นักวิชาการมุสลิมเสนอบอยคอตฮัจญ์ ไม่พอใจเจ้าชายซาอุฯ ละเมิดสิทธิ

บทความใน Foreign Affair ของนักวิเคราะห์ตะวันออกกลางและที่ปรึกษาองค์กรซาหนัดเพื่อการสร้างสันติ (Sanad for Peacebuilding) เปิดเผยเรื่องเกี่ยวการความอื้อฉาวของเจ้าฟ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน ของซาอุดิอาระเบีย ส่งผลทำให้ชาวมุสลิมเริ่มปฏิเสธไม่อยากไปร่วมพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นพิธีการสำคัญที่ชาวมุสลิมจะเดินทางแสวงบุญไปเข้าร่วมอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตที่ซาอุฯ

เจ้าฟ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิ ซัลมาน

อาห์เหม็ด ทวาอิจ นักวิเคราะห์ตะวันออกกลางและที่ปรึกษาองค์กรซาหนัดเพื่อการสร้างสันติ (Sanad for Peacebuilding) ระบุว่าเจ้าฟ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิ ซัลมาน ต้องการทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศซาอุฯ ดูดี เหมือนจะมีเสรีแบบเปลือกนอก แล้วก็พยายามกลบเกลื่อนความโหดร้ายของนโยบายตัวเอง ทั้งนโยบายภายในประเทศและนโยบายการต่างประเทศ แต่การกลบเกลื่อนของเขาก็ไม่มากพอจะบดบังความสนใจจากผู้คนในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐบาลซาอุฯ ได้

การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กล่าวถึงนี้มีตั้งแต่การทิ้งระเบิดใส่พลเรือนในเยเมน การสังหารจามาล คาชอกกี อย่างโหดเหี้ยมในสถานทูตของตัวเอง และการใช้วิธีการแบบก้าวร้าวต่อวิกฤตอิหร่าน ทั้งหมดนี้ทำให้ชาวมุสลิมนิกายซุนนีด้วยกันเริ่มเบือนหน้านี้ซาอุฯ เช่นในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมามีผู้นำศาสนาชื่อดังของลิเบีย มุฟตีใหญ่ ซาดิก อัล การิอานี เรียกร้องให้ชาวมุสลิมทุกคนบอยคอตต์พิธีฮัจญ์ที่กรุงเมกกะ โดยถึงขั้นบอกว่าถ้าหากใครเดินทางไปเป็นครั้งที่สองจะกลายเป็น "การทำผิดแทนที่จะเป็นการทำสิ่งที่ดี "สาเหตุที่บอยคอตต์การไปยังซาอุฯ นี้เป็นเพราะไม่ต้องการให้การแสวงบุญกลายเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจซาอุฯ ทำให้ซาอุฯ สามารถนำเงินไปใช้ซื้ออาวุธ ก่อเหตุประหัดประหารในเยเมนและส่งผลต่อประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ โดยอ้อม การิอานีถึงขั้นบอกว่าเงินเหล่านี้จะไป "ช่วยให้ผู้นำซาอุฯ ก่อเหตุอาชญากรรมต่อเพื่อนชาวมุสลิมด้วยกัน"

แต่การิอานีก็ไม่ใช่ครูสอนศาสนามุสลิมที่มีชื่อเสียงคนแรกที่ประกาศแบนพิธีฮัจญ์ที่ซาอุฯ ก่อนหน้านี้ ยูซุฟ อัล คาราดาวี ครูสอนศาสนาอิสลามนิกายซุนนีที่เป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ซาอุฯ ตัวยงประกาศฟัตวาสั่งแบนการไปพิธีฮัจญ์ที่ซาอุฯ เมื่อเดือน ส.ค. 2561 เขาบอกว่าอยากให้ชาวมุสลิมนำเงินไปจุนเจือผู้หิวโหย รักษาคนป่วย และให้ที่พักพิงแก่คนไร้บ้าน "เป็นสิ่งที่ดีกว่าในสายตาขององค์อัลเลาะห์" เมื่อเทียบกับการนำเงินไปให้กับพิธีฮัจญ์ที่ซาอุฯ

บทความของทวาอิจระบุว่าอิทธิพลของซาอุฯ ไม่ได้มาจากอำนาจทางการเมืองและประสิทธิภาพทางการทหารอย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังมาจากการที่มีประวัติศาสตร์ผูกโยงกับศาสนาอิสลามด้วย เพราะซาอุฯ มีทั้งเมืองเมกกะ และเมดินา ที่ทั้งคู่ถือเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวมุสลิม เนื่องจากเมกกะเป็นที่ตั้งของมัสยิดศูนย์กลาง "กะฮ์บะฮ์" ส่วนเมดินาเป็นที่ฝังศพของนบีมูฮัมหมัด โดยที่มีชาวมุสลิมราว 2.3 ล้านคนจากทุกนิกายเดินทางไปเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ที่กรุงเมกกะซึ่งเป็นพิธีที่จัดขั้นทุกปี นั่นทำให้การเดินทางไปที่ซาอุฯ กลายเป็นแรงบันดาลใจของชาวมุสลิมจำนวนมากในที่ต่างๆ ของโลก

ทวาอิจระบุว่าอิทธิพลเช่นนี้เองที่ทำให้โลกอาหรับส่วนที่เป็นมุสลิมนิกายซุนนีใช้ซาอุฯ เป็นแนวทางในการดำเนินการเรื่องศาสนา ในช่วงที่มีการปฏิวัติอิสลามอิหร่าน ในปี 2522 ซึ่งเป็นนิกายชีอะฮ์ ซาอุฯ กลัวว่าอิทธิพลของของนิกายแบบอิหร่านจะแพร่กระจายออกไปสู่ภูมิภาคทำให้พวกเขาทุ่มเงินเป็นหลายล้านในการส่งออกอิสลามในแบบของตัวเอง มีการให้งบกับมัสยิดทั่วโลก และมีจำนวนมากที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงในตะวันตก ขณะที่ซาอุฯ ได้อ้างว่าตัวเองเป็นผู้นำแห่งโลกมุสลิม

ซาอุฯ พยายามสร้างอำนาจนำในตะวันออกกลางมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยมีคู่แข่งคืออิหร่านเท่านั้น การที่ซาอุฯ เป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกและมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ทำให้ซาอุฯ ได้รับการสนับสนุนจากประเทศใกล้เคียงมาเป็นเวลาหลายสิบปี แม้แต่หลังจากกรณีการสังหารคาชอกกีที่มีหลักฐานว่าราชวงศ์ซาอุฯ มีส่วนพัวพันนั้น ท่าทีของสหรัฐฯ ในยุคสมัยโดนัลด์์ ทรัมป์ ก็ยังคงมีท่าทีปกป้องซาอุฯ ทว่าฝ่ายโลกมุสลิมดูจะไม่ยอมให้อภัยในเรื่องนี้

กลุ่มประเทศมุสลิมเริ่มมีความกังวลมากขึ้นต่อกรณีการสังหารคาชอกกี และปฏิบัติการในสงครามเยเมนที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้คนเพิ่มมากขึ้นจากการทิ้งระเบิดแบบไม่เลือกเป้าหมายของกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยซาอุฯ พวกเขาทิ้งระเบิดใส่โรงพยาบาล งานศพ รถโรงเรียนที่รับส่งเด็ก และงานแต่งงาน เจ้าหน้าที่สหประชาชาติบอกว่าเป็น "วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดในยุคสมัยของพวกเขาที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกัน" การกระทำของซาอุฯ ก็ทำให้แม้แต่ประเทศแนวร่วมพันธมิตรอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็แสดงออกว่าไม่สบายใจต่อวิธีการแบบนี้ วิธีการของซาอุฯ ยังทำให้เกิดการประณามจากนานาชาติและเริ่มมีการคว่ำบาตรการค้าอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเยอรมนี อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ แม้กระทั่งสภาบนและสภาล่างของสหรัฐฯ ก็เพิ่งระงับแผนการค้าอาวุธระหว่างทรัมป์กับซาอุฯ

ทั้งนี้ทวาอิจยังตั้งข้อสังเกตว่าการบอยคอตต์ซาอุฯ ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องความต่างของนิกายแบบในอดีต แต่ชาวมุสลิมทั้งนิกายชีอะอ์และซุนนีต่างก็ต่อต้านซาอุฯ ร่วมกัน เช่นในกรณีการลุกฮือในบาห์เรนเมื่อปี 2554 ที่นำโดยกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะฮ์ ซาอุฯ ได้ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลบาห์เรนในการปราบปรามการประท้วงนี้ ทำให้นักกิจกรรมในประเทศอิรักเรียกร้องให้บอยคอตต์ซาอุฯ และรัฐบาลอิรักที่เป็นนิกายซุนนีประณามความรุนแรงของซาอุฯ ในการประท้วงที่อิรักมีชาวนิกายชีอะฮ์เข้าร่วมด้วย ในอีกหลายๆ ประเทศที่นำโดยนิกายซุนนีก็เรียกร้องให้มีการต่อต้านซาอุฯ โดยมีการแสดงออกบอยคอตต์การเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ในซาอุฯ จากแฮชแท็ก #boycotthajj

ทวาอิจวิเคราะห์ว่าในฐานะที่พิธีฮัจญ์เป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญของศาสนาอิสลาม การบอยคอตต์การเข้าร่วมพิธีนี้จึงถือเป็นการแสดงออกอย่างจริงจังในเรื่องความกังวลต่อพฤติกรรมของซาอุฯ ถ้าหากยังมีการต่อต้านบอยคอตต์แบบนี้ต่อไปนอกจากจะส่งผลต่อเรื่องอิทธิพลซาอุฯ ในเชิงอำนาจนำทางศาสนาแล้ว ยังเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไปด้วย เพราะการเดินทางแสวงบุญที่เมกกะสร้างรายได้ให้ซาอุฯ ราว 12,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 20 ของจีดีพีที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน

ก่อนหน้านี้การเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ก็เคยเป็นเครื่องมือทางการเมืองของซาอุฯ มาก่อน โดยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาทางการซาอุฯ สั่งแบนไม่ให้ชาวกาตาร์และอิหร่านเข้าร่วมเนื่องจากความแตกต่างทางการเมือง แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลซาอุฯ เองก็อ้างใช้ความศักดิสิทธิ์ของเมกกะในการส่งเสริมอุดมการณ์การเมืองของตัวเอง เช่นมีการเปลี่ยนบทเทศนาในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาหันมาพูดโฆษณาเรื่อง "การปฏิรูป" ของซาอุฯ และแสดงการชื่นชมเจ้าฟ้าชายซัลมาน เหมือนบอกเป็นนัยๆ ว่าชาวมุสลิมไม่ควรโต้แย้งชนชั้นนำของซาอุฯ

อีกครั้งหนึ่งที่ซาอุฯ อ้างใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือคือการจัดประชุมเร่งด่วนที่กรุงเมกกะเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาโดยพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของนานาชาติจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการสังหารคาชอกกีและสงครามเยเมนมาสู่เป้าหมายการต่อต้านอิหร่านแทน ในการประชุมครั้งนั้นซาอุฯ ขอให้คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ร่วมมือกันต่อต้านอิหร่าน 

แต่ก็ดูเหมือนว่าอำนาจนำในภูมิภาคของซาอุฯ เริ่มลดลงจากเสียงต่อต้านในที่ประชุมอย่างอิรักซึ่งขอให้ช่วยทำให้อิหร่านมีเสถียรภาพแทนที่จะต่อต้านอิหร่าน โดยที่ประธานาธิบดีของอิรักกล่าวในที่ประชุมว่าการช่วยเหลือออิหร่านซึ่งนับเป็น "ประเทศอิสลามเพื่อนบ้าน" จะส่งประโยชน์ต่อชาวมุสลิมและรัฐอาหรับเอง นอกจากอิรักแล้วกลุ่มองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ก็ไม่ยอมประณามและบีบให้อิหร่านโดดเดี่ยวตามที่ซาอุฯ ต้องการ

ทวาอิจประเมินว่าซาอุฯ กำลังตกที่นั่งลำบากเพราะประเทศตะวันตกก็เริ่มตีตัวออกห่างและกลุ่มประเทศมุสลิมก็บอยคอตต์ เหลือเพียงแต่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถ้าหากว่าทรัมปไม่สามารถชนะการเลือกตั้งในสมัยที่ 2 ได้ ซาอุฯ ก็จะเหลือเพื่อนอยู่น้อยมากและอำนาจนำในโลกอาหรับและกลุ่มประเทศมุสลิมก็จะเสียหายอย่างหนัก

เรียบเรียงจาก
Mohammed bin Salman Is Making Muslims Boycott Mecca, Ahmed Twaij, Foreign Policy, 02-07-2019
https://foreignpolicy.com/2019/07/02/mohammed-bin-salman-is-making-muslims-boycott-mecca-hajj-islam-pilgrimage-saudi-arabia/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท