นโยบายค่าแรง 400 : รบ.ยึกยัก ปชป.เตือน SMEs อ่วม 'แรงงาน' ขออย่าปั่น เตรียมทวงถามปรับขึ้น

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บ. 'พลังประชารัฐ' ยึกยัก พรรคร่วมอย่างปชป.เตือนขึ้นค่าแรง 400 SMEs อ่วม ชี้ต่างนโยบายพรรคไม่ผลักภาระให้แต่นายจ้าง ด้านกลุ่มแรงงานขออย่าปั่นกระแสค่าจ้าง ทำค่าครองชีพพุ่งรอ เตรียมทวงถามปรับขึ้น ขณะที่ ปธ.สภาอุตฯ อัดหากขึ้น SMEs อาจทยอยปิดกิจการ
 

16 ก.ค. 2562 นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท ถือเป็นนโยบายที่สร้างความสนใจของพรรคพลังประชารัฐในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา จนพรรคเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็มีการทวงถามถึงความคืบหน้าของนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายนี้

พลังประชารัฐยึกยัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคฯ ออกมาชี้แจงว่า ต้องยกระดับฝีมือของแรงงานก่อนจึงจะขึ้นค่าแรงที่สูงได้ เพราะแรงงานไม่มีฝีมือจะไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยี และจะส่งผลกระทบกับภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม 

แต่ต่อมา 12 ก.ค. สนธิรัตน์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า ทุกพรรคเห็นตรงกันว่าควรต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นอัตราที่เพียงพอต่อผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเห็นได้ว่าทุกพรรคมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่มีเป้าหมายว่าจะให้เป็น 400 บาทต่อวัน ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้น จะมีการกำหนดลงไปในนโยบายและมาตราการของรัฐบาลอีกครั้ง

(ที่มา : ข่าวสดออนไลน์)

ปชป.เตือนขึ้นค่าแรง 400 SMEs อ่วม ชี้ต่างนโยบายพรรคไม่ผลักภาระให้แต่นายจ้าง

ขณะที่ท่าทีของพรรคร่วมอย่างพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี กรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลว่าพรรคประชาธิปัตย์หาเสียง นโยบายประกันรายได้แรงงานไม่ได้หาเสียง ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 ความคล้ายที่แตกต่างมโหฬาร ล่าสุดเดือนนี้ ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2562 ลงจาก 3.8 เหลือ 3.5 และพระเอกคือ “การส่งออก” สำคัญหดเหลือร้อยละ 4 แปลว่า เศรษฐกิจไทยชลอตัวลง แต่รัฐบาลจะเอาง่ายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำงั้นหรือ นึกถึงนายจ้างรายเล็กรายน้อยด้วย ไม่งั้นจะเกิดการปิดตัวลงของ SME ร้านอาหาร ร้านค้าเล็กๆ อีกมาก 

อรรถวิชช์กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอประกันค่าแรง ไม่ให้ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อปี หากหักวันหยุดแล้วก็จะเท่ากับค่าแรงวันละ 400 บาทคล้ายกับที่รัฐบาลเสนอ แต่ที่ต่างมโหฬารคือ นโยบายข องพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ผลักภาระทั้งหมดให้นายจ้าง แต่เป็นการ ประกันค่าแรง หากพื้นที่ไหนได้ค่าแรงไม่ถึง 400 บาท รัฐจะชดเชยส่วนต่างให้จนครบ โดยไม่ต้องเป็นภาระนายจ้าง คล้ายกับกรณีศึกษาเทียบเคียง Workfare ของสิงคโปร์ ที่รัฐชดเชย โดยการจ่ายเงินให้ในรายจ่ายสำคัญๆ ของลูกจ้าง เราสามารถจ่ายเงินส่วนต่างค่าแรงในรายการ เช่น การศึกษาเพื่อเพิ่มความสามารถของตนเองหรือบุตร การรักษาพยาบาล ชำระหนี้สิน ให้เป็นเงินออมในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และอื่นๆที่จำเป็น วิธีนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพแรงงานไปในตัว แถมเป็นรัฐสวัสดิการที่ให้เฉพาะคนสัญชาติไทยเท่านั้นวิธีนี้จะช่วยประคองนายจ้าง SME รายเล็กให้อยู่รอดทามกลางเศรษฐกิจขาลง และขณะเดียวกันลูกจ้างก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยตามเป้าหมายของรัฐบาล

(ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์)

แรงงานขออย่าปั่นกระแสค่าจ้าง ทำค่าครองชีพพุ่งรอ 

ด้านผู้ใช้แรงงานออกมาวิจารณ์ท่าทีของรัฐบาลด้วย โดยเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ตามหลักการแล้วการเพิ่มค่าจ้างก็เป็นผลดีกับผู้ใช้แรงงาน ที่ปัจจุบันได้รับค่าจ้างไม่ถึง 400 บาทต่อวัน แต่ถามว่าปรับแล้ว จะปรับอย่างไร เพราะปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 330 บาท เป็น 400 บาท ถือว่าเยอะ ดังนั้นจะมีการจัดการกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไร ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง มีการหารือกันของคณะกรรมการค่าจ้าง มีการเตรียมขึ้นค่าจ้าง แต่ก็ไม่ได้ขึ้น แล้วรัฐบาลมาหาเสียงว่าจะขึ้น ปัญหาของการออกมาพูด 2 รอบแต่ยังไม่มีการปรับค่าจ้างได้จริงๆ ทำให้บรรดาพ่อค้า แม่ค้าฉกฉวยโอกาสในการขึ้นราคาสินค้าไปแล้ว ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกรทะทบจริงๆ ค่าสิ่งของเครื่องใช้ ค่ารถเมล ทุกอย่างขึ้นไปหมดแล้ว

ชาลี กล่าวต่อว่า ดังนั้นครั้งนี้หากจะทำก็ไม่ต้องพูด ไม่ต้องตีกระแส และสิ่งสำคัญมี 2 เรื่องที่รัฐต้องทำให้ได้คือ 1. ควบคุมราคาสินค้าให้เป็นธรรม เพราะถ้าคุมไม่ได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาก็ไม่มีประโยชน์ พี่น้องแรงงานก็ไม่ได้อะไร 2. ต้องบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามนโยบายได้อย่างแท้จริง ทุกราย เพราะเรามีประสบการณ์มาเยอะตอนที่ขึ้นค่าแรง300 บาท นั้นมีนายจ้างส่วนหนึ่งยกเหตุผลมาว่าคงให้ค่าจ้าง 300 บาทไม่ได้ ให้ได้เท่านี้ๆ ถ้าเอาก็เอา ถ้าไม่เอาก็ไม่จ้าง หรืออย่างไรกรณีที่ระบุว่าคนจบปริญญาตรี ได้เงินเดือน 1.5 หมื่นบาท เอาเข้าจริงๆ นายจ้างก็ไม่จ้างคนจบปริญญาตรี แล้วไปจ้างคนที่จบ ปวช., ปวส. แทน ปริญญาตรีก็ไม่มีงานทำ ดังนั้นในส่วนนี้ภาครัฐต้องดูแลบังคับให้ทำให้ได้จริงๆ

รองประธาน คสรท. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงขึ้นค่าจ้างเป็น 400 บาทต่อวันตนก็เห็นด้วย แต่ทางที่ดีตนอยากเห็นรัฐบาลแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ เป็นงูกินหาง ซึ่งที่ผ่านมาตนและเครือข่ายเสนอว่าให้ปรับค่าจ้างเป็นวันละ 360 บาท เท่ากันทั้งประเทศ แบบนี้คนทั้งประเทศมีเงินในกระเป๋าเท่ากัน กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย นี้ถือว่าคุ้ม กว่าการปรับ 400 บาท ที่ได้รับจริงๆ เพียง 3-4 จังหวัดเท่านั้น แล้วที่บอกว่าปรับเท่ากันทั้งประเทศไม่ได้เพราะแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดมีค่าครองชีพแตกต่างกันนั้น เรียนว่าไม่จริง หากเป็นอดีตก็คงจริงที่คนสามารถเก็บผัก เก็บหญ้ากินได้ แต่วันนี้สังคมเปลี่ยนไปแล้ว ทุกอย่างต้องซื้อหมด ร้านสะดวกซื้อมีทุกพื้นที่ และขายในราคาเท่ากัน ตามตลาดสดต่างๆ ก็ขายราคาเท่ากัน

“ที่บอกขึ้นค่าจ้างเป็น 400 บาท แล้วบอกว่าให้แรงงานเพิ่มพูนทักษะก่อน ตรงนี้ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะลำพังแรงงานมีฝีมือใน ปัจจุบันค่าจ้างที่ได้รับก็มากกว่า 400 บาทแล้ว แล้วแต่อยู่สายไหน เช่น ยานตร์ต่ำๆ ก็ 500-600 บาท ไฟฟ้า 400-500 บาทขึ้นไป ผมมองว่าทางที่ดีคือรัฐควรเปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนนโยบายเป็นเดินหน้าทำอัตราค่าจ้างแรกเข้า และพิจารณาปรับขึ้นในแต่ละปี โดยพิจารณาจากเงินเฟ้อ ประเมินการทำงานของแรงงาน ใครทำดีก็ได้เพิ่ม หากเป็นเช่นนี้จะทำให้เราไม่ต้องมาพูดกันเรื่องค่าาจ้างขั้นต่ำทุกๆ แถมในส่วนของแรงานยังต้องมีการพัฒนาตัวเอง เกิดการแข่งขันกันทำงานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น แบบนี้เป็นประโยชน์ทุกฝ่าย” ชาลี กล่าว และว่า ขณะนี้กำลังทำหนังสือส่งไปกระทรวงแรงงานเพื่อขอเข้าพบรมว.แรงงาน คนใหม่ พร้มทีมผู้บริหาร เพื่อขอทราบนโบาย และติดตามนโยบายเดิมๆ ว่า เป็นอย่างไร ทั้งนี้คาดว่าน่าจะเป็นช่วงปลายเดือนก.ค.นี้

(ที่มา : เดลินิวส์)

เตรียมทวงถามปรับขึ้น

สมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เตรียมขอเข้าพบ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 425 บาท พร้อมย้ำจุดยืนเครือข่ายว่าต้องปรับให้เท่ากันทั่วประเทศ

มานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นไปตามโควต้าของพรรคร่วมรัฐบาล มากกว่าพิจารณาความรู้ความสามารถ แต่เมื่อเข้ามาทำงาน ก็ต้องเดินหน้านโยบายที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำ ควรออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะปรับขึ้นเมื่อใด

(ที่มา : ไทยพีบีเอส)

ปธ.สภาอุตฯ อัดหากขึ้น SMEs อาจทยอยปิดกิจการ

ส่วนท่าทีของฝ่ายผู้ประกอบการหรือนายทุนนั้น 16 ก.ค.2562 สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลมีแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 400 บาทต่อวัน ว่า ส.อ.ท.เห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน ควรยึดทักษะฝีมือแรงงานตามหลักของคุณวุฒิวิชาชีพเป็นสำคัญและควรผ่านกระบวนการของคณะกรรมการไตรภาคี เพราะหากให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่อาจทยอยปิดกิจการเหมือนที่เคยเกิดขึ้น และยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรม เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีการขาดแคลนแรงงาน

“รัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบคอบต่อกรณีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน เพราะค่าแรงเหล่านี้หากไม่ได้กำหนดตามทักษะและคุณวุฒิวิชาชีพ ก็เท่ากับจะไปอยู่ที่แรงงานต่างด้าว ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะขนเงินกลับประเทศ ไม่ได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น การขึ้นค่าแรงควรสะท้อนทักษะฝีมือ ยึดตามกลไกเศรษฐกิจและแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการพิจารณาอยู่ที่คณะกรรมการไตรภาคี” ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าว 

(ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์)

https://www.dailynews.co.th/politics/720362

https://news.thaipbs.or.th/content/281705

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท