Skip to main content
sharethis

เวที ‘เส้นทางสู่รัฐสวัสดิการของประเทศไทย ปัญหาอุปสรรค ความเป็นได้’ นักการเมือง-นักวิชาการ-เครือข่ายประชาชน ชี้รัฐสวัสดิการกับประชาธิปไตยคือเรื่องเดียวกัน ต้องจัดการงบประมาณ เพิ่มเก็บภาษีมรดก-ค้าหุ้น มองอุปสรรครัฐสวัสดิการคือกลุ่มทุนผูกขาด เตรียมผลักดันเป็นกฎหมาย

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมวิทยาลัยอาชีวะศึกษาสระบุรี จังหวัดสระบุรี จัดเวทีเวทีรับฟังความคิดเห็นเชิงสถานการณ์และตามบริบท 6 กลุ่มประเด็น ประเด็นสังคมและคุณภาพชีวิต เรื่อง ‘เส้นทางสู่รัฐสวัสดิการของประเทศไทย ปัญหาอุปสรรค ความเป็นได้’ ประจำปี 2562 

‘ส.ส.ประชาชาติ’ ชี้ต้องจัดการงบประมาณ เพิ่มเก็บภาษีมรดก-ค้าหุ้น

สุพจน์ อาวาส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวถึงรัฐสวัสดิการว่า สวัสดิการประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกับประเทศยุโรปอย่างเยอรมันคือ เป็นรัฐสวัสดิการที่มีลักษณะแบบการสมทบ เพราะทุกวันนี้ต้องไปทลายกำแพงทางความคิดของผู้ปกครองและชนชั้นที่มาสมทบกับผู้ปกครองประเทศก่อน ประเด็นหนึ่งที่รัฐไม่อยากผลักดันเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จคือไม่อยากร่วมกันรับผิดชอบ ไม่อยากนำผลประโยชน์ที่พึงมีพึงได้จากการกอบโกยหรือใช้สิทธิประโยชน์ในการทำมาหากินของพรรคพวกเหล่านี้เข้ามาชดเชยพื้นที่ที่ประชาชนทั่วไปควรได้รับ โดยเฉพาะเรื่อง ‘การเสียภาษี’ เป็นเรื่องที่เราถูกส่งเสริมมาตลอดและสิ่งที่เราทำกลับสวนทางกับความต้องการในเรื่องจำเป็นอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นถ้าประเทศเราจะทำรัฐสวัสดิการให้เหมือนกับประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร เพราะต้องมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ ต่อค่า GDP  

ข้อเสนอในฐานะที่พรรคประชาชาติเป็นพรรคหนึ่งที่ชูธงตั้งแต่แรกเรื่องรัฐสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ ดังนี้

  1. ต้องร่วมมือกันและทำเรื่องระบบสวัสดิการถ้วนหน้า นอกจากจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดแล้วต้องขับเคลื่อนให้เป็นกระบวนการที่มีนัยสำคัญ เพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ณ วันนี้สิ่งที่ต้องทำและต้องเร่งรัดเมื่อรัฐบาลเริ่มเข้ามาบริหารประเทศคือต้องหาวิธีปรับโครงสร้างการบริหารจัดการของรัฐบาล เพราะงบประมาณ 3.2 ล้านบาทของในการบริหารประเทศ ล้วนเป็นเงินเดือนเป็นงบประจำถึง 75 เปอร์เซ็นต์
  2. ต้องเรียกร้องให้มีการจัดการงบประมาณที่ผูกขาดหรืองบประมาณที่ไม่จำเป็น เช่น งบประมาณการซื้ออาวุธ ต้องหาวิธีการยกเลิกสัญญาผูกขาด
  3. ต้องแก้ไขเรื่องเก็บภาษี ทำอย่างไรให้คนที่เคยมีความสุขอยู่กับการเฉลิมฉลองรายได้เข้ามาเป็นกลไกลของรัฐบาลร่วมกันเก็บภาษีให้เป็นชิ้นเป็นอัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สินต่างๆ ภาษีลาภลอย เป็นต้น และในอนาคตที่น่าจะทำได้ คือเรื่องภาษีที่เกิดจากกำไรของหุ้น การค้าขายหุ้น
  4. ต้องทบทวนการเก็บภาษี?ด้านธุรกรรมหรือธุรกิจที่เกิดจากระบบอินเทอร์เน็ต เช่น การซื้อผ่านขายออนไลน์

