Skip to main content
sharethis

14 ก.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศงานฌาปนกิจ ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคนที่ 4 ที่วัดพระประโทณเจดีย์ จ.นครปฐม โดยตั้งแต่ช่วงเช้ามีทำบุญเลี้ยงพระเพล พระสงฆ์สวดมาติกาบังสุกุล จากนั้นในช่วงบ่ายมีกิจกรรมทางวัฒนธรรม วางพวงมาลา ร้องเพลงสดุุดี อ่านบทกวี การแสดงเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต ก่อนทอดผ้าไตรบังสุกุล และประชุมเพลิงกำหนดเวลา 16.00 น.

ทั้งนี้มีอดีตสมาชิกและมวลชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจากทั่วประเทศเข้าร่วม รวมทั้งตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา รวมทั้งมีพวงหรีดแสดงความไว้อาลัยจาก อับดุลลาห์ ซีดี ประธานพรรคคอมมิวนิสต์มลายา สมาคมมิตรภาพซาราวักเขตกลาง จากเกาะบอร์เนียว นอกจากนี้ จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งปัจจุบันลี้ภัยในต่างประเทศได้ส่งพวงหรีดแสดงความไว้อาลัยด้วย

ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเสียชีวิตในวัย 98 ปี, 10 ก.ค. 2562

200 ปี Karl Marx: ธิกานต์ ศรีนารา – ลัทธิมาร์กซ์เข้าสู่อีสานเมื่อไหร่ อย่างไร?, 27 ก.ย. 2561

ธง แจ่มศรี หรือ ประชา ธัญไพบูลย์ เลขาธิการอดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เสียชีวิตช่วงเช้าวันที่ 10 กรกฎาคม เวลา 02.30 น. ที่ รพ.นครปฐม รวมอายุ 98 ปี

เขาเป็นลูกหลานชาวเวียดนามโพ้นทะเล เกิดที่บ้านดง ต.ป่ามะคาบ อ.เมือง จ.พิจิตร เมื่อ 17 ธันวาคม 2464 บิดาชื่อหวอตุ่ง หรือเสา แจ่มศรี มารดาชื่อ ดั่งกวิ่งแอ็งห์ หรือ ยอ แจ่มศรี โดยมารดาของธงเป็นหลานของ ดั่งทุกเหือ ชาวเวียดนามที่เข้ามาในภาคอีสานเมื่อ พ.ศ. 2453 เพื่อปลุกระดมชาวเวียดนามเพื่อปลดปล่อยชาติจากฝรั่งเศส

ทั้งนี้ ดั่งทุกเหือ ยังมีบทบาทในการจัดตั้งชาวเวียดนามทั่วภาคอีสานเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 มีการตั้งหมู่บ้านเครือข่ายเพื่อเชื่อมกับขบวนการปฏิวัติในเวียดนาม ต่อมาดั่งทุกเหือ และหวอทุง พ่อของธง แจ่มศรี จัดตั้งชุมชนชาวเวียดนามที่หมู่บ้านหนองวัว จ.อุดรธานีในปี พ.ศ. 2468 มีการเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์ในหมู่เยาวชน มีการสร้างโรงเรียนบ้านหนองบัวที่ จ.อุดรธานี เยาวชนคนหนึ่งที่ได้รับการจัดตั้งกลายเป็นนักปฏิวัติก็คือ ธง แจ่มศรี ซึ่งมาเติบโตที่ จ.อุดรธานี

ในประวัติของธง แจ่มศรี ที่เผยแพร่โดยนิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ระบุด้วยว่านอกจากที่โรงเรียนหนองบัวแล้ว ธง แจ่มศรี ยังเข้าเรียนที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร และโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จ.อุดรธานี จากนั้นเข้ารับการศึกษาภาษาจีนขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนหัวเฉียว ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงเรียนในสายการจัดตั้งของสหายคอมมิวนิสต์ เขาถูกจับกุมในคดีคอมมิวนิสต์เมื่อ พ.ศ. 2479 และจะเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สยามในปี พ.ศ. 2481 

ธงเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใต้ดินภาษาไทยฉบับแรกของพรรคชื่อ "มหาชน" ในเดือนมีนาคม 2485 ก่อนจะการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในวันที่ 1 ธันวาคม 2485 ธงได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางชุดที่ 1 ธงดูแลงานกรรมกรในโรงงานยาสูบสะพานเหลือง ในเดือนกรกฎาคม 2487 เป็นผู้บุกเบิกงานชาวนาภาคอีสานและเดินทางไปเขตจรยุทธประเทศลาวในช่วงปี พ.ศ. 2492–2494

ในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2495 เขาได้รับเลือกเป็นหนึ่งในกรมการเมือง ธงศึกษาที่สถาบันลัทธิมาร์กซ–เลนิน สาขากรุงปักกิ่ง ประเทศจีนช่วงปี พ.ศ.2495–2500

การประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2504 ธงได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางและกรมการเมือง, ภายหลังการประชุมสมัชชาครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2504 – 2508 ธงบุกเบิกงานที่เขตงานดงพระเจ้าจนกระทั่งถูกจับกุมในปี พ.ศ.2510 การประชุมคณะกรรมการกลางชุดที่ 3 ครั้งที่ 3 ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน ในปี พ.ศ. 2515 ธงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในกรมการเมืองประจำ โดยที่ธงยังจะอยู่ในคุกจนถึงปลายปี พ.ศ. 2516 จึงได้รับการปล่อยตัวและหวนกลับเข้าป่าอีกในช่วงต้นปี พ.ศ.2517 ต่อมาธงได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการกลางชุดที่ 3 ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2519,

ในช่วงอาวุโส ธงประจำที่ศูนย์กลางพรรค จังหวัดน่าน ก่อนที่จะย้ายศูนย์การนำไปที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเปิดประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งธงจึงได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในช่วงปลายปีเดียวกัน ธงจะย้ายมาประจำอยู่ที่เขตงานภาคตะวันตก-ภาคใต้ จนกระทั่งออกจากป่าเมื่อปี 2536

ประมวลภาพ บรรยากาศ โดย "คชรักษ์ แก้วสุราช"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net