เกษตรกรหลายพื้นที่รวมตัวเรียกร้องแก้ปัญหาภัยแล้ง

เกษตรกรหลายพื้นที่ เช่น 'สุรินทร์-แพร่-กำแพงเพชร-พิจิตร' รวมตัวเรียกร้องแก้ปัญหาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง นาข้าวกว่า 2 แสนไร่ อ.พิมาย กำลังยืนต้นตาย ด้านน้ำประปาพะเยาหากฝนยังไม่ตกเพิ่มจะสามารถใช้ได้อีกประมาณ 4 เดือน 

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมาว่าชาวนาจาก จ.กำแพงเพชร และ จ.พิจิตร ประมาณ 150 คนไปรวมตัวกันที่ถนนหน้าประตูรับส่งน้ำ โครงการชลประทานวังบัว หมู่ 13 ต.เทพนคร อ.เมืองกำแพงเพชร เรียกร้องให้ชลประทานวังบัวเปิดน้ำไปใช้ในการเกษตร เนื่องจากนาข้าวกว่า 1 แสนไร่กำลังได้รับความเสียหาย กระทั่งกลุ่มชาวบ้านรอให้ผู้รับผิดชอบมา เจรจารับเรื่อง แต่รออยู่นานไม่มีใครมา ทั้งหมดจึงปิดถนนทำให้รถสัญจรไปมาไม่ได้

นายวิรุณ ศิริพันธ์ อายุ 37 ปี เป็นประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ อ.บึงสามัคคี จ.กำแพงเพชร ตัวแทนชาวบ้าน เผยว่า ขณะนี้ข้าวกำลังยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ จึงขอให้ชลประทานเปิดน้ำให้สัก 1 เดือนเพื่อให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อน สาเหตุที่ชลประทานวังบัวปิดประตูส่งน้ำจากแม่น้ำปิงช่วงนี้ เนื่องจากกำลังก่อสร้างฝายคลองส่งน้ำตัวใหม่ขยับเข้ามาด้านในของสะพานเพื่อรองรับถนน 4 เลนสายกำแพงเพชร-ท่ามะเขือ ส่วนพื้นที่ที่ต้องใช้น้ำก็ให้ชลประทาน ท่อทองแดงเปิดน้ำส่งมาทางคลองส่งน้ำจาก ต.สระแก้ว มาให้ใช้ แต่มีปัญหาฝนทิ้งนานเกือบ 2 เดือน แล้วทำให้ไม่มีน้ำ ส่วนการสร้างฝายใหม่จะเสร็จตามสัญญาช่วงปลายเดือน พ.ย. จึงต้องการให้เปิด ประตูคลองวังบัวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนา เพราะอีก 20 วัน หากน้ำไปไม่ถึงนา ต้นข้าวจะเสียหายหมดแน่นอน

ต่อมา พ.ต.อ.วรชิต วงศ์จันทร์ ผกก.สภ.เมืองกำแพงเพชร เดินทางมาเจรจากับกลุ่มชาวนา พร้อมประสานผู้เกี่ยวข้องมารับหนังสือร้องเรียน กระทั่งนายจักรพันธ์ จารุวัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาวังบัวเดินทางมารับเรื่อง โดยนายจักรพันธ์ชี้แจงว่า โครงการนี้เป็นงบประมาณของชลประทานจังหวัดกำแพงเพชร จึงต้องคุยกับชลประทานจังหวัดก่อน รวมถึงต้องคุยกับผู้รับเหมาด้วย เพราะถ้าปล่อยน้ำเข้าที่ก่อสร้างจะเสียหาย รวมทั้งระยะเวลาของสัญญาก็ต้องแก้ไขใหม่ด้วยโดยการยืดอายุสัญญาออกไป ส่วนการปล่อยน้ำต้องหาวิธีใช้ทางเบี่ยงหรืออาจเปิดประตูปล่อยน้ำทั้งหมด ต้องพูดคุยรายละเอียดกันก่อน ถ้าคุยกันจบ ก็อาจจะเปิดน้ำได้ในวันสองวันนี้ หลังรับฟังการชี้แจง ชาวบ้านพอใจยอมเปิดถนนและแยกย้ายกลับไป

นาข้าวกว่า 2 แสนไร่ อ.พิมาย กำลังยืนต้นตาย

20 ก.ค. 2562 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่านายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งภายในพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา หลังพบว่านาข้าวของเกษตรกร ในอำเภอพิมาย ประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วงนานกำลังจะยืนต้นตายเกือบ 2 แสนไร่ หลังจากปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆในพื้นที่เริ่มแห้งขอดจนหมด หากฝนไม่ตกลงมาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ นาข้าวทั้งหมดจะได้รับความเสียหาย โดยทางองค์การบริหารส่วนตำบลกระชอน อำเภอพิมาย ได้นำรถบรรทุกน้ำมาแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่าทางจังหวัดเตรียมจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกรภายในสิ้นเดือนนี้ หากฝนไม่ตกจะทำนาข้าวเสียหายทั้งหมด โดยจะจ่ายช่วยเหลือไร่ละ 1,113 บาท โดยจังหวัดนครราชสีมา ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคแล้ว จำนวน 10 อำเภอ 21 ตำบล 40 หมู่บ้าน ซึ่งทางสำนักงานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดนครราชสีมา เร่งเป่าบ่อน้ำบาดาลเก่าที่ไม่ได้ใช้งาน ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง โดยเป่าล้างบ่อบาดาลมาแล้ว จำนวน 86 บ่อ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้น้ำบาดาลได้อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าภัยแล้งขยายพื้นที่ออกไปมากขึ้น และในปีนี้ภัยแล้งรุนแรงและยาวนานกว่าทุกปีที่ผ่านมา จึงขอให้ประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ผ่านวิกฤตภัยแล้งครั้งนี้ไปได้อย่างไม่เดือดร้อนมาก

'ธรรมนัส' รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.พะเยา เร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และหาแนวทางการพัฒนากว๊านพะเยา

20 ก.ค.2562 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่าร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง และผู้บริหารสังกัด กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดพะเยา ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา เพื่อตรวจติดตาม แนวทางการพัฒนาพื้นที่กว๊านพะเยา และติดตามการแก้ไขปัญหากองดินบริเวณ ต.บ้านต๋อม ต.บ้านฉาง และ ต.แม่ใส อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา รวมทั้งตรวจสถานการณ์ภัยแล้งพร้อมทั้งมอบนโยบายการดำเนินงานแก่ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยนายวุฒิชัย เสาวโกมุท รองผู้ว่าราชการจังหวัด, หัวหน้าส่วนราชการ, หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนชาวจังหวัดพะเยา ร่วมต้อนรับเป็นจำนวนมาก 

ทั้งนี้สถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดพะเยาเกิดขึ้นเนื่องจากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน โดยปีนี้พบว่าปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดพะเยาลดลงอย่างต่อเนื่อง เดิมกว๊านพะเยาสามารถกักเก็บน้ำได้โดยเฉลี่ย 33.84 ล้านลูกบาศก์เมตร หลังจากกรมชลประทานได้ก่อสร้าง ฝายพับ ก็ได้ทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้อีกสูงขึ้นอีก 1 เมตร โดยความจุการเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 55.65 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ล่าสุดจากสถานการณ์ภัยแล้ง ส่งผลให้ขณะนี้ ปริมาณน้ำในกว๊านพะเยาเหลือเพียง 9.34 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 27.6 3 ขณะที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมดในจังหวัดพะเยามีทั้งหมด 60 แห่งการกักเก็บรวม 141.45 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำเหลือเพียง 50.198 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 35.49 และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การประปาสาขาพะเยาใช้น้ำจากกว๊านพะเยา เพื่อจ่ายในพื้นที่รับผิดชอบประมาณเดือนละ 700 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันกว๊านพะเยา มีปริมาณน้ำ 9.34 ล้านลูกบาศก์เมตร หากไม่มีฝนตกเพิ่มจะสามารถใช้ได้อีกประมาณ 4 เดือน 

เกษตรกรหลายพื้นที่ 'สุรินทร์-แพร่-พิจิตร' รวมตัวเรียกร้องแก้ปัญหาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง 

20 ก.ค. 2562 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่าในขณะที้มีเกษตรกรหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทางกรมฯได้เร่งแก้ไขปัญหาตามที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการ โดยในส่วนของ จ.แพร่ ที่ก่อนหน้านี้เกษตรกรร้องเรียนและระบุจะรวมตัวลงขันไร่ละ 100 บาทเป็นค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำลงคลองชลประทานเพื่อส่งน้ำเข้าพื้นที่นา พบว่าพื้นที่ ต.ทุ่งแค้ว เป็นพื้นที่ส่งน้ำฝั่งขวาของฝายแม่ยม ปัจจุบันน้ำในแม่น้ำยมแห้งมาก มีอัตราการไหลเพียง 0.36 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้นจึงไม่สามารถไหลเข้าคลองส่งน้ำฝั่งขวาของฝายแม่ยมได้ พื้นที่เพาะปลูกจึงขาดน้ำ ทั้งนี้จะเร่งสำรวจสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่สามารถสูบน้ำได้และจัดรอบเวรการสูบน้ำจากแม่น้ำยมส่งให้พื้นที่ขาดแคลนน้ำ จนกว่าจะมีปริมาณฝนตกมาช่วยเสริมในพื้นที่ แต่จะควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำยมไม่ให้ต่ำลงจนเกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของอำเภอสองด้วย

ที่ จ.สุรินทร์ นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย นำประชาชนประมาณ 1,000 คน เดินทางไปที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ในวันนี้ (20 ก.ค.) พร้อมเครื่องมือเพื่อขุดลอกดิน ในอ่างเก็บน้ำให้สามารถมีพื้นที่กักเก็บน้ำอย่างเพียงพอ ทางสำนักชลประทานที่​ 8 ร่วมกับปลัดจังหวัด ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค รองผู้บังชาการ​กอง​กำลัง​สุรนารี เข้าร่วมหารือ และได้ข้อสรุปว่าจะให้​ความ​สำคัญ ช่วยเหลือน้ำอุปโภค​-บริโภค​เป็น​ลำดับ​แรก​ โดยความต้องการใช้น้ำประปามีวันละ ประมาณ 33,000 ลูกบาศก์เมตรปัจจุบันมีแหล่งน้ำต้นทุน 2 แห่งได้แก่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงและอ่างน้ำตา ซึ่งสามารถใช้น้ำได้จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2562

นอกจากนี้ยังมีการหาแหล่งน้ำสำรองได้แก่ เหมืองหิน ซึ่งมีระยะทางห่างประมาณ 12 กิโลเมตรซึ่ง​ต้องใช้เครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทานและจากของป้องกัน​และ​บรรเทา​สาธารณภัย​จังหวัด​ เพื่อนำน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ซึ่งเหมืองหินดังกล่าว ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ  20 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนกรณีการเจาะบ่อบาดาลนั้น การประปาส่วนภูมิภาคจะเจาะบ่อบาดาล ในพื้นที่ของการประปาเอง 3 บ่อก่อน จากการประเมินเบื้องต้นจะมีปริมาณน้ำ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงต่อ 1 บ่อ รวมแล้วจะได้ปริมาณน้ำประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

อธิบดีกรมชลประทานย้ำว่าโครงการชลประทานทั่วประเทศพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภาวะขาดแคลนน้ำจากฝนทิ้งช่วง แต่ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าต้นเดือน ส.ค. เป็นต้นไป ฝนจะกลับมาตกอีกครั้ง แม้แนวโน้มปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5-10 แต่หากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด รักษากติกาตามแผนการจัดสรรน้ำจะสามารถส่งน้ำจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต ที่สำคัญจะมีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2562 จนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 อย่างแน่นอน

'ประยุทธ์' ยันรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ สั่งการทุกเหล่าทัพสนับสนุนอากาศยาน-กำลังพล ทำฝนเทียมแก้ภัยแล้ง

เว็บไซต์สยามรัฐ รายงานเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2562 ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ จึงได้สั่งการด่วนให้ทุกเหล่าทัพสนับสนุนอากาศยานและกำลังพล เพื่อทำฝนเทียมเพิ่มปริมาณน้ำเหนือเขื่อนและร่วมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำกับฝ่ายพลเรือนแบบบูรณาการ โดยมีเป้าหมายบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายจะต้องระดมสรรพกำลังมาช่วยกัน เพราะปีนี้ฝนทิ้งช่วงยาวนานจึงมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปกติถึง 40% และประเทศเพื่อนบ้านลดการระบายน้ำลงแม่น้ำโขง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจโดยได้ติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประกาศพื้นที่เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ในหลายจังหวัด พร้อมดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น จัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำ ปฏิบัติการฝนหลวง ขุดเจาะบ่อบาดาล เพิ่มความจุแหล่งน้ำ เป็นต้น

ฝนทิ้งช่วงส่งผลเขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำน้อยระดับวิกฤต

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2562 ThaPBS รายงานว่าสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ โดยระบุว่า ขณะนี้หลายเขื่อนมีน้ำใช้การน้อยอยู่ในขั้นวิกฤต เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำใช้การได้ไม่เพียงพอแล้ว, เขื่อนสิรินธร มีน้ำใช้การได้ร้อยละ 2, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ร้อยละ 5, เขื่อนจุฬาภรณ์ ร้อยละ 5, เขื่อนสิริกิติ์ ร้อยละ 6, เขื่อนภูมิพล ร้อยละ 7, เขื่อนแควน้อย ร้อยละ 11, เขื่อนขุนด่านปราการชล ร้อยละ 13, เขื่อนวชิราลงกรณ ร้อยละ 17 และเขื่อนศรีนครินทร์ ร้อยละ 19

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานโครงการชลประทานทั่วประเทศ เร่งช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่โดยด่วน เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้หลายจังหวัดประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบน้ำอุปโภคบริโภค

สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานทั้งประเทศ วางแผนเพาะปลูกรวม 16.68 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้ว 10.77 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 64.55 ของแผน ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนเพาะปลูกข้าวนาปีรวม 7.71 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้ว 6.09 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 78.97 ของแผน จากสภาวะฝนทิ้งช่วงคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำไหลผ่านลุ่มน้ำปิง อ.บรรพตพิสัย และ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลง จะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีแนวโน้มลดลงด้วย

จึงเน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ที่ได้เพาะปลูกไปแล้ว กรมชลประทานจะส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนแต่ละพื้นที่ รวมทั้งขอให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำปิง แม่น้ำน่านและแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดสูบน้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท