เอกสิทธิ์ หนุนภักดี: ทีดีอาร์ไออันประเสริฐสุดที่จะเป็นไปได้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทีดีอาร์ไอน่าจะเป็นคลังสมองเอกชนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของไทยหากประเมินจากการส่งผลกระทบต่อสังคม ประวัติศาสตร์และผลงานที่ผ่านมาทำให้คำพูดและการกระทำของทีดีอาร์ไอมีบทบาทต่อสังคมไทย แม้ว่าทีดีอาร์ไอจะเป็นคลังสมองเอกชนแต่ทุนวิจัยจำนวนไม่น้อยกระทั่งบางช่วงนับเป็นงบประมาณหลักของทีดีอาร์ไอมาจากการว่าจ้างโดยหน่วยงานภาครัฐนอกจากนี้ประเด็นที่ทีดีอาร์ไอเสนอเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อสังคมโดยรวมดังนั้นการรับฟังและวิพากษ์วิจารณ์ทีดีอาร์ไอเป็นสิ่งจำเป็น

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมาทีดีอาร์ไอทำการประเมินผลงานรัฐบาล คสช.ที่มีคุณประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีในด้านความมั่งคั่งและยั่งยืนโดยเว้นไม่ประเมินด้านความมั่นคงโดยให้เหตุผลว่า “ไม่ถนัด” รายละเอียดการประเมินดูจาก (https://tdri.or.th/2019/07/report-5years-prayut-cabinet/) ซึ่งจะไม่นำมาสรุป ณ ที่นี้ บทความนี้ประสงค์จะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวใน 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 เนื้อหา ส่วนที่ 2 วิธีการ และส่วนที่ 3 ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอซึ่งทั้งสามส่วนนี้มีความสัมพันธ์กัน

ในด้านเนื้อหา ทีดีอาร์ไอประเมินผลงานรัฐบาลจากนโยบายที่รัฐบาลประกาศรายโครงการโดยไม่วิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายรายโครงการนั้นนำไปสู่การตอบโจทย์ของสังคมหรือแม้แต่โจทย์ของรัฐบาลเองในเรื่องของการพัฒนาไปสู่ “ประเทศที่มีรายได้สูงโดยมุ่งเน้นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานของเทคโนโลยีและนวัติกรรม” หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ขาดหายไปจากสิ่งที่ทีดีอาร์ไอมักจะกระทำควบคู่ไปกับการประเมินผลงานรัฐบาลคือการประเมินความคุ้มค่าของโครงการ ซึ่งประการแรกนั้นเป็นโจทย์ที่สำคัญและหน่วยงานที่ถือว่าตนเองเป็น “สมอง” ของประเทศควรยึดถือเป็นภารกิจหลักที่จะขบคิดวิพากษ์วิจารณ์ ในขณะที่การประเมินว่านโยบายใดดำเนินการแล้วหรือไม่ เสร็จสิ้นไปเท่าใด ได้ผลตามเป้าประสงค์ประการใดนั้นมีหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลทำหน้าที่อยู่แล้ว 

การไม่ประเมินว่านโยบายและโครงการต่างๆ ของรัฐบาลประยุทธ์ส่งผลดีผลเสียต่อประเทศอย่างไรบ้างจึงอาจเป็นการส่งสัญญาณต่อสังคมว่านโยบายและโครงการต่างๆ เหล่านั้นถูกต้องเหมาะสมแล้วปัญหาของประเทศจึงอยู่ที่จะปฏิบัติตามนโยบายนั้นได้อย่างไรเท่านั้นซึ่งเป็นปัญหาเชิงเทคนิคและเวลามากกว่าอย่างอื่น และอาจจะมีนัยต่อไปได้ว่าในเมื่อนโยบายและโครงการต่างๆ ของรัฐบาลนั้นถูกต้องเหมาะสมแล้วการสืบทอดอำนาจของ คสช. และรัฐบาลประยุทธ์หรือกระทั่งการมีรัฐบาลที่มีปัญหาที่มาโดยไม่ชอบธรรมจึงไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด

ในด้านวิธีการ การที่ทีดีอาร์ไอเลือกตอบคำถามตามโจทย์ที่รัฐบาลประยุทธ์ตั้งไว้ราวกับว่านโยบายและโครงการต่างๆ นั้นถูกต้องเหมาะสมแล้วประกอบกับการออกตัวว่าจะไม่ประเมินเรื่องที่ “ไม่ถนัด” ทำให้การประเมินของทีดีอาร์ไอขาดการตั้งคำถามจากจุดยืนของสังคม “ไม่บูรณาการ” และไม่รอบด้าน ในความหมายที่ว่าการไม่มีคำถามของตนเองทำให้ทีดีอาร์ไอประเมินผลงานรัฐบาลจากจุดยืนเดียวกันกับรัฐบาล ไม่เห็นและไม่ยอมวิจัยความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายต่างๆ ว่าสัมพันธ์กันเองหรือสัมพันธ์กับประเด็นอื่นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ (จะยกตัวอย่างต่อไปในข้างหน้า) ส่งผลให้การประเมินผลงานรัฐบาลของทีดีอาร์ไอมีลักษณะแบบกรอกแบบฟอร์มผสมบวกตัวเลข ประเมินว่านโยบายใด “ทำ” นโยบายใด “เสร็จ” แต่การได้ทำหรือทำเสร็จไม่เท่ากับความสำเร็จของนโยบายและอันที่จริงแม้ว่านโยบายดังกล่าวดำเนินการสำเร็จก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากับประโยชน์ของสังคม

ตัวอย่างคำถามที่ทีดีอาร์ไอไม่ได้ถามแต่อาจเป็นคำถามที่จำเป็นต่อสังคมเช่น จริงหรือไม่ที่ EEC จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย? การเปิดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเท่ากับความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการบินของไทยไหม? การผ่อนผันแรงงานทักษะสูงของไทยมีประโยชน์ต่อใครบ้าง? หรือนโยบายทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบที่กว้างขวางและลึกซึ้งกว่าเป้าหมายเฉพาะหน้าของรัฐบาลอย่างไร? ใครบ้างที่จะได้รับประโยชน์ก่อน มากกว่าหรือสูงสุด ใครบ้างที่จะเป็นผู้เสียผลประโยชน์จากโครงการเหล่านี้? 

อันที่จริงในอดีตไม่นานมานี้นั้นทีดีอาร์ไอเคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยมีจุดยืนในการตอบโจทย์เพื่อสังคมมาก่อน เช่นการวิพากษ์วิจารณ์โครงการ “ประชานิยม” โครงการรถไฟความเร็วสูง 2 ล้านล้าน โครงการจำนำข้าว ฯลฯ ว่าโครงการต่างๆ เหล่านี้ส่งผลเสียต่อประเทศอย่างไรบ้าง และบ่อยครั้งที่ทีดีอาร์ไอเชื่อมโยงสิ่งที่ตนเอง “ถนัด” เข้ากับสิ่งที่ “ไม่ถนัด” บ่อยครั้ง เช่น การเมือง ซึ่งสะท้อนว่าการที่จะทำความเข้าใจและแสวงหาทางออกของปัญหาหนึ่งๆ นั้นยากที่จะหลีกเลี่ยงความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยต่างๆ 

การคิดเชื่อมโยงประเด็นหลักที่นักวิจัยสนใจเข้ากับบริบทและความรู้อื่นๆ อาจจะจำเป็นต้องก้าวเข้าไปสู่ดินแดนที่นักวิจัยไม่คุ้นเคยหรือไม่ถนัดบ้างแต่ถ้าดินแดนนั้นเป็นพื้นที่ที่จำเป็นต้องย่างเข้าไปเพื่อหาคำตอบของสิ่งที่กำลังทำความเข้าใจนักวิจัยสามารถเลือกทำได้หลายอย่างเช่น คำนึงถึงสิ่งเหล่านั้นประกอบการคิดวิเคราะห์ตลอดเวลาแม้ว่าจะไม่ถนัด หรือเลือกที่จะวิจัยประเด็นดังกล่าวร่วมกับนักวิจัยที่ถนัด หรือเลือกที่จะทำความรู้จักเข้าใจดินแดนประหลาดดังกล่าวเพิ่ม หรือกระทั่งเลือกที่จะไม่ทำความเข้าใจเพราะไม่ถนัดก็เป็นสิทธิของนักวิจัย แต่การเลือกย่อมส่งผลต่อข้อสรุปแตกต่างกันอย่างสำคัญ

เมื่อทีดีอาร์ไอเลือกที่จะไม่ทำความเข้าใจสิ่งที่ไม่ถนัด สิ่งที่ทีดีอาร์ไอไม่ได้นำมาเชื่อมโยงเข้ากับ “ความมั่งคั่งยั่งยืน” ของรัฐบาลได้แก่ ยุทธศาสตร์ข่าวกรองแห่งชาติ การควบคุมชายแดน ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงแห่งชาติ บูรณาการฐานข้อมูลด้านความมั่นคง ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวพันกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งสิ้น (ข้อมูลจากเอกสารนโยบายข้อ 2 การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา)

การไม่มีคำถามของตนเองประกอบกับวิธีการประเมินที่เสมือนหนึ่งแยกส่วนประเทศไทยออกจากกันเป็นแท่งๆ ทำให้ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอมีปัญหาหลัก 3 ประการคือ หนึ่ง ข้อเสนอจำนวนหนึ่งเป็นนามธรรมมีลักษณะถูกต้องอยู่เสมอโดยไม่จำเป็นต้องทำการวิจัย เช่น การส่งเสริมธุรกิจอย่างมีเอกภาพ ขยายผลบทเรียนการบริหารจัดการที่ดี เป็นต้น ในขณะที่จำนวนหนึ่งเป็นข้อเสนอที่ไม่จำเป็นต้องเสนอหากทีดีอาร์ไอเชื่อมโยงเงื่อนไขต่างๆ ในสังคมที่รอบด้านและเป็นจริงมากขึ้น เช่น ข้อเสนอเรื่องความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน การกระจายอำนาจนั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์โดยตรงกับนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการตรวจสอบรัฐบาลอันจะนำมาซึ่งความโปร่งใส หรือกดดันให้รัฐบาลกระจายอำนาจได้อย่างไรหากไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน 

การที่ทีดีอาร์ไอไม่เชื่อมโยงปัญหาสิทธิเสรีภาพ ความรุนแรงโดยรัฐ ความไม่เป็นประชาธิปไตยเข้ากับ นโยบายของรัฐนำไปสู่ปัญหาที่สองของข้อเสนอทีดีอาร์ไอคือ การมีลักษณะเป็นข้อเสนอที่รอความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจจึงจะเกิดขึ้นได้หรืออาจจะกล่าวอีกอย่างได้ว่านี่คือข้อเสนอแบบสังคมสงเคราะห์มิใช่ข้อเสนอบนฐานสิทธิที่เสริมสร้างอำนาจให้สังคมต่อสู้ต่อรองกับผู้มีอำนาจ

ข้อเสนอแบบสังคมสงเคราะห์มีปัญหาเพราะเป็นวิธีคิดแบบหยุดนิ่ง แช่แข็งความเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยเฉพาะด้านที่กดทับเอารัดเอาเปรียบผู้ที่ด้อยอำนาจกว่าอย่างเป็นระบบ นโยบายต่างๆ ของรัฐที่มุ่งสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสจึงเป็นนโยบายที่สนับสนุนการเอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาสโดยตัวมันเองด้วยเพราะปฏิเสธความเป็นไปได้ในการเลื่อนชั้นของผู้ด้อยโอกาสในสังคมผ่านการเมือง

ปัญหาของข้อเสนอทีดีอาร์ไอประการที่ 3 การละเลยข้อเท็จจริงเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างร้ายแรงเช่น การให้รัฐบาลยกเลิกการแทรกแซงโดยกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งไม่มีรัฐบาลใดในโลกนี้ที่จะยกเลิกการแทรกแซงโดยกลุ่มผลประโยชน์ได้เพราะพื้นที่นโยบายสาธารณะคือพื้นที่ที่กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จะเข้ามาต่อสู้ต่อรองกัน ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็คือการที่ผู้มีกำลังร่วมมือกับผู้มีอำนาจอันเกิดจากธรรมเนียม ประเพณี ความรู้ร่วมมือกันกีดกันกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ออกไปจากการกำหนดนโยบายและถือเสมือนว่าการแสวงหาประโยชน์ของพรรคพวกของตนเองเป็นการทำประโยชน์ให้ส่วนรวม

ในฐานะองค์กรทางปัญญาที่มีอยู่ไม่มากนักในสังคมไทย ทีดีอาร์ไอที่ประเสริฐสุดเท่าที่จะเป็นไปได้น่าจะมีศักยภาพในการค้นคว้าวิจัยที่ตั้งคำถามกับอำนาจมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากอำนาจและไม่เคยมีนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่ประชาชนทุกคน นโยบายแต่ละนโยบายให้ประโยชน์แก่คนบางกลุ่มก่อนและมากกว่าและไม่ค่อยเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่คนบางกลุ่มก่อนและมากกว่าเสมอ 

การตั้งคำถามและกล้าพูดความจริงกับอำนาจ (ไม่ใช่กับเฉพาะรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง) จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญหากทีดีอาร์ไอประสงค์ที่จะทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเป็นธรรมในสังคม 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท