Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในสังคมโบราณและตลอดยุคกลางหรือยุคประเพณี ศาสนากับรัฐ-การเมืองไม่ได้แยกจากกัน และศาสนาก็ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง แต่ศาสนาสถาปนาระบบสังคมการเมืองขึ้นมาเลยทีเดียว เช่น คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ของพราหมณ์สร้างระบบวรรณะสี่ขึ้นมา พร้อมกับกำหนดว่าชนชั้นไหนควรเป็นผู้ปกครอง ชนชั้นไหนควรเป็นผู้ถูกปกครองและเป็นทาส โดยกำหนด “ธรรม” หรือ “หน้าที่” ของคนแต่ละชนชั้นไว้อย่างเด็ดขาดตายตัว 

หากมีการ “แตกแถว” หรือระเมิดกฎของชนชั้น เช่น มีการสมสู่ข้ามวรรณะ ลูกที่เกิดมาก็จะกลายเป็น “จัณฑาล” และลูกหลานของจัณฑาลก็ต้องเป็นจัณฑาลสืบต่อไป สถานะของจัณฑาลนั้นต่ำและน่ารังเกียจเสียยิ่งกว่าเศษสวะ

รัฐต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ที่รับพราหมณ์พุทธจากอินเดียมาผสมผสานกับผี พราหมณ์พุทธก็กลายเป็นศาสนาสถาปนาระบบศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาสขึ้นมา 

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชัดแจ้งก็คือ ไม่ว่าจะเป็นพิธีสถาปนากษัตริย์ ชื่อยาวๆ ของกษัตริย์ เครื่องทรง เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ปราสาทราชวัง รูปปั้นกษัตริย์ ราชาศัพท์ สถานะ อำนาจ คุณธรรมของกษัตริย์ ฯลฯ ล้วนแต่ถูกสร้างขึ้นจากความเชื่อ ภาษา สัญลักษณ์ทางพราหมณ์พุทธทั้งสิ้น หากไม่มีพราหมณ์พุทธสถาปนาอำนาจสูงสุดในระบบระบบชนชั้นศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาสขึ้มมา เรื่องราวทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ก็ย่อมไม่ปรากฏ

ในยุโรปยุคกลาง เครือข่ายชนชั้นสูงก็คือกษัตริย์ ขุนนาง และศาสนจักรหรือนับวช สยามไทยก็คือกษัตริย์ ขุนนาง คณะสงฆ์ เราบอกวาพระราชาคณะหรือคณะสงฆ์ไทยไม่มีอำนาจและกองทัพของตนเองเหมือนศาสนจักรคริสต์ ดังนั้น คณะสงฆ์ไทยหรือพุทธศาสนาไทยจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่นี่เป็นการ “ตัดตอน” มาพูดเพื่อสร้าง “มายาภาพ” ว่าพระสงฆ์บริสุทธิ์สะอาดจากการเมืองเท่านั้น เพราะที่จริงคณะสงฆ์ก็คือ “เครือข่ายอำนาจ” ในกลุ่มชนชั้นสูงที่มีบทบาทตอบสนองอำนาจรัฐในเรื่องการสร้างความเชื่อ พิธีกรรม คำสอน ราชภาษา ฯลฯ เพื่อสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ชอบธรรมของอำนาจแห่งชนชั้นปกครองและระบบศักดินา 

อย่าบอกนะครับว่าระบบศักดินาไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เพราะชื่อและฐานันดรศักดิ์ของกษัตริย์, พระราชาคณะ, ขุนนาง เป็น “ภาษาพุทธผสมพราหมณ์” ที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างวิจิตรบรรจงโดยพระและปราชญ์พุทธทั้งนั้น

ประเด็นคือ เมื่อสังคมยุโรปเปลี่ยนเป็นเสรีประชาธิปไตย อำนาจทางการเมืองแบบศาสนาสถาปนา เช่น “อำนาจเทวสิทธิ์” ก็ถูกยกเลิกไป และศาสนจักรก็แยกจากรัฐเป็นเอกเทศต่างหากจากอำนาจรัฐ แปลว่าศาสนจักรหรือนักบวชไม่ใช่เครือข่ายอำนาจของชนชั้นปกครองอีกต่อไป ศาสนจักรหรือนักบวชจึงใช้อำนาจรัฐบังคับยัดเยียดให้ประชาชนเรียนศาสนา หรือเอาอำนาจรัฐไปทดสอบศีลธรรมทางศาสนา หรือลงโทษการทำผิดศีลธรรมทางศาสนาไม่ได้อีกต่อไป 

ดังนั้น การเผยแผ่ศาสนาจึงเป็นเรื่องขององค์กรศาสนาหรือนักบวชโดยเฉพาะ คุณจะตั้งองค์กร เครือข่ายเผยแผ่ศาสนา ตั้งโรงเรียนเอกชน มหาวิทยาลัยเอกชน หรือสร้างกิจกรรมของโบสถ์ดึงดูดคนเข้าไปศึกษาเรียนรู้ หรือพัฒนาวิธีการสอนให้ทันสมัยอย่างไรก็ได้ คุณแข่งขันกันได้อย่างเสรี ภายใต้การเคารพและปฏิบัติตามหลัก “เสรีภาพทางศาสนา” ที่ถือว่าเรื่องศรัทธาหรือศาสนาเป็น “เสรีภาพส่วนบุคคล” ที่บังคับกันไม่ได้ คุณจึงเผยแผ่ศาสนาในแบบเอกชนได้เต็มที่ 

แต่คุณจะเคลื่อนไหว ผลักดันให้รัฐเอาศาสนาของคุณมาเป็นหลักการปกครอง การบัญญัติกฎหมาย หรือให้บังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐไม่ได้ เพราะขัดกับหลักเสรีภาพทางศาสนา และรัฐก็ตอบสนองข้อเรียกร้องนั้นไม่ได้ เพราะรัฐต้องยึดหลักความ “เป็นกลาง” ทางศาสนา และต้องปกป้องหลักเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราคือ จะเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) ก็เป็นไม่ได้ เพราะมีอำนาจแบบศาสนาสถาปนาอยู่เหนือหลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบอันเป็นหลักการพื้นฐานของเสรีประชาธิปไตย และจะเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) ก็เป็นไม่ได้ เพราะแยกศาสนาจากรัฐไม่ได้ 

ยิ่งกว่านั้นในระยะหลังมีกลุ่มพระสงฆ์และฆราวาสพยายามผลักดันให้ศาสนาเข้ามามีสถานะและอำนาจอภิสิทธิ์เหนือหลักเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาภายในรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ให้รัฐอุปถัมภ์คุ้มครองและส่งเสริมการเผยแผ่พุทธเถรวาท เป็นต้น

ล่าสุดมีกลุ่มพระสงฆ์ออกมายื่น “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” ให้รัฐบาลจัดตั้งสภาพุทธบริษัท 4, สถาบันเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพัฒนาศักยภาพพระสอนศีลธรรม, องค์กรส่งเสริมให้พระสงฆ์ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย, แต่งตั้งฝ่ายสงฆ์เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.), บรรจุวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาภาคบังคับในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน และให้มีการประเมินด้านคุณธรรมนักเรียน เป็นต้น (ดู https://www.dailynews.co.th/education/720378)

ผมเข้าใจว่าข้อเสนอนี้เกิดจาก “เจตนาดี” ของกลุ่มพระสงฆ์ที่ออกมาผลักดันเรื่องนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐไทยไม่ใช่ “รัฐศาสนา” หรือ “รัฐพุทธศาสนา” เมื่อยึดประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยต่อมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้ว่าสังคมไทยต้องการสร้างรัฐประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนจะต้องมีหลักประกันอย่างมั่นคง ดังนั้น ข้อเสนอดังกล่าวจึงขัดกับหลักการพื้นฐานของรัฐประชาธิปไตยในความหมายนี้

เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่ขัดกับหลักเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา เพราะในรัฐประชาธิปไตย องค์กรศาสนาใดๆ จะเอาความเชื่อ คำสอนของศาสนาตนเองไปให้รัฐบาลบังคับพลเมืองให้เรียนไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็น “เสรีภาพ” ที่แต่ละคนจะเลือกเรียนรู้ตามความสมัครใจของตนเอง 

อย่าลืมนะครับ “พลเมือง” หมายถึง ปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของอำนาจ สิทธิและเสรีภาพเสมอภาคกัน ดังนั้น พลเมืองทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาและไม่นับถือศาสนา เขาเป็นเจ้าของ “สิทธิและเสรีภาพทางศาสนา” ด้วย ซึ่งหมายความว่า เขาต้องเลือกเองว่าจะเรียนรู้ศาสนาใดๆ องค์กรศาสนาหรือรัฐจะใช้อำนาจบังคับยัดเยียดความเชื่อหรือคำสอนทางศาสนาแก่พลเมืองไม่ได้ นี่คือ “หลักการพื้นฐาน” ที่องค์กรทุกศาสนาต้องเข้าใจและเคารพ

แท้จริงแล้ว เรื่องจัดตั้งสภาพุทธบริษัท 4, สถาบันเผยแผ่พุทธศาสนาและพัฒนาศักยภาพพระสอนศีลธรรม, องค์กรส่งเสริมให้พระสงฆ์ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นเรื่องของพระหรือคณะสงฆ์ควรทำกันเอง เพราะรู้เรื่องของตนเองดี ทำกันเองได้ดีกว่ารัฐบาลอยู่แล้ว ไหนบอกว่า “ไม่อยากให้ฆราวาสปกครองพระ” แต่ข้อเสนอแบบนี้แสดงว่า “พระปกครองกันเองไม่ได้ พัฒนาศักยภาพตัวเองไม่ได้ ดูแลเรื่องการประพฤติตามธรรมวินัยกันเองไม่ได้” เช่นนั้นหรือ จึงต้องร้องขอให้ใช้อำนาจรัฐเข้ามาบริหารจัดการ

ส่วนเรื่องตั้งฝ่ายสงฆ์เป็นที่ปรึกษานายกฯ และ ครม. นี่ยิ่งเข้าใกล้ความเป็นรัฐศาสนามากขึ้นไปอีก ไม่ควรตั้งเลยครับ และควรยกเลิก “ตัวแทนองค์กรอิสลามที่เป็น สว.โดยตำแหน่ง” (ที่ปัจจุบันซากีย์ พิทักษ์คุมพลเป็น 1 ใน 250 สว.อยู่) ด้วย เพราะรัฐไทยไม่ควรพัฒนาไปในทางเข้าใกล้ความเป็นรัฐศาสนามากขึ้น พุทธและอิสลามควรปรับตัวในทางถอยห่างออกไปจากการเข้ามามีสถานะและอำนาจใดๆ ภายในโครงสร้างอำนาจรัฐ ควรดูตัวอย่างของศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นๆ ที่เขาปรับตัวเข้ากับหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักการโลกวิสัย (secular) ได้ดีกว่า

พูดให้ชัดเจนและถูกหลักสากลคือ ในศตวรรษที่ 21 แล้ว บุคคลและองค์กรศาสนาต่างๆ ควรเรียนรู้ว่า ทุกศาสนาควรปรับตัวในทิศทางที่เคารพเสรีภาพ ประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ไม่ควรที่จะเข้ามามี “อภิสิทธิ์” ภายในโครงสร้างอำนาจรัฐ หรือใช้อำนาจและงบประมาณรัฐเพื่อบังคับยัดเยียดความเชื่อทางศาสนาตนเองให้กับประชาชน การเผยแผ่ศาสนาควรแข่งขันกันอย่างเสรีในรูปแบบเอกชนเท่านั้น



ที่มาภาพ: ข่าวสดออนไลน์  https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_2103952

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net