Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“โง่ จน เจ็บ” จะจริงหรือไม่นั้น มีการศึกษาที่ชี้ว่า ‘ความยากจนสูบพลังงานออกจากสมองอย่างมาก’ จากงานวิจัยปี 2013 ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและม.พรินซ์ตันในสหรัฐฯ, ม.บริติชโคลัมเบียในแคนาดา, และม.วอร์วิคในอังกฤษ พบว่าความกังวลจากปัญหาทางการเงินของคนยากจนส่งผลให้ IQ ลดลงเฉลี่ย 13 หน่วย (เช่น 113 ลดลงเหลือ 100) หากพูดง่ายๆ ก็เหมือนกับคนวัยผู้ใหญ่ที่มีสติปัญญาระดับทั่วไปแล้วไม่ได้หลับมาทั้งคืนหรือเสพติดสุรา

ในการทดลองนำร่องของงานวิจัยนี้เกิดขึ้นภายในห้างแห่งหนึ่งในรัฐนิวเจอร์ซีย์ของสหรัฐฯ ทีมวิจัยได้จ้างคนที่มาเดินซื้อของจากหลากหลายระดับรายได้ของครัวเรือน จำนวน 101 คน โดยทีมวิจัยได้กำหนดสถานการณ์สมมุติให้รถยนต์ของผู้เข้าร่วมการทดลองมีเหตุให้ต้องซ่อมในตอนนั้น โดยให้พวกเขาคิดว่าจะจ่ายเงินซ่อมเองเลย หรือยืมเงินคนอื่นมาซ่อม หรือยังไม่ซ่อม แต่ก่อนที่พวกเขาจะตอบ ทีมวิจัยให้พวกเขาทำการทดสอบในคอมพิวเตอร์ที่ให้เลือกสัญลักษณ์จากตัวเลือกให้เข้ากับกลุ่มสัญลักษณ์ (Raven’s) ที่เป็นส่วนหนึ่งในแบบทดสอบเชาว์ปัญญาหรือ IQ ซึ่งไม่ต้องเกี่ยวข้องกับความรู้เดิมหรือการอ่าน, และการทดสอบที่มีคำขึ้นมาเป็นชื่อของสีแต่สีของตัวอักษรไม่ตรงกับคำแล้วให้เลือกคำที่ตรงกับสี (Stroop) เพื่อทดสอบความรวดเร็วในการตอบสนองและความถูกต้อง

พบว่าจากที่ผู้วิจัยกำหนดราคาที่ต้องจ่ายเพื่อซ่อมรถยนต์ในสถานการณ์สมมติ 150 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินที่ไม่มากนัก ผู้ร่วมการทดลองที่ฐานะทางเศรษฐกิจดีและฐานะไม่ดี ทำคะแนนจากการทดสอบ Raven’s และ Stroop ได้ไม่ต่างกัน แต่การทดลองในรอบที่สองทีมวิจัยกำหนดว่าผู้ร่วมทดลองต้องจ่ายค่าซ่อมรถในสถานการณ์สมมติ 1,500 ดอลลาร์ฯ พบว่าผู้ร่วมทดลองที่ฐานะไม่ดี ทำคะแนนได้ ‘แย่ลง’ อย่างน่าสนใจ ขณะที่ผู้ร่วมทดลองที่ฐานะดี ทำคะแนนได้ไม่ต่างจากรอบแรก

แต่ผู้วิจัยยังไม่รีบสรุปว่าความยากจนทำให้ “โง่” … ในการทดลองภาคสนามของทีมวิจัยเดียวกันนี้ ได้ทดสอบกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย 464 คนใน 54 หมู่บ้านที่มีการปลูกไร่อ้อยในจังหวัด ตามิล นาดู ประเทศอินเดีย โดยเป็นคนที่รายได้ของพวกเขาอย่างน้อย 60% มาจากการทำไร่อ้อย ซึ่งผู้วิจัยได้สัมภาษณ์เพื่อตรวจสอบเรื่องชาวไร่อ้อยดังกล่าวเกี่ยวกับความกังวลด้านการเงินก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งห่างกันประมาณ 4 เดือนในปี 2010 และให้ชาวไร่อ้อยทำการทดสอบ Raven’s และ Stroop เหมือนที่ทำในห้างที่นิวเจอร์ซีย์ แต่สำหรับการทดสอบ Stroop เพื่อป้องกันผลที่เกิดจากความไม่คุ้นชินด้านภาษาของชาวไร่อ้อย ทีมวิจัยจึงใช้การทดสอบ Stroop แบบดั้งเดิมซึ่งเป็นตัวเลข เช่น 555 ให้ตอบว่า 3 ซึ่งเป็นจำนวนของเลข 5 เป็นต้น แล้วบันทึกเวลาที่ใช้และความผิดพลาด

ส่วนปัจจัยที่อาจเบี่ยงเบนผลการทดสอบอย่างปริมาณที่จะเก็บเกี่ยวได้นั้นสามารถคาดการณ์ได้ก่อนเก็บเกี่ยวหลายเดือนแล้ว ส่วนการได้เงินจากการเก็บเกี่ยวที่ห่างจากการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จหลายสัปดาห์ ซึ่งจากการสัมภาษณ์หลังเก็บเกี่ยวทีมวิจัยนี้รับรู้แล้วว่าความกังวลเรื่องเงินของชาวไร่อ้อยจะหายไปเมื่อได้รับเงิน หรือความเหน็ดเหนื่อยจากการเตรียมพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บเกี่ยว ในทางปฏิบัติจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีชาวไร่อ้อย 316 คน ที่จ้างคนงานมาเก็บเกี่ยวให้ ซึ่งทีมวิจัยได้คำนวณโดยตระหนักถึงปัจจัยที่อาจจะเบี่ยงเบนผลการทดสอบ Raven’s และ Stroop แล้ว

เป็นเพราะพวกเขาทำแบบทดสอบเป็นครั้งที่สองหรือไม่ ที่ทำให้พวกเขาทำคะแนนได้ดีขึ้น? ซึ่งผู้วิจัยได้ตระหนักถึงความสงสัยนี้ที่จะเกิดขึ้น โดยได้สุ่มเลือกชาวไร่อ้อย 100 คนต่างหาก แล้วให้พวกเขาทำแบบทดสอบเดียวกันกับชาวไร่อ้อยที่ทำแบบทดสอบทั้งก่อน-หลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งพบว่ากลุ่มที่ทำแบบทดสอบครั้งแรกกับกลุ่มที่ทำครั้งที่สอง ได้คะแนนไม่ค่อยต่างกัน และผลการทดสอบที่หลังการเก็บเกี่ยว ชาวไร่อ้อยทำคะแนนได้สูงกว่าก่อนเก็บเกี่ยว ทีมวิจัยจึงสรุปว่า ความยากจนบั่นทอนศักยภาพของสมอง ส่วนคำถามที่ว่าการมีเงินมากขึ้นหลังจากการเก็บเกี่ยวทำให้ชาวไร่ได้กินอาหารที่มีสารอาหารมากขึ้น ส่งผลให้มีสมองที่ดีขึ้นด้วยหรือไม่ คืออาจจะไม่เกี่ยวกับสถานะทางการเงิน ประเด็นนี้ทีมวิจัยได้ทำวิจัยนำร่องก่อนแล้วในปี 2009 ซึ่งใช้แบบทดสอบเดียวกันกับชาวไร่อ้อย 188 คน ในการสัมภาษณ์ก่อน-หลังเก็บเกี่ยว มีคำถามเกี่ยวกับเงินที่ใช้เรื่องอาหาร ซึ่งพบว่าก่อน-หลังเก็บเกี่ยวพวกเขาจ่ายเงินเรื่องอาหารการกินไม่ต่างกัน

