ปากกาของนายพล:เรื่องเล่าและความทรงจำของเด็กๆ พม่าที่มีต่อนายพลอองซาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ปากกาของนายพลอองซานนั่นนะหรือ มันทำให้พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษได้!”  

มีพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทุกสำนัก ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1947 ว่า...

“เวลา 10.37 น. วันที่ 19 ก.ค. ค.ศ.1947 กองกำลังติดอาวุธครบมือบุกเข้าไปอย่างอุกอาจ ในอาคารสำนักเลขาธิการ หรือที่ปัจจุบันเรียกอาคารรัฐมนตรี และกราดยิงคณะรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุม เป็นเหตุให้รัฐมนตรีในรัฐบาลเฉพาะกาล 6 คน เจ้าหน้าที่อีก 2 คน และนายพลอองซาน ถึงแก่อสัญกรรม”

เวลา 10.37 น. ของวันที่ 19 ก.ค. มีการเปิดไซเรนและคนขับรถยนต์ในพม่าได้บีบแตรรถ เพื่อร่วมสดุดีความเสียสละกล้าหาญของนายพลอองซาน ในขณะที่ชาวพม่าได้ยืนสงบนิ่ง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีนายพลอองซาน ผู้นำเรียกร้องเอกราชของพม่า เนื่องจากวันที่ 19 ก.ค. เป็นวันคล้ายวันที่นายพลอองซาน บิดาของนางอองซานซูจีที่ปรึกษาแห่งรัฐของพม่า ถูกลอบสังหาร 

เป็นที่ทราบกันดีว่า มรณกรรมของอองซานเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนความรู้สึกของคนพม่าทั้งประเทศและรวมถึงรัฐบาลอาณานิคมที่ยังปกครองพม่าอยู่ในเวลานั้นด้วย  

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 อองซานและนักชาตินิยมในนาม “ขบวนการตะขิ่น” (Thakhin Movement) ร่วมกันเรียกร้องเอกราชให้กับพม่า อองซาน คือ นักปฏิวัติและเป็นนายทหารในกองทัพเพื่อปลดปล่อยพม่า (BIA) ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากลัทธิเลนินและลัทธิสตาลินที่กำลังแพร่หลายในหมู่นักปฏิวัติในเอเชีย ลาตินอเมริกา และพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ สอง นั่นเป็นข้อมูลที่นักวิชาการในยุคหลังวิเคราะห์วิจารณ์พื้นฐานแนวความคิดการต่อสู้กู้ชาติของอองซาน 

แต่สำหรับเด็กนักเรียนชาวพม่าในปัจจุบัน พวกเขารับรู้และจดจำพื้นฐานแนวคิดการต่อสู้กู้ชาติจากเรื่อง “ปากกาของอองซาน” ที่ครูในโรงเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองมักยกมาเล่าให้เด็กๆ ฟัง เมื่อถึงวันที่ 19 ก.ค. เรื่องมีอยู่ว่า...

เมื่อเดือน มกราคม ค.ศ. 1940 “ขบวนการเราชาวพม่า” จัดการประชุมที่เมืองมัณฑะเลย์ ในเวลาเดียวกันนี้ มีเจ้าหน้าที่จากพรรคแรงงานของอังกฤษเดินทางเข้ามาในพม่าพร้อมกับนักบริหารอาณานิคมอังกฤษในพม่า ตัวแทนจากพรรคแรงงานอังกฤษท่านนั้นต้องการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมของขบวนการเราชาวพม่าที่จัดขึ้นที่เมืองมัณฑะเลย์ เขาร้องขอให้ไปส่งเขาที่งานประชุมที่กำลังจัดขึ้น เมื่อถึงงานประชุมเขาได้พบกับแกนนำขบวนการเราชาวพม่า ได้แก่ ตะขิ่นอองซาน ตะขิ่นตันทูน ตะขิ่นโซ ตะขิ่นเลหม่อง ตะขิ่นฮละบ่อ ตะขิ่นแทะติ่น โก่ด่อจี ตะขิ่นจ่อเส่ง และตะขิ่นติ่นหม่อง 

ในการพบกับแกนนำขบวนการเราชาวพม่าในวันนั้น ตัวแทนจากพรรคแรงงานอังกฤษได้พูดคุยกับอองซาน และแอบล้วงถามแผนเตรียมการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ผ่านบทสนทนาสั้นๆ ต่อไปนี้

ตัวแทนจากพรรคแรงงานอังกฤษ: “ผมขอถามอะไรคุณสักอย่างได้ไหม อย่าหาว่าสอดรู้สอดเห็น อย่างโน้นอย่างนี้เลยนะ ให้คิดเสียว่าเป็นคำถามจากเพื่อนที่คุ้นเคยกันก็แล้วกัน ตอนนี้พวกคุณกำลังพยายามต่อสู้เพื่อปลดแอกชีวิตชาวพม่าจากการปกครองของอาณานิคม ข้อนี้ผมทราบดี แต่อยากรู้ว่า คุณจะมีวิธีการอย่างไรให้ได้มาซึ่งอิสรภาพนั้นเล่า”

อองซาน: “ข้อนี้ไม่มีอะไรยาก มันกระจ่างชัดเจนอยู่แล้ว ตามวิธีธรรมชาติโดยทั่วไปที่จะให้ได้มาซึ่งชัยชนะ”

ตัวแทนจากพรรคแรงงานอังกฤษ: “วิธีธรรมชาติของคุณ หมายถึงอย่างไร ผมยังไม่กระจ่าง”

อองซาน: “สมมตินะครับว่า ปากกาในกระเป๋าเสื้อของคุณ มันเป็นปากกาของผม คุณแย่งยื้อปากกานั้นไปจากผมซึ่งๆหน้า ในเบื้องต้นผมพูดขอปากกาของผมคืนจากคุณ ผมพูดขอคืนดีๆ แต่คุณยังไม่คืนปากกาให้ผม ทีนี้ ผมก็ต้องเปลี่ยนวิธีร้องขอ ขั้นต่อมา ผมต้องใช้การข่มขู่ว่าจะให้หรือไม่ให้ ด้วยสีหน้าและน้ำเสียงเอาจริงเอาจัง แต่ถ้าคุณยังไม่คืนให้ ขั้นต่อมา ผมก็ต้องใช้กำลังแย่งปากกาคืนมาให้จงได้ ถึงตอนนั้น ผมกับคุณใช้กำลังแย่งปากกาในกระเป๋าเสื้อของคุณ สุดท้ายผมได้ปากกาของผมคืนมา แต่ปรากฏว่า เสื้อของคุณฉีกขาด ถ้าคุณคืนปากกาให้ผมแต่ทีแรก ตอนที่ผมร้องขอดีๆ เสื้อสวยๆ ของคุณก็จะไม่ขาด ส่วนผมก็ไม่ต้องเจ็บตัว เจ็บไม้เจ็บมือ เรื่องปากกาที่ผมยกตัวอย่างมานี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่กล่าวเกินเลย ไม่ใช่เรื่องที่ยกมาข่มขู่คุณ แต่มันเป็นวิธีธรรมชาติพื้นฐานทั่วไปที่จะเอามาใช้ในกรณีคุณแย่งปากกาของผมไปต่อหน้าต่อตา”

เรื่องปากกาของอองซาน เคยเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Myanmar Alin ฉบับวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1963 เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตของนายพลอองซานที่นิยมเล่าขานกันและจดจำกันได้ดีไม่แพ้เรื่องเล่าที่แสดงถึงความกล้าหาญ ความเสียสละ เยี่ยงวีรบุรุษ ในเรื่องอื่นๆ เลย

นับถึง ค.ศ. นี้ แม้ว่านายพลอองซานตายจากไปเป็นเวลา 72 ปี แต่เขาไม่เคยตายไปจากความทรงจำของชาวพม่าเลย และยังคงเป็นยอดวีรบุรุษอาชาไนยที่อยู่ยั้งยืนยงในความทรงจำของชาวพม่าและประเทศพม่าตลอดไป
    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท