อัพเดทสถานการณ์ 'สหรัฐฯ-อิหร่าน' หลังโดรนสหรัฐฯถูกทำลายและวิกฤตอ่าวโอมาน

หลังอิหร่านทำลายโดรนสอดส่อง RQ-4 Global Hawk ของสหรัฐฯบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ ทั้งสองฝ่ายพยายามจะตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามในลักษณะหยั่งเชิง เช่น เจาะระบบ ข่มขู่ ฯลฯ เพราะต่างต้องคำนึงถึงความรุนแรงที่จะตามมา ขณะที่สหรัฐใช้มาตรการลงโทษหลายทางเพื่อขัดขวาง แต่อิหร่านกลับมุ่งมั่นจะพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธต่อไป ความขัดแย้งนี้ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจของโลกและสร้างความกังวลแก่ประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านมีที่ท่าจะรุนแรงขึ้น หลังโดรนตรวจตราของสหรัฐฯถูกอิหร่านยิงทำลาย เมื่อ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไม่กี่วันหลังวิกฤตอ่าวโอมานที่สหรัฐฯอ้างว่าอิหร่านลอบโจมตีโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน จากนี้เป็นการประมวลสถานการณ์ในรอบครึ่งเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่การตอบโต้กันไปมาของทั้ง 2 ฝ่าย คำชี้แจงที่ไม่ตรงกัน ไปจนถึงการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมของอิหร่านและผลกระทบทางเศรษฐกิจ

คำพูดที่ไม่ตรงกัน

20 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดรนตรวจตราของสหรัฐอเมริกาถูกอิหร่านยิงทำลาย ซึ่งโดรนดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายต่างพูดไม่ตรงกัน โดยสหรัฐฯอ้างว่าโดรนดังกล่าวคือโดรนรุ่น MQ-4C Triton นั้นไม่ได้รุกล้ำพื้นที่น่านฟ้าของอิหร่าน ขณะที่อิหร่านนำซากโดรน RQ-4 Global Hawk ที่ยิงตกมายืนยันว่าโดรนของสหรัฐฯนั้นบุกรุกพื้นที่บริเวณช่องแคบฮอร์มุซ ใกล้เมืองคูเฮมูบารัก จ.ฮอร์มอซกัน ทางตอนใต้ของอิหร่าน

การตอบโต้ของทั้งสองฝ่าย

ต่อมา ฮอสเซน ซาลามี ผู้บัญชาการ The Islamic Revolutionary Guard Corps (IRGC) ได้ออกมากล่าวเตือนสหรัฐว่าอิหร่านไม่มีเจตนาจะก่อสงคราม เพียงแต่ป้องกันตนเองเท่านั้น หากมีการรุกล้ำก็พร้อมจะดำเนินการทางการทหารทันที และอิหร่านได้ปิดฉากทางการทูตกับสหรัฐฯ[1] ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวว่า เขายังไม่ได้ยุติมาตรการทางการทหารต่ออิหร่าน แม้จะยกเลิกคำสั่งโจมตีอิหร่านในช่วงเช้าวันที่ 20 มิ.ย.นั้น ไปเพียง 10 นาทีก่อนปฏิบัติการ เพราะมีการคาดการณ์ว่าอาจมีผู้เสียชีวิตถึง 150 คน หากทำการปฏิบัติการสำเร็จ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะยังมีอยู่และจะถูกใช้ในเวลาที่เหมาะสม และทรัมป์ยังได้ประกาศคว่ำบาตรผู้นำระดับสูง รัฐมนตรี และนักการทูตของอิหร่าน โดยไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ ได้ และไม่มีสิทธิรับเงินสนับสนุนใดๆ

ต่อมาในวันที่ 22 มิ.ย.2562 สื่อของสหรัฐหลายแห่ง[2]ได้รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ทรัมป์ ได้มีคำสั่งลับผ่าน ศูนย์บัญชาการไซเบอร์ของกองทัพสหรัฐให้ตอบโต้ทางการทหารต่ออิหร่าน การโจมตีทางไซเบอร์นี้เป็นแผนสำรองที่ถูกพัฒนาขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดที่พัฒนาระดับความรุนแรงขึ้น โดยมีผลทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการปล่อยจรวดและขีปนาวุธของอิหร่านใช้การไม่ได้ วันที่ 24 มิ.ย.2562 โมฮัมหมัด จาห์โรมี รัฐมนตรีโทรคมนาคมของอิหร่าน ปฏิเสธรายงานข่าวนี้โดยกล่าวนทำนองเย้ยสหรัฐฯว่า ไม่เคยมีใครโจมตีไซเบอร์อิหร่านได้สำเร็จ ขณะที่สื่อมวลชนต่างสงสัยและสอบถามกันว่าข่าวการโจมตีไซเบอร์อิหร่านนั้นมีความจริงเท็จประการใด พวกนั้นไม่เคยโจมตีประสบความสำเร็จมาก่อน แม้จะพยายามกันหลายครั้งหลายหน จาร์โรมี ได้ทวีต

ขณะเดียวกัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เชื่อว่าแฮกเกอร์ หรือ ผู้เจาะระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ของอิหร่านนั้น มีเป้าหมายต่อหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ โดยกลุ่มแฮกเกอร์เหล่านี้ได้ทำการส่งอีเมล์โดยเน้นเป้าหมายไปที่บุคคลระดับสูง ปลอมเป็นคนรู้จัก โดยส่งลิงค์มาให้คลิกเข้า หรือทำเป็นขอความช่วยเหลือ (Spear Phishing Email) แก่หน่วยงานราชการของสหรัฐ บริษัท CrowdStrike และ FireEye ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของสหรัฐฯก็รายงานไปในลักษณะเดียวกัน แฮกเกอร์เหล่านี้พยายามที่จะปลอมอีเมล์ให้มีรูปลักษณ์ที่เหมือนกับอีเมล์ราชการของจริง โดยติดตั้ง โปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประสงค์ร้ายต่อคอมพิวเตอร์ไว้

ทั้งสหรัฐฯและอิหร่านต่างไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอีกฝ่ายคิดจะกระทำการอะไรบ้าง การตอบโต้ต่าง ๆ จึงเป็นเหมือนการหยั่งเชิงกัน ที่ผ่านมาอิหร่านได้ทำการซื้อระบบขีปนาวุธจากหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงรัสเซีย และ จีน ทั้งยังทำงานและพัฒนายุทโธปกรณ์ดังกล่าวกับ เกาหลีเหนือ และ ซีเรีย การยิงทำลายโดรนสหรัฐฯของอิหร่านจึงเป็นการแสดงถึงแสนยานุภาพของกองทัพอิหร่าน[3]

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้บัญชาการอิหร่าน อาลีเรซา ซาบาฮิฟาร์ด ได้กล่าวเตือนสหรัฐว่า อิหร่านมีอาวุธลับพิเศษ ที่สามารถทำลายกองทัพสหรัฐฯได้ หากสหรัฐฯมีการเคลื่อนไหวโดยไม่ถูกต้อง เฮซาโมดิน อาเชนา ที่ปรึกษาประธานธิบดีฮัสซาน รูฮานี ยังกล่าวถึง ทรัมป์ ว่า อิหร่านเคยทำให้ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ พ้นจากตำแหน่งมาแล้ว ดังนั้นอิหร่านก็สามารถจะทำแบบเดิมในอดีตได้อีกเช่นกัน ซึ่งอิหร่านได้อ้างถึงวิกฤตตัวประกันอิหร่านในปี 1980 ซึ่งเป็นยุคของ ประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์

นอกจากนี้ สืบเนื่องจากวิกฤตที่อ่าวโอมาน ที่อิหร่านได้โจมตีเรือบรรทุกน้ำมันในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ได้ทวีตข้อความในวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า “อเมริกาและประเทศพันธมิตร จะป้องกันไม่ให้รัฐบาลที่ปกครองเตหะรานและดามัสกัสแสวงหาประโยชน์จากการค้าที่ผิดกฎหมาย” ในวันเดียวกัน[4]เรือตรวจการของกองกำลังนาวิกโยธินของสหราชอาณาจักร ได้กระทำการยึดเรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่านที่ช่องแคบยิบรอลตาร์ (เรือดังกล่าวมีการจดทะเบียนในปานามา) เนื่องจากเรือดังกล่าวต้องสงสัยว่ากำลังขนส่งน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรลไปยังประเทศซีเรีย การกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป (EU) อิหร่านเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการสกัดกั้นอย่างผิดกฎหมายและพฤติกรรมของสหราชอาณาจักรมีลักษณะเหมือนโจรสลัด

กระทรวงต่างประเทศของสหราชอาณาจักรได้แสดงท่าทีปฏิเสธที่จะสนใจคำกล่าวของอิหร่าน แม้ว่ารัฐบาลมาดริดของประเทศสเปน จะออกมาแถลงการณ์อย่างตรงไปตรงมาว่ารัฐบาลสเปนเป็นผู้แจ้งความเคลื่อนไหวเรื่องเรือดังกล่าวกับสหราชอาณาจักรเอง ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวกรองในรัฐบาลของอิหร่านได้ประกาศว่า จะไม่มีการพูดคุยต่อรองใด ๆ กับสหรัฐฯ จนกว่าสหรัฐฯจะยุติการคว่ำบาตร และจนกว่าผู้นำสูงสุดของอิหร่านจะอนุญาตให้มีการพูดคุยได้เท่านั้น

การเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม

เมื่อเดือนพฤษภาคม อิหร่านประกาศว่า[5] จะไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องปริมาณแร่ยูเรเนียมที่ตกลงในปี 2558 อีกต่อไป เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ สนธิสัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดว่าอิหร่านจะไม่สามารถเสริมสมรรถนะยูเรเนียมได้เกินระดับ 3.67% และทำได้ในจำนวนสูงสุดไม่เกิน 300 กิโลกรัม ยูเรเนียมที่ผ่านการเสริมสมรรถนะ 3.67% จะสามารถนำไปใช้ในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ได้ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระดับ 90% ที่ใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์

ต่อมา ในวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา รูฮานี ยังได้ออกมากล่าวเตือนกลุ่มมหาอำนาจในทวีปยุโรปว่า อิหร่านจะเพิ่มปริมาณการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม ซึ่งเป็นแร่ที่ใช้ในการผลิตนิวเคลียร์ ให้ได้ในระดับที่อิหร่านต้องการ โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้อิหร่านยังต้องการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อารัค ซึ่งเป็นสถานที่ที่สามารถผลิตแร่พลูโตเนียมเพื่อทำระเบิดได้ การประกาศของ รูฮานี จึงถือเป็นการสร้างแรงกดดันไปยังประเทศที่ยังยึดมั่นกับสนธิสัญญานิวเคลียร์ที่อิหร่านเคยทำไว้กับประเทศมหาอำนาจ 6 ประเทศ เพื่อให้ประเทศดังกล่าวพยายามหาทางช่วยเหลืออิหร่านให้พ้นจากการลงโทษของสหรัฐฯ ทรัมป์ได้ทวีต ตอบโต้กลับไปว่า ให้อิหร่านระวังภัยคุกคาม เพราะมันจะกลับมาแว้งกัดตัวอิหร่านเองได้แบบที่ไม่เคยมีประเทศใดเผชิญมาก่อน นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังได้ออกมาเตือนอิหร่านว่า การกระทำของอิหร่านจะไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย นอกจากจะสร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้นแก่ภูมิภาคตะวันออกกลาง

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ผลกระทบจากความขัดแย้งครั้งนี้[6] มีผลให้ค่าเงินอิหร่านอ่อนลง และมีอัตราเงินเฟ้อของอิหร่านที่พุ่งสูงขึ้นถึงเกือบ 40% ส่งผลให้สินค้าและบริการมีราคาแพงอย่างมาก แม้แต่สินค้าทั่วไปอย่างอาหาร เช่น เนื้อและสัตว์ปีกราคาเพิ่มขึ้น 57% เนยแข็งและไข่ ราคาเพิ่มขึ้น 37% ผักผลไม้ราคาเพิ่มขึ้น 47% อ้างอิงจากศูนย์สถิติแห่งอิหร่าน (the Statistical Centre of Iran)[7] จากมาตรการคว่ำบาตรทำให้มีสินค้าบางชนิด เช่น โทรศัพท์มือถือไม่สามารถนำเข้าได้ จึงต้องซื้อขายกันผ่านตลาดมืด รวมถึงการส่งออกน้ำมันก็ไม่สามารถทำได้ เพราะน้ำมันที่มาจากอิหร่านถูกกีดกัน ขณะเดียวกันมีอัตราผู้ว่างงานมากกว่า 3 ล้านคน

นอกจากนี้ยังมีผลต่อเศรษฐกิจและการคมนาคมขนส่งโลก[8] สืบเนื่องจากการยิงโดรนที่ช่องแคบฮอร์มุซ ช่องแคบดังกล่าวเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันดิบของโลกและเป็นเส้นทางการบินสำคัญ สายการบินต่าง ๆ จึงพยายามหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางดังกล่าวเพราะไม่ต้องการเสี่ยงกับอันตราย จึงอาจทำให้ต้องบินในเส้นทางอื่นที่ไกลกว่า ซึ่งจะส่งผลให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้นและนำไปสู่การขึ้นค่าตั๋วโดยสาร นอกจากนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งน้ำมันดิบ และอาจทำให้มีน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่เพียงพอ มีผลให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นทันที และ ผลจากการคว่ำบาตรล่าสุดของ ทรัมป์ ก็มีผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนลงอีกด้วย

 

[1] Iran says 'idiotic' new US sanctions shut doors of diplomacy. (2019). Retrieved from https://www.apnews.com/67299afa909d44a7ad83ae5690c7dde2

[2] US 'launched cyberattacks on Iran weapons' after drone downing. (2019). Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2019/06/trump-approved-cyber-attacks-iran-drone-downing-190623054423929.html

[3] Rasmussen, S. (2019). Squeezed by U.S. Sanctions, Iran Shifts From Patience to Confrontation. Retrieved from https://www.wsj.com/articles/squeezed-by-u-s-sanctions-iran-shifts-from-patience-to-confrontation-11562270731

[4] Iran summons UK ambassador in tanker row. (2019). Retrieved from https://www.bbc.com/news/uk-48871462

[5] Iran Guard: Fear of war makes US focus on economic conflict. (2019). Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2019/07/iran-guards-fear-war-focus-economic-conflict-190703094300620.html

[6] How renewed US sanctions have hit Iran hard. (2019). Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-middle-east-48119109

[7] Consumer Price Index in the Month of Farvardin of the Year 1398 > Statistical Center of Iran. (2019). Retrieved from https://www.amar.org.ir/english/SCI-News-Archive/ID/10180/Consumer-Price-Index-in-the-Month-of-Farvardin-of-the-Year-1398

[8] Iran is already in a 'very dangerous' economic position as US prepares major new sanctions. (2019). Retrieved from https://www.cnbc.com/2019/06/24/iran-is-in-a-dangerous-economic-position-as-us-prepares-new-sanctions.html

สำหรับ ภัคจิรา กีรติวิบูลย์วงศ์ ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนิสิตฝึกงานกับประชาไท โดยเป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจในปรากฏการณ์สังคม พฤติกรรมมนุษย์ สุขภาวะ ศิลปะและวัฒนธรรม และเทคโนโลยี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท