Skip to main content
sharethis

ประชาชนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี จ.อุตรดิตถ์ เรียกร้องกรมชลประทาน เร่งแก้ปัญหา-เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอ่างห้วยน้ำรีอันเนื่องในพระราชดำริ

18 ก.ค.2562 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ (18 ก.ค.62) ประชาชนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี ในนามสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เข้าประชุมคณะทำงานตรวจสอบเท็จจริงปัญหาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องในพระราชดำริ ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2551 ทั้งเรื่องการจัดแปลงอพยพและการให้ค่าชดเชยเยียวยา

กรณีแรกคือการเดินแนวท่อจากอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี ที่ชาวบ้านชี้แจงว่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เพราะแนวท่อนั้นต้องขุดเจาะผ่านหน้าบ้านของชาวบ้านหลายราย ซึ่งบางคนได้รับเงินค่าชดเชยแล้ว แต่บางคนยังไม่ได้ แต่กรมชลประทานกลับเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่แล้ว กรณีนี้ยืดเยื้อมาประมาณ 1-2 ปี ตัวอย่างเช่น  มาลี สีสุข ชาวบ้านหมู่ 9 ตำบลจริม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวถึงกรณี จันทร์ มโนหลักหมื่น ชาวบ้านหมู่ 4 ผู้เป็นบิดา ที่ถูกขุดเจาะฝังท่อเดินน้ำบริเวณหน้าบ้าน ซึ่งก่อนหน้านั้นผู้รับเหมาชี้แจงว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่กลับได้รับผลกระทบ ได้แก่ สูญเสียต้นไม้ พื้นคอนกรีตและบ้านร้าว ซึ่งเริ่มขุดเจาะในวันที่ 4 มกราคม 2561 ผ่านมากว่า 1 ปียังไม่ได้รับเงินค่าชดเชย

“ทีแรกเขาชี้แจงว่าตกหล่น ยังไม่ได้แผนที่มา พอวันที่ 29 เมษายน 2562 เขาเข้ามาหาพี่ที่เป็นผู้รับมอบอำนาจ เขาก็เอาดินมาถมเพราะกลัวทรุด แต่ว่าตอนนี้ยังไม่ทราบราคาที่ดิน ยังไม่ทราบราคาต้นไม้ และยังไม่มีการเก็บเอกสารบัญชีธนาคาร ทั้งที่เขาบอกว่าจะโอนให้เราภายใน 3 เดือน ซึ่งถ้านับจากเมษายนก็คือเดือนนี้ (กรกฎาคม) ต้องได้แล้ว เขาได้แผนที่ไปแล้วด้วย” มาลี กล่าว

ตัวแทนกรมชลประทานชี้แจงว่า ต้องเป็นไปตามกระบวนการ ผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชยคือผู้ที่ยังไม่ได้มีแผนที่รังวัด

“จะให้ดำเนินการภายใน 30 วัน ซึ่งก็ในทางปฏิบัติผมมองว่ามันทำไม่ได้ เพราะปัญหาคือ หนึ่ง มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้ แต่เรื่องการรังวัด ยังไม่ได้รังวัด แผนที่ยังมาไม่ครบถ้วน หลังจากมีการร้องเรียนก็ได้ประสานติดต่อเจ้าหน้าที่ให้ทำการรังวัด เก็บคำขอต่างๆ มาเรียบร้อย แต่แผนที่ทำการรังวัดที่ทำทีหลังยังไม่ออก ก็ต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ในการทำงาน เพื่อจะทำรายละเอียดค่าทดแทนทรัพย์สินไปตามกระบวนการ ถึงจะได้เงินมาได้ ส่วนคนที่ได้แล้วเพราะเขาได้แผนที่มาก่อน จัดทำรายละเอียด จัดทำบัญชี ได้มาก่อนก็เอาไปจ่ายเงินก่อน” ตัวแทนจากกรมชลประทานชี้แจง

อย่างไรก็ตาม ปุริมพัฒน์ เกิดนิมิตร ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี กล่าวว่า การอ้างว่ากระบวนการยังไม่แล้วเสร็จนั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจากค่าชดเชยต้องดำเนินการจ่ายก่อนเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า กรมชลประทานได้ให้ดำเนินการขุดเจาะและฝังท่อเดินน้ำไปแล้ว ในบางกรณีไม่มีการชดเชย และในบางกรณีไม่มีการชี้แจงจากกรมชลประทานต่อชาวบ้านเจ้าของพื้นที่แต่อย่างใด

“จริงๆ แล้วที่กรมชลประทานอ้างว่ายังรังวัดไม่เสร็จ ขอเงินไม่แล้วเสร็จ มันฟังไม่ขึ้น จริงๆ ต้องจ่ายค่าชดเชยเสียก่อนถึงจะเข้าใช้ที่ดินได้ แต่ท่านกลับเข้าใช้ที่ดินก่อน อย่างนี้อย่าให้เกิดอีก ที่แล้วกันไปท่านต้องแสดงความรับผิดชอบ ชาวบ้านเขาก็ให้ท่านใช้ที่ดินก่อน แต่มาบอกว่ากระบวนการยังไม่เริ่ม ที่ติดขัดคือเรื่องภายในนะครับ ท่านต้องตระหนักในความเดือดร้อน ไม่ใช่เอาปัญหาของตัวเองมาให้ประชาชนรับทราบ”

ต่อมา กรณีชาวบ้านผู้ถูกตัดสิทธิ์รับเงินค่าชดเชยที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย สว่าง คำปัญญา ครอบครองหลัง 29 ก.พ. 2551 ซึ่งเป็นวันเริ่มสำรวจปักหลักเขต อย่างไรก็ตาม ปุริมพัฒน์ ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้เกณฑ์วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ตรวจสอบจนตัดสิทธิ์ สว่าง นั้นเป็นการรังวัดก่อนมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการในวันที่ 20 เมษายน 2554 ซึ่งไม่มีความชอบธรรมและทำให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน

“มีที่ดิน 20 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา รู้สึกเสียใจที่ไม่ได้สิทธิ์ตรงนี้ เพราะเราเป็นเจ้าของที่ดินจริงๆ เราทำกินมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วปี 2550 เราก็ไม่ได้ไปรังวัดเอง ให้น้องสาวไปรังวัดแทน เราอยากให้เขาติดประกาศไปเลยว่าภายใน 30 วันนี้จะแก้ไขปัญหาให้ เพราะมันยืดเยื้อมานานแล้ว เราได้รับผลกระทบ ต้นมะม่วงหิมพานต์ 30 กว่าต้น ต้นมะไฟ ต้นสัก เราต้องการค่าชดเชยทั้งที่ดินและต้นไม้ จ่ายตามที่เราสมควรจะได้” สว่าง กล่าว

ทั้งนี้ ประชาชนในเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี ได้รับความเดือดร้อนนับตั้งแต่การสร้างเขื่อนผาซ่อมในปี 2506 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเขื่อนสิริกิติ์ กระทบประชาชน 4 ตำบลของอำเภอท่าปลา ได้แก่ ตำบลท่าปลา ตำบลจริม ตำบลหาดล้า และตำบลท่าแฝก ภายหลังได้มีการอพยพผู้ได้รับผลกระทบออกมาจนแล้วเสร็จในปี 2514 

ต่อมาในคืนวันที่ 23 พ.ค. 2547 ได้เกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่มน้ำหลากในพื้นที่ตำบลน้ำหมันและตำบลจริม ทำให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่หลวง มีผู้เสียชีวิต 66 ราย สูญหายอย่างน้อย 29 ราย และบ้านเรือนเสียหายกว่า 50 หลัง หลังจากนั้นโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยกรมชลประทาน กลับมาเป็นฝันร้ายของชาวบ้านอีกครั้งตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net