หากถามว่าเป็นผลจากความเครียดอะไรก็ได้หรือไม่ ไม่จำเป็นต้องเครียดเรื่องเงินเท่านั้นหรือไม่ ผู้วิจัยระบุว่าในการทดลองนำร่องปี 2009 พวกเขาได้วัดการเต้นของหัวใจและวัดความดันชาวไร่อ้อยที่ร่วมทดสอบแล้ว ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก่อนเก็บเกี่ยวก็สูงกว่าหลังเก็บเกี่ยว โดยผู้วิจัยระบุว่าความเครียดอะไรก็ได้ยังไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน ทีมวิจัยได้คำนวณใหม่โดยใช้ปัจจัยเรื่องความเครียดในความหมายกว้างที่วัดจากระดับการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตร่วมด้วย ซึ่งพบว่าความเครียดในความหมายกว้างๆ นี้ไม่เพียงพอที่จะอธิบายเรื่องคะแนนการทำแบบทดสอบหลังเก็บเกี่ยวที่ได้มากกว่าก่อนเก็บเกี่ยว ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่มีอยู่แล้วก่อนหน้านั้นที่พบว่าความเครียดมีทั้งช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้นและแย่ลง

ทีมวิจัยจึงสรุปว่า ‘ความยากจน’ ลดทอนศักยภาพของสมอง โดยเมื่อเทียบเคียงกับการวิจัยด้านการนอนหลับและด้านสติปัญญาที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น จากความเปลี่ยนแปลงของคะแนนการทดสอบก่อน-หลังเก็บเกี่ยว และสถานะทางการเงินของชาวไร่อ้อยก่อน-หลังเก็บเกี่ยว ก็สามารถพูดได้ว่าความไม่มั่นคงทางการเงินทำให้ IQ ลดลง 13 หน่วย ซึ่งเหมือนคนที่มีสติปัญญาระดับปกติแต่ไม่ได้นอนมาทั้งคืนหรือเสพติดสุรา

Jiaying Zhao หนึ่งในผู้วิจัยที่ขณะนั้นเป็นอาจารย์ด้านจิตวิทยาและความยั่งยืนที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียชี้ว่า ความยากจนมักถูกระบุว่าเป็นความล้มเหลวส่วนบุคคล นี่คือหลักฐานที่บ่งบอกว่าความยากจนโดยตัวมันเองก็บั่นทอนความสามารถที่จะมีสมาธิและการตัดสินใจที่ดีแล้ว มันไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่มันเป็นเรื่องของสถานการณ์

ส่วนEldar Shafir ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยามหาวิทยาลัยพรินซ์ตันหนึ่งในทีมวิจัย ระบุว่าเพียงความเครียดทั่วไปไม่สามารถทำนายได้ว่าผู้คนจะประพฤติตนอย่างไม่มีคุณภาพ บางเรื่องความเครียดก็ช่วยให้ทำได้ดี ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าบ่อยครั้งคนจนก็ทำได้ดี แต่ความยากจนมันไปจำกัดพื้นที่ความคิด (bandwidth) สำหรับเรื่องที่กว้างกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้า โดย Sandhil Mullainathan นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกหนึ่งผู้ร่วมวิจัยชี้ว่า ความยากจนสามารถ “เก็บภาษีสมอง” ใครก็ตามที่เผชิญกับมัน

มีตัวอย่างด้านตรงข้ามที่ความมั่นคงทางการเงินแม้จะเป็นจำนวนไม่มากนัก ก็ส่งผลที่น่าสนใจ ที่รัฐอแลสก้าของสหรัฐซึ่งมีกองทุน Alaska Permanent Fund ได้แจกเงินปันผลประมาณ 1 พัน - 2 พันดอลลาร์สหรัฐต่อปี ให้แก่พลเมืองอแลสก้าทุกคนซึ่งรวมถึงเด็กๆ ด้วย ทุกคนได้เท่ากัน ตั้งแต่ปี 1982 ปัจจุบันอแลสก้ามีประชากร 737,000 คน โดยถือว่าพลเมืองอแลสก้าทุกคนคือผู้ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจน้ำมันของรัฐอแลสก้า ที่มีกองทุน Alaska Permanent Fund ตั้งขึ้นเพื่อเก็บออมรายได้เอาไว้เพื่อคนรุ่นต่อไป โดยรายได้จากน้ำมันและการทำเหมืองแร่ถูกนำไปใช้ในการลงทุนถาวรในตลาดหลักทรัพย์ ไม่สามารถนำออกมาใช้จ่ายอย่างอื่นได้ ตามกฎหมายของรัฐ อีกส่วนเป็นเงินที่รัฐนำไปใช้จ่ายด้านอื่น

การได้เงินฟรีแค่ปีละพันกว่าดอลลาร์โดยตัวมันเองยังต่ำกว่าเส้นความยากจนของสหรัฐหลายเท่า แถมค่าครองชีพในชนบทของอแลสก้าก็สูงกว่ารัฐอื่นมาก แม้หากจะใช้เส้นความยากจนของประเทศ เช่น ครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน (ผู้ใหญ่ 3, เด็ก 2) การเป็นคนจนคืออยู่ในครอบครัวห้าคนที่มีรายได้รวมกันไม่ถึง 29,986 ดอลลาร์ แต่เงินฟรีปีละพันกว่าแต่ได้ทุกปีก็ส่งผลที่มีความสัมพันธ์บางอย่างกับข้อสรุปของการทดลองเรื่องความมั่นคงทางการเงินซึ่งส่งผลต่อสติปัญญา โดยมีงานวิจัยที่ระบุว่าการแจกเงินปันผลจาก Alaska Permanent Fund ได้ลดจำนวนชนพื้นเมืองในชนบทของอแลสก้าที่ยากจนในช่วงปี 2011–2015 ลง 22% ซึ่งในปี 2000 ลดลงถึง 46% ตั้งแต่เริ่มแจกเงินปันผลในปี 1982 จำนวนผู้สูงอายุพื้นเมืองที่ยากจนลดลง 40%

โดยช่วงปี 2010-2016 อแลสก้าเป็นหนึ่งในรัฐที่มีความรวดเร็วในการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำทางรายได้น้อยที่สุดโดยอยู่อันดับ 46 ของประเทศ คือเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นค่อนข้างช้า (เหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเร็วสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.มอนทานา 2.แคลิฟอร์เนีย 3.เมน) โดยข้อมูล ณ ปี 2018 ระบุว่า อแลสก้าเป็นรัฐที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้น้อยที่สุดในสหรัฐฯ

ทั้งนี้การวิจัยปี 2018 ของ Ioana Marinescu จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียร่วมกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยชิคาโก ไม่พบว่าชาวอแลสก้าทำงานน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญจากการได้เงินฟรีๆ รายปีแต่อย่างใด เธอระบุว่าเมื่อผู้คนได้เงินไปก็มีแนวโน้มจะเอาไปใช้จ่าย ธุรกิจหรือร้านรวงต่างๆ ก็มีรายได้มากขึ้น พวกเขาก็จ้างคนมากขึ้นเพื่อรับมือการเติบโต แน่นอนว่ามีคนเลิกทำงาน แต่ธุรกิจมีลูกค้ามากขึ้นแล้วตามมาด้วยการจ้างพนักงานเพิ่ม ก็ชดเชยคนที่เลิกทำงานเพราะได้เงินฟรี จึงไม่มีผลต่อจำนวนคนที่ทำงานในภาพรวม



อ้างอิง:

https://scholar.harvard.edu/files/sendhil/files/976.full_.pdf

https://www.businessinsider.com/poverty-effect-on-intelligence-2013-8

https://www.washingtonpost.com/national/health-science/poverty-strains-cognitive-abilities-opening-door-for-bad-decision-making-new-study-finds/2013/08/29/89990288-102b-11e3-8cdd-bcdc09410972_story.html

https://www.census.gov/topics/income-poverty/poverty/guidance/poverty-measures.html

https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0305750X1830024X

https://www.cnbc.com/2018/03/12/us-states-with-the-highest-levels-of-income-inequality.html

https://knowledge.wharton.upenn.edu/article/alaskas-experience-shows-promise-universal-basic-income/

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ฐานันดร ชมภูศรี คอลัมนิสต์รับเชิญ The Isaander ผู้สื่อข่าว-คอลัมนิสต์อิสระ และบรรณาธิการเว็บไซต์ https://www.limit4life.org


เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://www.theisaander.com/post/110719ignorancemoney

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net