ประมวล เพ็งจันทร์ กับ ‘ธรรมาวุธทางการเมือง’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ ผมไม่รู้ครับว่าในอนาคตอีกสามเดือนข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น

แต่ผมเชื่อว่าจะเกิดสิ่งที่มีความหมายดีงามและงดงามขึ้นแน่นอน

ขอให้พวกเราได้โปรดภาคภูมิใจว่าพวกเราได้มีส่วนร่วมอภิเษก

ความหมายนั้นให้เกิดขึ้นในสังคมไทย “

ข้อความของประมวล เพ็งจันทร์ ตอนสรุปท้ายคลิปนี้

https://www.youtube.com/watch?v=4b4RVLjDUDY&fbclid=IwAR2y80mEWuE01O3wIv5ch1pX5fSVbIARFjErArqWGLvrCzuPwl8h_8KqS-g

ข้างบนคือข้อความที่อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ กล่าวสรุปท้ายในการสนทนาเรื่อง “สันติอหิงสา จะช้าไปไหมกับสังคมยุคนี้” ในงานพุทธาภิเษกฯ เวทีผ่านฟ้าลีลาศ อันเป็นที่ชุมนุมของชาวอโศกเพื่อเรียกร้อง “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ดำเนินรายการโดย สมณะเดินดิน ออกอากาศทาง FMTV วันที่ 11 ก.พ. 2557

หลังจากนั้นราวสามเดือนเศษก็เกิดรัฐประหารโดย คสช.ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สมณะโพธิรักษ์ได้นิยาม “ความหมายที่ดีงามและงดงาม” นั้นว่าเป็น “อาริยะประชาธิปไตย” ขณะที่ต่อมาประยุทธ์ จันทร์โอชาบอกว่าเป็น “ประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์” จนวันนี้กว่า 5 ปีผ่านไป สันติอโศกยังสนับสนุนรัฐประหารและประยุทธ์เสมอต้นเสมอปลาย ล่าสุดบุคคลผู้มีชื่อเสียงของชาวอโศกออกมาโจมตี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ด้วยข้อกล่าวหา “ล้มเจ้า” ตามกระแสของฝ่ายตรงข้ามที่พุ่งเข้าใส่แกนนำอนาคตใหม่

แต่ที่ไม่ปรากฏเลยคืออาจารย์ประมวล เราจึงไม่ทราบว่าตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จนถึงวันนี้เขามองรัฐประหารที่เกิดขึ้นและผลพวงทั้งหมดที่ตามมาเป็น “ความหมายที่ดีงามและงดงาม” แบบเดียวกับสมณะโพธิรักษ์และชาวอโศกหรือไม่อย่างไร

ทำไมผมต้องหยิบเรื่องที่ผ่านไปแล้วขึ้นมาวิจารณ์ สารภาพว่าผมเพิ่งได้ดูคลิปนี้ เมื่อตั้งใจฟังจนจบ ทำให้ผมนึกถึงการวิเคราะห์ที่ว่า “รัฐประหารยุคนี้ไม่ได้เกิดง่ายๆ หากประชาชนไม่สนับสนุน” และเมื่อคิดทบทวนต่อไปก็เห็นว่า ในมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารไม่ว่าจะ พธม.และ กกปปส.มีการใช้ “ธรรมาวุธ” มากเป็นพิเศษ

จริงอยู่มีพระบ้านๆ ร่วมชุมนุมกับเสื้อแดงจำนวนมาก แต่ไม่ปรากฏ “ธรรมาวุธ” หรือไม่มีวาทกรรมธรรมนำหน้า, ธรรมาธิปไตย, คุณธรรม, คนดี และอื่นๆ อย่างชัดเจนเหมือน พธม.และ กปส. เสื้อแดงสนับสนุนทักษิณจริงแต่สนับสนุนบนการยืนยัน “การกระบวนการประชาธิปไตย” เป็นด้านหลัก วาทกรรมหรือโวหารทางพุทธศาสนาจึงไม่ปรากฏชัดเจน

อันที่จริง ผมพอจะเข้าใจว่า พุทธศาสนาแบบรัฐและแบบกระแสนิยมของชนชั้นกลางในที่สุดก็หนีไม่พ้นการเป็น “พุทธชาตินิยม” หรือ “พุทธสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม” อยู่แล้ว แต่ที่คาดไม่ถึงคือพุทธในแบบอาจารย์ประมวล เป็นพุทธเชิงปัจเจกบุคคลที่หลุดออกไปจากกระแสหลักแล้ว ในเรื่องการเมือง หากจำไม่ผิดผมเคยสัมภาษณ์ อาจารย์ประมวลบอกว่าตนเองเป็น “คนนอก” ของฝ่ายต่างๆ ทางการเมืองแล้ว แต่ในคลิปนี้อาจารย์ประมวลเข้าร่วมกับฝ่ายเสื้อเหลืองโดยบอกว่าตนเองมา “ร่วมประท้วง” แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาเป็น “สี” อะไรหรือไม่ หากอยู่ที่ “ธรรมาวุธ” ที่เขาปล่อยออกมา ซึ่งผมขอคัดมาให้อ่านโดยละเอียดดังต่อไปนี้

อาจารย์ประมวลอธิบายอหิงสาผ่านกรอบคิด “กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม” สำคัญที่สุดคือมโนกรรม “ถ้าเรามีจิตโกรธ ปรารถนาให้คู่ขัดแย้งพินาศฉิบหาย แปลว่าเราละเมิดวิถีแห่งอหิงสาในส่วนที่เป็นมโนกรรมแล้ว” “เราไม่ควรรังเกียจคนคอร์รัปชัน แต่รังเกียจพฤติกรรมที่คอร์รัปชัน” “ปฏิบัติต่อคนทำผิดดังมารดาปฏิบัติต่อบุตร”

พูดที่เวทีลุมพินีเมื่อหลายเดือนก่อนแล้วมาตอกย้ำที่นี่อีกว่า “การที่เรามาประท้วงไม่ใช่การกระทำที่ธรรมดาแต่คือการที่เรามาบำเพ็ญบารมี มาบ่มเพาะคุณธรรม มาปฏิบัติธรรม เป้าหมายสำคัญไม่ใช่เพื่อชนะคู่ปรปักษ์แต่เพื่อเอาชนะจิตของเราเองด้วย...”

ก่อนจะมีอหิงสา ต้องมีสัตยาเคราะห์ก่อน สัตยาเคราะห์ก็คือการที่เราจะประกาศความจริงให้ปรากฏ...ว่าความจริงที่ทุจริตกับสุจริตมันต่างกันอย่างไร และเราดำเนินอยู่บนความจริงที่สุจริต...

ทักษิณทำบาป เราไม่ได้เกลียดเขา แต่มาบอกความจริงว่าเขาทำบาปเพื่อช่วยเขา เปรียบเทียบเคสนี้เหมือนแม่ที่รักลูกห่วงลูกที่ติดยาเสพติดแล้วไปแจ้งตำรวจมาจับลูก

นั่งดูทีวีที่อินเดียเห็นผู้สื่อข่าวอัลจาซีราถาม “ท่านนำนันสุเทพ” ว่า “ถ้ารัฐบาลไม่ลาออกแล้วจะทำอย่างไร ท่านกำนันสุเทพบอกว่าไม่ใช่มาถามผม ให้ไปถามประชาชน” เล่าเรื่องน้าสาวอายุแปดสิบกว่าจากเกาะสมุยจะมาชุมนุมกับท่านกำนันสุเทพด้วยความตื้นตันใจ “ประชาชนเหล่านั้นมีน้าสาวผมด้วย” ผมรีบบอกพี่ชายว่าให้บอกน้าสาวว่าให้อยู่ที่บ้าน “ผมจะประท้วงให้เอง...ผมไม่รู้ว่าอีกสองสามเดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ผมมั่นใจว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างแน่นอนด้วยวิถีสันติอหิงสาที่พวกเราปฏิบัติกันอยู่ เพราะปรากฏการณ์ที่เรากำลังปฏิบัติกันอยู่นี้ผมไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในชีวิต”

เราจะเปิดเผยความจริงที่เป็นสัตยาเคราะห์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ยิ่งพวกเราที่ทำหน้าที่เปิดเผยความจริงยิ่งต้องภาคภูมิใจว่ายิ่งนานไปความจริงที่เปิดเผยยากมันจะเปิดเผยมากขึ้นในกาลเวลาที่ผ่านไป

พูดถึงคนเสียชีวิตที่อุทิศชีวิตเพื่อการต่อสู้ ทำสิ่งที่ทำได้ยากเหมือนพระโพธิสัตว์กำลังบำเพ็ญบารมี อ้างพระราชนิพนธ์พระมหาชนกมาสนับสนุนการต่อสู้

สดุดีสุเทพอย่างยิ่งว่า “ท่านกำนันสุเทพตอบเองแล้วนะครับว่าท่านสัมผัสมือของประชาชนจำนวนไม่รู้ว่ากี่ร้อยกี่พันกี่หมื่น สัมผัสมือไม่เท่าไรครับ สัมผัสใจ โอบกอดประชาชนจำนวนมากต่างเพศต่างวัย นี่คือสิ่งพิเศษที่สุดที่เมื่อใครสามารถมีโอกาสสัมผัสเช่นนี้ได้มันจะมีการสัมผัสใจของมวลมหาประชาชน เมื่อเราสัมผัสใจของประชาชนผมเชื่อว่าทุกคนสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้...” เปรียบเทียบขวนการต่อสู้เหมือนพิธีพุทธาภิเษกบ่มเพาะความเป็นพุทธะขึ้นในจิตใจของประชาชน  

“ผมพบคน 116 คน ในการเดินทาง ท่านกำนันสุเทพเจอคนพบคนในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้เป็นจำนวนหมื่น จำนวนแสน คนเป็นล้านนี่ท่านคงไม่ได้สัมผัสทุกคนใช่ไหมครับ และผมรู้เลยว่านั่นคือปรากฏการณ์พิเศษมหัศจรรย์ และปรากฏการณ์พิเศษนี้สามารถอภิเษกความเป็นมนุษย์ ต้องใช้คำว่ามนุษยาภิเษก อภิเษกความเป็นมนุษย์ให้ปรากฏขึ้นในใจของนักการเมืองคนหนึ่ง และทันทีที่เรามีความเป็นมนุษย์ปรากฏขึ้นในจิตใจ เราจะเคารพในความเป็นมนุษย์และมีพลังที่จะทำเพื่อเพื่อนมนุษย์...”

เปรียบการมีอำนาจของนายก ฯยิ่งลักษณ์(ที่มาจากการเลือกตั้ง) กับการมีอำนาจของสุเทพว่า สุเทพคือผู้มีอำนาจที่แท้จจริงที่เกิดจากความไว้วางใจของมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช่อำนาจแค่ตามกฎหมาย การมีอำนาจที่แท้จริงของสุเทพ เปรียบกับการมีอำนาจจากศรัทธาของผู้คนอย่างมหาตมะ คานธี “นักการเมืองที่ไม่ต้องการอำนาจแล้วถึงจะมีอำนาจ” ท่านกำนันสุเทพจะเป็นที่จดจำไปอีกนาน และเราทุกคนคือส่วนหนึ่งในความหมายของการต่อสู้นั้นที่จะถูกจดจำไปอีกนาน

ทั้งหมดนั้นคือถ้อยคำอันยืดยาวของอาจารย์ประมวลที่เต็มไปด้วยธรรมาวุธ แต่เป็นธรรมาวุธที่สร้าง “มายาคติ” อย่างไม่น่าเชื่อ ผมไม่สงสัยในความเป็น “คนดี” หรือความเป็นผู้มุ่งแสวงหาคุณค่าความเป็นมนุษย์จาก “ด้านใน” และไม่สงสัยใน “เจตนาดี” ต่อบ้านเมืองของอาจารย์ประมวล

แต่อาจารย์ประมวลไม่ใช่ “ผู้ไร้เดียงสาทางการเมือง” เขาเป็นอดีตอาจารย์สอนปรัชญา เป็นนักกจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เคยร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นต้น และไม่น่าจะความจำสั้นว่า พธม.ที่ส่วนมากแปรมาเป็น กปปส.กับสันติอโศกเคยสนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และสุเทพก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้กำลังสลายการชุมนุมเกือบร้อยศพในปี 2553 สุเทพคนเดียวกันนี้จะเปลี่ยนมาเป็น “คานธี” เพียงชั่วข้ามคืนได้อย่างไร

อาจารย์ประมวลพูดถึง “การประกาศความจริง” ของมวลชนที่อ้างชาติ ศาสน์ กษัตริย์ในการต่อสู้ทางการเมือง แต่เขาไร้เดียงสาขนาดไม่รู้เลยหรือว่า ชะตากรรมของนักกิจกรรม นักวิชาการที่ต่อสู้เพื่อจะมี “เสรีภาพ” ในการพูดความจริงนั้น พวกเขาต้องคดี ติดคุก หนีไปลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศกี่ร้อยคน คุณไปยืนยันฝ่ายสนับสนุนอำนาจที่ปิดกั้นเสรีภาพในการพูดความจริงว่าเป็นฝ่ายต่อสู้เพื่อประกาศความจริงได้อย่างไร

อ้างว่าประชาชนสนับสนุนสุเทพ แล้ว “ประชาชนส่วนใหญ่” ที่สนับสนุนพรรคการเมืองตรงข้าง “ผ่านการเลือกตั้ง” พวกเขาไม่ใช่ “ประชาชน” หรือครับ คนที่ถูกฆ่าเกือบร้อยศพในปี 2553 ไม่ใช่ประชาชนหรือ หากประชาชนฝ่ายไหนๆ จะสนับสนุนทางการเมืองจำเป็นต้องสนับสนุนผ่าน “กระบวนการที่ชอบธรรม” ตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

พูดถึง “ความเป็นมนุษย์” และ “เคารพความเป็นมนุษย์” ด้วยวาทกรรมทางพุทธสาสนา ทำให้เกิดคำถามว่าความเป็นมนุษย์ในความหมายของพุทธธรรม ไม่ยึดโยงกับหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยเลยเช่นนั้นหรือ

เปรียบเทียบการจัดการกับนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชัน เหมือนพ่อแม่แจ้งำตรวจให้มาจับลูกที่เสพหรือค้ายาเสพติด แล้วอาจารย์ประมวลไม่ตั้งคำถามเลยหรือว่าการแจ้ง “ทหาร” มาทำรัฐประหารจัดการนักการเมืองที่ถูกกล่าวหานั้น มันถูกตามหลักนิติธรรมและชอบธรรมตามครรลองประชาธิปไตยหรือไม่

อาจารย์ประมวลรู้ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า มวลชนที่ตนเองใช้ธรรมสนับสนุนนั้น อ้างอุดมการณ์ที่ขัดกับหลักเสรีภาพ, สนับสนุนรัฐประหารมาแล้ว, เพิ่งทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และกำลังเรียกร้องกระบวนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งที่เป็นกระบวนการพิเศษจากกระบวนการประชาธิปไตยที่ “คนส่วนใหญ่” ยืนยัน ดังนั้น ธรรมที่อาจารย์พูด เจตนาดี จิตใจบริสุทธิ์ ความปรารถนาดีอะไรก็แล้วแต่ที่หลั่งล้น พรั่งพรูสนับสนุน “ท่านกำนันสุเทพ” และมวลมหาประชาชนนั้น มันจึงมีความหมายเป็นเพียง “ธรรมาวุธ” คือ การใช้ธรรมเป็นอาวุธนำทางกองกำลังติดอาวุธและขบวนรถถังออกมาทำรัฐประหารเท่านั้น

ผมไม่ทราบว่าหลังเกิดรัฐประหาร และเกิดปัญหาทำลายระบอบประชาธิปไตยกว่าห้าปีที่ผ่านมาจนกระทั่งเผด็จการสืบทอดอำนาจต่อ อาจารย์ประมวลคิดอย่างไร แต่ที่รู้แน่ชัดคือสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของผมและประชาชนทุกคน แม้กระทั่งของอาจารย์ประมวลถูกปล้นไปแล้ว ไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลาต่อสู้อีกยาวนาน ผ่านความเจ็บปวดและสูญเสียอีกมากเท่าใดถึงจะได้คืน

ความน่าเศร้าสำหรับผมคือ บรรดานักบวชและฆราวาสผู้รู้พุทธศาสนาในประเทศนี้ ถ้าไม่เมินเฉยต่อประชาชนที่ถูกล้อมปราบกลางเมืองหลวง ราวกับว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่ “ประชาชน” หรือ “ไม่มีความเป็นคน” แล้ว พวกเขาเหล่านั้นก็มักสร้างธรรมาวุธสนับสนุนความรุนแรงทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา เมื่อเกิดรัฐประหารและความรุนแรงขึ้นแล้วพวกเขาก็เหาะหาย “ลอยนวล” เข้ากลีบเมฆ ไม่เคยแสดงความสำนึกผิดและขอโทษประชาชนเลย

เพราะเชื่อกันจนหัวฝาว่าพวกตนทำดี ทำถูก ทำในนามธรรมะ ด้วยเจตนาดี จิตใจบริสุทธิ์ ไม่โกรธ ไม่เกลียด แต่นี่แหละคือ “ความเลือดเย็น” ถึงที่สุด กระทั่งบอกว่ารัฐประหารเป็นอารยะประชาธิปไตย และเลือดเย็นด้วยการไม่แสดงสำนึกผิดใดๆ เท่ากับไม่เห็นหัวประชาชนที่ต้านรัฐประหารที่ต้องคดี ถูกจับติดคุก หนีไปนอกประเทศ ถูกอุ้มฆ่า อันเป็นผลพวงจากรัฐประหารที่พวกตนสนับสนุน

มีธรรมะแต่ไม่แสดงความสำนึกผิดในสิ่งที่ทำลงไป ก็คือ “ธรรมเลือดเย็น” รัฐประหารเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีประชาชนสนับสนุน แต่ประชาชนที่สนับสนุนรัฐประหารไม่ได้ยืนยันสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองอย่างถึงที่สุด พวกเขายืนยัน “ธรรม” แต่ก็เป็นเพียงธรรมาวุธและธรรมเลือดเย็น

ถามว่า หากคุณ “ซื่อตรง” ต่อการ “ประกาศความจริง” และเห็นคุณค่าของความจริง ความสุจริตดังที่พูดกันบนเวที แล้วคุณทนนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไรภายใต้อำนาจรัฐประหารที่ล้วนแต่ทำสวนทางกับสิ่งที่คุณกล่าวอ้าง หรือพุทธศาสนาสอนให้คุณมี “ความกล้าหาญทางศีลธรรม” เฉพาะการประท้วงขับไล่นักการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกมาเท่านั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท