คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยแถลงข้อเสนอ 11 ข้อ ขอให้มีการปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นระบบ

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ชุดใหม่ แถลงข้อเสนอ ครป. 11 ข้อ เช่น ขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขความผิดพลาดในการแต่งตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน มีการปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นระบบ และให้รัฐบาล รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐ เคารพและยอมรับนับถือหลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรมอันเป็นรากฐานที่สำคัญของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

21 ก.ค. 2562 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ชุดใหม่ ได้จัดเวทีแถลงข่าว ข้อเสนอ ครป.ต้อคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ 2 และรัฐบาลใหม่ โดยนายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. ได้แถลงข้อเสนอ ครป. 11 ข้อ ดังต่อไปนี้

ข้อเสนอ ครป. ต่อคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ (2) ในฐานะรัฐบาลใหม่

หลังจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ใช้กำลังทหารยึดอำนาจการปกครองและบริหารประเทศมากว่า 5 ปี จนมีการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งได้มีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรีมาบริหารบ้านเมืองซึ่งทำให้เจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนถูกบิดเบือน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ชุดใหม่ (2562-2564) ได้ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยด้วยความห่วงใย เนื่องจากองค์ประกอบของรัฐบาลใหม่มีแนวโน้มผูกขาดอำนาจการบริหารโดยกลุ่มบุคคลเดิมเป็นหลัก ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นอกจากจะมีข้อสงสัยในเรื่องความสามารถแล้ว ยังขาดความจริงจังต่อการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การผูกขาดทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำและความยากจนเชิงโครงสร้าง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน การปฏิรูปการศึกษา การสร้างรัฐสวัสดิการและบริการสาธารณะ การแก้ปัญหาคนจนและที่ดินทำกินอย่างเป็นระบบ เป็นต้น กระนั้นก็ตาม ภายใต้บริบทการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นจากเดิม จากการมีสภาผู้แทนราษฎรและการที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งมีพรรคการเมืองผสมอยู่บ้าง ครป. คาดหวังว่า ผู้แทนปวงชนทั้งที่อยู่ในสภานิติบัญญัติและรัฐบาลจะผสานพลังกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยที่ยึดโยงด้วยหลักธรรมาภิบาล คุณธรรม และจริยธรรมทางการเมืองมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยย้อนกลับไปสู่วังวนของความขัดแย้งที่รุนแรงดังที่เกิดในอดีตอีก ครป.จึงนำเสนอแนวทาง 11 ประการ ซึ่งมีทั้งข้อเสนอที่ให้รัฐบาลนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด และข้อเสนอสำหรับขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืน ดังนี้

1. ครป. ขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขความผิดพลาดในการแต่งตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน โดยปรับเปลี่ยนบุคคลที่มีคุณสมบัติที่หมิ่นเหม่ต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และกรอบมาตรฐานทางจริยธรรมตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ออกจากการเป็นรัฐมนตรีโดยเร็วพลัน อันได้แก่ บุคคลที่เคยอยู่ในบัญชีผู้มีอิทธิพลของหน่วยงานรัฐ เคยต้องโทษจำคุก ถูกร้องเรียนและกำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) บุคคลที่ต้องสงสัยว่าประพฤติมิชอบเกี่ยวกับการให้กู้เงินแก่บริษัทเอกชน บุคคลที่มีชื่อเสียงอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการของรัฐ และบุคคลที่เป็นเครือญาติใกล้ชิดของผู้มีอิทธิพล เพราะหากบุคคลเหล่านี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ย่อมทำให้คณะรัฐมนตรีขาดความชอบธรรม และอาจเป็นชนวนของความขัดแย้งทางการเมืองได้ในอนาคตอันใกล้

2. ครป. ขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและสร้างความสมานฉันท์ของสังคม โดยยึดแนวทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 หมวด 6 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐอย่างจริงจัง อันได้แก่ การส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ การจัดทำบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใดบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน สำหรับนโยบายที่รัฐพึงดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงเริ่มต้นการบริหาร เช่น การสร้างกลไกหรือจัดตั้งหน่วยงานเพื่อส่งเสริมการศึกษาทางการเมืองของพลเมือง (Civic Education)  และหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการใช้ประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน 

3. ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อาจขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิชุมชนโดยเร่งด่วน  เช่น คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 ที่ให้อำนาจทหารในการค้น จับกุม กักตัว และสอบสวนคดีความมั่นคง ฉบับที่ 74/2559 เรื่องการให้นำที่ดินสาธารณสมบัติ มาทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฉบับที่ 3/2559 การยกเว้นผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฉบับที่ 31/2560 การให้นำที่ดิน ส.ป.ก.มาใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นได้ เป็นต้น  

4. ครป. ขอเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการค้า และสนับสนุนการค้าที่เป็นธรรมอย่างเป็นระบบโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการใช้มาตรการเพิ่มภาษีต่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพต่อการกระทำที่เข้าข่ายผูกขาดหรือครอบงำตลาดของบริษัทขนาดใหญ่ ประกาศมาตรการที่ป้องกันและไม่อนุญาตให้เอกชนกลุ่มใดถือครองตลาดในด้านนั้นๆ เกินกึ่งหนึ่งของตลาด แก้ไขกฎหมายภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สิน โดยเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบันและขึ้นแบบขั้นบันใด เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และการส่งเสริมทุนธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายสำคัญ

5. ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีธรรมาภิบาล มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเข้มงวด โดยให้มีการลงนามปฏิญญาต้านคอร์รัปชั่นของคณะรัฐมนตรี ข้าราชการในระดับปลัดกระทรวงฯ อธิบดีทุกกรม และผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ซึ่งมีอำนาจในการเซ็นสัญญาต่างๆ ร่วมกันทั้งหมด และให้มีการทบทวนทุกโครงการที่ไม่โปร่งใสในรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่างตอบแทนกับกลุ่มทุนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการประชารัฐ โครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสัมปทานพื้นที่ในสนามบินต่างๆ การให้การส่งเสริมการลงทุน (BOI) แก่เอกชนบริวารโดยมิชอบและไม่รู้จบ รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ฯลฯ การแก้ปัญหาธรรมาภิบาลต้องให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐได้ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของรัฐทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นทั้งระบบ ประเทศไทยควรตั้งองค์การจัดซื้อจัดจ้างกลางเพียง 1 องค์กรเท่านั้นเพื่อดำเนินการทำให้ทุกหน่วยราชการตามแบบแผนแม่บทขององค์การสหประชาชาติ

6. ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาล รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐ เคารพและยอมรับนับถือหลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรมอันเป็นรากฐานที่สำคัญของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย กำหนดนโยบายและมาตรการทั้งทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะด้านสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง และสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม สิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน และสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง เป็นต้น รวมทั้งการตรากฎหมายอนุวัติการเพื่อให้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับมีผลบังคับเป็นกฎหมายในประเทศ ยกเลิกบรรดากฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขัดหรือแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรม ไม่ว่าจะเป็นประกาศ/คำสั่งของ คสช. และพระราชบัญญัติที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกหลายฉบับ คุ้มครองและยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defender) รวมทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย หรือการคุกคามโดยใช้มาตรการทางกฎหมาย (Judicial Harassment and SLAPP) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เป็นไปตามหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่ต้องแยกงานสอบสวนออกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของอัยการตามหลักสากล นำหลักความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice-TJ) และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice-RJ) มาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของคนในชาติ ทั้งความขัดแย้งระดับชาติและในจังหวัดชายแดนใต้ นิรโทษกรรมข้อหาความผิดทางการเมืองและทางความคิด เพื่อสร้างการปรองดองของคนในชาติ

7. ครป. ขอเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจการปกครองไปยังจังหวัดตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองภายใต้หลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นอย่างจริงจัง โดยเร่งรัดให้มีการตรา “พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น” ซึ่งกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 249 ในหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นโดยเร็ว โดยมีสาระสำคัญคือ (1) ให้จังหวัด “ที่มีความพร้อม”เป็นองค์การปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ในระดับบนและมีเทศบาลเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับล่างในจังหวัด (2) ไม่ให้มีหน่วยงานสังกัดราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัด เว้นแต่หน่วยงานเชิงประสานงาน กำกับดูแลหรือวิชาการ (3) ให้ราชการส่วนกลางตัดโอนภารกิจ อำนาจและหน้าที่ไปยังจังหวัดให้สามารถจัดทำบริการสาธารณะและภารกิจอื่นได้กว้างขวางขึ้นในเขตจังหวัดแต่ไม่ครอบคลุมภารกิจด้านกระบวนการยุติธรรม การคลัง การต่างประเทศและความมั่นคง (4) ให้มีสภาพลเมืองในระดับจังหวัดและเทศบาลเพื่อทำแผนพัฒนา ร่วมจัดสรรงบประมาณ ให้คำเสนอแนะ รวมทั้งถ่วงดุลตรวจสอบฝ่ายบริหารและสภาท้องถิ่น (5) ให้ประชาชนเลือก “ผู้บริหารจังหวัด”(ผู้ว่าราชการจังหวัด) (6) ให้จังหวัดฯ มีอำนาจจัดเก็บภาษีเพื่อหล่อเลี้ยงท้องถิ่นเองได้มากขึ้น รวมทั้งได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอบนหลักการทำงบประมาณโดยอิงฐานพื้นที่ (Area Base) (7) ให้มีคณะกรรมการจัดการท้องถิ่นแห่งชาติขึ้นทำหน้าที่ในการกำกับดูแล ตรากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง กำหนดนโยบายพัฒนาการกระจายอำนาจ วินิจฉัยปัญหา ให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับจังหวัด ฯลฯ (8) ให้ที่มีอำนาจหน้าที่ บุคลากรและงบประมาณเพียงพอในการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดให้ทันกับยุคแห่งการอภิวัฒนาการของเทคโนโลยี (9)มีการจัดตั้งตำรวจจังหวัดโดยโอนย้ายโครงสร้างตำรวจไปสังกัด “ผู้บริหารจังหวัด” และแก้ไขระบบการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจด้วยระบบอาวุโสและผลงาน ฯลฯ

8. ครป. ขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานอย่างจริงจัง กระทรวงแรงงานต้องเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นผู้แทนของกลุ่มนายทุน  ข้อเสนอเรื่องแรงงานต้องได้รับการแก้ปัญหาและสร้างรัฐสวัสดิการแก่ประชาชนอย่างเป็นระบบ ประเทศไทยมีรัฐวิสาหกิจมากมายที่เพียงพอแก่การดูแลและบริการสาธารณะ รัฐบาลต้องไม่แปรรูปและหาผลประโยชน์กำไรจากสินทรัพย์ของรัฐไปให้เอกชนตามแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ควรเน้นการแก้ปัญหาทางโครงสร้างสวัสดิการของคนงาน บนฐานของงานที่ดีและมีคุณค่า (Decent Work) และการหารายได้เพื่อจัดรัฐสวัสดิการโดยการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้าซึ่งเป็นภาษีทางตรงและลดความเหลื่อมล้ำกับคนส่วนใหญ่ได้โดยตรง

9. ครป. ขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษาโดยการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาทุกระดับ ทุกมิติและทุกคุณภาพ สนับสนุนชุมชนจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสังคมในพื้นที่  สนับสนุนการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สังคมและการเมือง และยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาสังคมไทยและการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่สัมพันธ์กับมนุษยชาติ รัฐบาลควรลงทุนในทรัพยากรมนุษย์โดยเน้นพัฒนาทักษะในการคิด การวิเคราะห์ และการปฏิบัติ ควบคู่กับการเติบโตด้านคุณธรรม ภูมิปัญญา และมีวุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ การศึกษาสมัยใหม่ต้องมีบทบาทมากขึ้นในการทำให้พลเมืองสามารถเลือกทางแนวทางดำรงชีวิตได้ว่า เขาจะดำรงชีวิตอยู่ภายใต้วัฒนธรรม ความเชื่อและบรรทัดฐานการปฏิบัติแบบใดในสังคม พร้อมกับที่เข้าใจ ยอมรับและเคารพในวีถีชีวิตที่แตกต่างของผู้อื่น ตามแนวทางสังคมพหุวัฒนธรรม

10. ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐมนตรีทุกกระทรวงแก้ปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการพัฒนาหรือโครงการขนาดใหญ่ของรัฐโดยเร่งด่วน เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาการถูกแย่งชิงทรัพยากรโดยกลุ่มทุน ปัญหาประมงพื้นบ้าน ปัญหาราคาพืชผลทางเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สินเกษตรกรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) หรือสหกรณ์การเกษตรประจำอำเภอต่างๆ ที่เป็นปัญหาวิกฤตเฉพาะหน้าในปัจจุบัน ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการปกป้องทรัพยากรส่วนรวมจากการแสวงหาผลประโยชน์ของโครงการที่ไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่  ต้องมีการออกกฎหมายปฏิรูปที่ดินโดยกำหนดขอบเขตจำนวนพื้นที่การถือครองที่ดินแบบพอเพียง เพื่อป้องกันการถือครองที่ดินแบบเกินของกลุ่มทุนอันเป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

11. ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาล รัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา พรรคการเมืองทุกพรรคและประชาชนทุกฝ่ายประสานพลังและร่วมมืออย่างจริงจังเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า โดยร่วมกันผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างมีประสิทธิผล  ปรับเปลี่ยนอำนาจและบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาให้สอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตย และการปฏิรูปกองทัพให้เป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองดังในนานาอารยะประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีเกียรติภูมิในประวัติศาสตร์การเมืองโลกและเปี่ยมด้วยพลังในก้าวสู่อนาคตอย่างแข็งแกร่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท