Skip to main content
sharethis

กระแสความฮิตแอปพลิเคชันตกแต่งหน้า 'FaceApp (เฟสแอป)' กลับมาร้อนแรงอีกครั้งพร้อมๆ กับความกังวลเรื่องการถูกล้วงข้อมูลส่วนตัว ความกลัวดังกล่าวถูกกระพือด้วยกระแสว่าแอปฯ มาจากรัสเซีย แม้ทางผู้พัฒนาแอปฯ จะออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ทำก็ตาม แต่ความปริวิตกไม่ควรจำกัดอยู่แค่นี้ เพราะในโลกที่ข้อมูลคือสินค้า ไม่มีใครเป็นปีศาจแท้และนักบุญถาวรอีกต่อไปไม่ว่าในประเทศไหน

18 ก.ค. 2562 มีกระแสจากภาครัฐทั้งไทยและต่างประเทศเรื่องเฟซแอป (FaceApp) แอปพลิเคชันยอดนิยมที่เปิดใช้งานเมื่อปี 2560 ที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตกแต่งภาพใบหน้าให้กลายเป็นคนแก่ คนหนุ่ม มีหนวด ฯลฯ หลังมีความกังวลว่าบริษัทพัฒนาแอปฯ ที่มีที่ตั้งอยู่ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซียจะล้วงเอาข้อมูลใบหน้าและข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ไปใช้ในทางไม่ชอบ

ความเข้มข้นของความกังวลนั้นปรากฎในสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในปีหน้า (2563) เมื่อคณะกรรมการแห่งชาติพรรคเดโมแครต (DNC) บ็อบ ลอร์ด หัวหน้าด้านความมั่นคงของ DNC ออกมาเตือนชาวโซเชียลอเมริกันโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในแวดวงที่เกี่ยวพันกับพรรคเดโมแครตไม่ให้ใช้แอปดังกล่าวเนื่องจากเป็นแอปฯ ที่มาจากรัสเซีย ประเทศที่ถูกครหาว่าแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊คจนตัวแทนพรรคเดโมแครต ฮิลลารี คลินตัน พ่ายแพ้แก่โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา 

ไทม์ไลน์เฟซบุ๊กปล่อยข้อมูลรั่ว 50 ล้านคน จากแอพฯ ทายบุคลิกสู่ผลเลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ

เดอะการ์เดียนสรุป 5 เรื่องที่ได้รู้จากการไต่สวน 'มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก' ในสภาคองเกรส

รอยเตอร์เองก็รายงานว่าผู้นำกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสียงข้างน้อยสหรัฐฯ อย่างชัค ชูเมอร์ ยื่นจดหมายถึงคริสโตเฟอร์ เวรย์ ผู้อำนวยการ (ผอ.) สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) และโจ ซิมอนส์ ประธานคณะกรรมาธิการการค้าแห่งชาติ (เอฟซีที) ว่าแอปฯ ดังกล่าวต้องการ "เข้าถึงรูปภาพและข้อมูลส่วนตัวที่ไม่สามารถย้อนกลับได้" ซึ่งเสียงต่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของชาวอเมริกันหลายล้านคน

กลับมาที่ไทย นอกจากกระแสในโซเชียลมีเดียที่พูดถึงความอันตรายของเฟสแอปและชักชวนกันให้เลิกเล่นแล้ว ทางศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ก็ออกจดหมายข่าวว่าเฟสแอปฯ ทำการประมวลผลรูปภาพในเซิฟเวอร์ภายนอก ไม่ได้ทำในเครื่องมือถือของแต่ละคน ซึ่งระบุในเงื่อนไขการใช้งานอยู่แล้ว ถ้าผู้ใช้ต้องการจะขอลบรูปภาพ จะต้องเข้าไปที่หน้า Settings เลือก Support เลือก Report a bug และใส่คำว่า privacy ในช่องหัวข้อการรายงาน นอกจากนี้ ทางผู้พัฒนายังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าไม่ได้นำข้อมูลที่เก็บไว้ไปขายหรือส่งต่อให้บริษัทอื่น

ทั้งนี้ ในนโยบายความเป็นส่วนตัวระบุว่า แต่หากข้อมูลจะถูกโอนเปลี่ยนมือเมื่อถูกซื้อบริษัทหรือถูกควบรวมกิจการก็จะต้องเคารพนโยบายความเป็นส่วนตัวที่จะต้องเคารพเรื่องการจัดการข้อมูลผ่านความยินยอมของเจ้าของข้อมูลเท่านั้น

ไม่มีปีศาจแท้และนักบุญถาวร

ด้านโจชัว นอซซี ผู้พัฒนาแอปฯ ออกมาแถลงเรื่องนโยบายความเป็นส่วนตัวและการทำงานของแอปฯ ว่าทางแอปฯ อัปโหลดภาพที่ผู้ใช้งานเลือกใช้ไปเก็บและตกแต่งบนฐานข้อมูลคลาวด์ และลบภาพส่วนใญ่จากเซิฟเวอร์ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากอัพโหลด นอกจากนั้น ผู้ใช้งานร้อยละ 99 ไม่ได้ล็อกอินเข้าสู่ระบบแอปฯ ทางแอปฯ จึงเข้าสู่ข้อมูลที่บ่งบอกถึงตัวบุคคลผู้ใช้ไม่ได้

กระแสความตื่นตัวเรื่องความเป็นส่วนตัวนั้นเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเอาชีวิตและกายหยาบไปผูกพันกับระบบฐานข้อมูลออนไลน์ที่กักเก็บ ส่งต่อ จัดการข้อมูลผ่านพรมแดนประเทศในแบบที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่การตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวควรถูกใช้อย่างเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติต่อเฟสแอปอย่างเดียว

อาร์วา มาห์ดาวี คอลัมนิสต์จากสื่อเดอะการ์เดียน ประเทศอังกฤษ เขียนบทความในเรื่องนี้ว่าผู้ใช้งานควรกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวกับทุกๆ เรื่อง ไม่เพียงแค่กับรัสเซียที่มักถูกกล่าวถึงในทำนองว่าเป็นผู้คิดแผนชั่วร้าย เธอได้คุยกับนักวิจัยด้านความมั่นคงชาวฝรั่งเศสที่ใช้นามสมมติว่าเอลลิออต แอลเดอร์สันลองตรวจสอบแอปฯ และพบว่าไม่มีการเข้าถึงภาพอื่นๆ ในคลังภาพผู้ใช้งานจริงๆ สิ่งที่เฟสแอปเก็บคือไอดีและรุ่นของตัวเครื่องเท่านั้น ไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ตัวตนอะไร เขาตั้งสมมติฐานว่าที่กระแสเรื่องความเป็นส่วนตัวกลายเป็นเรื่องใหญ่มาจากความกลัวรัสเซียมากกว่า

มาห์ดาวียังเขียนว่า เอาจริงๆ แล้วภาพใบหน้าผู้ใช้งานในแอปฯ อื่นๆ ก็ถูกนำไปใช้ทำหลายๆ อย่างในฐานข้อมูลของแอปฯ ไม่ว่าจะเป็นการเอาไปให้ AI ฝึกฝนการจดจำใบหน้า มีนักวิจัยกูเกิลให้ข้อมูลว่ากูเกิลใช้ภาพใบหน้าผู้ใช้งานไปฝึก AI ถึง 8 ล้านภาพ นักวิจัยของเฟสบุ๊คเองก็บอกว่าทางเฟสบุ๊คใช้ภาพใบหน้าถึง 10 ล้านภาพ

เปรียบเทียบเงื่อนไขการใช้งานของแอปพลิเคชันอินสตาแกรม ทวิตเตอร์และเฟสแอปที่ต่างมีการเข้าถึงพื้นที่ในมือถือ ไมโครโฟน รูปภาพ ทั้งนี้ แต่ละแอปฯ มีนโยบายความเป็นส่วนตัวเป็นการเฉพาะกำกับอีกทีหนึ่ง

ในเดือน พ.ค. นักวิจัยกูเกิลออกมาให้ข้อมูลว่าพวกเขาใช้วิดีโอยูทูป 'Mannequin Challenge' ทึ่ผู้คนเล่นเป็นหุ่นลองเสื้อโดยการอยู่นิ่งๆ เอาไปใช้ให้ AI หัดคาดเดาความลึกของสิ่งที่เคลื่อนไหวในวิดีโอนั้น และยังเอาชุดข้อมูลชุดนั้นไปใช้กับงานวิจัยในอนาคต ซึ่งหมายความว่าตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าข้อมูลนั้นจะถูกเอาไปใช้ในวิจัยเรื่องอะไรต่อ วิดีโอที่คนทำเล่นกันสนุกๆ อาจถูกนำไปใช้ฝึกรถยนตร์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรืออาจเอาไปใช้หัดหุ่นโดรนสังหารก็ได้

เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาก็มีข่าวว่ามหาวิทยาลัยโคโลราโด วิทยาเขตโคโลราโดสปริง ทำวิจัยในปี 2555-2556 โดยแอบถ่ายภาพใบหน้านักศึกษาจำนวนมากกว่า 1,700 คนเพื่อไปใช้ศึกษาระบบอัลกอริธึมจดจำใบหน้า (Facial Recognition algorithm) โดยมีหน่วยข่าวกรองและหน่วยงานทหารของสหรัฐฯ ให้งบประมาณเรื่องการทำชุดข้อมูลดังกล่าว

"ข้อคิดของเรื่องนี้คือคุณไม่ควรกังวลกับแอปฯ รัสเซียมากเกินไป คุณควรจะกังวลกับทุกอย่าง พวกเราแค่เริ่มต้นที่จะเข้าใจว่าเราอยู่ในนรกของการสอดส่องกันถึงขั้นไหน พวกเราแค่เริ่มต้นที่จะตระหนักว่าใบหน้าเราไม่ได้เป็นของเราอีกต่อไป พวกมันถูกทำให้เป็นของเอกชน" มาห์ดาวีทิ้งท้ายในบทความ

แปลและเรียบเรียงจาก

สว.มะกันจี้เอฟบีไอสอบ FaceApp ทำหน้าแก่ เหตุ บ.รัสเซียอยู่เบื้องหลังหวั่นล้วงข้อมูล, มติชนแปลจากรอยเตอร์, 18 ก.ค. 2562

ระวัง แอปแต่งรูป FaceApp อัปโหลดไฟล์ขึ้นไปประมวลผลบนเซิร์ฟเวอร์ของผู้พัฒนา อยากลบต้องแจ้งเอง, Thai CERT, 18 ก.ค. 2562

DNC warns 2020 campaigns not to use FaceApp 'developed by Russians', CNN, Jul. 17, 2019

[Update: Company responds] Viral FaceApp raises concern about how personal photos are being used, 9to5Mac, Jul. 17, 2019

UCCS secretly photographed students to advance facial recognition technology, csindy, May 22, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net