Skip to main content
sharethis

ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคนที่ 4 เสียชีวิตเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 10 ก.ค. 62 รวมอายุ 98 ปี จากลูกหลานสหายชาวเวียดนามโพ้นทะเล เกิดที่ จ.พิจิตร สู่ปีกเยาวชนเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์สยามตั้งแต่อายุ 17 ปี เคลื่อนไหวร่วมกับกรรมกรโรงงานยาสูบสะพานเหลือง บุกเบิกงานชาวนาอีสาน และเป็นเลขาธิการพรรคคนที่ 4 หลังสมัชชาพรรคครั้งที่ 4 ปี 2525 ก่อนที่พรรคจะยุติบทบาทในปลายทศวรรษดังกล่าว

ธง แจ่มศรี และ 'ป้าน้ำ' ภรรยา ร่วมงานฌาปนกิจ เฉิน ผิง หรือที่ราชการไทยเรียกว่า "จีนเป็ง" อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเมื่อ 23 กันยายน 2556 ที่วัดธาตุทอง (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

10 ก.ค. 2562 ธง แจ่มศรี หรือ ประชา ธัญไพบูลย์ เลขาธิการอดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เสียชีวิตช่วงเช้าวันที่ 10 กรกฎาคม เวลา 02.30 น. ที่ รพ.นครปฐม รวมอายุ 98 ปี

สำหรับธง แจ่มศรี เป็นลูกหลานชาวเวียดนามโพ้นทะเล เกิดที่บ้านดง ต.ป่ามะคาบ อ.เมือง จ.พิจิตร เมื่อ 17 ธันวาคม 2464 บิดาชื่อหวอตุ่ง หรือเสา แจ่มศรี มารดาชื่อ ดั่งกวิ่งแอ็งห์ หรือ ยอ แจ่มศรี โดยมารดาของธงเป็นหลานของ ดั่งทุกเหือ ชาวเวียดนามที่เข้ามาในภาคอีสานเมื่อ พ.ศ. 2453 เพื่อปลุกระดมชาวเวียดนามเพื่อปลดปล่อยชาติจากฝรั่งเศส

ทั้งนี้ ดั่งทุกเหือ ยังมีบทบาทในการจัดตั้งชาวเวียดนามทั่วภาคอีสานเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 มีการตั้งหมู่บ้านเครือข่ายเพื่อเชื่อมกับขบวนการปฏิวัติในเวียดนาม ต่อมาดั่งทุกเหือ และหวอทุง พ่อของธง แจ่มศรี จัดตั้งชุมชนชาวเวียดนามที่หมู่บ้านหนองวัว จ.อุดรธานีในปี พ.ศ. 2468 มีการเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์ในหมู่เยาวชน มีการสร้างโรงเรียนบ้านหนองบัวที่ จ.อุดรธานี เยาวชนคนหนึ่งที่ได้รับการจัดตั้งกลายเป็นนักปฏิวัติก็คือ ธง แจ่มศรี ซึ่งมาเติบโตที่ จ.อุดรธานี

หลัง 14 ตุลา: ธิกานต์ ศรีนารา เล่าเรื่องปัญญาชนภายหลังยุค พคท. กลายเป็นพวกอนุรักษ์นิยม, 6 ต.ค. 2556

200 ปี Karl Marx: ธิกานต์ ศรีนารา – ลัทธิมาร์กซ์เข้าสู่อีสานเมื่อไหร่ อย่างไร?, 27 ก.ย. 2561

ในประวัติของธง แจ่มศรี ที่เผยแพร่โดยนิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ระบุด้วยว่านอกจากที่โรงเรียนหนองบัวแล้ว ธง แจ่มศรี ยังเข้าเรียนที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร และโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จ.อุดรธานี จากนั้นเข้ารับการศึกษาภาษาจีนขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนหัวเฉียว ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงเรียนในสายการจัดตั้งของสหายคอมมิวนิสต์ เขาถูกจับกุมในคดีคอมมิวนิสต์เมื่อ พ.ศ. 2479 และจะเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สยามในปี พ.ศ. 2481 

ธงเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใต้ดินภาษาไทยฉบับแรกของพรรคชื่อ "มหาชน" ในเดือนมีนาคม 2485 ก่อนจะการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในวันที่ 1 ธันวาคม 2485 ธงได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางชุดที่ 1 ธงดูแลงานกรรมกรในโรงงานยาสูบสะพานเหลือง ในเดือนกรกฎาคม 2487 เป็นผู้บุกเบิกงานชาวนาภาคอีสานและเดินทางไปเขตจรยุทธประเทศลาวในช่วงปี พ.ศ. 2492–2494

ในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2495 เขาได้รับเลือกเป็นหนึ่งในกรมการเมือง ธงศึกษาที่สถาบันลัทธิมาร์กซ–เลนิน สาขากรุงปักกิ่ง ประเทศจีนช่วงปี พ.ศ.2495–2500

การประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2504 ธงได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางและกรมการเมือง, ภายหลังการประชุมสมัชชาครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2504 – 2508 ธงบุกเบิกงานที่เขตงานดงพระเจ้าจนกระทั่งถูกจับกุมในปี พ.ศ.2510 การประชุมคณะกรรมการกลางชุดที่ 3 ครั้งที่ 3 ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน ในปี พ.ศ. 2515 ธงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในกรมการเมืองประจำ โดยที่ธงยังจะอยู่ในคุกจนถึงปลายปี พ.ศ. 2516 จึงได้รับการปล่อยตัวและหวนกลับเข้าป่าอีกในช่วงต้นปี พ.ศ.2517 ต่อมาธงได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการกลางชุดที่ 3 ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2519,

ในช่วงอาวุโส ธงประจำที่ศูนย์กลางพรรค จังหวัดน่าน ก่อนที่จะย้ายศูนย์การนำไปที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเปิดประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งธงจึงได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในช่วงปลายปีเดียวกัน ธงจะย้ายมาประจำอยู่ที่เขตงานภาคตะวันตก-ภาคใต้ จนกระทั่งออกจากป่าเมื่อปี 2536

ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 อดีตฝ่ายนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแยกออกเป็น 2 ฝ่าย โดยวิเคราะห์สังคมไทยแตกต่างกัน โดยในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ธง แจ่มศรี ออกแถลงการณ์ในโอกาสครบรอบ 66 ปีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เสนอว่าความขัดแย้งใหญ่ในสังคมไทย "สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นชนชั้นปกครอง 2 กลุ่ม ขอเรียกสั้นๆ ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนเก่า (อนุรักษ์นิยม) กับกลุ่มทุนใหม่ (เสรีนิยม)"

ทำให้ในอีก 1 เดือนถัดมา "หน่วยศึกษาค้นคว้าสังคมไทย" ออกแถลงการณ์ตอบโต้โดยระบุว่าถ้อยแถลงของธง แจ่มศรี เป็นถ้อยแถลงส่วนตัว พร้อมเสนอว่า "ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่กุมอำนาจรัฐกลุ่มนี้ จึงมีความรุนแรงมากกว่ากับกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดกลุ่มอื่นๆ จึงเป็นความขัดแย้งหลักของสังคมไทยในช่วงระยะนี้ กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทักษิณจึงเป็นเป้าหมายหลักหรือคู่ขัดแย้งหลักที่ประชาชนต้องโจมตีคัดค้านในปัจจุบัน เพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติไม่ให้ถูกทำลายย่อยยับไปกว่านี้ ส่วนความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดอื่นๆ ที่ไม่ได้กุมกลไกอำนาจรัฐหรือกุมอำนาจรัฐอยู่ในระดับที่แน่นอนระดับหนึ่งก็ยังดำรงอยู่ แต่เนื่องจากมีความรุนแรงน้อยกว่า จึงเป็นความขัดแย้งรองในช่วงระยะนี้" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยจุดยืนที่แตกต่างของอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนี้ยังแสดงออกทั้งท่าทีต่อการรัฐประหาร คมช. ปี 2549 การสลายการชุมนุมปี 2553 ถึงรัฐประหาร คสช. 2562 ซึ่งความขัดแย้งเช่นนี้ยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net