Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่กรีซ พรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” แพ้การเลือกตั้งหลังจากที่เป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2015

การกลับมาของพรรคนายทุนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับผู้ที่ติดตามการเมืองกรีซแต่อย่างใด เพราะ “ไซรีซา” เคยชนะการเลือกตั้งโดยสัญญากับประชาชนว่าจะต่อสู้กับนโยบายรัดเข็มขัดและเสรีนิยมกลไกตลาดที่ทำลายชีวิตกรรมาชีพกรีซ แต่ไปๆมาๆ “ไซรีซา” กลับยอมจำนนต่อคำสั่งของสหภาพยุโรปทุกประการ ซึ่งนำไปสู่การตัดสวัสดิการและงบประมาณรัฐมากกว่าเดิม ถือว่าเป็นการหักหลังประชาชนกรีซอย่างร้ายแรง

การหักหลังประชาชนเริ่มเมื่อต้นเดือนกรกฏาคมปี 2015 เพียง 7 เดือนหลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง รัฐบาล “ไซรีซา” ได้จัดประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าจะรับเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟอยากจะบังคับใช้กับกรีซหรือไม่ ปรากฏว่าประชาชนเกิน 60% ลงคะแนนไม่รับ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ของอียูและไอเอ็มเอฟ เป็นการตัดสวัสดิการมหาศาลและการขึ้นภาษีให้กับคนจน และมีผลกระทบร้ายแรงกับประชาชนจำนวนมากที่เดือดร้อนอยู่แล้ว แต่ประชาชนยังไม่ทันลงคะแนนเสร็จในประชามติ รัฐบาล “ไซรีซา” ก็คลานเข้าไปหาอียูและไอเอ็มเอฟ เพื่อรับเงื่อนไขที่แย่กว่าเดิม

ทำไมพรรคไซรีซาถึงยอมจำนนต่อกลุ่มทุนง่ายๆ แบบนี้? มีสองสาเหตุหลักคือ

1. พรรคไซรีซาเป็นพรรคที่หลงเชื่อว่าสหภาพยุโรป(อียู)เป็นสิ่งที่ “ก้าวหน้า” แทนที่จะเข้าใจว่ามันเป็น “สมาคมกลุ่มทุนใหญ่” ที่ยึดถือผลประโยชน์ทุนเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ “ไซรีซา” จึงคิดผิดว่าฝ่ายรัฐบาลและอำนาจทุนในยุโรปจะฟังเหตุผลและพยายามช่วยกรีซ แต่กลุ่มทุนในอียูประกาศตบหน้าประชาชนกรีซว่าเขาไม่สนใจผลการลงคะแนนเสียงในประชามติแต่อย่างใด มันเป็นเผด็จการทุนเหนือประชาธิปไตยกรีซ ที่สำคัญที่สุดคือ “ไซรีซา” ทำทุกอย่างที่จะอยู่ต่อในสกุลเงินยูโร แต่การยึดติดกับสกุลเงินยูโรเป็นการมอบอำนาจทางเศรษฐกิจให้ธนาคารกลางของยุโรปและยอมจำนนต่อเงื่อนไขรัดเข็มขัด ในรอบหลายเดือนรัฐบาล “ไซรีซา” พยายามประนีประนอมกับอียูและไอเอ็มเอฟ และการจัดประชามติก็ทำไปเพื่อต่อรองเท่านั้น แต่มันไม่เคยเพียงพอสำหรับพวกตัวแทนนายทุนเหล่านั้น ความคิดของไซรีซาจึงมีความขัดแย้งในตัวสูง และมันเป็นการตั้งความหวังกับโครงสร้างรัฐกับทุนที่ตนเองหลงคิดว่าก้าวหน้า แทนที่จะฝากความหวังไว้กับกรรมาชีพกรีซและกรรมาชีพในประเทศอื่นๆ ของยุโรป

2. พรรคไซรีซาเป็นพรรคที่พัฒนามาจากบางส่วนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่รับแนวปฏิรูปในอดีต นอกจากนี้มีนักเคลื่อนไหวในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและฝ่ายซ้ายปฏิวัติบางกลุ่มเข้ามาร่วม ก่อนที่จะชนะการเลือกตั้ง “ไซรีซา” จะมีจุดยืนไม่ชัดเจนระหว่างการปฏิวัติล้มทุนนิยม กับการปฏิรูปประนีประนอมกับทุน คือคลุมเครือเรื่องปฏิวัติกับปฏิรูป ทั้งในประเด็นระบบเศรษฐกิจและระบบรัฐ เพราะมองว่าสภาพโลกปัจจุบันมัน “ข้ามพ้นปัญหาแบบนี้ไปแล้ว” จุดยืนนี้พา “ไซรีซา” ไปให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและรัฐสภามากเกินไป และละเลยความสำคัญของการเชื่อมโยงกับพลังกรรมาชีพและขบวนการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภา ดังนั้น “ไซรีซา” พยายามใช้ผลของประชามติในการเจรจากับอียูเท่านั้น แทนที่จะปลุกระดมและใช้พลังการนัดหยุดงาน หรือการประท้วงนอกสภา เพื่อการจัดระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจและการเมือง และที่สำคัญด้วยคือ สส.ซีกซ้ายภายใน “ไซรีซา” หมดสภาพในการค้านแกนนำพรรคจนหดหู่ และทั้งๆ ที่พวกนี้โดนแกนนำเขี่ยออกจากตำแหน่งใน ครม. แต่ก็ยังเน้นแต่การปกป้องรักษาพรรค หลงคิดว่าจะเปลี่ยนนโยบายพรรคได้จากภายใน และที่สำคัญที่สุดคือละเลยการปลุกระดมขบวนการนอกรัฐสภา มันเป็นบทเรียนสำคัญว่าฝ่ายซ้ายต้านทุนนิยม หรือฝ่ายซ้ายปฏิวัตินั้นเอง จะต้องรักษาองค์กรของตนเองและอิสระจากแนกนำในแนวร่วมใหญ่ ในขณะที่ร่วมสู้กับคนที่อยู่ในแนวร่วมกว้างที่ต้องการต้านนโยบายรัดเข็มขัดหรือเผด็จการของกลุ่มทุน

ต้นกำเนิดของวิกฤตกรีซ

วิกฤตหนี้กรีซเกิดจากการปล่อยกู้ให้ประเทศในยุโรปใต้โดยธนาคารเยอรมันและสถาบันการเงินในยุโรปเหนือ มีการปล่อยกู้ให้ธนาคารเอกชนในกรีซ ซึ่งปล่อยกู้ต่อให้ภาคเอกชนอีกที จากมุมมองเยอรมันการปล่อยกู้ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในยุโรปใต้ซื้อสินค้าจากเยอรมัน ซึ่งมีผลในการกระต้นเศรษฐกิจเยอรมัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมันก็กดค่าแรงกรรมาชีพเยอรมันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบนี้ของเยอรมันทำให้กรีซและประเทศในยุโรปใต้แข่งขันกับเยอรมันไม่ได้ ส่งออกให้ยุโรปเหนือยากขึ้น ขาดดุลการค้า การเป็นหนี้แบบนี้อาจเป็นเรื่องปกติและมีการพัฒนาวิถีชีวิตของชาวกรีซจากสภาพเดิมที่ยากจนพอสมควร แต่มันกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ระเบิดขึ้นในขั้นตอนแรกที่สหรัฐเมื่อปี 2008

วิกฤตเศรษฐกิจโลกนี้มาจากการลดลงของอัตรากำไร และการพยายามปั่นหุ้นและหากำไรในภาคไฟแนนส์กับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้คนจนซื้อบ้าน มันเป็นการพนันเพื่อหากำไรแทนที่จะลงทุนในภาคการผลิต

เมื่อเกิดวิกฤตโลก ธนาคารกรีซใกล้ล้มละลาย และรัฐก็เข้ามาอุ้มหนี้ คือแปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะ และที่เลวร้ายกว่านั้นคือบริษัทซื้อขายหุ้นก็ขายหนี้กรีซให้ “บริษัทอีแร้ง” ที่หากำไรจากการเก็บหนี้ มีการกดดันให้ดอกเบี้ยเพิ่มทวีคูณไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้หนี้กรีซสูงขึ้นถึงขั้นไม่มีวันจ่ายคืนได้

ในที่สุด ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางอียู และฝ่ายบริหารอียู ก็บังคับให้รัฐบาลชุดก่อนๆ ของกรีซจ่ายหนี้คืนผ่านการตัดสวัสดิการและการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน คนตกงานจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันไม่มีการเก็บภาษีหรือทวงหนี้จากคนรวยหรือกลุ่มทุนกรีซ แม้แต่บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ของเยอรมันที่สร้างและเคยเป็นเจ้าของสนามบินที่กรีซ ก็ไม่ได้จ่ายภาษีเลยแม้แต่นิดเดียว นอกจากนี้บริษัทกรีซหลายแห่งถูกซื้อโดยกลุ่มทุนจากยุโรปเหนือ และบริษัทเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการกู้เงินในอดีตอีกด้วย

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา “เงินช่วยเหลือ” ที่ธนาคารอียูและไอเอ็มเอฟส่งให้กรีซ ไม่เคยถึงมือประชาชนที่ยากลำบากเลย เพราะ 90% ถูกส่งกลับให้ธนาคารในยุโรปเพื่อจ่ายหนี้ต่างหาก และหนี้สินกรีซก็ทวีคูณอย่างต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ นับว่า “ยารักษาโรค” ของกลุ่มอำนาจอียูที่ยิ่งทำให้คนไข้อาการหนักขึ้นบนพื้นฐานการยึดผลประโยชน์กลุ่มทุนและความเดือดร้อนของประชาชนธรรมดา มันเป็นเรื่องชนชั้นชัดๆ มันไม่เกี่ยวกับรัฐชาติ

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Joseph Stiglitz และ Paul Krugman เคยวิจารณ์ว่ามาตรการแบบนี้จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงและคนเดือดร้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ และทั้งสองคนเคยมองว่าประชาชนกรีซควรจะ “โหวตไม่รับ” เงื่อนไขในประชามติ

ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภากรีซ สมาชิกพรรค “ไซรีซา” เอง และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังสองคนนี้ เคยเสนอว่าศูนย์อำนาจในสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟต้องการที่จะล้มรัฐบาลกรีซที่มาจากการเลือกตั้งหรืออย่างน้อยทำให้หมดสภาพ เพื่อไม่ให้ประชาชนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสเปน อิตาลี่ ไอร์แลนด์ หรือปอร์ตุเกส ได้กำลังใจในการออกมาต้านนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของพวกเสรีนิยม มันเป็นการต่อสู้ทางการเมือง

เราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจเผด็จการไปได้สวยกับการบังคับใช้มาตรการกลไกตลาดเสรี

สำหรับพรรคกรรมาชีพสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาในกรีซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วม “แอนตาซียา”เคยมีการเสนอว่าต้องออกจากสกุลเงินยุโรป ชักดาบไม่ยอมจ่ายหนี้ให้ไอเอ็มเอฟ และยึดธนาคารต่างๆ มาเป็นของรัฐ ที่สำคัญคือต้องใช้พลังกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และพลังมวลชนบนท้องถนน ในการเข้ามาควบคุมและบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชน ในระยะสั้นต้องมีการจัดตั้งเตรียมตัวนัดหยุดงานและร่วมสู้กับการรัดเข็มขัด แต่น่าเสียดายที่พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมกรีซเล็กเกินไปที่จะสร้างกระแสการต่อสู้ที่มีพลังเพียงพอ

ในช่วงแรกที่ “ไซรีซา” เป็นรัฐบาล มีกลุ่มฝ่ายซ้ายในบางประเทศ เช่นในออสเตรเลีย ที่ฝากความหวังไว้กับ “ไซรีซา” โดยไม่วิเคราะห์สถานการณ์อย่างละเอียด

บทเรียนสำคัญจากกรีซคือ การเน้นการเมืองในรัฐสภาอย่างเดียว และการพยายาม “ทำงานในระบบ” มักนำไปสู่การยอมจำนนและหักหลังความฝันของกรรมาชีพผู้ทำงานเสมอ

ความหวังแท้ของกรรมาชีพกรีซตอนนี้คือการลุกขึ้นสู้ผ่านการนัดหยุดงาน ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว พร้อมกับการสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมนอกรัฐสภาให้เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Turnleft-Thailand https://turnleftthai.wordpress.com/2019/07/14

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net