Skip to main content
sharethis

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันรัฐบาลรับประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระเร่งด่วนจะดำเนินการภายใน 1 ปี แต่ตอนนี้ยังต้องรอคุยรายละเอียดเพิ่ม เปรยตัดเงื่อนไขในการแก้รัฐธรรมนูญออก ให้เหลือใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเท่านั้นคล้าย รธน. 40-50

แฟ้มภาพ

17 ก.ค. 2562 สำนักข่าวไทย รายงานว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงร่างนโยบายรัฐบาล ว่า วานนี้ (16 ก.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างนโยบายที่จะแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ นโยบายที่ต้องดำเนินการในช่วง 4 ปีของรัฐบาล และนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการภายใน 1 ปี ซึ่งหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ คือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นนโยบายของทางพรรคที่ได้มีการพูดคุยตั้งแต่ในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงนโยบายประกันรายได้เกษตรกร และการบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้ได้ถูกบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาล 

สำหรับรายละเอียดการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จุรินทร์ กล่าวว่า จะต้องมีจะพูดคุยกันอีกครั้ง ซึ่งยืนยันว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ถือเป็นการแสดงเจตนารมย์ที่ชัดเจน ส่วนใครจะเป็นผู้เริ่มต้นนั้นต้องดูในรายละเอียด อาจจะเริ่มต้นจากพรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้เสนอขอแก้ไขก็ได้ ส่วนจำเป็นต้องมีการทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญว่าจะแก้ไขในประเด็นใด โดยมีการระบุไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญแล้วว่าประเด็นไหนต้องทำประชามติ และประเด็นไหนไม่ต้องทำประชามติ แต่เห็นว่า ประเด็นที่ควรจะแก้ไข ควรเริ่มจาก หมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะตรงนี้ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะนำไปสู่การเริ่มต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเริ่มต้นตรงจุดนี้ได้ จะเป็นส่วนช่วยทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นในอนาคตก็สามารถทำได้

“หากไม่แก้ตรงนี้ การแก้รัฐธรรมนูญในอนาคต นอกจากต้องอาศัยเสียงข้างมากของรัฐสภาแล้ว ในเสียงข้างมากต้องประกอบด้วยเสียงของฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 และต้องประกอบด้วยเสียงของวุฒิสมาชิก ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และในบางประเด็นต้องนำไปสู่การทำประชามติด้วย ก็เหมือนกับจะเรียกว่า สะเดาะกุญแจที่ปิดประตูตาย เพื่อให้เข้าเงื่อนไขปกติที่รัฐธรรมนูญหลายฉบับในอดีตกำหนดไว้  โดยใช้แค่เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภาก็สามารถแก้ไขได้ เป็นการเริ่มสะเดาะกุญแจให้ประตูประชาธิปไตยเปิดออกได้ ต่อไปใครจะแก้ว่าอย่างไรก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น” จุรินทร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ในหมวด 15 มาตรา 256 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ได้ระบุขั้นตอนสำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้

1.ผู้ที่จะยื่นญัติขอแก้ไขเพิ่มเติมได้นั้น ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี , ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร, ส.ส. และ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกที่อยู่ของทั้งสองสภา และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน เข้าชื่อเสนอ

2.ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภา พิจารณาเป็น 3 วาระ

3.การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (ต้องมีส.ว.อย่างน้อย 84 คนเห็นชอบในวาระแรก)

4.การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภา พิจารณาในวาระที่สามต่อไป

5.การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา แต่ในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิก มิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา  เมื่อมีการลงมติผ่านแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน แล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย

(จำเป็นมีจำนวนเสียงเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจาก พรรคการเมืองที่ไม่มีที่นั่งในรัฐบาล และไม่ได้เป็นประธาน/รองประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองรวมกัน และมีเสียวเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 คน จาก 250 หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่)

อย่างไรก็ตามมาตรา 256 (8) ได้กำหนดเงื่อนไขในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ด้วยว่า หากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 1บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะ ต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้

เมื่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นผ่านวาระ 3 เรียบร้อยแล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้า จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียง ประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าได้

ทั้งนี้ ก่อนนายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย สมาชิก สภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกัน เสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 225 คือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่ หรือมีลักษณะที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 1บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะ ต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าว ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่ วันที่ได้รับเรื่อง และระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนําร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ได้กำหนดขั้นตอนในการแก้ไขไว้ดังนี้

1.ผู้ที่จะยื่นญัติขอแก้ไขเพิ่มเติมได้นั้น ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี , ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร, ส.ส. และ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกที่อยู่ของทั้งสองสภา และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน เข้าชื่อเสนอ (หลักการนี้ถูกนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญ 2560)

2. ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภา พิจารณาเป็น 3 วาระ (หลักการนี้ถูกนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญ 2560)

3.การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (ในรัฐธรรมนูญ 2560 เพิ่มเงื่อนไขว่า จะต้องมีเสียง ส.ว. สนับสนุนไม่น้อยว่า 1 ใน 3)

4.การพิจารณาในวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เมื่อการพิจารณาวาระที่ 2 เสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 3 ต่อไป (หลักการนี้ถูกนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญ 2560)

5.การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (รัฐธรรมนูญ 2560 เพิ่มเงื่อนไขให้จำเป็นต้องใช้จำนวนเสียงเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจาก พรรคการเมืองที่ไม่มีที่นั่งในรัฐบาล และไม่ได้เป็นประธาน/รองประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองรวมกัน และมีเสียวเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 คน จาก 250 หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่)

6.เมื่อการพิจารณาทั้ง 3 วาระผ่านความเห็นชอบแล้วให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายได้ โดยไม่จำเป็นต้องดูเงือนไขว่าเป็นการแก้ไขในหมวดใด ไม่ต้องจัดให้มีการลงประชามติ และไม่จำเป็นที่จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นได้กำหนดขั้นตอนวิธีการแก้ไขเพิ่มเติ่มรัฐธรรมนูญไว้เช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ตามรัฐธรรมนูญ 2540 สมาชิกวุฒิสภานั้นมีที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 สมาชิกวุฒิสภานั้นมีที่มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง และมาจากการแต่งตั้งอีกครึ่งหนึ่ง และสุดท้ายรัฐธรรมนูญ 2560 ตามบทเฉพาะกาลสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด 250 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net