สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 14-20 ก.ค. 2562

กระทรวงแรงงาน เร่งส่งเสริมอาชีพแรงงานนอกระบบ

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลแรงงานนอกระบบ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ พบว่ามีจำนวนมากกว่า21 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท รวมถึงผู้สูงวัย ซึ่งมีรายได้ค่อนข้างน้อย กรมการจัดหางานจึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพให้กับแรงงานนอกระบบ ในรูปแบบการนำชิ้นงานจากผู้ประกอบการกลับไปทำที่บ้าน

ล่าสุด มีผู้สนใจมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5,000 คน โดยชิ้นงานที่นำไปทำที่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นงานฝีมือ เย็บปักถักร้อย และได้ให้สินเชื่อแก่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำไปใช้ต่อยอดงานแล้วกว่า 42 ล้านบาท โดยการปล่อยสินเชื่อนั้น แบ่งเป็นสินเชื่อประเภทบุคคลธรรมดา ให้กู้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท และแบบกลุ่มสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 คน ให้กู้ไม่เกิน 200,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตรา 3 % ต่อปี

กรมการจัดหางาน ยังเตรียมจัดงานมหกรรมอาชีพอิสระ ประจำปี 2562 ในวันที่ 31 ก.ค. 2562 นี้ ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ และแนะแนวอาชีพต่างๆ ให้กับประชาชน ตลอดจนจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของสมาชิกทั่วประเทศ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมงานได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ที่มา: ch7.com, 20/7/2562

เลขาธิการ พปชร. ระบุค่าแรง 400 บาท หากจะขึ้นต้องผ่าน คกก.ไตรภาคี คาดจะขึ้นภายใน 4 ปี

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเลขาธิการ พปชร. เปิดเผยระหว่างร่วมพิธีเปิดโครงการไทยเด็ด ปั๊ม ปตท. จังหวัดเพชรบุรี ว่า โครงการนี้เป็นไปตามนโยบายสร้างรายได้ชุมชนให้เข้มแข็งยั่งยืน โดยร่วมมือกับหลายหน่วยงานนำสินค้าชุมชนจำหน่ายในปั๊ม 100 แห่งในปีนี้ และส่งเสริมขายผ่านออนไลน์

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ทางรัฐบาลกำลังหารืออย่างใกล้ชิดว่าจะมีอะไรออกมาบ้าง ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงานจะดูแลราคาพลังงาน เพื่อลดภาระประชาชน รวมทั้งเร่งรัดตามแผนลงทุนทั้งของรัฐวิสาหกิจและตามแผนงานด้านพลังงานทั้งหมด เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องค่าแรง 400 บาท/วัน รัฐบาลจะยังไม่มีการประกาศใช้ปีใหม่นี้ แต่จะให้เกิดขึ้นแน่ใน 4 ปี

"ค่าแรง 400 บาท จะยังไม่เกิดขึ้นในปีใหม่ปี 2563 แต่เป็นแผน 4 ปี โดยฟังภาคเอกชน ดูถึงภาวะเศรษฐกิจ คำนึงถึงประชาชน หากจะปรับขึ้นต้องผ่านความเห็นจากคณะกรรมการไตรภาคีแต่ละพื้นที่" รมว.พลังงาน กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 19/7/2562

สหภาพฯ ธนาคารธนชาต ร้องรัฐช่วยเยียวยา คาดถูกบีบหลังควบรวม TMB

นายศุภาชัย ภัทรพิศุทธนา ประธานสหภาพแรงงานธนาคารธนชาต เปิดเผยภายหลังยื่นหนังสือถึง นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เพื่อให้กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ช่วยพิจารณาคุ้มครองผลประโยชน์ของพนักงานของธนาคารที่ถูกควบรวม ว่า หากมีการควบรวมธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) และธนาคาร TMB คาดว่าจะมีสาขาของธนาคารทั้งสองที่อยู่ใกล้เคียงกันจำเป็นต้องยุบสาขา เนื่องจากเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน ซึ่งจะส่งผลให้จำเป็นต้องลดพนักงานลงประมาณราว 4,000–5,000 คน หรือคิดเป็น 40% จากจำนวนพนักงานทั้งหมด โดยปัจจุบันธนาคารทั้งสองแห่งที่มีพนักงานธนาคารละประมาณ 10,000 คน รวมทั้งสิ้นเป็น 20,000 คน

“ที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองธนาคารยืนยันว่า จะไม่มีการลดพนักงาน แต่ในทางปฏิบัติได้ใช้วิธีการกดดันการทำงาน โดยใช้การประเมินผลงานที่เข้มงวดมากขึ้น สร้างแรงกดดันและความวิตกต่อพนักงานที่ทำงานอยู่ในเวลานี้ ทำให้รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในอาชีพ” นายศุภาชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นจริงๆ ในการลดพนักงานลง ทางสหภาพฯ ขอเรียกร้องให้ธนาคารจ่ายเงินชดเชยอย่างเป็นธรรม ซึ่งหากจ่ายตามเงื่อนไขตามกฎหมายแรงงานในปัจจุบัน จะทำให้พนักงานที่ถูกให้ออกดำรงชีพได้ด้วยความยากลำบาก ดังนั้นจึงเรียกร้องให้จ่ายเงินชดเชยสูงกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด

ขณะที่ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ซึ่งมารับหนังสือจากสหภาพ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า แผนการควบรวมทั้งสองธนาคารยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาในรายละเอียด ส่วนเรื่องของการจ้างพนักงานออกนั้น จะให้การคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ TMB ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ก.พ.นี้ว่า ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) แบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย กับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน), ING Group N.V., บริษัททุนธนชาต และ The Bank of Nova Scotia ธนาคารใหญ่ของประเทศแคนาดา เพื่อกำหนดกรอบความเข้าใจและหลักการสำหรับการเจรจาร่วมกันต่อไปเกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวมกิจการทั้งสอง

อย่างไรก็ตาม หลังการควบรวมดังกล่าว ธนาคารแห่งใหม่ จะมีสินทรัพย์แตะระดับ 2 ล้านล้านบาท จัดเป็นอันดับที่ 6 ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย มีฐานลูกค้ารวมกันมากกว่า 10 ล้านราย มีส่วนแบ่งตลาดของเงินฝาก 12% และส่วนแบ่งตลาดของสินเชื่อรวม 12% จากส่วนแบ่งตลาดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5-6%

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 19/7/2562

ประกันสังคม แนะช่องทางนายจ้าง ผู้ประกันตน ชำระเงินสมทบผ่านธนาคาร และหน่วยบริการ

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม ได้ตระหนักถึงภารกิจสำคัญในการอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ในการติดต่อขอรับบริการให้แก่ นายจ้าง ผู้ประกันตน โดยเพิ่มช่องทางการให้บริการรับชำระเงินกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทนผ่านธนาคารและหน่วยบริการที่เป็นตัวแทนของสำนักงานประกันสังคม เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการชำระเงิน และประหยัดเวลา ในการเดินทางมากขึ้น

โดยกรณีนายจ้างสามารถส่งข้อมูลเงินสมทบกองทุนประกันสังคมและชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) โดยหักบัญชีเงินฝากกับธนาคารที่เป็นตัวแทนให้บริการ 9 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. ธนาคาร มิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพฯ ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (ผ่านช่องทาง NSW) หรือชำระเงินด้วยบัตรเดบิต/เครดิต มาสเตอร์การ์ด ผ่านระบบของเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือชำระผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ นายจ้างยังสามารถชำระเงินกองทุนเงินทดแทนผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-Eleven) และเทสโก้ โลตัส หรือชำระเงินกองทุนเงินทดแทนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ผ่านธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถชำระเงินสมทบโดยวิธีหักบัญชีเงินฝากธนาคาร 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์หน่วยบริการ ได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-Eleven) ที่ทำการไปรษณีย์ ด้วยระบบ pay at post เคาน์เตอร์เซ็นเพย์ บิ๊กซี รวมถึงเทสโก้ โลตัส

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถชำระเงินสมทบโดยวิธีหักบัญชีเงินฝากธนาคาร 9 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นอกจากนี้ ยังสามารถชำระที่หน่วยบริการ ได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-Eleven) เคาน์เตอร์เซ็นเพย์ เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี และตู้บุญเติม ได้อีกด้วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือโทร 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรงให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

ที่มา: ข่าวสด, 19/7/2562

เอกชนค้านขึ้นค่าจ้าง 400 ชี้ไม่ตอบโจทย์ แนะปรับโครงสร้างเงินสมทบกองทุนประกันสังคมชั่วคราว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ว่า ทาง ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วย แต่หากรัฐบาลต้องการช่วยผู้ใช้แรงงานจริง สามารถใช้วิธีปรับโครงสร้างเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเป็นการชั่วคราว 6-12 เดือน จนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้น ซึ่งจะไม่สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการด้วย

ทั้งนี้ปัจจุบันลูกจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนฯ ในอัตรา 5% ของเงินเดือน นายจ้างสมทบ 5% และรัฐสมทบ 2.75% ก็ปรับเป็นรัฐจ่ายสมทบแทนลูกจ้างเป็น 7.75% และนายจ้างสมทบ 5% อย่างไรก็ตาม รู้สึกเห็นใจทั้งสถานประกอบการและผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดเล็ก เนื่องจากเทคโนโลยีที่เข้ามามีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ซึ่งจำเป็นต้องหาทางเพิ่มทักษะให้กับแรงงาน

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน ส.อ.ท. และประธานคณะกรรมการสายงานแรงงาน กล่าวว่า ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาททันที เนื่องจากไม่สามารถตอบโจทย์ใน 3 ประเด็น คือ การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับผู้ใช้แรงงาน การพัฒนาคุณภาพ SMEs เพราะจะเป็นการเพิ่มต้นทุนที่อาจส่งผลให้ต้องปิดกิจการหรือเลิกจ้าง และการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 3.7 ล้านคน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 18/7/2562

รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เผยถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ว่าตอนนี้ยังทำไม่ได้เนื่องจากมีผลกระทบหลายฝ่าย แต่จะพยายามให้ทันปีใหม่นี้

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ถือฤกษ์ดี เวลา 09.09 น. เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ในวันแรกของการทำงานภายใต้ ครม.ประยุทธ์ 2 พร้อมกล่าวถึงนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทที่พรรคร่วมรัฐบาลได้มีการหาเสียงไว้นั้นว่าเรื่องนี้มีผลกระทบหลายส่วนทั้งนายจ้างและเศรษฐกิจระดับมหภาค ต้องให้คณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาก่อน ซึ่งส่วนตัวสนับสนุนอยากให้แรงงานทุกคนได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ยังไม่สามารถขึ้นได้ทันที มองว่าตัวเลขค่าจ้าง 400 บาท แม้จะเป็นเงินไม่มากนัก แต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมหากเกิดเงินเฟ้อขึ้นมา ดังนั้นต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งไม่ใช่เร็วๆนี้ แต่จะพยายามให้ทันก่อนปีใหม่

ส่วนเรื่องการรับมือการอภิปรายนโยบายรัฐบาลนั้น หม่อมราชวงศ์จัตุมงคลบอกอีกว่า ไม่ต้องรับมืออะไรเพราะพรรคตนมีตนเพียงคนเดียวที่เป็นรัฐมนตรี ไม่เหมือนพรรคอื่นที่มีรัฐมนตรีเป็นสิบคน และหากตนมีปัญหาก็ยังมีคนอื่นในพรรคที่เป็นแทนได้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 17/7/2562

กพร.ฝึกฝีมือแรงงานป้อน EEC แล้ว 2,852 คน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือ กพร. เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ดำเนินการฝึกทักษะหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน โดยเน้นย้ำเรื่องคุณภาพเป็นหลักให้เป็นแรงงานคุณภาพ มีทักษะฝีมือที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรม และแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังแรงงานในพื้นที่ EEC โดยจะส่งเข้าไปฝึกงานยังบริษัทที่มีตำแหน่งงานว่าง โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการในเขตพื้นที่ EEC เพื่อให้เจ้าของกิจการ หัวหน้างาน ได้สังเกตพฤติกรรมในการทำงาน รวมถึงทักษะฝีมือ หากตรงตามความต้องการจะรับเข้าทำงานทันที โดยปี 2562 มีเป้าหมายดำเนินการทั่วประเทศจำนวน 5,259 คน ดำเนินการแล้ว 2,852 คน สาขาฝึกประกอบด้วย ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง ช่างอุตสาหการ ช่างกล ช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกสาขาช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ จะได้รับการฝึกควบคุมหุ่นยนต์ในงานเชื่อมอุตสาหกรรมด้วย

ทั้งนี้การอบรมมีหลักสูตรระยะสั้น 18-30 ชั่วโมง และระยะยาว 2-6 เดือน การฝึกระยะยาวเป็นหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่ไม่มีพื้นฐานในสาขาที่อบรม จึงแบ่งการฝึกออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกดำเนินการฝึกในหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่วงที่ 2 จะฝึกภาคปฏิบัติในสถานประกอบกิจการ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกประสบการณ์การทำงาน

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 16/7/2562

กิจการที่อาศัยแรงงานข้ามชาติ บิ๊กบอส TRF เผยดูแลเท่าแรงงานไทย

กิจการที่อาศัยแรงงานข้ามชาติ – นางอำไพ หาญไกรวิไลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย รอแยลฟรอเซนฟู๊ด จำกัด TRF ในฐานะที่มีกิจการการทำงานร่วมระหว่างคนไทยและแรงงานข้ามชาติ เปิดเผยถึงการดูแลคุณภาพชีวิตและการจัดสวัสดิการให้กับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในบริษัท ว่าดูแลเหมือนแรงงานไทยทุกอย่าง คนไทยได้อย่างไร แรงงานต่างด้าวก็ได้อย่างนั้น

ทั้งในเรื่องของสวัสดิการด้านเสื้อผ้าชุดทำงาน ด้านการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ หรือบาดเจ็บจากการทำงาน ค่าแรง และอาหาร รวมถึงเรื่องของการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในช่วงเทศกาลสำคัญ และการพาไปไหว้พระ ท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในยามที่งานมีน้อยอีกด้วย

นางอำไพกล่าวว่า สวัสดิการด้านเสื้อผ้าชุดทำงานนั้น เมื่อมีพนักงานเข้าใหม่บริษัทจะแจกให้ก่อนคนละ 2 ชุด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ ส่วนการรักษาพยาบาลที่ให้กับแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่กว่า 900 คน ก็จะได้สิทธิในการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับคนไทยทุกประการ นอกจากนี้ยังมีทั้งเรื่องของค่าแรงก็จะเริ่มต้นที่ค่าแรงขั้นต่ำในอัตราค่าจ้างของคนไทย มีโอทีให้เหมือนกัน เรียกได้ว่าคนไทยได้แบบไหน แรงงานต่างด้าวก็ได้แบบนั้น

ส่วนเรื่องกินเรื่องเที่ยวนั้นอย่างเช่น ในช่วงปีใหม่บริษัทจะจัดงานเลี้ยงสังสรรค์แจกของรางวัลให้กับพนักงานทุกคน ซึ่งก็จะรวมกันเลยไม่มีแบ่งแยกว่าเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานต่างด้าว ช่วงเวลาที่มีออร์เดอร์ลูกค้าสั่งเข้ามาน้อยๆ คนงานพอมีเวลาว่างบ้างนั้น ทางบริษัทก็จะจัดพาไปเที่ยวทั้งแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทย เช่นไปทะเลด้วยกัน ไปปิดทองไหว้พระด้วยกัน เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สนุกสนานเฮฮาพักผ่อนด้วยกัน ทำให้คนงานเกิดความรักความสามัคคี และยังได้ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจอีกด้วย

นางอำไพกล่าวย้ำว่า ข้อสำคัญหัวใจของนายจ้างคือจะต้องรักแรงงานทุกคนที่ทำงานให้กับเรา เพราะถ้าไม่ได้แรงงานเหล่านี้ กิจการของเราก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ แรงงานทุกคนทำให้กิจการของเราเจริญรุ่งเรือง ซึ่งเราก็ต้องรักและรู้จักที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา นอกจากจะตอบแทนแรงงานด้วยค่าแรงแล้ว ก็ยังต้องดูแลพวกเขาให้เป็นเสมือนคนในครอบครัวเดียวกันคือ ได้กิน ได้เที่ยว ได้พักผ่อน และดูแลสารทุกข์สุขดิบ ช่วยเหลือในยามที่ลูกจ้างเดือดร้อน

ด้าน นายฉียี่ คนงานแรงงานต่างด้าววัย 47 ปี แผนกสรรหาบุคคล ซึ่งทำงานอยู่กับบริษัทฯนี้มานานกว่า 20 ปีแล้วนั้น ก็บอกถึงความรู้สึกที่มีต่อนายจ้างและเพื่อนร่วมงานในบริษัทว่า ที่นี่ให้การดูแลลูกจ้างแรงงานต่างด้าวทุกคนเป็นอย่างดี ไม่เคยกดขี่ข่มเหงแต่อย่างใด แรงงานไทยได้แบบไหนแรงงานต่างด้าวก็ได้แบบนั้น

“ผมรักและดีใจที่ได้เข้ามาทำงานที่นี้ และไม่คิดที่จะไปทำที่อื่น ส่วนเพื่อนๆ แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในบริษัทนี้ ก็มีความสุขที่ได้ทำงานที่นี่เช่นเดียวกัน” นายฉียี่กล่าว

ที่มา: ข่าวสด, 15/7/2562

เครือข่ายผู้ใช้แรงงานเตรียมเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ ติดตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท พร้อมย้ำต้องปรับเท่ากันทั่วประเทศ

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เตรียมขอเข้าพบ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 425 บาท พร้อมย้ำจุดยืนเครือข่ายว่าต้องปรับให้เท่ากันทั่วประเทศ

นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นไปตามโควต้าของพรรคร่วมรัฐบาล มากกว่าพิจารณาความรู้ความสามารถ แต่เมื่อเข้ามาทำงาน ก็ต้องเดินหน้านโยบายที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำ ควรออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะปรับขึ้นเมื่อใด

ที่มา: ThaiPBS, 14/7/2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท