Skip to main content
sharethis

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ด้านให้รัฐบาลใหม่ เผยส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิมที่เคยยื่นให้รัฐบาล คสช. ไปแล้วแต่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติจริง ขอ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ล้างคำสั่งคณะรัฐประหารทุกฉบับ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง พร้อมแก้ปัญหาคนจนที่คาราคาซังมานาน

19 ก.ค. 2562 เมื่อเวลา 09.00 น. ประชาชนในนามกลุ่ม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ กว่า 100 คน ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อมูลถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้จัดทำนโยบาย 9 ด้านเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลือมล้ำ และความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาที่อย่างนาน  โดยคาดหวังว่าข้อเสนอของทางกลุ่มจะได้รับการพิจารณาบรรจุเป็นนโยบายที่รัฐบาลจะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 25 ก.ค. นี้

ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขึ้นกล่าวบนรถขยายเสียงว่า การเดินทางมาครั้งนี้หวังว่าจะได้รับการปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาลใหม่ ไม่ใช่เป็นเหมือนครั้งก่อนที่นายกรัฐมนตรีพูดไล่ให้พีมูฟกลับไปอย่ามาโหวกเหวก โวยวาย นั่นคือสันดานของ คสช. แต่วันนี้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อาสามารับใช้ประชาชน จะใช้สันดานเดิมๆ ไม่ได้

ด้านจำนงค์ หนูพันธ์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวด้วยว่า เป็นเวลา 5 ปีกว่าแล้วที่เราอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล คสช. ที่มีอำนาจเด็ดขาด แต่ก็ยังมีการสร้างปัญหาเพิ่มที่กลายเป็นมรกดกตกทอดมาถึงรัฐบาลที่กำลังจะทำงาน ก่อนหน้าเราพูดมาตลอดว่า ต้องการให้รัฐบาล คสช. ที่มีอำนาจเต็มแก้ปัญหาทุกปัญหาของคนจน และขอว่าอย่าให้กลายเป็นมรดกตกทอดไปยังรัฐบาลอื่น แต่สุดท้ายก็ยังเป็นปัญหาอยู่เช่นเดิม

“นโยบายทวงคืนพื้นป่าที่ออกมาตอนแรกก็พูดว่าออกมาเพื่อกำจัดผู้มีอิทธิพล แต่สุดท้าย 5 ปีที่ผ่านมาคนที่ถูกกำจัดคือประชาชนคนจน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลที่ผ่านมาทำ เราไม่อยากให้รัฐบาลในวันนี้ที่อยู่ภายใต้นายกฯ ที่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดิมที่แปลงร่างจากหัวหน้าเผด็จการ มาเป็นหัวหน้าประชาธิปไตย ทำในแบบเดิม”จำนงค์ กล่าว

จำนงค์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้หัวของรัฐบาลยังไม่เปลี่ยน มีแค่ร่างกายที่เปลี่ยนไปบ้างส่วนเท่านั้น สิ่งที่ประชาชนต้องการได้ยินคือ รัฐบาลนี้จะแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างไร นโยบาย 9 ด้านที่จะเสนอให้รัฐบาลในวันนี้ก็เป็นสิ่งที่เคยเสนอไปกับรัฐบาล คสช แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริง

ต่อมาในเวลา 13.00 น. สุรศักดิ์ เรียงเครือ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมารับหนังสือข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ด้าน พร้อมรับปากว่าจะเร่งดำเนินการในขั้นต่อไปโดยเร็ว

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ด้านของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมมีดังนี้

1.เรื่องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย อาทิ ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.และคำสั่งคณะปฏิวัติทุกฉบับที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน  แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีบทบัญญัติผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ในด้านต่างๆ เช่น ให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน, สมาชิกรัฐสภา (สส.,สว.) ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน,ประธานศาลฎีกาต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

2.การกระจายอำนาจ โดยกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม

3. นโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อาทิ ให้ยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวง ขอใช้ระบบไต่สวนและลูกขุนในการพิจารณาคดีแทนระบบกล่าวหา ในคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและคดีที่เกี่ยวกับทรัพยากรที่ดิน ป่า ไม้และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะในการพิจารณาคดีและการค้นหาข้อเท็จจริงในคดีทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดินป่าไม้ จะต้องไม่ใช่การพิจารณาหลักฐานตามกฎหมายเท่านั้น หากต้องวิเคราะห์จากหลักการทางด้านสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา ชาติพันธุ์วิทยา ไปจนถึงวัฒนธรรมประเพณี ในการใช้ที่ดินและป่าของแต่ละพื้นที่ สร้างมาตรการป้องกันการฟ้องคดี SLAPPs (Strategic Lawsuits Against Public Participation) ซึ่งเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีในรูปแบบที่เป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะหรือปิดปากไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ หรืออีกนัยหนึ่งคือการใช้กระบวนการทางกฎหมายควบคุมการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือแสดงออก

4.นโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม อาทิ กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ตามข้อเสนอของภาคประชาชน เช่น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอัตราก้าวหน้า, พ.ร.บ.โฉนดชุมชน, พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, มาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดินที่เหมาะสมกับการทำเกษตรถูกใช้ไปดำเนินการผิดประเภท และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ยกเลิก พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต สิทธิชุมชน และการจัดการทรัพยากรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน 

5. นโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ คือให้ยุติ / ยกเลิกนโยบายและกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน อาทิ ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวทำให้มีการละเมิด/คุกคามชีวิต/ทรัพย์สินและส่งผลกระทบกับชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินป่าทั่วประเทศ  ยกเลิกเขตส่งเสริมพิเศษในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ประกาศทับซ้อนพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีและพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม นอกจากนี้ขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกลไกและกระบวนการ การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบหรือที่ดินทิ้งร้าง 

6.นโยบายภัยพิบัติ ให้ส่งเสริมระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุและการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ โดยเสริมความรู้ความสามารถร่วมกันทุกภาคส่วนในการจัดการภัย เสริมศักยภาพอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ การจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชน การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ตามแผนรับมือภัยพิบัติไปที่ชุมชนโดยตรง รวมทั้งจัดตั้งกองทุนและคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดการภัยพิบัติระดับท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ อบรมพัฒนาเตรียมความพร้อมการศึกษาวิจัยและพัฒนาความรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติชุมชน การสื่อสารสาธารณะและให้กองทุนระดับท้องถิ่นมีหน้าที่ส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนและเครือข่ายฯ เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยให้กระทรวงมหาดไทยสมทบกองทุนการจัดการภัยพิบัติของท้องถิ่น 

7.นโยบายการคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ เช่น ให้มีคณะกรรมการอำนวยการด้านแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมติ ครม.รับรองสามารถดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชุมชนชาติพันธุ์ในทุก ๆ ด้าน จึงเห็นควรให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติและดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2562 มาตรา 70 (ยกมาตรา)และ เร่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อให้สัญชาติ และสิทธิสถานะแก่กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายนและ 3 สิงหาคม 2553 

8. นโยบายสิทธิของคนไร้สถานะ อาทิ นโยบายการแก้ปัญหาด้านสถานะและสิทธิบุคคล ของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่องมายาวนานเป็นการเร่งด่วนภายใน 3 ปี และให้ขยายมติคณะรัฐมนตรี 18 มกราคม 2548 เพื่อสำรวจคนตกหล่นเป็นการเฉพาะ นำไปสู่การแก้ปัญหาได้ครอบคลุมปัญหา แต่งตั้งกรรมการแก้ปัญหาสิทธิสถานะเป็นกรรมการกลางที่มี ผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีประสบการณ์การทำงานกับกลุ่มคนไร้สิทธิสถานะ และอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มปัญหาอย่างเร่งด่วน 

9. นโยบายรัฐสวัสดิการ อาทิ การเพิ่มและปรับงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลรายหัว จากระบบหลักประกันสุขภาพ ระบบประกันสังคม และระบบราชการ ให้เป็น 8,000 บาท/คน/ปี หรือประมาณ 3.75 % ของ GDP จะทำให้การรวมกองทุนสามกองทุนสามารถเกิดขึ้นได้ ในเงื่อนไขที่เศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโต และผู้คนมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน ร้อยละ 2 ต่อปี  เว้นแต่หากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เช่น กลุ่มเฉพาะแบบชุมชนแออัด หรือคนไร้บ้านด้วย ให้มีแนวทางการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มเฉพาะนั้นๆ และควรมีปฏิรูปประกันสังคมแรงงานนอกระบบ การปฏิรูประบบภาษี 

เรียบเรียงบางส่วนจาก ThaiPBS News , Transbordernews

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net