'เครือข่ายเพื่อนกะเทย' ร้องเรียน กสทช. ทีวีพาดหัวข่าว “จับตาครูเบี่ยงเบนทางเพศ”

ตัวแทนจากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการ กสทช. ในกรณีที่สถานีโทรทัศน์นิวส์วัน และพีพีทีวี พาดหัวข่าวและใช้คำว่า “ครูเบี่ยงเบนทางเพศ” ชี้เป็นการผลิตซ้ำอคติและสร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ

11 กรกฎาคม 2562 ตัวแทนจากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการ กสทช. ในกรณีที่สถานีโทรทัศน์นิวส์วัน และสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ได้พาดหัวข่าวและนำเสนอเนื้อหาโดยใช้คำว่า “ครูเบี่ยงเบนทางเพศ” ซึ่งถือเป็นการผลิตซ้ำอคติและสร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ

สืบเนื่องจากกรณีครูเพศชายถูกกล่าวหาว่ากระทำการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนชายในโรงเรียนแห่งหนึ่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดเลยได้ทำหนังสือกำชับโรงเรียนในจังหวัด 457 แห่ง ให้ “ตรวจสอบบุคลากรครูที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศอย่างใกล้ชิด” ต่อมา สื่อวิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ รวมถึงหนังสือพิมพ์ ได้มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวโดยใช้คำว่า “ครูเบี่ยงเบนทางเพศ” ในพาดหัวข่าวและเนื้อหาข่าว เช่น สถานีโทรทัศน์นิวส์วัน (News1) ใช้พาดหัวว่า “ศธ.จังหวัด สั่ง 457 โรงเรียนคุมพฤติกรรมครูเบี่ยงเบนทางเพศ” และสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี (PPTV)  ใช้พาดหัวว่า “รอง ศธ. จ.เลย สั่งตรวจสอบครูที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ หลังเกิดข่าวครูอนาจารศิษย์ ชี้ตัดไฟแต่ต้นลม” ตัวแทนจากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมกับนักกิจกรรมเพื่อสิทธิของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อเลขาธิการ กสทช. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมี รมิดา จรินทิพย์พิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการแข่งขันและการกำกับดูแลกันเอง และรักษาการผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เป็นผู้รับมอบจดหมาย

โดยจดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายฯระบุว่า การนำเสนอเนื้อหาข่าวดังกล่าวขัดต่อหลักจริยธรรมขั้นพื้นฐานและแนวปฏิบัติขององค์กรเพื่อความถูกต้องและเป็นมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพกระจายเสียงและโทรทัศน์ คือ หลักการ 1 ความถูกต้อง เที่ยงตรง ครอบถ้วน หลักการ 2 สิทธิมนุษยชน หลักการ 3 ความเป็นอิสระทางวิชาชีพความรับผิดชอบต่อสังคม และผลกระทบต่อผู้บริโภค และหลักการ 8 การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯ ยังได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กรณีหนังสือพิมพ์บ้านเมืองใช้พาดหัวข่าว “สั่งผู้บริหารทุกโรงเรียนจับตาครูเบี่ยงเบนทางเพศ กลัวเหตุซ้ำซ้อน” ซึ่งเป็นการขัดต่อแนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเรื่องการเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งกำหนดไว้ว่าการเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติ ต้องไม่ใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่มีอคติ ตัดสิน เหมารวม หรือที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเชิงเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะเหตุความหลากหลายทางเพศ และให้พึงระวังการใช้ภาษาที่เป็นการตีตราหรือตอกย้ำความคิดความเชื่อเดิมอันจะกลายเป็นการซ้ำเติมหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

เจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นตัวแทนมายื่นจดหมาย กล่าวว่า ที่มายื่นจดหมายนี้ ทางเครือข่ายฯ ไม่ได้ต้องการหาคนผิดมาลงโทษ แต่ต้องการสร้างให้เกิดพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน จึงต้องการมายื่นหนังสือต่อ กสทช. ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ การอนุญาต และการกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ วิทยุคมนาคม และโทรคมนาคม นอกจากนี้ทางเครือข่ายฯ ยังจะทำหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการ และจะทำหนังสือถึงสื่อเจ้าที่เกี่ยวข้องต่อไป 

นอกจากจดหมายเปิดผนึกแล้ว ทางเครือข่ายฯยังได้ยื่นแถลงการณ์ของมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายผู้บริโภคสื่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ซึ่งระบุว่า การใช้คำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” นั้นไม่ถูกต้องตามหลักการสากล เพราะในบัญชีจำแนกโรคสากล Internatinal Classification of Diseases 11th Division (ICD11) ซึ่งออกโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ถอดถอนการระบุว่าคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ ไม่ใช่ความเบี่ยงเบนทางเพศ ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมอีกต่อไป เพราะถือเป็นรสนิยมและสิทธิในการกําหนดเจตจํานงความเป็นเพศของบุคคลนั้น นอกจากนั้นยังขัดต่อหลักการยอกยาการ์ตา ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ในหลักการข้อ 2. สิทธิในความเสมอภาคและการห้ามเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ยังถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศตามที่ระบุไว้ในมาตราที่ 3 ของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 อีกด้วย 

นอกจากนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวยังเรียกร้องให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดเลยทบทวนและหามาตรการการแก้ไขปัญหาที่เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ไม่เหมารวม เพื่อลดผลกระทบต่อการแสดงออกและวิถีชีวิตทางเพศของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และให้สร้างการเรียนรู้และทําความเข้าใจองค์ความรู้เรื่องสิทธิทางเพศที่เกี่ยวกับการใช้คําศัพท์เพื่อลดการผลิตซ้ำอคติทางเพศและเหมารวมในเชิงลบ และเรียกร้องให้สื่อมวลชนนําเสนอข้อเท็จจริง โดยใช้ถ้อยคําใหม่ตามมาตราฐานจริยธรรม อยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชน
ปฏิบัติตามแนวทางคําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.)
และตัวชี้วัดและคู่มือการนําเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศสําหรับสื่อมวลชนไปใช้ในองค์กร 

และทางเครือข่ายฯยังได้แนบร่างคู่มือการปฎิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ ซึ่งทางเครือข่ายฯกำลังพัฒนาร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กสทช. ภาคีเครือข่ายภาคีเครือข่ายผู้บริโภคสื่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน และผู้แทนสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ไปพร้อมกับจดหมายและแถลงการณ์ด้วย โดยคู่มือดังกล่าวได้มีการรวบรวมคำศัพท์ที่ควรใช้และไม่ควรใช้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ และตัวชี้วัดสื่อเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอีกด้วย นอกจากนี้ยังแนะนำว่า ถ้าหากสื่อมีความจำเป็นที่จะต้องใส่อัตลักษณ์ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และผู้นำเสนอมีความไม่แน่ใจก็ควบสอบถามผู้ให้ข้อมูลที่เป็นบุคคลหลากหลายทางเพศนั้นว่าต้องการให้นำเสนอตัวเขาอย่างไรหรือนิยามตัวเองอย่างไร แต่ถ้าเนื้อหาที่จะนำเสนอไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นความหลากหลายทางเพศก็ไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลรสนิยมหรืออัตลักษณ์ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเน้นย้ำว่า เพียงเรียกเขาด้วยชื่อของเขาก็พอ 

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศเข้าร้องเรียนกรณีสื่อใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า ตนเคยเข้ายื่นจดหมายร้องเรียนกับคณะวินิจฉัยการเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) กรณีที่สำนักข่าวทีนิวส์ (TNews) ใช้พาดหัวข่าว “กระเทยบุกห้องผู้ป่วยกระทืบจมกองเลือด” เนื่องจากพาดหัวข่าวดังกล่าวไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากพาดหัวข่าวทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่า “กระเทย” เป็นผู้ทำร้ายร่างกายผู้ป่วย ทั้ง ๆ ที่ผู้ทำร้ายร่างกายคือ นางสาวแนน (นามสมมติ) โดยหญิงข้ามเพศที่มาด้วยเพียงแต่ยืนถ่ายคลิบอยู่ตรงประตูเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเลือกปฏิบัติ โดยใช้อัตลักษณ์ทางเพศแทนการใช้นามสมมติในเนื้อหาข่าว และยังถือเป็นการใช้ถ้อยคำที่สร้างภาพเหมารวมว่าบุคคลหลากหลายทางเพศเป็นกลุ่มคนที่ชอบใช้ความรุนแรงและสร้างความเกลียดชังต่อบุคคลหลากหลายทางเพศ

จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวทีนิวส์ได้ทำหนังสือขอโทษอย่างเป็นทางการ โดยเผยแพร่ในเว็บไซต์ทีนิวส์ และได้มีการออกแนวปฏิบัติในการรายงานข่าวเกี่ยวกับบุคคลหลากหลายทางเพศสำหรับพนักงานภายในองค์กรอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท