Skip to main content
sharethis

คุณคิดว่ากระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวสามารถขโมยอะไรไปจากคุณได้บ้าง? คำตอบคือชีวิตของคุณทั้งชีวิต

 

 

คุณคิดว่ากระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวสามารถขโมยอะไรไปจากคุณได้บ้าง?

คำตอบคือชีวิตของคุณทั้งชีวิต

คดียาเสพติดเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ เราเห็นตำรวจจัดแถลงข่าวทุกครั้งเมื่อมีการจับกุมยาเสพติดล็อตใหญ่ได้ ผู้คนเชื่ออย่างฝังหัวว่าคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดคือคนชั่ว กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายเองก็พร้อมจะลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยไม่แยกแยะ

อดีตนักโทษประหารและนักโทษตลอดชีวิตอย่าง ‘เอก’ (นามสมมติ) เข้าใจมันอย่างดี อย่างถึงเนื้อถึงตัว อย่างเจ็บปวด และเกือบสิ้นหวัง

ในช่วงปี 2544 วันที่ประเทศไทยยังไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้ายังสร้างไม่เสร็จ โทรศัพท์มือถือยังไม่ฉลาดเท่าปัจจุบัน และสงครามยาเสพติดกำลังเริ่มต้น ชีวิตคนขับรถลีมูซีนรับ-ส่งผู้โดยสารที่สนามบินดอนเมืองวัย 25 ของเอกพลิกผันยิ่งกว่านิยาย

“ลักษณะการทำงานคือพอลูกค้าลงจากเครื่องก็ต้องมาซื้อตั๋ว แจ้งจุดหมายปลายทางที่เคาน์เตอร์ แล้วก็ออกไปตามคิวของรถ จังหวะนั้นเป็นคิวของผมพอดีที่รับลูกค้ารายนี้ เขาเช่าเหมาวัน ซึ่งเขาต้องแจ้งที่เคาน์เตอร์ว่าจะไปที่ไหนบ้างเพื่อให้ทางบริษัทคิดราคา เส้นทางทั้งหมดทางบริษัทจะรับรู้ ผมก็ขับไปตามเส้นทาง”

ประมาณบ่าย 3 โมง ลูกค้ารายนี้ขอให้เอกไปรับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง เมื่อขับรถใกล้ถึงที่หมาย เขาโทรหาเพื่อนของลูกค้ารายนี้ เสียงตามสายบอกให้เขาขับไปยังจุดจุดหนึ่ง จุดที่มีตำรวจรออยู่ พร้อมปืนจ่อ จับเขากดกับกระโปรงรถ และใส่กุญแจมือ เขามารู้ทีหลังว่าลูกค้ารายนี้เป็นพ่อค้ายาเสพติด ส่วนเพื่อนที่ให้มารับก็คือคนที่อยู่ในขบวนการซึ่งเพิ่งถูกตำรวจล่อซื้อและจับกุม โชคร้ายที่เขาโทรเข้าไปพอดี

เอกเปลี่ยนจากคนขับรถลีมูซีนเป็นผู้ค้ายาทันที

 

คนขับรถที่กลายเป็นนักโทษประหาร

“ผมก็ถามว่าเล่นอะไร เขาบอกว่ามึงมารับเงินใช้มั้ย เงินอะไร ตำรวจก็ให้ผมโทรหาลูกค้ารายนี้ แต่เขาสะกดรอยตามเรา พอเห็นเราโดนจับ เขาก็หนีทันที ผมก็พยายามโทร เขาก็ปิดโทรศัพท์ทันที มันก็จะมีเบอร์ที่เชื่อมโยงผมกับกลุ่มที่ถูกจับ กับลูกค้าที่เป็นผู้ค้ายา ตรงนี้จบเลย

“ตำรวจดูแค่นี้เองครับ ทางบริษัทก็มาชี้แจงว่าลักษณะงานของเราเป็นแบบนี้ ไม่ฟังเลย ยกมาทั้งบริษัทเลย มาเป็นพยาน แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีนโยบายปราบปรามยาเสพติด ไม่มียาเสพติดคดีไหนที่จะหลุดได้ เพราะถูกฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ถ้าศาลยกยาเสพติดคดีไหน ต้องทำหนังสือชี้แจงเข้าไปที่ฝ่ายบริหาร ช่วงปี 2544-2545 คนก็จะไหลเข้าคุก เป็นคดียาเสพติดล้วน ช่วงนั้นถ้าเป็นหลักห้าพันเม็ด หมื่นเม็ด ก็จะถูกลงโทษประมาณนี้หมด ตลอดชีวิต ประหารชีวิต คนไหลเข้าห้องขังนักโทษประหารทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 20-30 คน”

นั่นเป็นวันสุดท้ายที่เอกมีอิสรภาพ

เขาถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำบำบัดพิเศษกลาง คุกที่รองรับนักโทษคดียาเสพติดทุกคนในประเทศ เขาไม่เคยได้รับการประกันตัวเลยตลอดการต่อสู้ทั้ง 3 ศาลระยะเวลารวม 7 ปี

“ตอนนั้นรู้เลยว่าคดียาเสพติด ถ้าของกลางจำนวนขนาดนี้ ไม่ต้องยื่นประกัน ไม่มีทางได้รับประกันตัวแน่นอน คดียาเสพติดทั้งหมดก็ยื่นประกัน แต่ก็ไม่มีใครได้”

ประสบการณ์จากในคุกสอนให้เอกรู้ว่า กระบวนการยุติธรรมไม่ควรจำแนกคนจากจำนวนของกลาง

“เพราะถ้าจำแนกคนด้วยของกลาง จำนวนเท่านี้คือรายใหญ่ แล้วคนที่รับจ้างขนมาล้านเม็ด ได้เงินแค่ 3 หมื่นบาท ซึ่งผมเจอข้างในเยอะ ก็กลายเป็นคดีใหญ่ บางคนต้องการแค่เอาเงิน 3 หมื่นบาทไปซื้อมอเตอร์ไซค์ส่งลูกไปโรงเรียนเท่านั้นเอง ขนยามาแสนหนึ่ง ก็กลายเป็นพ่อค้ารายใหญ่ไปโดยปริยายเพราะถูกจำแนกด้วยจำนวนของกลาง คนบงการจริงๆ ไม่ได้อยู่ตรงนี้ ไม่มีใครลงมาทำ คนที่จับได้จริงๆ คือกลุ่มคนที่รับจ้าง เยอะมาก ผมว่าไม่ใช่เกณฑ์การจำแนกที่ถูกต้อง

“ผมอยู่ที่เรือนจำบำบัดพิเศษกลางประมาณ 1 ปี ฝากขังๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะสั่งฟ้อง ซึ่งเราประกันตัวไม่ได้ก็จะอยู่จนถึงจุดนั้น เป็นสภาพที่ค่อนข้างเลวร้าย เพราะมันแออัดมาก เป็นเรือนจำที่รับคดียาเสพติดตั้งแต่เสพเล็กน้อยเม็ดสองเม็ดไปจนถึงหลักแสนหลักล้าน แล้วคดีใหญ่ๆ จากต่างจังหวัดก็จะถูกส่งมาที่นี่ทั้งหมด ห้องที่อยู่มันจุได้ประมาณ 30 คน แต่ตอนนั้นนอนกันอยู่ประมาณ 70 กว่าคน คือนอนหงายไม่ได้ ต้องตะแคง แล้วสับหว่างขา ผ้าห่มก็ปูผืนเดียวแล้วนอนด้วยกันเลย 8 คน ถ้าเราลุกขึ้นมายืน เราจะไม่เห็นพื้นห้องเลย”

3 ปีกับการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นจบลงด้วยโทษประหารชีวิต

 

“ความหวังของพวกเขาต้องถูกทำลายด้วยคำพิพากษา”

เราถามว่าเพื่อนทั้งบริษัทให้การเป็นพยานก็หักล้างข้อกล่าวหาไม่ได้เหรอ?

เอกหัวเราะก่อนตอบว่า คดียาเสพติดเป็นคดีที่เราสู้กับรัฐ อัยการก็รับลูกไป มีวิธีการเขียนสำนวนที่ค่อนข้างแน่นหนา พันกันจนแทบจะไม่มีช่องต่อสู้

“ทนายก็รู้ว่าเราไม่ได้ทำ โดยเฉพาะมีบริษัทมาเป็นพยานให้ เขาก็เห็นว่ามีช่องทางในการต่อสู้ แต่ทนายบอกว่าต้องทำใจเรื่องการประกันตัว เราจะประกันไม่ได้แน่ๆ เพราะไม่มีคดียาเสพติดรายไหนที่ได้รับประกันตัวในช่วงนั้น เราก็ทำใจ ถ้าต้องต่อสู้คดีในคุกก็สู้ แต่ก็เป็นคดีที่เรามีความหวังเต็มเปี่ยมว่าเราต้องหลุดแน่ เรามีพยาน หลักฐานทุกอย่าง เราต่อสู้ได้แน่นอน คนทั้งแดน เพื่อนๆ ที่อยู่ในคุกก็รู้ว่าเราไม่ได้ทำผิด คือคนอยู่ในคุกจะเห็นไส้กัน ใครทำไม่ทำจะรู้กัน เขาก็พูดให้กำลังใจว่าถ้าอย่างเราไม่หลุด คดีอื่นก็ไม่ต้องสู้แล้ว”

“พอถึงวันนัดคำพิพากษา ผมถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต ญาติก็ร้องห่มร้องไห้กัน สงสารแม่ สงสารญาติพี่น้องเราที่มารอรับเรากลับบ้าน ตัวผมผูกความรู้สึกเราไว้กับญาติพี่น้อง ตอนนั้นรู้สึกสงสารพ่อ แม่ ญาติพี่น้องมากกว่า ความหวังของพวกเขาต้องถูกทำลายด้วยคำพิพากษา ระหว่างนั้นเราอยู่ในคุกมาสองสามปีแล้ว เราคิดว่าเราพอไปรอด ปรับตัวพอสมควรแล้ว มันยังเหลืออีก 2 ศาล ก็กัดฟันสู้ต่อ”

 

ชีวิตนักโทษประหาร

“ผมต้องไปนอนรวมกันอยู่ในห้องที่ควบคุมเฉพาะนักโทษประหาร ตอนนั้นประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า ทีนี้จะคัดมาในกลุ่มที่ประหารเหมือนกันทั้งหมด การควบคุมนักโทษประหารก็จะแน่นหนามากขึ้น เรื่องการใส่ตรวนก็ใส่ตั้งแต่วันแรกแล้วนะ ผมเข้าไปปี 2544 มันหลังจากกรณีพยายามหลบหนี ผมเข้าไปก็ต้องใส่ตรวนทันที การใส่ตรวนนี่ตามจำนวนของกลาง ของกลางเยอะ ต้องใส่เส้นใหญ่ ถ้าเป็นนักโทษประหารแล้วจะใส่ตรวนขนาดเดียวกัน แต่ตอนผมเข้าไปก็เป็นความซวยอีก ตรวนที่ใส่นักโทษประหารเส้นเล็กๆ ที่ใส่กันทั่วไปมันหมด ตอนนั้นตรวนขาดแคลนมาก มันไปกันทุกวันๆ ตรวนเส้นแรกที่ผมใส่เข้าไปน้ำหนักโซ่ประมาณ 4 โลกว่า ก็กลายเป็นตรวนประจำของผมตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ถอด”

สำหรับคนที่รอความตาย เวลาที่เหลือไม่ต่างอะไรจากความว่างเปล่า เอกและเพื่อนนักโทษประหารจะถูกปล่อยจากห้องขัง 2 รอบ ตอนเช้ากับตอนบ่าย เป็นเวลาสำหรับกินข้าว อาบน้ำ แต่ละรอบมีเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนจะถูก ‘เก็บ’ เข้าห้องขังตามเดิม

‘เก็บ’ เป็นคำที่เอกพูดอย่างเป็นปกติ ฟังคล้ายกับว่าสภาวะของการมีชีวิตจบลง กลายสภาพเป็นสิ่งของ และ 20 ชั่วโมงในห้องขังกับเพื่อนนักโทษประหารที่มีจำนวนมากกว่าที่ควร 2 เท่า

“ในช่วงเวลาที่ว่างเปล่าแบบนั้นคุณทำอะไร” เราถาม เอกหัวเราะก่อนตอบ

“ตอนนั้นมันมึน เราก็ยังเห็นคนตายอยู่ เขาเอาไปประหาร ไปยิงเป้า เราก็ยังคิดอยู่ มีแต่คำถามอยู่ในหัว เกิดอะไรขึ้นกับเราวะ ชีวิตเราทำไมต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ ไม่เคยทำอะไรเลวร้ายกับใคร แล้ววันที่เขาเอาเราไปยิงเป้า พ่อกับแม่จะทำยังไง เวลาแม่มารับศพแม่จะเป็นยังไงบ้าง มันคิดสารพัด เคยคิดว่าจะเขียนจดหมายทิ้งไว้ให้แม่ จะสอนวิธีให้แม่ทำใจยังไง ให้เข้าใจ คือจะให้กำลังใจแม่ที่สุด ตอนนั้นห่วงที่สุดคือความรู้สึกของแม่ ถ้าถามว่าใช้อะไรเป็นจุดยึดสำหรับการนอนอยู่ในห้องประหารตอนนั้นก็คือพ่อกับแม่”

การใช้ชีวิตกับร่วมกับนักโทษที่ถูกพิพากษาให้ตายทำให้เอกมีมุมมองต่อโทษประหารว่า

“ไม่ใช่เพราะผมเป็นนักโทษประหารมา จริงๆ ผมไม่เห็นด้วยกับการทดแทนด้วยความตาย ผมว่ามันมีวิธีที่ดีกว่าและมีประโยชน์กว่านั้น อาจเป็นเพราะว่าช่วงที่เราอยู่ในห้องขังนักโทษประหาร เราได้เห็นชีวิตของคนที่ต้องโทษประหาร ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ได้มีมุมที่เลวร้ายอย่างเดียว แล้วไอ้ความเลวร้ายมันต้องสืบสาวไปถึงเหตุผลที่บ่มเพาะให้เขาเป็นแบบนั้น ผมไม่ได้คุยกับทุกคนนะ แต่ส่วนหนึ่งที่มาถึงจุดนี้ได้ก็มาจากความไม่รู้ หลายคนเลยที่พูดว่าถ้าผมรู้อย่างนี้ ผมไม่ทำ มันมีมากจริงๆ คนที่มาถึงจุดที่ต้องนอนรอความตายด้วยความไม่รู้ ไม่รู้ว่ากฎหมายขนาดนี้ ไม่รู้ว่าแค่ทำแค่นี้มันไปเข้ามาตรา 83 ร่วมกันกระทำความผิด ผมทำแค่นี้เอง ไม่รู้ว่าเขาเอาไปพันกับตรงนั้นด้วย ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับตรงนั้นเลย นั่นแหละ แต่โดยถ้อยคำของกฎหมายถือว่าเกี่ยวพัน มันก็กลายเป็นว่าคุณถูกมัดรวมมาอยู่ที่ห้องขังนักโทษประหารนี้ด้วย คนที่ไม่ได้ทำความผิดก็เจอเยอะ

“มันมีมุมดีๆ ในห้องขังนักโทษประหารที่ซึ่งทุกคนรอความตายอยู่ ในเวลาที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมง มันมีช่วงที่เห็นความอ่อนโยน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นน้ำจิตน้ำใจของกันและกัน การแสดงออกของแต่ละคนไม่ได้มีเหลี่ยมอะไรให้เราต้องระมัดระวังมาก รู้สึกว่ามันง่ายๆ ตรงๆ ดีด้วยซ้ำ ถ้าจะชดเชยกันด้วยความผิดบาปที่เขาทำ ผมว่ามีวิธีที่มีประโยชน์มากกว่านั้น”

 

พ่อและแม่

“พอโดนคดีปุ๊บ ผมเป็นห่วงที่สุดคือความรู้สึกของพ่อกับแม่ จู่ๆ เรามาโดนคดีแบบนี้ เขาจะเป็นยังไง ก็เลยตัดสินใจไม่บอก บอกแต่น้าที่เลี้ยงเรามา แล้วก็กำชับว่าอย่าบอกเรื่องนี้ให้แม่รู้ เพราะถ้ารู้ก็คงจะช็อกและเสียใจมาก แต่ว่าปกติผมจะโทรคุยกับแม่ตลอด ผมจะนัดกับแม่ทุกวัน ผมจะโทรไปที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะตู้นี้แล้วให้แม่มารับ แล้วจู่ๆ ผมก็ไม่ได้โทรไปเลยสองสามอาทิตย์ แม่ก็คิดว่าต้องมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา ก็พยายามถามน้าว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา จนน้าทนไม่ไหวเลยต้องบอกแม่

“แม่มาครั้งแรก พาพ่อมา จริงๆ ตอนนั้นผมไม่พูดกับพ่อมาหลายปีแล้ว เพราะว่าหนีออกจากบ้าน ตอนนั้นวัยรุ่นเรากำลังจบ ม.3 จะเรียนต่อ พ่อไม่ให้เรียน ตอนนั้นอยู่บ้านนอก ครอบครัวเราค่อนข้างขัดสน จะให้น้องเรียน เราก็หนีออกจากบ้านตั้งแต่อายุสิบสี่สิบห้า มาอยู่กับน้าคนที่ดูแลเรา จนมาถึงวันที่เราอยู่ในเรือนจำบำบัดพิเศษกลาง พ่อมาเยี่ยม เห็นหน้าพ่อ พูดกันไม่ออก ต่างคนต่างนั่งมองหน้ากันน้ำตาไหล พ่อพูดคำเดียวว่าอดทนนะลูก เดี๋ยวพ่อจะพาออกไปให้ได้ แผลในใจต่างๆ ที่เกี่ยวกับพ่อที่เรารู้สึกตั้งแต่เด็กๆ ว่าพ่อไม่รักเรา ไม่ใส่ใจเรา มันละลาย มันถูกล้างไปด้วยคำพูดของพ่อคำนี้คำเดียว”

 

การต่อสู้กับเวลาที่ยาวนาน

2 ปีต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาลดโทษเพราะเห็นว่าเอกไม่ใช่เจ้าของของกลาง จากโทษประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิต เขายังกัดฟันสู้ต่อในศาลฎีกาซึ่งจะพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ในอีก 2 ปีถัดมา

“ณ จุดนั้นความหวังก็หมดแล้ว เพราะตอนอุทธรณ์เราก็คิดว่ายังเหลืออีกศาลหนึ่ง ศาลฎีกา ศาลสูงสุดต้องเป็นผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์สูงน่าจะมองออก ศาลน่าจะฟังเรา ก็ฝากความหวังไว้ โอ้โห อุตส่าห์สู้มา 7 ปี ทีนี้มันวูบเลย หมดแล้ว ไม่มีอะไรพึ่งแล้ว ทำยังไงดี ผ่านมา 7 ปี เราอยู่ฟรีๆ เลย ไม่ได้เตรียมใจว่าเราต้องอยู่อีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หลังกลับจากฟังคำพิพากษาก็นอนไม่หลับ มันวางแผนไม่ถูก คือเรารู้ เราเห็นอยู่ โทษตลอดชีวิตคดียาเสพติดต้องอยู่กันกี่ปี ตอนนั้นต้อง 20 ปีขึ้นแน่นอน เราอยู่มา 7 ปี แล้วอีก 13 ปีจะอยู่ยังไง ถึงตอนนั้นพ่อแม่จะยังอยู่มั้ย แล้วครอบครัวเราจะอยู่ยังไง มันมีคำถามสารพัด”

เอกผิดหวังกับกระบวนการยุติธรรม เกิดคำถามว่าทำไมไม่ฟังเขาเลย เหตุผลที่ใช้ในคำพิพากษาก็เป็นของฝ่ายโจทก์ฝ่ายเดียว พยาน หลักฐานของฝั่งจำเลยฟังไม่ขึ้นทั้งสิ้น

“เอาชีวิตไปผูกกับอะไรถึงมีความหวังที่จะมีชีวิตต่อ”

“คำว่าตายดีกว่ามั้ย ผมเชื่อว่านักโทษประหารหรือนักโทษตลอดชีวิตทุกคนต้องมีแว้บมาในความคิด เพราะมันต้องต่อสู้กับเวลาซึ่งมันนานจริงๆ แล้วโดยสภาพของคุก มันไม่ได้เอื้อให้เรามีความสุขกับการมีชีวิตอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นมันขึ้นกับความอดทนและการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ให้ได้ของแต่ละคน มันมีบางจุดที่ใช้ความอดทนก็แล้ว ความเข้มแข็งก็แล้ว แล้วมันผ่านไปไม่ได้ มันก็เกิดความรู้สึกนั้น จบแค่ตรงนี้ดีมั้ย ตายเลยดีกว่า อาจจะเป็นทางที่ดีที่สุดของพ่อกับแม่ ญาติพี่น้องหรือคนที่เกี่ยวข้องกับเรา เพราะเราไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว เขาจะต้องมาดูแลเราเป็นเวลาอีกสิบยี่สิบปี เขาจะไหวได้ยังไง

“แต่อีกใจหนึ่งก็มาค้านว่าถ้าเราเป็นอะไรไป คนที่เสียใจที่สุดไม่ใช่เรา แต่เป็นคนที่รอเราอยู่ คนที่รักเรา ถึงเราจะออกไปตอนไหนก็แล้วแต่ เขาอาจจะดีใจที่สุดที่ได้เห็นเรา เราอาจจะอยู่กับเขาได้สักห้าปี สิบปี ช่วงท้ายๆ ชีวิตของเขา มันก็ยังให้ความสุขกับเขาได้ในช่วงเวลาสั้นๆ หลักๆ คือพ่อกับแม่และครอบครัวที่ทำให้เรากลับมาคิดอีกด้าน ต้องเข้มแข็งเพื่อเขา”

ถ้าไม่ตายเสียก่อน สักวันเขาจะได้ออกจากคุก เป็นความคิดที่เอกกอดไว้อย่างเชื่อมั่น เป็นความหวังเดียวท่ามกลางความสิ้นหวังต่างๆ รอบตัว

“คุกมันมีเฉดในการอยู่ การใช้ชีวิตหลายเฉด แล้วแต่เราจะเลือก จะทางสีดำ สีเทา หรือสีขาว มันก็มีวิถีของมัน เราก็มาพิจารณาตัวเรา อะไรที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด ทางสีดำคือทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมาและอยู่ได้ในคุก สีเทาๆ ก็เล็กๆ น้อยๆ บ้าง รับจ้างทำนั่นทำนี่ภายในเพื่อจะใช้ชีวิตอยู่ในคุกให้ได้ สีขาวจะไม่ยุ่งกับสายนี้ จะมาอีกด้านหนึ่ง การศึกษาหาความรู้ พัฒนาตัวเอง เพื่อรอเวลาที่จะไปใช้ในอนาคต หรือทำตัวให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นขณะที่อยู่ข้างใน ผมก็ตัดสินใจเลือกทางสีขาว”

จากในคุก เอกจบปริญญาตรีเกียรตินิยม 2 ใบด้านนิติศาสตร์และธุรกิจการเกษตร และปริญญาโทอีก 1 ใบด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษา

หลังจากติดคุก 11 ปี การลดโทษครั้งแรกก็มาถึง โทษจำคุกตลอดชีวิตลดเหลือ 50 ปี ในปี 2555 และเขาได้รับการลดโทษอีก 8 ครั้ง กระทั่งถึงวันที่เดินออกจากคุกเมื่อไม่นานมานี้

 

โลกแปลกหน้านอกกำแพงคุก

“กลิ่นคุกยังอยู่เลยครับ” เอกพูดกลั้วเสียงหัวเราะ

เวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่ต้องติดอยู่ในโลกหลังกำแพงทั้งที่ไม่ได้ทำความผิด มันนานมากสำหรับชีวิตชีวิตหนึ่ง มันนานพอที่โลกภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปจนเขาจดจำไม่ได้ ก่อนออกจากคุกเขาได้รับคำเตือนจากเพื่อนร่วมคุก

“ก่อนหน้านั้นมีคนที่เคยออกมาแล้วกลับเข้าไปหลายคนบอกว่า เราก็วางแผนไว้ว่าออกไปจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ ทำมาหากินแบบนั้นแบบนี้ มันจับมือเราเลย แล้วบอกว่าพี่อย่าเพิ่งคิดเลย ผมอยู่แค่แปดปี ผมออกไปสิ่งที่ผมคิดไว้อย่างพี่ มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว มันทำไม่ได้เลย สิ่งที่เราคิด มันทำไม่ได้สักอย่าง แต่ของพี่เกือบ 20 ปี พี่คิดดูว่ามันจะเปลี่ยนขนาดไหน พี่อย่าเพิ่งคิดเรื่องการทำมาหากินตอนนี้ พี่ไปดูสภาพความเป็นจริงก่อน แล้วพี่ค่อยมองหาช่องทางอีกที เขาพยายามเตือนผมหลายเดือนเลยนะก่อนผมจะออกมา แล้วผมก็บอกว่าครอบครัวเราก็มี ครูบาอาจารย์ก็เอ็นดูเรา เราต้องทำได้แน่นอน พอออกมาถึงได้รู้ว่าเป็นอย่างที่มันพูดจริงๆ มันตันบอกไม่ถูก”

เขาเกิดภาวะช็อคกับโลกแปลกหน้านอกกำแพง

“ผมออกมาครึ่งค่อนเดือนแรก รู้สึกเหมือนไม่อยากอยู่เลย มันไม่ใช่ที่ของเราเลย มันรู้สึกอุ่นใจมากกว่าที่จะอยู่ข้างใน เคยดูหนังชอว์แชงค์ ผมไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น รู้สึกว่าเกินไปหรือเปล่า แล้วมาเจอกับตัวเอง มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมขังตัวเองอยู่ในบ้าน 2 อาทิตย์ รู้สึกอุ่นใจ คือมันจำใครไม่ได้เลย คนนี้ก็มาทัก จำได้มั้ย เราจำไม่ได้ พอจำไม่ได้ เราก็อึดอัดมาก มันนานมากจริงๆ ทุกคนโตเป็นหนุ่มเป็นสาวหรือแก่กันหมดแล้ว เราก็รู้สึกว่าไม่เจอใครดีกว่า จำใครไม่ได้เลย อยู่แต่ในบ้าน

“ผมรู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัย ไม่ได้กลัวใครมาทำร้ายนะ แต่กลัวความคิดของคนว่าเขาคิดอะไรกับเรา สายตาที่มองเรามันมองด้วยความหมายแบบไหน มันตีความไม่ออก ไม่เหมือนอยู่ข้างใน พอมองตาแล้วมันเห็นคนที่อยู่ในภาวะเดียวกัน มันเข้าใจว่ากำลังคิดอะไร กำลังรู้สึกอะไรอยู่ กำลังรอคอย กำลังหวังอะไรอยู่ แต่ข้างนอกเราไม่สามารถตีความแต่ละคนได้เลย ช่วงแรกที่ออกมาผมไม่กล้ามองหน้าคน ไม่กล้าสบตา

“จนเพื่อนที่ออกมาก่อนเป็นปีก็โทรมาหา บังคับให้ผมออกจากบ้าน มึงต้องออก มึงต้องเดินออกมา แต่มันก้าวขาไม่ออก บอกไม่ถูก เห็นสายตาคนแล้วเดินไม่ถูก เพื่อนบอกไม่มีใครรู้หรอกว่ามึงเป็นใครมาจากไหน มึงต้องเดินออกมาแล้วจะชินกับคน กับสายตา ถามเพื่อนว่าใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะเป็นปกติ เป็นปี บางคนแปดเดือน สิบเดือนกว่าจะลงตัว เฮ้ย มันขนาดนั้นเลยเหรอว่ะ เออ ประเด็นคือมึงต้องออกมาข้างนอก มองหน้าคน มองตาคน”

“แล้วหลังจากนี้ คุณจะทำอะไรต่อ” เราถาม

“ผมยังหัดใช้ชีวิตแบบคนในโลกนี้อยู่ ตอนนี้ผมยังไม่กล้าไปไหนคนเดียว ไม่อยากบอกว่าเรารู้สึกยังไง เรากลัวขนาดไหน”

คุณคิดว่ากระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวสามารถขโมยอะไรไปจากคุณได้บ้าง?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net