Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรับ 3 คำร้องไว้พิจารณาประกอบด้วย คุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ปมเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ แต่ไม่สั่งหยุดปฎิบัติหน้าที่เพราะไม่มีเหตุที่จะทำให้เกิดความเสียหาย พร้อมรับพิจารณาปมพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร ปิยบุตร และคณะกรรมการบริหารพรรค ใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพีระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และนัดอ่านคำวินิจฉัยปมอดีต 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ถือหุ้นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ

19 ก.ค. 2562 ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รายงานว่า วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดี จำนวน 3 คำร้อง ประกอบด้วย 1.กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2.กรณีที่ณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครอง และ 3. กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล สุวิทย์ เมษินทรีย์ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)

โดยกรณีแรก ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาว่าคำร้องของผู้ร้องต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฎว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 110 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่ ขอให้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 89 (15) เพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กรณีนี้จึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรมสาม และมาตรา 82 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9) แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ พร้อมส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องเพื่อยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

สำหรับการพิจารณากรณีให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติเงื่อนไขไว้ว่าจะต้อง “ปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง” ซึ่งตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้องที่จะทำให้เกิดความเสียหายแต่ประการใด ประกอบกับผู้ร้องไม่ได้มีคำขอในส่วนนี้ จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง

กรณีที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องกรณีที่ ณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ผู้ถูกร้องที่ 1 ธนาธร จึงรุงเรืองกิจ ผู้ถูกร้องที่ 2 ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) เห็นว่า ผู้ร้องได้ใช้สิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อขอร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง แล้ว แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง กรณีนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 วรรคสาม ที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จำมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แจ้งให้ผู้ร้องทราบ ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้อง ทั้งสี่ยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

กรณีที่สาม ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้  จึงไม่ทำการไต่สวน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันอังคารที่ 27 ส.ค. เวลา 14.00 น. และหากคู่กรณีประสงค์จะยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นหนังสือ ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคดีนี้เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นร้องเรียน กกต. ตรวจสอบ สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือครองหุ้นในบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จำนวน 90,000 หุ้น

เช่นเดียวกับไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ที่ถูกร้องเรียนว่า ถือหุ้นบริษัท GPSC จำนวน 50,000 หุ้น ซึ่ง GPSC เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่รวมกับบริษัทลูกของ ปตท. ที่เป็นคู่สัญญากับสัมปทานรัฐ ทั้งยังถือหุ้นบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC จำนวน 240,000 หุ้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 5,000 หุ้น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) 60,000 หุ้น บริษัท ไทยออย จำกัด (มหาชน) 40,000 หุ้น บริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 300,000 หุ้น บริษัท บ้านปู พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) 10,000 หุ้น บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 26,000หุ้นด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ ถูกร้องเรียนว่า ถือครองหุ้นของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จำนวน 6,000 หุ้นเศษ ส่วน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ถูกร้องเรียนว่า ถือหุ้นสัมปทานบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG จำนวน 5,000 หุ้น

ไทยโพสต์ รายงานเพิ่มเติมว่าา ณฐพร ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย ว่าตนไปยื่นร้องเรื่องนี้เงียบ ๆ ประเด็นที่ร้องมีหลายประเด็นทั้งพฤติกรรมการกระทำของหัวหน้าและแกนนำพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ ที่มีการเขียนในลักษณะไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยก่อนหน้านี้ได้ยื่นร้องต่ออัยการสูงสุด และทราบว่ามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบโดยเตรียมที่จะยื่นเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว 

เลขาฯอนาคตใหม่ ยัน พรรคไม่ล้มล้างการปกครอง ย้ำการรับคำร้องของศาล รธน.ไม่เกี่ยวยุบพรรค

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล' เมื่อเวลา 21.00 น. ชี้แจงกรณีนี้ว่า 

"ตามที่มีข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ 13/2562 ลงวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2562 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้องของนายณฐพร โตประยูร ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 นั้น

ผมมีความเห็นเบื้องต้น ดังนี้

1. ผมยังไม่เห็นคำร้องของผู้ร้อง จึงยังไม่ทราบว่าผู้ร้องอ้างข้อเท็จจริงใดร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และกรณีนี้เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 49 หรือไม่ ขณะนี้ เรากำลังรอสำเนาคำร้องจากศาลรัฐธรรมนูญ และพร้อมชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในระยะเวลาที่กำหนด

2. ผมยืนยันว่า พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร ผม และคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่ได้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พวกเราก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นก็เพื่อฟื้นฟูและธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง

ตรงกันข้าม การใช้สิทธิหรือเสรีภาพสนับสนุนให้กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองและยกเลิกรัฐธรรมนูญก็ดี การสมคบคิดกันก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองและยกเลิกรัฐธรรมนูญก็ดี กรณีเหล่านี้ต่างหากที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3. กรณีตามมาตรา 49 นี้ ผู้ร้องมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป หรือมีสิทธิร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงในกรณีที่อัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาว่าผู้ถูกร้องได้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจเพียงการสั่งการให้เลิกการกระทำเท่านั้น มิใช่กรณีร้องขอให้ยุบพรรคหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคแต่อย่างใด

พูดง่ายๆ ก็คือ ในคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยได้เพียงสั่งยกคำร้องหรือสั่งให้เลิกการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น

4. อย่างไรก็ตาม เมื่อข่าวนี้ปรากฏขึ้น ผู้คนจำนวนมากต่างเข้าใจไปว่า อาจมีกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ บ้างก็แสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางว่า พรรคอนาคตใหม่ไม่รอดแน่ โดนยุบแน่ ทั้งๆที่ตามคำร้องแล้ว ไม่ใช่เรื่องยุบพรรคแต่อย่างใด ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนอะไร ?

ประการแรก มีคนจำนวนมากเชื่อไปล่วงหน้าก่อนแล้วว่า การยุบพรรคอาจเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะการยุบพรรคการเมืองที่มีแนวทางต่อต้านเผด็จการหรือผู้ครองอำนาจ หากเป็นเช่นนี้จริง ก็อาจตั้งคำถามได้ต่อไปว่า ใช่หรือไม่ว่า ผ่านมา 13 ปี สุดท้ายแล้ว มีคนจำนวนมากไม่ได้เชื่อมั่นว่าการยุบพรรคตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันมีเหตุปัจจัยทางการเมืองผสมผสานอยู่ด้วย

ประการที่สอง ในทางสากลแล้ว การยุบพรรคการเมืองถือเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องพิเศษ เป็นเรื่องจำเพาะเจาะจงอย่างยิ่ง เพราะ พรรคที่ถูกยุบได้ต้องเป็นพรรคที่มีพฤติกรรมล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง แต่ในประเทศไทย คนจำนวนมากกลับเชื่อกันว่า การยุบพรรคเกิดขึ้นได้เสมอและบ่อยครั้ง นี่คือ ความผิดปกติที่กลายเป็นความปกติ ยิ่งคนจำนวนมากเชื่อเช่นนี้มากเท่าไร ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า สิ่งที่เชื่อนั้นเป็นสิ่งผิดปกติแต่มันเกิดขึ้นซ้ำๆจนกลายเป็นสิ่งปกติในการเมืองไทย"
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net