Skip to main content
sharethis

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งโคโรลาโดระบุว่าคนตั้งครรภ์ที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งขุดเจาะก๊าซและน้ำมัน มีโอกาสที่จะให้กำเนิดเด็กที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart defects) มากกว่าเดิมร้อยละ 70


ที่มาภาพประกอบ: Kari Bluff (CC BY-ND 2.0)

ทีมนักวิจัยที่นำโดยลิซา แมคเคนซี จากมหาวิทยาลัยแห่งโคโลราโดพบว่าคนตั้งครรภ์ที่อยู่ใกล้กับแหล่งขุดเจาะก๊าซและน้ำมันมีโอกาสมากกว่าเดิมร้อยละ 70 ที่จะให้กำเนิดเด็กที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart defects) สาเหตุเนื่องมาจากสารเคมีที่ถูกปล่อยออกมาจากบ่อน้ำมันและก๊าซจะส่งผลร้ายแรงต่อคนที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ ภายในระยะ 1 ไมล์ (1.609 กม.) ซึ่งมีชาวอเมริกันถึง 17 ล้านคนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งขุดเจาะเชื้อเพลิงเหล่านี้

ผลการวิจัยนี้ได้มาจากการศึกษาข้อมูลจากเด็กเกิดใหม่มากกว่า 3,000 คนในรัฐโคโลราโดระหว่างปี 2548-2554 ซึ่งขบวนการรากหญ้าที่ชื่อว่า โคโลราโดไรซิง (Colorado Rising) ระบุว่ารัฐโคโลราโดเป็นรัฐที่มีแหล่งขุดเจาะทรัพยากรที่ใช้วิธีเจาะชั้นหินด้วยแรงดันน้ำ 60,000 แห่ง ในพื้นที่ๆ มีการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซอย่างหนักมากนั้นมีโอกาสทำให้ผู้ตั้งครรภ์คลอดลูกที่มีภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดได้ร้อยละ 40-70

สื่อคอมมอนดรีมส์ระบุว่างานวิจัยนี้มีความแม่นยำมากกว่ารายงานวิจัยก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อมโยงกันระหว่างการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซกับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยที่นักวิจัยเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ในเดือนที่สองของการตั้วครรภ์ซึ่งเป็นช่วงที่ตัวอ่อนจะเริ่มมีพัฒนาการเกี่ยวกับหัวใจ นอกจากนี้ยังมีการประเมินกิจกรรมความหนาแน่นของการขุดเจาะทรัพยากรเพื่อดูว่าคนตั้งครรภ์เหล่านี้อาศัยอยู่ใกล้แหล่งทรัพยากรมากน้อยเพียงใด รวมถึงพิจารณาเพิ่มเติมด้วยว่าจะไม่มีเรื่องมลภาวะทางอากาศจากแหล่งอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวกับผลการทดลอง

นักชีววิทยา ซานดรา สไตน์กราเบอร์ เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่พูดถึงอันตรายจากการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากซากดึกดำบรรพ์ เธอบอกว่างานวิจัยล่าสุดนี้ชี้ให้เห็นว่าการปล่อยให้มีการขุดเจาะทรัพยากรใกล้กับชุมชนจะเป็นอันตรายต่อสุขภาวะของผู้คน สไตน์กราเบอร์ระบุอีกว่างานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ต่อยอดจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่แต่เดิมในเรื่องที่สารเคมีจากการขุดเจาะทรัพยากรเหล่านี้มีอันตรายต่อสุขภาพของเด็กในครรภ์

สไตน์กราเบอร์ชี้ว่าก่อนหน้านี้เคยมีผลการวิจัยที่ระบุถึงผลกระทบจากการขุดเจาะก๊าซและน้ำมันที่มีต่อสุขภาพหัวใจของเด็กทารกแต่ไม่ได้พิจารณาในเรื่องการตั้งครรภ์ร่วมด้วย เธอบอกว่างานวิจัยนี้สำคัญเพราะมีการพิจารณาถึงช่วงที่เริ่มมีการพัฒนาหัวใจของตัวอ่อน ทำให้เห็นว่าการขุดเจาะทรัพยากรเหล่านี้ส่งผลต่อคนตั้งครรภ์ที่อยู่ใกล้เคียงได้

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือ CHDs นั้นเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เด็กทารกที่มีความผิดปกติมาแต่กำเนิดเสียชีวิต และมักจะทำให้เด็กไม่สามารถเติบโตได้ มีการบาดเจ็บในสมอง รวมถึงมีปัญหาด้านพัฒนาการ

งานวิจัยฉบับนี้เปิดเผยออกมาในช่วงที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีแผนการเปิดพื้นที่ 725,000 เอเคอร์ (ราว 2,934 ตร.กม.) ในแคลิฟอร์เนียให้กับบริษัทขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ นับตั้งแต่ทรัมป์เข้าสู่ตำแหน่งก็มีการเปิดพื้นที่ทั้งทางน้ำและทางบกให้กับการขุดเจาะทรัพยากรเหล่านี้รวมแล้ว (ราว 1,530,000 ตร.กม.)

สไตน์กราเบอร์เรียกร้องให้คนที่ต่อต้านการขุดเจาะเชื้อเพลิงพลังงานซากดึกดำบรรพ์สดงออกต่อต้านโดยการร้องเรียนต่อนักการเมืองและเขียนจดหมายถึงบรรณาธิการสื่อต่างๆ นอกจากนี้สไตน์กราเบอร์ยังเปิดเผยอีกว่า แมคเคนซี ผู้นำทีมวิจัยเรื่องผลกระทบดังกล่าวถูกตั้งเป้าหมายโจมตีจากบรรษัทก๊าซและน้ำมันยักษ์ใหญ่มาเป็นเวลาหลายปีในช่วงที่พวกเขาต่อสู้เพื่อให้ได้วิจัยในเรื่องนี้


เรียบเรียงจาก
Babies Born Near Oil and Gas Wells Are Up to 70% More Likely to Have Congenital Heart Defects, New Study Shows, Common Dreams, 19-07-2019
https://www.commondreams.org/news/2019/07/19/babies-born-near-oil-and-gas-wells-are-70-more-likely-have-congenital-heart-defects
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net