Skip to main content
sharethis

เกษตรกรและผู้ยากจนที่มีปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของตนเอง ทั้งกรณีหลุดจำนองขายฝาก และถูกบังคับคดี มีทางเลือก หลังสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) เผยปรับเปลี่ยนรายละเอียดเงื่อนไขในการขอรับเงินความช่วยเหลือในโครงการฯ ให้ใหม่ ยืนยันถึงเป็นหนี้ ก็ยังมีที่ดินทำกินอยู่โดยเปลื่ยนมาเป็นวิธีให้สินเชื่อโดยวิธีการให้เช่าซื้อ ที่ดินไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท และให้เป็นสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ไม่เกินรายละ 2 แสนบาท

20 ก.ค. 2562 นายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. เปิดเผยว่า บจธ. กำลังดำเนินการ “โครงการแก้ปัญหาการสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน” อยู่ในขณะนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่มีปัญหาจะสูญเสียสิทธิ์ในที่ดิน หรือสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินไปแล้ว จากการจำนองการขายฝาก และการถูกบังคับคดี โดย บจธ. จะจัดซื้อที่ดินที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์และเหมาะสมสำหรับการทำการเกษตรและอยู่อาศัย แล้วจัดให้เกษตรกรและผู้ยากไร้เข้าทำกินหรืออยู่อาศัยในที่ดินของตนเองต่อไป โดยการให้เช่าซื้อ

อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่มีปัญหาการลงทุน เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยการให้สินเชื่อ แก่เกษตรกรและผู้ยากจน ที่มีปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน หรือสูญเสียสิทธิในที่ดินไปแล้ว รวมถึงเกษตรกรและผู้ยากจน และผู้ที่เคยได้รับสินเชื่อจาก บจธ. แล้ว

“โครงการนี้เป็นการแก้ปัญหาสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559-2560 ที่มีต้นเหตุมาจากปัญหาเกษตรกรเอาที่ดินไปจำนองกับสถาบันการเงิน หรือขายฝากกับนายทุน สุดท้ายที่ดินดังกล่าวหลุดจำนองหรือขายฝาก ถูกเจ้าหนี้ยึดไป ที่ผ่านมา มีปัญหากรณีที่ บจธ. ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้มีที่ดินกลับคืนมาแล้ว เกษตรกรดังกล่าว มักไปเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ของคนอื่น  พอลูกหนี้ที่ตัวเองไปค้ำประกันชำระไม่ได้ เจ้าหนี้ก็จะมาบังคับคดีกับที่ดินที่จำนองไว้กับ บจธ. เลยต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ โดย บจธ. จะไปซื้อที่ดินดังกล่าวมาแล้วนำมาให้เจ้าของที่ดินเช่าซื้อระยะยาว 30 ปี ด้วยวิธีการนี้มั่นใจได้ว่าต่อให้คุณเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว คุณก็ยังมีที่ทำกิน” ผู้อำนวยการกล่าว

ทั้งนี้ได้กำหนดลักษณะที่ดินที่ บจธ. จะให้ความช่วยเหลือ คือ  ต้องเป็นที่ดินที่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่ผู้ขอความช่วยเหลือใช้ประกอบอาชีพ หรือเป็นที่อยู่อาศัย โดยต้องไม่เป็นที่ดินที่มีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์  ต้องเป็นที่ดินเกษตรกรรม หรือที่อยู่อาศัย ที่อยู่ระหว่างระยะเวลาไถ่ถอนจำนอง หรือไถ่ถอนขายฝาก หรือเป็นที่ดินที่อยู่ระหว่างจะถูกยึดตามคำสั่งศาลเพื่อบังคับชำระหนี้ หรือถูกยึดเพื่อบังคับคดี และอยู่ระหว่างการขายทอดตลาด  ถ้าเป็นที่ดินที่ถูกขายทอดตลาด หรือหลุดขายฝากไปแล้ว เกิน 5 ปี และผู้ขอความช่วยเหลือต้องทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับวงเงินที่ บจธ. ให้ความช่วยเหลือ กรณีให้เช่าซื้อที่ดิน ไม่เกินรายละ 1  ล้านบาท กรณีสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม่เกินรายละ 2 แสนบาท ทั้งนี้กรณีเช่าซื้อ ส่วนที่เป็นค่าเช่าซื้อเกษตรกรผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเช่าซื้อเท่ากับมูลค่าที่ดินที่ได้จัดซื้อและค่าธรรมเนียม รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ กับดอกเบี้ย ตามที่ บจธ. กำหนด โดยมีระยะเวลาชำระค่าเช่าซื้อและดอกเบี้ยไม่เกิน 30 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อร้อยละ 3 ต่อปี ถ้าเป็นกรณีการให้สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ระยะเวลาชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่เกิน 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี

ส่วนจำนวนที่ดินที่ บจธ. ให้เช่าซื้อเพื่อทำเกษตรกรรม ไม่เกิน 15 ไร่ต่อครอบครัว และให้เช่าซื้อเพื่ออยู่อาศัย ไม่เกิน 100 ตารางวาต่อครอบครัว สำหรับการแก้ไขปัญหาในโครงการนี้ ได้ช่วยเหลือเกษตรกรไปจำนวน 302 ราย ที่มีปัญหาที่ดินหลุดมือไปแล้วจากการจำนองและขายฝาก ทำให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินกลับคืนมาเป็นของตนเอง คิดเป็นพื้นที่โดยรวมประมาณ 2,394 ไร่

ผู้อำนวยการ กล่าวอีกว่าลักษณะหนี้ตามโครงการนี้จะต้องเป็นหนี้อันเนื่องมาจากการนำที่ดินไปขายฝากหรือจำนองไว้กับเจ้าหนี้ สำหรับกรณีหนี้ที่เกิดจากการจำนองกับนิติบุคคลธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีแล้วเท่านั้น ส่วนหนี้ที่เกิดจากการจำนองกับบุคคลธรรมดา ไม่ต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีก็ได้และจะต้องเป็นหนี้สินตามคำพิพากษาได้ทั้งในฐานะผู้กู้หรือผู้ค้ำประกัน

สำหรับเกษตรกรและผู้ยากจนที่ต้องการรับการช่วยเหลือเงินสินเชื่อดังกล่าว สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.labai.or.th  หรือส่งอีเมลล์ที่ labia@labai.or.th หรือโทรติดต่อได้ที่ โทร 0 2278-1244, 02278-1648 ต่อ 601,602,610  มือถือ 09 2659 1689

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net