Skip to main content
sharethis

เอกชัย หงส์กังวาน ยื่น ป.ป.ช. ตรวจการทำงานของพล.อ.ประวิตร ปมหาตัวผู้ทำร่างกายตนเองล่าช้า พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ทหารมีส่วนเกี่ยวข้องในทุกเหตุการณ์ และยื่นตรวจสอบพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ว่ายังทำงานอยู่จริงหรือไม่ หรือเพียงแค่มีตำแหน่งกินเงินเดือน แต่ไม่ต้องทำงาน

แฟ้มภาพ: banrasdr photo

9 ก.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เวลา 09.50 น. เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งถูกทำร้ายร่างกาย และทำลายทรัพย์สิน รวม 9 ครั้ง ในระยะเวลา 1 ปีครึ่ง ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. 2 เรื่องคือ 1.ขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการทำงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องจากกระบวนการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด กรณีรอบทำร้ายร่างกายตนเอง และทำลายทรัพย์สินมีความล่าช้า 2.ขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการทำงาน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ว่าหลังจากที่ถูกโอนย้ายไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาได้ทำงานจริงหรือไม่

เอกชัย ระบุว่า ที่ผ่านมาตนถูกลอบทำร้ายร่างกาย และถูกลอบเผารถยนต์ รวมทั้งหมด 9 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมคนร้ายได้เพียง 2 กรณีเท่านั้น ส่วนอีกกรณีหนึ่งสามารถจับกุมคนร้ายได้เพียง 1 คน แต่อีก 6 กรณีที่เกิดขึ้นการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ และก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือไปยัง พล.อ.ประวิตร ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ผ่านมา 15 วันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ อีก จึงมายื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการทำงานของ พล.อ.ประวิตร ว่ามีความพยายามในการปัดความรับผิดชอบหรือไม่ อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังเคยให้สัมภาษณืว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนนั้นเป็นเพียงปัญหาส่วนตัว

ส่วนกรณีที่ยื่นให้ตรวจสอบการทำงานของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ นั้น เอกชัยระบุว่า ตั้งแต่มีการโอนย้าย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ มาสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พัชราภรณ์ อินทรีย์ยงค์ ปลัดสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า การดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกฯ นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ามาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้สื่อมวลชนยังนำเสนอว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ มีห้องทำงานที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ แต่เมื่อได้ไปสอบถามพบว่า ไม่มีหน่วยงานใดในศูนย์ราชการที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และไม่มีใครพบเห็น พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เดินทางมาทำงานที่ศูนย์ราชการด้วย จึงต้องการให้มีการตรวจสอบว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ยังทำงานอยู่จริงหรือไม่ และขาดราชการเกินระยะเวลาของระเบียบราชการหรือไม่

“หรือการโอนย้ายเป็นเพียงแค่การทำให้มีตำแหน่งกินเงินเดือน แต่ไม่ต้องทำงาน” เอกชัย กล่าว

สำหรับเอกชัยนั้น ถูกทำร้ายร่างกายทั้งหมด 7 ครั้ง และถูกลอบเผารถยนต์ที่จอดไว้หน้าบ้านพักในเวลากลางคืนอีก 2 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินคดีกับก่อเหตุได้เพียง 3 เหตุการณ์ประกอบด้วย

1.กรณีการถูกปาแก้วน้ำใส่ หลังจากที่เอกชัยเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อมอบของขวัญ(นาฬิกา) ให้พล.อ.ประวิตร เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2561 โดยเหตุการณ์นี้ผู้ก่อเหตุคือ ฤทธิไกร ชัยวรรณศาสน์ ไม่ปกปิดตัวตน ได้ดักปาแก้วน้ำใส่เอกชัย ขณะที่เขากำลังลงจากรถเมลล์หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรวบตัว ฤทธิไกร ได้ทันทีและพบตรวจพบว่าฤทธิไกร พักมีดพับความยาว 3 นิ้วไว้ที่ตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา พกพาอาวุธมีดไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร โดยเจ้าหน้าที่ส่งฟ้องต่อศาลในวันเดียวกัน และศาลมีคำพิพากษาปรับ 1,000 บาท

2.กรณีถูกดักชกจนปากแตก หลังกลับจากทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณะที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2561 โดยครั้งนี้ผู้ก่อเหตุคือ ฤทธิไกร ชัยวรรณศาสน์ คนเดียวกับกรณีแรก จากนั้นเอกชัยได้แจ้งความมกับ สน.ลาดพร้าว ข้อหาทำร้ายร่างกาย ภายหลังอัยการได้ส่งฟ้องนายฤทธิไกร ต่อศาลและศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา

3.กรณีถูกดักตีจนกระดูกมือแตก หลังทวงถามความคิดหน้าเรื่องนาฬิกาหรูที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2561 โดยหลังจากทำกิจกรรมเสร็จเอกชัยได้เดินทางกลับบ้านที่ซอยลาดพร้าว ลงจากรถจากรถเมลล์และเดินเข้าซอบบ้านพัก เขาถูกดักทำร้ายโดยสาม 3 คน ต่อมาตำรวจจับกุมคนร้าย 1 คนคือ กำธร ธรรมขันธ์ (อายุ 20 ปี) ล่าสุดอัยการส่งหนังสือมาสอบถามถึงการเรียกร้องค่าเสียหายในคดี อย่างไรก็ตามกำธรได้ให้การว่าตนเพียงแต่รับจ้างขี่มอเตอร์ไซด์มาเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้าง และไม่ยอมให้ข้อมูลว่าใครเป็นผู้ว่าจ้างและบุคคลใดร่วมกระทำความผิดบ้าง โดยกรณีนี้เอกชัยตั้งข้อสังเกตว่า กำธร อาจจะมีผู้ช่วยเหลือหรือสนับสนุน เนื่องจากสามารถหาเงินหลายหมื่นบาทมาประกันตัวได้ทันที ทั้งที่ฐานะทางบ้านของเขายากจนมาก

ส่วนอีก 6 กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถหาตัวผู้ด่อเหตุได้นั้น เอกชัยตั้งข้อสังเกตเป็นรายกรณีดังนี้

1.เหตุการณ์ที่ถูกชาย 2 คนดักสาดน้ำปลาร้าใส่ หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2561 นั้นแม้จะมีภาพจากกล้องวงจรปิด และหลักฐานคือ ถังใส่น้ำปลาร้า แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้ ขณะที่กองพิสูจน์หลักฐานเผยพบการตรวจสอบลายนิ้วมือบนถังใส่น้ำปลาร้าว่า ไม่พบลายนิ้วมือบนถังดังกล่าว

2.เหตุการณ์ที่ถูกชาย 4 คนรุมทำร้ายร่างกาย หลังจากเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และฟอร์ดเส้นทางสีแดง เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2562 โดยครั้งนี้ผู้ก่อเหตุสวมหมวกกันน็อกปิดบังใบหน้ามิดชิด ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงไม่สามารถจับกุมพวกเขา แม้จะมีภาพจากกล้องวงจรปิดก็ตาม

เอกชัยตั้งข้อสังสัยกรณีนี้ว่า ในวันนั้นมีชายคนหนึ่งอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ออกปาอาสาพาตนไปเลี้ยงข้าวที่ร้านอาหารซึ่งใกล้กับที่เกิดเหตุ จึงสังสัยว่าบุคคลดังกล่าวมีความตั้งใจล่อให้ตนไปถูกทำร้ายหรือไม่ นอกจากนี้ระหว่างที่เกิดเหตุมีชายคนหนึ่งในจำนวน 4 คน ยืนดูต้นทางอยู่เหมือเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวจีนเขามาช่วยเหลือตน ชายทั้ง 4 คนก็หลบหนีไปอย่างรวดเร็ว จึงตั้งข้อสังสัยว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นการกระทำของทหาร

3.เหตุการณ์ที่ถูกชาย 2 คนลอบเผารถยนต์หน้าบ้านพัก เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2562 ซึ่งกรณีนี้มีภาพจากกล้องวงจรปิดที่เปิดเผยให้เห็นถึงใบหน้าของคนร้ายที่เผารถยนต์ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถหาตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีได้ เอกชัยตั้งข้อสังเกตว่า การก่อเหตุครั้งนี้มีการวางแผนมาระดับหนึ่งแต่ยังไม่เป็นมืออาชีพ โดยเวลาประมาณ 02.30 น. มีรถ Toyata Vios มาจอดท้ายรถของตน และเห็นภาพผู้ก่อเหตุหนึ่งคนมีรูปร่างอ้วนมีท่าทีเป็นผู้ควบคุมการก่อเหตุ จึงตั้งข้อสังสัยว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นการกระทำของทหาร

4.เหตุการณ์ที่ถูกชาย 3 คน ดักทำร้ายร่างกายที่กระทรวงสาธารณสุข หลังเข้าให้ข้อมูลกับแพทยสภา กรณีที่ได้ร้องเรียกให้ถอดใบประกอบวิชาชีพแพทย์ ของ นพ.เหรียญทอง แน่นหนา เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2562 โดยชายทั้ง 3 คน ปกปิดใบหน้า และเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามรถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ แม้จะมีภาพจากกล้องวงจรปิดก็ตาม  เอกชัยตั้งข้อสังเกตกรณีนี้ว่า ผู้ก่อเหตุได้ติดตามตนตลอดจึงรู้ว่า ตนจอดรถไว้ที่ใด และจะต้องเดินทางไปขึ้นรถที่ใด จึงตั้งข้อสังสัยว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นการกระทำของทหาร

5.เหตุการณ์ลอบเผารถยนต์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2562 โดยชาย 4 คนขี่มอเตอร์ไซด์ ได้เข้าเผารถยนต์ของเอกชัย ที่ด้านหน้าบ้านพักจนเสียหายยับเยิน ตำรวจยังคงไม่สามารถจับกุมพวกเขา แม้จะมีภาพจากกล้องวงจรปิดก็ตาม เหตุการณ์นี้กล้องวงจรปิดบันทึกภาพเพียง 1 ในคนร้ายที่สวมหมวกกันน็อกปิดบังใบหน้า ขณะที่คนร้ายอีก 3 คนไม่ได้ปรากฎตัวในกล้องวงจรปิด จึงตั้งข้อสังเกตได้ว่า พวกเขารู้มุมกล้งที่ผ่านของตนเป็นอย่างด้วย ทำให้เชื่อว่าอาจเป็นการกระทำของทหาร

6.เหตุการณ์ที่ถูกชาย 4 คนสวมหน้ากากปิดบังใบหน้า รุมทำร้ายร่างกายหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาฯ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2562 โดยที่ตำรวจยังไม่สามารถหาตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีได้ เอกชัยตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการลงมือที่อุกอาจ หากไม่มีผู้มีอำนาจสั่งการ คงไม่มีใครกล้าก่อเหตุในลักษณะนี้ จึงตั้งข้อสังเกตว่าทหารอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net