Skip to main content
sharethis

ศาลทหารเลื่อน-ยังไม่สั่งโอนย้ายคดี ม.112 ช่างตัดแว่น จ.เชียงราย หลังหัวหน้า คสช. ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณา


แฟ้มภาพศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าศาลมณฑลทหารบกที่ 37 จังหวัดเชียงราย นัดสืบพยานโจทก์ต่อในคดีของนายสราวุทธิ์ (สงวนนามสกุล) ช่างตัดแว่นตาในจังหวัดเชียงราย ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวจากมณฑลทหารบกที่ 37 แจ้งความกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีการโพสต์เฟซบุ๊กรูปภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ค. 2559

ในนัดนี้เดิมนัดหมายสืบพยานโจทก์ปากคณะพนักงานสอบสวนอีกคนหนึ่ง ซึ่งนับเป็นพยานโจทก์ปากที่ 8 ในคดี ได้แก่ พ.ต.อ.ดุลเดชา อาชวะสมิตระกูล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย แต่พยานโจทก์ปากนี้ไม่มาศาล เนื่องจากติดราชการเร่งด่วน

ศาลทหารได้แจ้งให้คู่ความทราบว่าเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2562 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 9/2562 เรื่องการยกเลิกประกาศ คสช.  คำสั่ง คสช. และคำสั่งหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น โดยมีการประกาศในราชกกิจจานุเบกษาวันเดียวกันนั้น โดยข้อความในข้อ 2 ระบุว่า “บรรดาการกระทำความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังคำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนการกระทำความผิดที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลทหารในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้โอนคดีนั้น ๆ ไปยังศาลยุติธรรม แต่ทั้งนี้ ไม่หมายความรวมถึงกระทำความผิดที่กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารบัญญัติให้เป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร โดยให้การกระทำความผิดดังกล่าวยังคงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหารต่อไป” และในข้อ 9 ได้ระบุว่าคำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจากคำสั่งดังกล่าว มีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 2562 เป็นต้นไป แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้เลื่อนการพิจารณาคดีไปชั่วคราวก่อน แล้วศาลจะได้นัดคู่ความมาฟังคำสั่งศาลต่อไป และให้สัญญาประกันยังคงมีผลต่อไป

นับเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ตั้งแต่นายสราวุทธิ์ถูกสั่งฟ้องต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 37 เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2559 โดยนายสราวุทธิ์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และจากการสืบพยานโจทก์ที่ผ่านไปแล้วจำนวนทั้งหมด 7 ปาก กลับพบว่าไม่มีการสอบสวนพยานสำคัญที่พบเห็นการกระทำที่นำมากล่าวหาจำเลย และจากผลการตรวจสอบของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พบว่าไม่สามารถตรวจสอบที่อยู่ทางอินเตอร์เน็ต (IP Address) ของผู้ใช้บัญชีเฟสบุ๊คที่ถูกนำมากล่าวหาได้ รวมถึงของกลางที่ยึดจากนายสราวุทธิ์คือ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และฮาร์ดดิสก์ ก็ไม่พบภาพและข้อความที่จำเลยถูกกล่าวหา 

สำหรับ นายสราวุทธิ์ มีอาชีพเปิดกิจการรับตัดแว่นและขายแว่นสายตาในจังหวัดเชียงราย เขาและภรรยามีลูกด้วยกัน 2 คน โดยนายสราวุทธิ์เคยเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในช่วงปี 2553 แต่ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้สังกัดกลุ่มใด โดยมากเป็นการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ หลังการรัฐประหาร 2557 นายสราวุทธิ์ถูกเรียกตัวเข้าพูดคุยในค่ายทหารและถูกเจ้าหน้าที่เดินทางไปพบที่บ้านมากกว่า 10 ครั้ง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net