Skip to main content
sharethis

แม่น้ำโขงแล้ง-ผันผวนหนัก เหตุเขื่อนไซยะบุรีทดลองผลิตไฟฟ้า กฟผ. ยัน ไร้ผลกระทบข้ามพรมแดน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงชี้สูญเสียประมง -เดือดร้อนทั้งภูมิภาค

18 ก.ค. 2562 เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ รายงานสถานการณ์ปัญหาความผันผวนของระดับแม่น้ำโขง ที่กำลังเกิดขึ้นที่ภาคเหนือและอีสานของไทย นอกจากภาวะความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นทั้งภูมิภาคโดยรวม และการลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิงหงในยูนนานระหว่างวันที่ 5-17 ก.ค.ที่ผ่านมา อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคอีสานของไทย โดยเฉพาะ จ.เลย จ.หนองคาย คือ การเปิดใช้งานเขื่อนไซยะบุรี ในแขวงไซยะบุรี ภาคเหนือของลาว โดยระบุว่า เมื่อวานนี้ (17 ก.ค. 2562) ได้มีประกาศจากทางการลาว เรื่องการทดลองเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหัวที่ 5 ของเขื่อนไซยะบุรี เป็นเวลา 72 ชั่วโมง เริ่มในเวลาเที่ยงวันของเมื่อวานนี้ 

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง โดยทนายความ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้ส่งจดหมายสอบถามการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานรัฐไทยที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน จากการระบายน้ำและการกักเก็บน้ำเขื่อนไซยะบุรี 

รายงานระบุว่า กฟผ. ได้ตอบจดหมายของเครือข่ายฯ ลงวันที่ 16 เม.ย.2562 ส่วนหนึ่งของจดหมายมีเนื้อหาว่า กฟผ.ได้มีหนังสือชี้แจงว่า ข้อมูลการกักเก็บน้ำและการปล่อยน้ำของโครงการฯ ไม่มีระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และมิได้เป็นข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของ กฟผ. ดังนั้น กฟผ.จึงไม่มีข้อมูลดังกล่าว ส่วนข้อมูลการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนนั้น เนื่องจากเงื่อนไขในสัญญาระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สัญญา ซึ่งเมื่อได้รับความยินยอมแล้ว กฟผ.จะดำเนินการเปิดเผยให้ทราบ ต่อมากฟผ.ได้มีหนังสือไปยังโครงการเพื่อขอให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว และโครงการมีหนังสือแสดงความยินยอม กฟผ.จึงนำส่งข้อมูลและรูปประกอบ 

ในข้อมูลประกอบดังกล่าว เป็นจดหมายจากบริษัททีมคอลซัลติ้ง เอ็นจิเนียริ่ง ถึงผู้จัดการบริษัทไซยะบรีพาวเวอร์ ลงวันที่ 28 มิถุนายน ปี 2554 โดยเป็นจดหมายภาษาอังกฤษ มีเนื้อหาแปลได้ว่า สำหรับผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี บริษัทมีความมั่นใจว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จะอยู่ในบริเวณรอบๆเขื่อนเท่านั้น และเป็นเพียงเล็กน้อย ดังนั้นจึงจะไม่เกิดผลกระทบข้ามพรมแดน (We are confidented that the potential environmental impact would be limited to the minimum level locally aroundthe Xayaburi site and therefore would not caused any transboundary impact)

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง มีความเห็นว่า กฟผ. มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เป็นไปเพื่อขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ซึ่งแต่เดิมจะเริ่มวันซื้อขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางตามสัญญา 29 ปี ในเดือนตุลาคม 2562 นี้ 

ทั้งนี้การผลิตไฟฟ้าในระยะทดลองนี้ ดำเนินไปโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน และไม่มีมาตรการเยียวยาผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง 

ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ จ.เชียงราย ลงมาจนถึง จ.เลย และจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน ตามประกาศทางเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ว่าเขื่อนจิงหงลดปริมาณการระบายน้ำลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากการซ่อมแซมระบบสายส่งระหว่างวันที่ 5-17 กรกฎาคม 2562 และต่อมามีประกาศอย่างเป็นทางการของสปป.ลาว มีหนังสือแจ้งเตือนว่า ในวันที่ 17 ก.ค. 62 เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป ทางโครงการเขื่อนไฟฟ้าน้ำไซยะบุรี  จะทดสอบเครื่องจักรปั่นไฟฟ้าหน่วยที่ 5 ใช้เวลาต่อเนื่อง 72 ชั่วโมง (3 วัน) ซึ่งการทดสอบในครั้งนี้จะต้องปล่อยน้ำจากทางเหนือเขื่อนมากกว่าปกติ ตามระดับการไหลของแม่น้ำโขง โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนของโครงการลดระดับจาก 273.3 เมตร เป็น 271 เมตร น้ำจะลดลงประมาณ 0.75 เมตร ต่อวัน และระดับน้ำท้ายเขื่อน จะเพิ่มขึ้นระดับสูงสุดประมาณ 237.5 เมตร ซึ่งอาจจะทำให้ระดับน้ำไม่ปกติเหนือเขื่อน ท้ายเขื่อน และเมื่อสิ้นสุดการทดสอบ ทางโครงการจะปล่อยน้ำให้ไหลเป็นปกติ

อนึ่ง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้จัดทำการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาและการบริหารจัดการแม่น้ำโขงที่ยั่งยืน รวมทั้งผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน’ (หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘การศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง’)  ซึ่งผลการศึกษาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้า 11 โครงการบนแม่น้ำโขงตอนล่าง และเขื่อนอีก 120 แห่งในแม่น้ำสาขาภายในปี 2583 เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของประชาชนในท้องถิ่น

ข้อค้นพบสำคัญจากการศึกษาของคณะมนตรีฯ สรุปได้ดังนี้

  • แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ จะทำให้ปริมาณของตะกอนที่ไหลไปถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลดลงถึง 97% ตะกอนเหล่านี้ช่วยเพิ่มสารอาหารและช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศโดยรวม และเป็นปัจจัยสนับสนุนการเกษตร การประมง และคุณภาพน้ำ ซึ่งย่อมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศในลุ่มน้ำด้วย
  • แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจะทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างมาก โดยจะทำให้ชีวมวลด้านประมงลดลง 35–40% ภายในปี 2563 และ 40–80% ภายในปี 2583 ทำให้ประเทศต่าง ๆ สูญเสียปริมาณสัตว์น้ำเป็นสัดส่วนดังนี้ ไทย 55%; ลาว 50%; กัมพูชา 35%; และเวียดนาม 30%
  • แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจนถึงปี 2583 จะทำให้พันธุ์ปลาอพยพในพื้นที่ส่วนใหญ่ของแม่น้ำโขงสูญพันธุ์ไป พันธุ์ปลาอพยพในแม่น้ำโขงไม่สามารถดำรงชีวิตในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่าง ๆ ซึ่งมีแผนก่อสร้างระหว่างปี 2563 ถึง 2583 ได้
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ รวมทั้งการสูญเสียด้านประมง จะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรงในชุมชนต่าง ๆ ของลาวและกัมพูชา
  • การลงทุนที่มากเกินไปในภาคเกษตรและเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศที่รุนแรงยิ่งขึ้นจะส่งผลกระทบโดยรวม ปิดกั้นโอกาสที่ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างจะสามารถบรรลุหรือรักษาระดับการเป็นประเทศรายได้ระดับต่ำหรือปานกลางได้
  • กำไรส่วนใหญ่จากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจะตกเป็นของบริษัทและธนาคารต่างชาติ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลจากโครงการเขื่อนแม่น้ำโขง จะตกเป็นของประเทศผู้ลงทุน จากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ในขณะที่ต้นทุนจากโครงการเหล่านี้จะต้องถูกแบกรับโดยชุมชนชาวประมงและเกษตรกรที่อาศัยอยู่ตามระเบียงแม่น้ำโขงเป็นส่วนใหญ่


ทั้งนี้การศึกษาของคณะมนตรีฯ เกิดจากความเห็นชอบของ ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างในปี 2554 ภายหลังการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ในครั้งนั้น เวียดนามเรียกร้องให้ระงับการก่อสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง 10 ปี เพื่อให้มีการศึกษาเพิ่มเติมและทำความเข้าใจผลกระทบระดับลุ่มน้ำให้ดีขึ้น ซึ่งทางกัมพูชาก็สนับสนุนต่อข้อเสนอนี้ ในเวลาต่อมา เนื่องจากไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรีในระหว่างการปรึกษาหารือล่วงหน้า ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง จึงเสนอให้ทำการศึกษาของคณะมนตรีฯ เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบในภาพรวม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net