'อย่าลืมผู้ที่ถูกสังหาร' ชาวซูดานเรียกร้องความเป็นธรรมหลังบรรลุข้อตกลงกับกองทัพ

แม้ว่าตัวแทนฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารในซูดานจะบรรลุข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ยังมีผู้คนที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ "ผู้เสียสละ" ซึ่งพวกเขาถูกสังหารในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา อนึ่งสหภาพแอฟริกัน (AU) เข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย แต่ยังมีความกังวลว่ากองทัพซูดานจะเตะถ่วงโรดแมป

(ซ้าย) ภาพผู้ชุมนุมชาวซูดานหน้ากองบัญชาการทหารสูงสุด ในกรุงคาร์ทูมเมื่อ 8 เม.ย. 2019 และ (ขวา) ผู้เสียชีวิตหลังทหารซูดานสลายการชุมนุมเมื่อ 3 มิ.ย. 2019 (ที่มา: แฟ้มภาพ/M.Saleh/Wikipedia [1], [2])

ชาวซูดานหลานหมื่นคนออกมาประท้วงตามท้องถนนอีกครั้งในวันเสาร์ (13 ก.ค.) ที่ผ่านมา เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในเหตุชุมนุมต่อเนื่องเมื่อช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก่อนหน้านี้

ผู้ประท้วงชุมนุมกันเต็มจัตุรัสใหญ่ของเมืองและตามท้องถนนในเมือง พวกเขาพากันโบกธงชาติซูดาน จุดเทียน และประสานเสียงร่วมกันว่า "แม่ของผู้เสียสละคือแม่ของพวกเรา เลือดของผู้เสียสละคือเลือดของพวกเรา"

นับตั้งแต่ซูดานเกิดวิกฤตทางการเมืองตั้งแต่ปลายปี 2561 จนนำมาสู่การโค่นล้มประธานาธิบดีอำนาจนิยมเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ก็เกิดความกังวลในหมู่ประชาชนว่ารัฐบาลทหารจะยึดครองอำนาจและไม่ให้ฝ่ายพลเรือนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้งใหม่ ทำให้ประชาชนยังคงชุุมนุมเรียกร้องการมีส่วนร่วมของพลเรือนในรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน แต่ในช่วงเดือน มิ.ย. รัฐบาลทหารซูดานก็ฉีกข้อตกลงและสั่งการสังหารผู้ชุมนุมที่เคลื่อนไหวสันติจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 128 ราย และมีผู้ถูกข่มขืนอีกจำนวนมาก

ในการประท้วงครั้งล่าสุดนี้มีผู้คนจำนวนมากเดินขบวนในทางตะวันออกของกรุงคาร์ทูมและไปเยี่ยมบ้านของผู้เสียชีวิตจากเหตุสังหารเมื่อเดือนที่แล้ว ทาวาโซล นูร์รีย์ หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมกล่าวว่าที่เธอเดินขบวนเพื่อต้องการย้ำเตือนให้ทั้งผู้นำทหารและฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยนึกถึง "การหลั่งเลือดของผู้เสียสละ" และอยากให้เล็งเห็นว่า "ผู้เสียสละ" เหล่านี้ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

การประท้วงในครั้งล่าสุดนี้เป็นการประท้วงครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มีการสร้างข้อตกลงระหว่างสภากองทัพกับฝ่ายพลเรือนในเรื่องการปกครองร่วมกันระหว่างทหารกับพลเรือนก่อนหน้าการเลือกตั้ง จากที่ตัวกลางเจรจาของสหภาพแอฟริกัน (AU) จะแถลงเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ว่าจะจัดตั้งสภาอธิปัตย์โดยให้มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันระหว่างฝ่ายกองทัพกับฝ่ายพลเรือนภายในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง อย่างไรก็ตามข้อตกลงยังไม่ถึงระดับข้อยุติ ยังไม่มีการลงนามรับรอง และมีความกังวลว่าฝ่ายทหารจะถ่วงเวลาข้อตกลงนี้จากการที่ล่าสุดมีการเลื่อนวันประชุมร่วมกันของทั้งสองฝ่าย

ในเรื่องการสังหารผู้ชุมนุมนั้นมีการกล่าวหาว่าผู้ที่ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นหน่วยสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (RSF) ของกองทัพซึ่งในการชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 ก.ค) ก็มีการวางกำลังทหารหน่วยนี้รอบสภาเปลี่ยนผ่านของกองทัพ (TMC) รวมถึงมีการใช้รั้วลวดหนามกั้นถนนสายหลักที่นำไปสูู่ลานชุมนุมที่เกิดเหตุปราบปรามเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าต้องรับผิดชอบในเรื่องความรุนแรงมากที่สุดคือ นายพล โมฮัมเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล รองประธานสภาเปลี่ยนผ่านของทหารและหัวหน้า แต่ดากาโลก็บอกว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของ "ผู้แทรกซึม... ที่อยู่ภายในหน่วยสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว"

มีผู้ชุมนุมจำนวนมากเดินขบวนไปตามย่านของชนชั้นแรงงานในคาร์ทูมในขณะที่หน่วย RSF คอยยืนถือไม้กระบองคุมอยู่ มีผู้ประท้วงรายหนึ่งชื่อ อิชรากา โมฮัมเหม็ด กล่่าวว่าการประท้วงของพวกเขาเป็น "การแสดงออกรักชาติ" เพราะพวกเขาเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้ที่เสียสละ

สำหรับความคืบหน้าเรื่องการเจรจานั้น โมฮัมเหม็ด ฮัสซัน ละบัตต์ ตัวกลางเจรจาจากสหภาพแอฟริกันเปิดเผยเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า กลุ่มพลเรือนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและฝ่ายกองทัพจะประชุมหารือร่วมกันอีกครั้งในเรื่องการพิจารณาและให้การรับรองคำประกาศรัฐธรรมนูญของซูดานในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

ในข้อตกลงที่เจรจากันได้มีการกำหนดให้ฝ่ายทหารที่นำโดยอับเดล ฟัตตาห์ อัลเบอร์ฮาน เป็นกลุ่มที่ปกครองประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะผลัดเปลี่ยนให้เป็นสภาของฝ่ายพลเรือนหลังจากนั้น โดยในสภาเปลี่ยนผ่านทั้งหมดที่เรียกว่าสภาอธิปไตยจะกำหนดให้สมาชิกเป็นฝ่ายกองทัพ 5 นาย และเป็นตัวแทนฝ่ายพลเรือน 5 ราย กับอีกรายหนึ่งที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารเกษียณอายุแล้วซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันได้ว่าจะให้เข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีการระบุว่าจะให้มีการสอบสวนอย่างอิสระในการปราบปรามผู้ชุมนุม และผู้ที่มีความผิดฐานปราบปรามผู้ชุมนุมจะไม่มีสิทธิเข้าร่วมสภาอธิปไตยนี้

เรียบเรียงจาก

Sudanese protesters demand justice following mass killings, The Guardian, 13-07-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท