นิธิ เอียวศรีวงศ์: ลุง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สังเกตบ้างไหมครับว่า นักการเมืองไทยชอบเป็นลุง ไม่ใช่เป็นลุงเพราะคนอื่นเรียกว่าลุงเฉยๆ ตัวเขาเองก็ประกาศความเป็นลุงด้วยการยอมรับอย่างยินดี หรือเรียกตนเองอย่างภาคภูมิใจ ผมจำได้ว่าเมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ ก็มีหนังสือพิมพ์เรียกว่าลุงเหมือนกัน โดยไม่ถูกทางฝ่ายบ้านเมืองทักท้วงอะไร

แม้ในภาษาไทยแยกคำนับญาติระหว่างฝ่ายแม่และฝ่ายพ่อไว้เกือบทุกคำ แต่คำว่าลุงนั้นไม่แยก อาจเป็นพี่ชายของแม่ก็ได้ ของพ่อก็ได้ ผมสงสัยว่า คำว่าลุงที่ใช้กับนักการเมืองนั้น หมายถึงพี่ชายแม่ เหตุผลก็เพราะประเพณีแต่งงานไทย ฝ่ายชายเป็นผู้ย้ายเข้ามาในถิ่นที่อยู่ของฝ่ายหญิง ซึ่งหมายความว่าย้ายเข้ามาในครอบครัวเครือญาติของฝ่ายหญิง ดังนั้น เด็กจึงเติบโตมาในกลุ่มเครือญาติของแม่มากกว่าของพ่อ

นักการเมืองคนไหนล่ะครับที่อยากเป็น “ลุง” ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ห่างเหินและสัมพันธ์กันในลักษณะเดียวคือระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งคือมโนภาพของลุงที่เป็นพี่ชายพ่อ

เมื่อคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา แย่งอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาได้แรกๆ ก็ไม่ถูกเรียกว่าลุง จนกระทั่งเมื่อคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เตรียมพร้อมจะลงการเมืองที่มีการเลือกตั้ง (อยู่บ้าง) หรอก ที่สื่อเริ่มเรียกว่าลุงตู่ พร้อมทั้งการเปลี่ยนบุคลิกของคุณประยุทธ์เองให้ดูเป็นลุงได้แนบเนียนขึ้น เช่น เลิกโยนเปลือกกล้วยลงหัวคนอื่น หรือเลิกขู่จะทุ่มโพเดียมลงไปในฝูงชน

ลุงหรือพี่ชายของแม่ซึ่งอาจอยู่ในเรือนเดียวกับที่เด็กเติบโตมา หรือตั้งเรือนอยู่ในกลุ่มเรือนเดียวกับแม่และตา-ยาย คือคนที่มีอาญาสิทธิ์เหนือเด็กแน่ เพราะเป็นญาติผู้ใหญ่ แต่ก็หาได้มีอาญาสิทธิ์อันเด็ดขาดอย่างที่พ่อมี จึงเป็น “ผู้ใหญ่” ที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย พอๆ กับเข้าถึงตา แตกต่างจากพ่อซึ่งห่างเหิน ทรงอาญาสิทธิ์ และเป็นผู้รักษาวินัยอย่างเคร่งครัดโดยไม่ยกเว้นหรืออะลุ้มอล่วย

มโนภาพของพ่อดังกล่าวนี้ ก็ว่าตามที่นักสังคมวิทยาฝรั่งท่านหนึ่งว่าไว้นะครับ แต่นั่นก็เก่าเกือบจะ 50 ปีมาแล้ว สังคมไทยเปลี่ยนไปมากและเร็วในระยะสัก 30 ปีที่ผ่านมา พ่อในครอบครัวไทยไม่ได้มีภาพอย่างนั้นอีกแล้ว แต่ภาพของ “ลุง” ก็ยังติดอยู่ในนวนิยายและละครทีวีสืบมา

ด้วยเหตุดังนั้น ลุงจึงมีสถานะทางอำนาจที่เหมาะกับการเมืองไทยพอดี คือมีอาญาสิทธิ์ระดับหนึ่ง (เพราะสถานะทางเครือญาติ หรือสถานะทางกฎหมาย) ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนมีหน้าที่คอยปกป้องดูแล พร้อมทั้งอุดหนุนช่วยเหลือในชีวิตประจำวันด้วย

ความใกล้ชิดกับลุงนั้น เห็นได้ดีในสมญาที่ยกลุงให้แก่นักการเมือง คุณสุเทพ เทือกสุบรรณนั้นไม่ได้เป็นลุงสุเทพ แต่เป็น “ลุงกำนัน” คุณประยุทธ์ก็ไม่ได้เป็นลุงประยุทธ์ แต่เป็น “ลุงตู่” คุณมิ่งขวัญซึ่งเพิ่งได้รับสมญานี้ไม่นานก็เป็น “ลุงมิ่ง” ไม่ใช่ลุงมิ่งขวัญ

ก็เมื่ออยากเป็นลุงแล้ว จะมาไว้ยศไว้ศักดิ์กับหลานๆ ได้อย่างไร

นอกจากลุงแล้ว ยังมีญาติข้างแม่อื่นๆ อีกมาก แต่พอเห็นเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ถูกใช้เรียกนักการเมือง เช่น น้า (ชาย) แต่น้าอาจมีอายุไม่มากกว่าหลานเท่าไรนัก ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ น้าไม่เป็นภาพของอาญาสิทธิ์ในเครือญาติ อย่างน้อยบางครั้งแม่ก็อาจเอ็ดเอาได้ แตกต่างจากลุงซึ่งดูจะมีอาญาสิทธิ์สูงกว่ามาก เพราะเป็นที่เกรงใจทั้งของแม่และของพ่อ หากจะเป็นรองก็รองแต่ตาเท่านั้น

สถานะของ “น้า” อย่างนี้แหละครับ จึงเหมาะที่ในภาษาไทยภาคกลางนิยมใช้เรียกขานคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักกัน เพราะเป็นการแสดงความเคารพพอดีๆ ไม่สูงกว่ามากนัก แต่ก็ไม่เชิงเหยียดให้ต่ำกว่า เหมือนที่คนเหนือ (สมัยก่อน) เรียกคนแปลกหน้าว่า “อ้าย” คนจีนเรียกว่า “เฮีย”

อย่างไรก็ตาม ชื่อเรียกญาติข้างแม่ฝ่ายหญิงไม่เคยถูกนักการเมืองใช้ประโยชน์เลย คนอื่นอาจเรียกนักการเมืองบางคนว่า “ป้า” แต่นักการเมืองคนนั้นกลับไม่นิยมชมชอบนักที่ถูกเรียกอย่างนั้น น่าประหลาดที่ “ป้า” มักถูกใช้กับนักการเมืองหญิงที่เจ้าระเบียบ หยุมหยิม และมักแสดงความเห็นที่ออกจะ “หัวเก่า” มโนภาพของป้าในระบบเครือญาติเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเป็นคำล้อเลียนนักการเมืองหรือคนดังผมก็ไม่แน่ใจ

เรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับความแตกต่างทางด้านความเป็นชายกับความเป็นหญิงในวัฒนธรรมไทยหรือไม่ และอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่อยากเดาเล่นๆ ว่า ผู้หญิงมีแต่อำนาจ หากไม่มีอาญาสิทธิ์ ประเพณีไทยยกย่องแม่ไว้สูงส่ง อาจจะเหนือกว่าพ่อเสียอีก แต่นั่นเพราะมโนภาพของแม่ในวัฒนธรรมไทย คือผู้ให้กำเนิดถนอมกล่อมเกลี้ยงจนเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้ด้วยความรักโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ อำนาจของแม่จึงมาจากความรักความเมตตาที่ให้แก่ลูก ไม่ใช่มาจากอาญาสิทธิ์เหมือนอำนาจของพ่อ

และด้วยเหตุดังนั้น ญาติผู้หญิงฝ่ายข้างแม่จึงไม่เหมาะเป็นอุปลักษณ์ของนักการเมือง ซึ่งมุ่งหวังจะเข้าถึงอำนาจที่ได้มาจากอาชญาสิทธิ์

อย่าง “ลุงตู่” เป็นต้น ถึงจะยิ้มหัวและจ๊ะๆ จ๋าๆ กับผู้คนเมื่อเปลี่ยนบุคลิกตนเองในการสืบทอดอำนาจภายใต้กติกาที่มีการเลือกตั้ง (อยู่บ้าง) แล้ว ก็ยังถือมาตรา 44 ไว้อย่างเหนียวแน่น

น่าสังเกตด้วยนะครับว่า แฟนานุแฟนของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สามารถเชื่อมโยงกับเธอในฐานะญาติผู้ใหญ่กับหลานๆ ได้ ทั้งๆ ที่เธอมีอำนาจด้วยอาญาสิทธิ์ของความเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มเปี่ยม กลายเป็นความรักความเอ็นดู เรียกพี่เรียกน้องไปโน่น แตกต่างอย่างลิบลับกับความรักที่แสดงแก่พี่ชายของเธอเป็นอันมาก

ความแตกต่างตรงนี้เกิดขึ้นจากบุคลิกของสองคนที่แตกต่างกัน หรือเกิดขึ้นจากความเป็นหญิงและความเป็นชายในวัฒนธรรมไทยก็ไม่ทราบ เพราะเราเพิ่งมีนายกฯ หญิงเพียงคนเดียว แม้กระนั้นผมก็รู้สึกว่าปฏิกิริยาของประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในคราวที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นแกนนำในการหาเสียง และในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีชื่อแรกในบัญชีของพรรคเพื่อไทย ก็ไม่เหมือนกับที่คุณหญิงเคยได้รับมาก่อนหน้า คือมีการให้ดอกไม้และกอดจูบจับไม้จับมือแตะเนื้อต้องตัวจากประชาชนอย่างเดียวกับคุณยิ่งลักษณ์

ในที่สุดก็กลายเป็น “คุณหญิงแม่” ไป ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีลูกสาวสวย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่าเป็นความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นใหม่ในบรรดาแฟนๆ ของเธอ และน่าสนใจนะครับที่อุปลักษณ์ของเธอคือ “แม่” ซึ่งมีแต่ความรักแต่ไม่มีอาญาสิทธิ์

ผมขอเรียกการเมืองแบบนี้ว่า “การเมืองแบบครัวเรือน” ในภาษาอังกฤษก็น่าจะเป็น household politics เพื่อแยกออกจาก family politics หรือการเมืองแบบครอบครัว ซึ่งหมายถึงการแต่งตั้งญาติพี่น้องและบริวารเป็นวุฒิสมาชิก

การเปรียบความสัมพันธ์ของพลเมืองในรัฐประชาชาติเป็นความสัมพันธ์ในครัวเรือน ดูเหมือนจะเป็นการเปรียบเทียบที่ใช้ทั่วไปในรัฐประชาชาติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐเผด็จการ เผด็จการเบ็ดเสร็จ, หรือประชาธิปไตย แต่ในรัฐประชาชาติที่งอกขึ้นมาจากพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมจากเบื้องล่าง (คือมีประชาชนจำนวนมาก – แม้ไม่ใช่ส่วนใหญ่ – เป็นแกนนำในการสร้างสำนึกความเป็นชาติ) ความสัมพันธ์ในครัวเรือนคือ “ภราดรภาพ” ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยสำนึกความเท่าเทียมกันของพลเมือง

แต่รัฐประชาชาติไทยและอีกบางรัฐในโลกนี้ สำนึกความเป็นชาติที่ถูกปลูกฝังและสืบทอดมาไม่ได้งอกขึ้นมาจากข้างล่าง กลับงอกขึ้นมาจากข้างบน คือจากชนชั้นนำกลุ่มน้อยนิดเดียว ความสัมพันธ์ในครัวเรือนที่ถูกจำลองมาใช้ในรัฐประชาชาติ ไม่ใช่ความเท่าเทียมกันของพลเมือง แต่เป็นความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้น มีบางคนเป็นญาติผู้ใหญ่ และมีหลายคนเป็นหลานหรือเป็นเด็กทารก สิทธิและอำนาจของคนจึงไม่เท่ากัน

แม้ว่า “ผู้ใหญ่” อาจมีความรักความห่วงไยให้แก่เด็กๆ ในบ้านทุกคน แต่ต่างก็ล้วนเป็น “เด็ก” ที่ไม่ควรมีสิทธิ์และอำนาจเท่ากับ “ผู้ใหญ่” เพราะเด็กจะใช้สิทธิและอำนาจไปในทางเป็นอันตรายต่อตนเอง

น่าประหลาดนะครับที่นักประวัติศาสตร์ไทยในสมัยหนึ่ง อธิบายระบอบปกครองของราชอาณาจักรสุโขทัยว่าเป็นระบบ “พ่อปกครองลูก” แล้ววงเล็บภาษาอังกฤษว่า paternalistic democracy ศัพท์นี้เป็น oxymoron ในภาษาอังกฤษ คือเป็นศัพท์ที่ประกอบขึ้นจากสองคำที่ความหมายมันแย้งกันเอง

แต่คิดอีกทีอาจไม่ประหลาดก็ได้ เพราะความสัมพันธ์ในครัวเรือนที่เราจำลองมาใช้แทนความสัมพันธ์ในรัฐประชาชาติ หมายถึงความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้น ตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำ นับเป็นความเปรียบที่เหมาะเหม็งทีเดียว เพราะ “ช่วงชั้น” ในครัวเรือนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะสร้างหรือรื้อถอนได้ เพราะเป็นสิ่งที่มาจากกำเนิดทั้งสิ้น พ่อ, แม่, ลุง, พี่, ป้า, น้า, อา, ลูก, หลาน ฯลฯ ล้วนมาจากกำเนิดทั้งสิ้น ไม่มีใครตั้งใจจะเกิดเป็นอย่างนั้นแต่อย่างใด

กำเนิดก็มีส่วนกำหนดสถานะของพลเมืองในรัฐประชาชาติไทยอยู่ไม่น้อย ดิ้นอย่างไรก็ดิ้นไม่หลุดได้ง่ายๆ เสียด้วย

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_211222

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท