้างในนั้นเป็นอย่างไร แต่ทุกคนจะจำกัดการสื่อสารของตนไว้ว่าจะไม่ก้าวล่วงไปท้าทาย ม.112 เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ให้โอกาสการต่อสู้ที่เป็นธรรมสำหรับความผิดในข้อหานี้ อีกทั้ง การถูกกล่าวหาในข้อหานี้ยังทำให้ชีวิตด้านอื่นๆ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เมื่อทุกคนยอมรับว่าตัวเองยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในราชอาณาจักรพวกเขาจำต้องประนีประนอมกับกรอบจำกัดต่างๆ ที่รัฐกำหนดขึ้น และในฐานะอดีตผู้ต้องหา ม.112 พวกเขายิ่งต้องจำกัดตัวเองให้อยู่ในขอบเขตที่ปลอดภัย แม้จะไม่เคยมีความชัดเจนว่าเส้นเขตแดนที่ “ปลอดภัย” ในเรื่องนี้อยู่ตรงไหนกันแน่

“เว้น 112 นะ ใครจะว่าขี้ขลาดก็แล้วแต่ ผมไม่อยากพลาดอีกแล้ว ลิมิต 112 อยู่แค่ไหนผมก็รู้ แต่มันปลิ้นได้ บางทีไม่ผิด แต่มันก็ผิดได้ นักกฎหมายตายเพราะ 112 ก็หลายคนแล้ว” (สัมภาษณ์ 1 ธันวาคม 2561)

สองกรณีข้างต้นเป็นตัวอย่างในอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นแล้วซึ่งยืนยันถึง “ความพิเศษ” ของกระบวนการพิจารณาคดีในความผิด ม.112 ที่ผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับยกเว้นจากกระบวนการปกติทันที แม้ว่าพวกเขาเป็นเพียง “ผู้ต้องสงสัย” อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการทำให้กฎหมายมาตรานี้มีความศักดิ์สิทธิ์จนประชาชนธรรมดาจะอาจหาญต่อสู้โต้แย้งได้ยาก ดังนั้น เมื่อรู้ตัวหรือสงสัยว่าอาจถูกจับด้วย ม.112 บางคนจึงหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อให้มีเสรีภาพ ในการใช้ชีวิตและเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป แต่ผู้หลบหนีบางคนก็ถูกคุกคามด้วยอำนาจมืด ดังปรากฏว่าเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2561 มีข่าวการพบศพชายสามคนที่บริเวณตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำโขง ใน ต. อาจสามารถ อ.เมือง และ ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ในลักษณะถูกใส่กุญแจมือ มัดเท้า แล้วผ่าท้องยัดด้วยแท่งปูนซีเมนต์ ห่อศพด้วยตาข่ายและกระสอบป่าน ภายหลังพิสูจน์ดีเอ็นเอพบว่า 2 ศพเป็นร่างของ ‘ภูชนะ’ หรือ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ และ ‘กาสะลอง’ หรือ ไกรเดช ลือเลิศ ส่วนอีกศพหายไปก่อนจะได้ตรวจพิสูจน์ แต่คาดเดากันว่าศพที่หายไปนั้นคือ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งหายไปพร้อมกับภูชนะ และกาสะลอง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2561 จากที่พักในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ศูนย์ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 2562) ทั้งนี้ชายทั้ง 3 คน หลบหนีออกจากประเทศไทยด้วยเชื่อว่าพวกตนจะถูกรัฐจับกุมและดำเนินคดีด้วยข้อหาร้ายแรง อีกทั้งสุรชัยเคยถูกจำคุก 7 ปี 6 เดือน ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาแล้วในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 และได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556 แต่ต่อมาเขาถูกศาลทหารออกหมายจับในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 57/2557  
ผู้ที่ได้รับอิสรภาพหลังจากถูกจองจำไม่ได้เป็นอิสระโดยสมบูรณ์ แต่ยังถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตลอดเวลา และบางคนก็มีตราบาปติดตัวจนทำให้สูญเสียความสัมพันธ์กับญาติมิตรของตนเอง “ผมมีบัดดี้” ศักดิ์ (นามสมมติ) อาจารย์มหาวิทยาลัยเล่าว่าเขาถูกปล่อยตัวหลังจากถูกคุมขังนานร่วมสามเดือนเพราะแชร์ข้อความในเฟสบุ๊ค แต่ในที่สุดอัยการไม่ได้สั่งฟ้อง ในช่วงแรกของอิสรภาพมีตำรวจสันติบาลคนหนึ่งเฝ้าติดตามเขาแทบทุกฝีก้าว และคอยบอกให้เข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และพิธีแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งเรียกตัวให้ไป “รวมรุ่น” หรือรายงานตัวร่วมกับอดีตผู้ต้องขังที่ถูกจับกุมคุมขังในกรรมเดียวกันเป็นระยะๆ (สัมภาษณ์ 21 ตุลาคม 2560) อีกคนหนึ่งคือ ดวงจันทร์ (นามสมมติ) หลังจากถูกจำคุกนานหลายปี เมื่อพ้นโทษแล้วก็ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยแวะเวียนไปเฝ้าบริเวณที่พักอาศัยสม่ำเสมอ เธอถูกญาติพี่น้องตัดขาดตั้งแต่เป็นคดีความ และหลังจากนั้นก็ถูกเพื่อนสนิทห้ามไปมาหาสู่เพราะกลัวจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับจ้องไปด้วย (สัมภาษณ์ 10 พฤศจิกายน 2562)

นาฏกรรมของรัฐที่สร้างความหวาดกลัวต่อข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายอาญา ม. 112 จึงไม่ได้มีแค่การจับกุมคุมขังและสิ่งที่เกิดขึ้นและถูกยกเว้นในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงการติดตามสอดส่องในทุกฝีก้าวของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด รวมไปถึงญาติ มิตร และบุคคลอื่นๆ ที่พวกเขามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย 
 
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

เอกสารอ้างอิง 

นพพล อาชามาส
2556.   การประกอบสร้างความกลัวและการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ประชาไท
2561.   “'ไอลอว์' เปิดสถิติปริมาณกฎหมาย 4 ปี คสช. และการดำเนินคดีทางการเมือง” เผยแพร่ 21 พฤษภาคม 2561 (ออนไลน์) https://prachatai.com/journal/2018/05/77035

ปรีดี หงษ์ต้น
2558.   “เชือดไก่ให้ลิงดู: รัฐไทยกับการทำ ลายศัตรูด้วยนาฏกรรม” วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปีที่ 1 (2) 53-99.

Somchai Preechasilpakul and David Streckfuss 
2008.   "Ramification and Re-Sacralization of the Lese Majesty Law in Thailand" บทความนำเสนอใน The 10th International Conference on Thai Studies The Thai Khadi Research Institute/Thammasat University Bangkok, Thailand.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 
2562.   “ความหวังในการค้นหาความจริง: กรณีการหายไปของสุรชัยเเละคนสนิท”เผยแพร่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 (ออนไลน์) 
https://www.tlhr2014.com/?p=10951&fbclid=IwAR0tBs4ke3yrPgBwom29wNJtHYMDGkCUUSggtM8gmfORzDhP3ArncD9bto
 

 

หมายเหตุผู้เขียน: ปรับปรุงจากบทความนำเสนอในการประชุมวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ 13 “ความพลิกผันของศาสตร์มนุษย์และสังคมในยุคดิจิทัล” วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา /บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “การเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์เพื่อสร้าง “พื้นที่ความรู้” ของพลเมืองผู้ตื่นตัวทางการเมือง”ภายใต้ชุด โครงการวิจัยเรื่อง “การสร้างพื้นที่ความรู้ในสังคมพหุวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่กำลังก่อตัวขึ้นใหม่ในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสมัยใหม่” ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท