เกิดอะไรขึ้นกับ 14 ชาวบ้าน คดีทวงคืนผืนป่าบ้านซับหวาย จ.ชัยภูมิ | สาระ+ภาพ

แม้ คสช. จะสิ้นสภาพไปแล้ว แต่ผลจากนโยบาย 'ทวงคืนผืนป่า' ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ทำให้เกิดคดีพิพาทระหว่างชาวบ้านซับหวาย จ.ชัยภูมิ และอุทยานแห่งชาติไทรทอง ส่งผลทำให้ 14 ชาวบ้านถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุกและปรับ หลังไม่ยอมย้ายออกจากที่ดิน และถูกฟ้องข้อหาบุกรุกที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ

ชุมชนหลังเลิกสัมปทานป่าไม้ในทศวรรษ 2510

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2510 ชุมชนในพื้นที่ตำบลห้วยแย้ และตำบลวังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เกิดขึ้นหลังการยกเลิกการทำสัมปทานตัดไม้ ของบริษัท ชัยภูมิทำไม้ จำกัด หลังจากนั้นเริ่มมีชาวบ้านทยอยเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น จนก่อตั้งเป็นชุมชน โดยชุมชนที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติไทรทอง มีทั้งหมด 5 ชุมชน คือ 1. บ้านหนองผักแว่น ก่อตั้งปี 2501 2. ชุมชนหินรู ก่อตั้งปี 2512 3. ชุมชนซับหวาย ก่อตั้งปี 2515 4. กลุ่มบ้านซับสะเลเต ก่อตั้งปี 2518 และ 5. กลุ่มบ้านซอกตะเคียน ก่อตั้งปี 2519

หลังจากการตั้งชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว เมื่อปี 2522 มีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายางกลัก ทับที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินชาวบ้าน แต่ยังไม่เกิดปัญหา

คดีทวงคืนผืนป่า: เมื่อศาลให้ชาวบ้านซับหวายติดคุกและออกจากที่ดินของตน, 12 ก.ค. 2562

83 เครือข่ายภาคประชาสังคมแถลง “หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า คืนความเป็นธรรมให้คนจน”, 10 ก.ค. 2562

ศาลอุทธรณ์จำคุกชาวบ้านชัยภูมิ 4 คดี 'ทวงคืนผืนป่า' รวมพิพากษาทั้งหมด 14 ราย, 3 ก.ค. 2562

226 ประชาสังคมทั่วโลก เรียกร้องไทยยุติดำเนินคดี-รับรองสิทธิที่ดินชาวบ้านซับหวาย, 1 ก.ค. 2562

ความเป็นธรรมที่บ้านซับหวาย? เมื่อกฎหมายทำให้ผู้บริสุทธิ์ติดคุกและไร้ที่ทำกิน, 22 พ.ค. 2562

ผลักดันคนออกจากป่าเสื่อมโทรมตามโครงการ คจก. แต่ต้องถอยหลังถูกค้านหนัก

จนกระทั่งในปี 2533 เมื่อรัฐบาลผลักดันโครงการจัดที่ทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) หวังเพิ่มพื้นที่ป่าสงวน โดยชุมชนบ้านซับหวายเป็นหนึ่งในหลายชุมชนทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบ

ต่อมาชาวบ้านซึ่งตั้งชุมชนก่อนการประกาศเขตป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติ ได้รับผลกระทบจากการถูกบีบบังคับให้อพยพ มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายปัญหาป่าไม้-ที่ดิน 36 ป่า และสมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสานฯ และในที่สุดรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ประกาศยกเลิกโครงการเมื่อ 3 กรกฎาคม 2535 

30 ธันวาคม 2535 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ กินพื้นที่ 199,375 ไร่ ส่งผลให้ 6 หมู่บ้าน 2 ตำบล คือ ต.ห้วยแย้ และ ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

16 กันยายน 2540 และ 30 มิถุนายน 2541 มติ ครม. กำหนดให้กรมป่าไม้ดำเนินการตามแผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่ โดยให้ทำการสำรวจพื้นที่ที่มีราษฎรครอบครองอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั่วประเทศ และขึ้นทะเบียนผู้ถือครองพื้นที่ป่าไม้เพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลประกอบการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ 

ทั้งนี้ชาวบ้านเริ่มได้รับผลกระทบมาตั้งแต่มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง โดยทางอุทยานก็ต้องการพื้นที่กลับไปเป็นของอุทยาน และปัญหาของทั้ง 2 ฝ่าย ก็อยู่ในระหว่างการเจรจาหาทางออกที่ยังไม่ยุติ

รัฐประหาร คสช. และนโยบายทวงคืนผืนป่า

จนกระทั่งปี 2557 หลังรัฐประหารโดย คสช. ต่อในวันที่ 14 มิถุนายน 2557 มีการออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 หรือ "นโยบายทวงคืนผืนป่า" วางเป้าหมายทวงคืนพื้นที่ป่าให้เพิ่มกลับมาเป็นอย่างน้อยร้อยละ 40 หรือให้มีพื้นที่ป่ารวมไม่ต่ำกว่า 128 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี

โดยในพื้นที่ชุมชนซับหวายก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว โดยในปี 2558 ทางภาครัฐได้ใช้กำลังทหารร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ และอีกหลายหน่วยงาน เข้าปฏิบัติการ ชาวบ้านถูก "ขอคืนพื้นที่" ตัดฟันสวนยางพารา และดำเนินคดี  แม้คำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 จะระบุไว้ว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อยู่อาศัยในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติไทรทองที่อยู่มาก่อน และกำลังอยู่ในขั้นตอนพิสูจน์สิทธิถูกดำเนินคดีทั้งหมด 14 คน รวมทั้งหมด 19 คดี โดยคนที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมดได้ใช้ที่ดินในการอยู่อาศัย และทำการเกษตร คือ ทำไร่มันสำปะหลัง

บีบีซีไทย อ้างคำให้สัมภาษณ์ของ วรพล ดีปราสัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง ที่ระบุว่า ชาวบ้านทั้ง 14 คนไม่ยอมออกจากพื้นที่ ทั้งๆ ที่มีการเซ็นยินยอมคืนพื้นที่แล้ว จึงมีการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้งหมด

มติคณะกรรมการระดับจังหวัดเสนอชะลอคดี แต่กรมอุทยานฯ เดินหน้าฟ้องต่อ

โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 ตำรวจได้เริ่มออกหมายเรียกคดีทวงคืนผืนป่าบ้านซับหวายคดีแรก

และในปี 2560 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดขึ้น โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง การจำแนกลักษณะความเดือดร้อน รังวัดขอบเขตที่ดินรายแปลง และมีมติเห็นชอบแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และเสนอให้ชะลอการดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านซับหวายทั้งสิ้น 14 ราย 19 คดี นับตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา

คำพิพากษาล่าสุดถึงชั้นศาลอุทธรณ์

เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2561 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาชาวบ้าน

และล่าสุดระหว่างพฤษภาคม ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ศาลจังหวัดชัยภูมิ อ่านคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ครบทั้งหมด 14 ราย โดยชาวบ้านถูกศาลสั่งจำคุก 13 ราย รอลงอาญา 1 ราย จำเลยถูกปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท จนถึง 1.5 ล้านบาท โดยสถานภาพทางคดีของจำเลยทั้งหมดจนถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 มีรายละเอียดดังนี้

1. วันที่ 15 พ.ค. 62 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก นิตยา ม่วงกลาง 4 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 40,000 บาท (คดีที่ 1)

2. วันที่ 4 มิ ย. 62 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก สีนวล พาสังข์ 5 เดือน 10 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท

3. วันที่ 5 มิ.ย. 62 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก นิตยา ม่วงกลาง (คดีที่ 2) 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท

3.วันที่ 12 มิ.ย. 62 ศาลอุทธรณ์นัดจำเลย 3 ราย ฟังคำพิพากษา ดังนี้

3.1) ศาลพิพากษาจำคุก สุนี นาริน 5 เดือน 10 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 439,027 บาท
3.2) ศาลพิพากษาจำคุกสุภาพร สีสุข 5 เดือน 10 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 380,000 บาท
3.3) ศาลพิพากษาจำคุก ปัทมา โกเม็ด 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท

4. วันที่ 18 มิ.ย.62 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก สากล ประกิจ 4 ปี ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,587,211 บาท

5. วันที่ 25 มิ.ย. 62 ศาลอุทธรณ์นัดจำเลย 3 ราย ฟังคำพิพากษา ดังนี้

5.1) ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก ทองปั่น ม่วงกลาง 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท

5.2) ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกนายวันชัย อาภรแก้ว 6 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 860,395 บาท 

5.3) ศาลอุทธรณ์พิพากษานายสมร สมจิตร จำคุก 1 ปี ให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 366,663 บาท รวมทั้งให้บำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 1 ปี

6. วันที่ 2 ก.ค. 62 ศาลอุทธรณ์นัดจำเลย 2 ราย ฟังคำพิพากษาดังนี้

6.1) สมพิตร แท่นนอก พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 10 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท

6.2) พุธ สุขบงกช พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก? 6 เดือน 20 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 370,00 บาท

7. วันที่ 3 ก.ค. 62 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษา 4 คดีดังนี้

7.1) สุวิทย์ รัตนะไชยศรี พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 7 เดือน และชดใช้ค่าเสียหาย 110,762 บาท เพิ่มจากเดิมที่ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 40,000 บาท

7.2) นริสรา ม่วงกลาง พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 9 เดือน 10 วัน และชดใช้ค่าเสียหาย 607,161 บาท เพิ่มจากเดิมที่ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 130,000 บาท

7.3) สุวลี โพธิ์งาม พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 5 เดือน 10 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 160,00 บาท

และ 7.4) สมพิตร แท่นนอก (คดีที่ 2) พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น 10 เดือน 20 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท

ทั้งนี้ องค์กรภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 226 องค์กรทั่วโลก ได้เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยกเลิกการดำเนินคดีในทุกข้อหาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและที่ดิน 14 คนจากบ้านซับหวาย จ.ชัยภูมิ ซึ่งกำลังถูกสั่งจำคุกอย่างไม่ได้สัดส่วนกับความผิด และถูกปรับสูงถึงกว่าหนึ่งล้านบาท ทั้งนี้บ้านซับหวายเป็นหนึ่งในหลายพันหมู่บ้านทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าจาก 31% เป็น 40% ด้วยการยึดที่ดินที่ถูกใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามพบว่าการดำเนินคดี 2% เกิดขึ้นกับนายทุน ขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่คือเกษตรกรรายย่อย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากนี้ เครือข่ายภาคประชาสังคม 83 องค์กร ออกแถลงการณ์หลังศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก-เรียกค่าเสียหาย 14 ชาวบ้านซับหวาย จ.ชัยภูมิ คดีทวงคืนผืนป่า โดยเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า เร่งพิจารณารับรองแผนการจัดการที่ดินกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง เยียวยาผู้ถูกดำเนินคดี และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านต่อสู้ในชั้นศาลฎีกา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท