Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน ศาลนัดสืบพยานคดียุยงปลุกปั่นและความผิดฐานเป็นอั้งยี่ เหตุสวมเสื้อสหพันธรัฐไท ที่เดอะมอลบางกะปิ 16-17, 24 ม.ค. 63 จำเลย 1 คนได้ปล่อยชั่วคราวจากการวางเงินเป็นประกันจำนวน 2 แสน อีกคนถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง

8 ก.ค.2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (8 ก.ค.62) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้อง 2 จำเลยคดีสหพันธรัฐไท ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นและความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ตามมาตรา 116 และมาตรา 209 ประมวลกฎหมายอาญา จากการสวมใส่เสื้อดำมีแถบธงขาวแดงติดที่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายพร้อมข้อความ “Federation” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ขององค์การสหพันธรัฐไท เดินบริเวณห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศาลกำหนดนัดสืบพยานในคดีดังกล่าวนัดแรกวันที่ 16-17, 24 ม.ค. 63 โดยเทอดศักดิ์เป็นจำเลยผู้เดียวที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจากการวางเงินเป็นประกันจำนวน 200,000 บาท ส่วนประพันธ์ยังคงถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานต่อว่า เวลา 13.30 น.ผู้พิพากษาเข้าห้องพิจารณาเพื่อตรวจพยานหลักฐานระหว่างพนักงานอัยการโจทก์กับนายเทอดศักดิ์และประพันธ์ ณ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ประพันธ์ซึ่งยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานครเดินทางมาศาลโดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวมาอย่างใกล้ชิด ส่วนนายเทอดศักดิ์เดินทางมาจากภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ พนักงานอัยการแจ้งว่ามีพยานบุคคลที่ต้องนำเข้าสืบทั้งสิ้น 12 คน ส่วนทนายความของทั้งสองแจ้งว่ามีพยานบุคคลที่ต้องนำเข้าสืบทั้งสิ้น 2 คน แต่สามารถรับข้อเท็จจริงระหว่างกันได้ คือพยานที่จับกุมจำเลยที่ 1 (เทอดศักดิ์) ส่วนพยานอีกหนึ่งคน พนักงานอัยการไม่ประสงค์จะนำสืบ เหลือรวมสืบพยานบุคคลทั้งสิ้น 10 คน โดยศาลกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกในวันที่ 16 ม.ค.63 และนัดสืบพยานต่อเนื่องวันที่ 17 และ 24 ของเดือนเดียวกัน

คดีนี้ สืบเนื่องจากการแจ้งข้อกล่าวหาโดยพนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามต่อเทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) และประพันธ์ (สงวนนามสกุล) เมื่อช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะเหตุที่ทั้งสองเข้าร่วมกับบุคคลอื่นแสดงสัญลักษณ์ขององค์กรสหพันธรัฐไท โดยการสวมเสื้อดำสกรีนลายธงสีขาวแดงและออกมาแสดงตัวต่อที่สาธาณะบริเวณห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ ในวันที่ 5 ธ.ค.2561 ทั้งนี้ สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นขององค์กรสหพันธรัฐไท ซึ่งเป็นชื่อของกลุ่มนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านและรวมตัวกันวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดจนเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ต่อรัฐผ่านการจัดรายการและเผยแพร่ในช่อง You Tube และสื่อออนไลน์อื่นภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557

ทั้งนี้ เทอดศักดิ์และประพันธ์เคยถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ณ สน.ลาดพร้าวในวันเดียวกันที่ออกมาสวมเสื้อดังกล่าว ภายหลังทั้งสองคนยังถูกติดตามและรบกวนการใช้ชีวิตประจำจากเจ้าหน้าที่ด้วยวิธีการสอบถาม ขอให้รายงานการเคลื่อนไหว และขอมิให้เข้าร่วมกับกลุ่มหรือบุคคลใดอีก ทำให้นายเทอดศักดิ์ตัดสินใจออกจากภูมิลำเนาเดิมในกรุงเทพมหานครและเริ่มทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมจากสถานที่ทำงานในวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา และส่งตัวกลับมายังกองบังคับการปราบปรามเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาว่า “ร่วมกระทำการอันเป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นและเป็นอั้งยี่” ส่วน ประพันธ์นั้น ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานดังกล่าวแล้วในคดีหนึ่งก่อนที่จะเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อขอแสวงหาที่ลี้ภัยจากองค์กร UNHCR อย่างไรก็ตาม แม้ประพันธ์จะได้รับเอกสารในฐานะผู้แสวงหาผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากองค์กรดังกล่าวแล้ว ในวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวอยู่ในสถานีตำรวจและสถานที่ควบคุมตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียรวมทั้งสิ้น 18 วัน ประพันธ์ถูกส่งกลับมาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาจากกองบังคับการป้องกันและปราบปรามเช่นเดียวกับนายเทอดศักดิ์และจำเลยในคดีสหพันธรัฐไทอื่น นับแต่นั้น ประพันธ์ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจนกระทั่งพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2562 เพราะเงินมีจำนวนไม่เพียงพอจะยื่นเพื่อประกอบการพิจารณาคำร้อง และจำนวนเครื่องติดตามอิเลคทรอนิคส์ยังไม่เพียงพอจนไม่อาจใช้อุปกรณ์ดังกล่าวแทนการวางเงินเป็นหลักประกันได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังรายงานด้วยว่า ปัจจุบันผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับองค์กรสหพันธรัฐไทถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเดียวกันกับนายเทอดศักดิ์และประพันธ์แล้วอย่างน้อย 17 คน มีบางส่วนที่เจ้าหน้าที่รัฐให้ข้อมูลว่ายังไม่สามารถติดตามนำตัวมาดำเนินคดีได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการหลบหนีในประเทศเพื่อนบ้าน บางส่วนมีรายงานว่าสูญหายขณะที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านโดยที่ญาติและเพื่อนไม่สามารถติดต่อได้ โดยเฉพาะกรณีของผู้จัดรายการเผยแพร่ทางช่อง You tube หรือลุงสนามหลวง พร้อมทั้งผู้ลี้ภัยไทยอีก 2 คน คือ นายกฤษณะ ทัพไทย และนายสยาม ธีรวุฒิ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายงานความคืบหน้าในการค้นหาชะตากรรมของบุคคลดังกล่าวจากรัฐบาลไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net