อย่างไรก็ตามสุพจน์ยังกล่าวถึงแนวทางในการผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการว่า พรรคประชาชาติเป็น 1 ใน 7 พรรคร่วมประชาธิปไตยที่เป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพและจะเริ่มมหกรรมตรวจสอบรัฐบาล โดยตั้งกลไกในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ต้องการระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ดังนั้นเราต้องช่วยกันจับตาดูนโยบายต่างๆ ของพรรครัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

‘ส.ส.อนาคตใหม่’ ย้ำรัฐสวัสดิการกับประชาธิปไตยคือเรื่องเดียวกัน

วรรณวิภา ไม้สน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงรัฐสวัสดิการว่า อันดับแรกต้องเข้าใจเรื่องรัฐสวัสดิการก่อนว่าไม่เคยได้มาจากการขอของประชาชนและรัฐสวัสดิการก็ไม่เคยได้มาจากการยึดอำนาจหรือการทำรัฐประหาร สิ่งเหล่านี้ถือเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของรัฐสวัสดิการ เพราะรัฐสวัสดิการกับประชาธิปไตยถือเป็นเรื่องเดียวกัน และทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ก้าวหน้ามากกว่าทุกครั้งของการเมืองไทย

วรรณวิภาระบุว่า ขณะนี้ทุกพรรคการเมืองคงปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายต่างๆ มีเรื่องรัฐสวัสดิการแทรกอยู่ เนื่องจากทุกพรรคการเมืองต้องมีการกระจายอำนาจหรือมีการปฏิรูปกองทัพ ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนสนใจการเมืองมากขึ้นและร่วมกันมีบทบาทและผลักดันในหลายภาคส่วนมากขึ้น

วรรณิภากล่าวต่อว่ารัฐสวัสดิการถ้วนหน้าและครบวงจรจริงๆ ไม่มีปัญหาในเรื่องของงบประมาณ เพราะทุกคนเสียภาษีอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าคนบริหารจะให้ความสำคัญในส่วนไหนแค่นั้นเอง  ดังนั้นพรรคการเมืองต้องมีบทบาทที่จะเข้าถึงประชาชนและมีนโยบายที่ต้องตอบโจทย์กับประชาชนมากขึ้น

ส่วนเรื่องการทำงานทางความคิดพรรคอนาคตใหม่เธอระบุว่า ต้องทำควบคู่กันไปไม่ว่าจะด้านนอกหรือด้านในสภา และอาวุธที่สำคัญของประชาชนคือการใช้พรรคการเมืองให้เป็นประโยชน์ เราสามารถยื่นเป็น พ.ร.บ. เสนอต่อรัฐบาลได้ เปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ นี่คืออาวุธอย่างหนึ่งที่จะใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือในการผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการหรือกฎหมายที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในภาคระดับประเทศได้

ด้านผลกระทบจากรัฐสวัสดิการอีกอย่างหนึ่งคือคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการออม ขณะที่รัฐสวัสดิการคือสวัสดิการที่ดูแลโดยรัฐและไม่เกี่ยวกับการออม

วรรณวิภากล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ แม้รัฐบาลปัจจุบันบอกว่า GDP โตขึ้น 3-4 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าไปดูประเทศเพื่อนบ้านเรา 10 ประเทศโตขึ้นกว่าเรา ที่ผ่านมาประเทศไทยมีทุนผูกขาดมากมาย มีการแบ่งสรรทรัพยากรที่เข้าไม่ถึงคนระดับกลางและระดับล่างอย่างประชาชนทั่วไป อันนี้คือเหตุผลหลักๆ ที่ว่าทำไม GDP ถึงโตขึ้นแค่ 3-4 เปอร์เซ็นต์เพราะไปโตในกลุ่มนายทุนใหญ่ ในขณะที่หนี้พลเรือนสูงขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ สังเกตได้ว่าการเกิดอัตราเงินเฟ้อของภาพรวมในประเทศทุกคนได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะฉะนั้น 6 เปอร์เซ็นต์นั้นน้อยไปด้วยซ้ำ เป็นการปรับอัตราที่เราไม่มีบทบาทไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองเพราะโดนจำกัดในเรื่องนี้

ส่วนเรื่องอุปสรรคที่สำคัญของรัฐสวัสดิการ วรรณวิภามองว่า รัฐสวัสดิการไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการทำรัฐประหาร รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ถ้าประชาชนเปลี่ยนความคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคนและร่วมมือกันผลักดัน ดังนั้นในฐานะที่เป็นฝ่ายค้านต้องดูนโยบายของรัฐบาลว่าอันไหนตอบโจทย์และเป็นสวัสดิการที่ถ้วนหน้ากับประชาชนหรือประชาชนได้ประโยชน์ในนโยบายนั้นด้วย

‘ส.ส.ประชาธิปัตย์’ มองอุปสรรครัฐสวัสดิการคือกลุ่มทุนผูกขาด

อมร อมรรัตนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงรัฐสวัสดิการว่า ความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ มักจะยกตัวเองไปเปรียบเทียบกับสังคมยุโรป จริงๆ แล้วความคิดอุดมการณ์ที่ต้องการความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยมานานพอสมควรแล้ว ย้อนไปในยุคของปรีดี พนมยงค์ ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคนั้นมีความคิดที่ยังอยู่ในวังวนที่แคบและจำกัด แต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรื่องการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนกับการจัดตั้งการเมืองไทยสลับสับเปลี่ยนการรัฐประหารกับรัฐบาลประชาธิปไตยถูกพังทลายลง คนในยุคนั้นมีความหวังว่าประชาธิปไตยจะลงรากและทำให้สังคมไทยก้าวเข้าไปอีกยุคหนึ่ง แต่ความหวังนั้นอยู่ได้ไม่นาน

อมรชี้ว่า อุดมการณ์เรื่อง ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่ไทยควรจะเดินเข้าไปสู่เป้าหมายในอีก 40 ปีข้างหน้าถ้ามีการเคลื่อนไหวมีความพยายามที่จะผลักดันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสามารถผลิดอกออกผลให้รัฐเป็นต้นไม้ที่ออกรากในสังคมไทยได้ แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือโครงสร้างของสังคมไทยที่เดินไปในระบอบเสรีนิยมเอาแบบอย่างจากตะวันตกเข้ามาใช้ ทำให้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำกับความต่ำสูงในสังคมทุนนิยมเต็มรูปแบบ ในอดีตเป็นสังคมทุนนิยมที่เป็นบริวาร แต่ปัจจุบันนี้เป็นสังคมที่เข้าสู่ขั้นผูกขาดของกลุ่มทุนไทยและสมทบร่วมมือกับทุนจากต่างชาติ นี่คือสิ่งที่เป็นอุปสรรคของการเมืองไทย

ส่วนประเด็นเรื่องแนวคิดรัฐสวัสดิการ อมรมองว่า คำว่าทุกพรรคเริ่มมาให้ความสนใจและศึกษานั้นไม่ได้เกิดจากการเคลื่อนไหว 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เกิดจากความจำเป็นที่ถูกกระแสของสังคมบีบบังคับเลยจำเป็นต้องผ่อนคลายยอมตัดชิ้นเนื้อของผลประโยชน์บางส่วน หวังเพื่อที่จะให้สังคมได้ผ่อนคลายหรืออยู่ในบรรยากาศที่เดินหน้าต่อไปได้ เพื่อที่จะดำรงการในการเอารัดเอาเปรียบและอยู่ในฐานะที่เป็นชนชั้นปกครองชนชั้นนำของสังคมและคุมเศรษฐกิจกุมอำนาจทางการเมือง

อมรกล่าวต่อว่าเมื่อพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการที่ผ่านมาไม่อาจเกิดขึ้นมาจากความมุ่งมั่นปรารถนาของคนแค่กลุ่มเดียวหรือรอให้รัฐสภาลงมติออกกฎหมายตามสิ่งที่เราเรียกร้องต้องการได้ แต่ต้องเกิดจากสำนึกของประชาชนว่าถึงเวลาหรือยังที่เราจะเข้าถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ของเรา ดังนั้นที่ผ่านมานโยบายของพรรคประชาธิปัตย์มีแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการค่อนข้างชัดและนำเสนอในส่วนที่เป็นไปได้ในสภาพเศรษฐกิจ สังคมและกรอบความคิดของสังคม เช่น การดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดรับเงิน 5,000 บาท เป็นต้น

ภาค ปชช. เตรียมผลักดันรัฐสวัสดิการเป็นกฎหมาย

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกล่าวว่า ภาพที่สะท้อนถึงวิธีคิดและการใส่ใจในการดูแลเรื่องรัฐสวัสดิการของประเทศไทยคือสิ่งที่ดีในเชิงสวัสดิการ แต่อีกมุมหนึ่งรัฐควรมองรัฐสวัสดิการแบบทั่วถึง เสมอภาคและเท่าเทียม ประชาชนซึ่งถือเป็นผู้ที่สร้างรายได้ให้รัฐโดยการจ่ายภาษีให้รัฐ ทำให้รัฐมีงบประมาณเป็นหลายแสนล้าน แต่กลับเป็นสิ่งที่น่าเศร้าเพราะรัฐไม่ได้มองถึงเรื่องนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่มีเรื่องบำนาญให้ประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยผู้ที่เขียนยุทธศาสตร์ 20 ปีคือข้าราชการบำนาญ ที่มีบำนาญมากกว่า 10,000 บาทอยู่แล้ว

เรื่องบำนาญเป็นเรื่องสำคัญมากหากรัฐไม่มีเจตจำนงในเรื่องนี้ ทางเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐ สวัสดิการกำลังผลักดันเรื่องนี้อยู่และมองว่า การมีรัฐสวัสดิการที่สำคัญรัฐควรเป็นตาข่ายรองรับเพื่อให้ประชาชนไม่ตกลงไปอยู่ในจุดที่ยากลำบาก ซึ่งเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกำลังผลักดันเพื่อให้เกิดกฎหมายนี้ขึ้น และเคยล่ารายชื่อก่อนที่รัฐบาลนี้จะปฏิวัติได้ 10,000 กว่าชื่อ ซึ่งยังไม่ได้เสนอกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพราะมองว่ารายชื่อที่เขาเสนอเป็นสมบัติของ ประชาชนที่จะได้จนช่วยลูกช่วยหลานจะเสนอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และเป้าหมายสูงสุดของรัฐ สวัสดิการของกลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการคือหลักประกันรายได้ในทุกช่วงวัย

นอกจากนี้นิมิตร์ยังกล่าวถึงบทบาทหน้าที่สื่อมวลชนที่มีความสำคัญในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นสาธารณะในการเปลี่ยนเป็นรัฐสวัสดิการ ต้องมีการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนวิธีคิด ซึ่งสื่อสารสาธารณะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันความเคลื่อนไหวในภาคประชาชนและเปลี่ยนประเทศนี้ให้เป็นรัฐสวัสดิการของทุกคน

‘นักวิชาการ มธ.’ ระบุสวัสดิการไทยมีเพดานต่ำ ยังเป็นแบบสงเคราะห์ มีความเฉพาะกลุ่ม

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงรัฐสวัสดิการว่า เราเกิดมาในสังคมที่เหลื่อมล้ำ เราจึงมองว่าความเหลื่อมล้ำนี้เป็นสิ่งที่ปกติ พอเราพูดถึงความเสมอภาค ความเท่าเทียม เราจึงมองว่าความเสมอภาค ความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ผิดปกติ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรระวังในการพัฒนารัฐสวัสดิการคือทัศนคติมากกว่าจะนำไปเปรียบกับประเทศอื่น

ย้อนกลับไปเมื่อ 80 ปีที่แล้ว อังกฤษมีปัญหาด้านความยากจน คนไร้การศึกษาไม่มีงานทำ มีหมอไปรักษาตามบ้านแค่สำหรับคนรวย แต่คนจนกลับต้องต่อแถวเพื่อรักษา มีความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การไม่สามารถเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมได้ การขาดเสถียรภาพทางการเมือง

อังกฤษมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างรัฐสวัสดิการ หัวใจของแนวคิดนี้คือ ตัดทิ้งสังคมสงเคราะห์ ตัดทิ้งวิธีการคิดที่ต้องปากกัดตีนถีบ เดินหน้าสู่สิ่งที่เรียกว่า เดินหน้าครบวงจร สวัสดิการคือ สิทธิ เป็นน้ำเป็นอากาศของคน ไม่มีใคร พิสูจน์ว่าใครควรจะได้น้ำหรืออากาศ รัฐสวัสดิการไม่ใช่ยาวิเศษที่สามารถรักษาได้ทุกอย่าง นี่คือการเปลี่ยนแปลงในอังกฤษ แต่ในประเทศไทยยังมีภาวะหนี้อยู่ เช่น การติดหนี้นอกระบบ เป็นต้น

ษัษฐรัมย์ยังกล่าวต่อว่าสวัสดิการไทยมีลักษณะดังนี้ 1.สวัสดิการเพดานต่ำ เป็นการมองสวัสดิการมีลำดับชั้นทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล ระบบบำนาญ  ซึ่งมาจากมาตรฐานความเชื่อว่าความไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องปกติและความเสมอภาคเป็นสิ่งผิดปกติ  2. สวัสดิการแบบสงเคราะห์ผ่านการพิสูจน์ความจน  3. สวัสดิการเป็นเรื่องของคนรวยให้คนจน เป็นเรื่องของคนลำบากน่าสงสาร  4. สวัสดิการแบบกลุ่มเฉพาะ(ข้าราชการ) ซึ่งมองว่าสวัสดิการสามารถมีลำดับชั้นได้ ตามคุณูปการของคนต่อประเทศ  ตามความสามารถคนเก่งและคนดีสามารถมีสวัสดิการที่ได้ เป็นความจำกัดเฉพาะกลุ่มและไม่ได้มองว่า สวัสดิการคือน้ำอากาศที่ประชาชนควรได้รับ

ส่วนเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้านั้น ษัษฐรัมย์มองว่า เมื่อทุกคนได้คุณภาพชีวิตตามความต้องการพื้นฐานจะสามารถเพิ่มเติมเรียกร้องความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ การจัดการโรงเรียนในท้องถิ่นต่างๆ ถ้าโรงเรียนเดิมไม่ปลอดภัยก็ต้องมาเรียนในกรุงเทพฯ พอเรียนในกรุงเทพฯ ก็เข้าสู่การศึกษาที่เป็นการแข่งขันเพื่อนำไปรับใช้ระบบทุนนิยมต่อไปอีก จึงต้องมีตัวพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำ(CRI) เช่น รัฐสวัสดิการต้องดี ต้องมีอัตราภาษีก้าวหน้า นโยบายแรงงานต้องทำให้เราคุ้มครองชีวิตของผู้คน ดังนั้นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าสามารถดึงดูดคนมาลงทุนได้ เพราะขึ้นอยู่กับเงิน เวลา และรัฐสวัสดิการสามารถขยายตัวด้วยกำลังแรงงานที่หลากหลาย

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net