Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพ: Peoples Dispatch/DiarioUChile

14 ก.ค. 2562 การเข้ามาของ 'ระบบอัตโนมัติ' ในสถานที่ทำงาน นอกเหนือจากผลในด้านบวกอย่างการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับคนทำงานแล้ว ในด้านลบก็พบว่ามีทั้งการสูญเสียตำแหน่งงานของมนุษย์ รวมทั้งการเพิ่มภาระหน้าที่ใหม่ๆ ให้กับพนักงานที่เหลือ (น้อยลง) จากการถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติอีกด้วย

'วอลมาร์ท' (Walmart) ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ข้ามชาติจากสหรัฐอเมริกา กำลังเผชิญกับการประท้วงของพนักงานร่วมหมื่นคนในอเมริกาใต้ หลังจากมีนโยบายเพิ่มระบบอัตโนมัติในสาขาต่างๆ แต่พนักงานที่เป็นมนุษย์กลับต้องทำงานหลายอย่างเพิ่มมากขึ้นด้วย

‘ระบบอัตโนมัติ’ กำลังคุกคาม ‘คนทำงานแคชเชียร์’
เมื่อ ‘หุ่นยนต์-AI’ เข้ามาแทนที่คน ‘ผู้หญิง’ เสี่ยงตกงานมากกว่า ‘ผู้ชาย’
หุ่นยนต์ vs แรงงาน (1): ความก้าวหน้าอันน่าหวาดหวั่น?
หุ่นยนต์ vs แรงงาน (2): ความ (ไม่) ตื่นตัวของแรงงาน
หุ่นยนต์ vs แรงงาน (จบ): การเมืองของกระแสหุ่นยนต์

พนักงานของ 'ลิแดร์' (Lider) ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าในเครือวอลมาร์ทที่ชิลี ประมาณ 17,000 คน ทำการหยุดงานประท้วงตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา หลังจากการเจรจาระหว่างบริษัทฯ กับสหภาพแรงงานล้มเหลว ทำให้ลิแดร์ 124 สาขาจาก 375 สาขาทั่วประเทศต้องปิดให้บริการ

ประเด็นสำคัญในการเจรจาระหว่างบริษัทฯ กับสหภาพแรงงานคือ พนักงานต้องการได้รับค่าแรงที่เพิ่มจากการที่ต้องทำงานหลายอย่างกว่าเดิมในช่วงที่ห้างสรรพสินค้าติดตั้งระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้น เช่น พนักงานเก็บเงินยังต้องทำหน้าที่เติมสินค้าในชั้นวางของนอกเหนือจากภาระหน้าที่เดิม เป็นต้น และหากการเพิ่มระบบอัตโนมัติบรรลุผล ก็จะมีการเลิกจ้างพนักงานถึง 3,000 คน ในไม่อีกกี่เดือนข้างหน้านี้

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เสนอขึ้นเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3 บวกกับเงินจ่ายครั้งเดียวอีกประมาณ 72 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่สหภาพแรงานต้องการขึ้นเงินเดือนเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 4

รองประธานฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของวอลมาร์ทชิลี ระบุกับสื่อท้องถิ่นว่าการเพิ่มระบบอัตโนมัติในสาขาต่างๆ ไม่ใช่การริเริ่มจากตัววอลมาร์ทเองแต่มันเป็นความต้องการของลูกค้ามากกว่า นอกจากนี้โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งวอลมาร์ทต้องการอยู่ในความเปลี่ยนแปลงนั้น

คนชิลีจับจ่ายในห้างสรรพสินค้าเป็นเบอร์ 1 ของทวีปอเมริกาใต้

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้อ้างรายงานของ Kantar Worldpanel บริษัทวิจัยด้านการตลาดระดับโลก ที่ได้ศึกษาและเก็บข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศลาตินอเมริการะหว่างเดือน มิ.ย. 2559 - มิ.ย. 2560 พบว่าชาวลาตินอเมริกานิยมซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เนื่องจากสะดวกสบายและมีสินค้าให้เลือกครบครัน แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าร้านค้าแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) หรือร้านโชว์ห่วยก็ตาม

'ชิลี' เป็นประเทศที่ผู้บริโภคใช้บริการซื้อสินค้าจากห้างค้าปลีกสูงที่สุดในภูมิภาค โดยมีตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 1,666 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี รองลงมาคือ อาร์เจนตินา โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู ที่คนละ 796 , 455 , 394 และ 260 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าชาวชิลีซื้อสินค้าบ่อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยจำนวนครั้งในการใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 67 ครั้งต่อปี ในขณะที่ชาวโคลอมเบีย เม็กซิโก อาร์เจนตินา และ เปรู อยู่ที่คนละ 48 , 43 , 36 และ 24 ครั้งต่อปี ตามลำดับ

ข้อพิพาทแรงงานเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในชิลีเช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก อย่างกรณีเมื่อเดือน มิ.ย. 2562 คนงานเหมืองทองแดงแห่งหนึ่งในชิลีประท้วงหยุดงานเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่อประท้วงการเลิกจ้างคนงานเหมืองจากการนำระบบอัตโนมัติมาแทนที่ ส่วนที่สหรัฐฯ เมื่อเดือน เม.ย. 2562 พนักงานร้านสะดวกซื้อ 'สะตอปแอนด์ชอป' (Stop & Shop) กว่า 31,000 คน ในนิวอิงแลนด์หยุดงานประท้วงการนำเครื่องชำระเงินอัตโนมัติมาแทนที่พนักงาน และก่อนหน้านั้นเมื่อเดือน ก.ย. 2561 คนงานภาคขนส่งในสหรัฐฯ ได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อต่อต้านแนวคิดการนำ 'รถบัสแบบไร้คนขับ' (driverless buses) มาใช้ในภาคขนส่งสาธารณะ

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
Walmart Workers Rebel Against Retailer’s Robot Push in Chile (bloomberg.com, 10/7/2019)
Workers of Walmart Chile reject company’s offer and vote to go on strike (Peoples Dispatch, 2/7/2019)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net