หนังสือที่ 'ประยุทธ์' ไม่ได้แนะนำ การปฏิเสธส่งหนังสือของสำนักพิมพ์และการคุมตัวคนอ่านประท้วง

รายงาน ‘ศิลป์เสวนาชวนอ่าน : หนังสือที่นายก(ไม่ได้)แนะนำ’ ผ่านนักวิชาการด้านวรรณคดีอังกฤษ ประวัติศาสตร์และปรัชญา พร้อมย้อนประมวลสถานการณ์หลัง 'ประยุทธ์' แนะนำ 'Animal Farm' ตั้งแต่ฝ่ายประชาธิปไตยถึงกับงงในความย้อนแย้ง สำนักพิมพ์ถูกขอส่งหนังสือเพื่อให้ 'ประยุทธ์' แนะนำ โดยมีบางที่ปฏิเสธให้ความร่วมมือ ขณะที่ คสช.เองเคยจับนักศึกษาหลังอ่าน 1984 ประท้วง

ย้อนกลับไปในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2562 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. แนะนำหนังสือเรื่อง Animal Farm เขียนโดย George Orwell จนเกิดกระแสอย่างกว้างขวาง และในโลกวิชาการก็ได้มีการยกประเด็นนี้มาพูดผ่านงานแนะนำหนังสือนายก(ไม่ได้)แนะนำ โดยผ่านกรณีที่หลายสำหนังพิมพ์ปฏิเสธความร่วมมือไม่ส่งหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ 

นักวิชาการแนะหนังสือที่นายกฯยังไม่ได้แนะนำ

วันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดกิจกรรม ‘ศิลป์เสวนาชวนอ่าน : หนังสือที่นายก(ไม่ได้)แนะนำ’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชวนอ่าน วิเคราะห์ และวิพากษ์ ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ ศีลธรรม และ การศึกษา ในหนังสือ 3 เล่ม ที่นายกยังไม่ได้แนะนำ

โดยมี พชรวรรณ บุญพร้อมกุล อาจารย์สาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ธนัท ปรียานนท์ อาจารย์สาขาประวัติศาสตร์ และ ธีรภัทร รื่นศิริ อาจารย์สาขาปรัชญา จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากร

พชรวรรณ กล่าวถึงจดหมายขอร้องจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือฯ ต่อสำนักพิมพ์ต่างๆ ให้ส่งหนังสือกับนายกรัฐมนตรี ในประเด็นเรื่อง หนังสือที่มีเนื้อหาให้ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ โดยตั้งข้อสังเกตุว่าสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยได้นำในประเด็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มากล่าวถึงเหมือนประเด็นหนังสือที่มีเนื้อหาไม่เสียดสีการเมือง หรือหนังสือที่มีเนื้อหาด้านคุณธรรมจริยธรรม และความประพฤติที่เหมาะสม

พชรวรรณ กล่าวว่า หากพิจารณาจากคำขอร้องหนังสือที่นายกต้องการ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาวิธีคิดของรัฐต่อแนวคิดเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับพชรวรรณ ข้อเสนอเรื่องธรรมชาติในทำนองที่ให้รักป่า รักต้นไม้สายน้ำ เป็นประเด็นที่อยู่ในสังคมช่วงศตวรรษที่ 19 ให้ความสนใจ แต่ในสมัยปัจจุบันรัฐควรมาให้ความสนใจกับเรื่องของการตระหนักของปัจเจกต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ระดับชุมชนไปถึงระดับโลก โดยมีมิติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้คนในสังคมได้ตระหนักและเห็นถึงความเชื่อมโยงของความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและโลกธรรมชาติ ซึ่งแน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แก้ไขโดยการที่รัฐบาลออกมาแนะนำหนังสือให้ประชาชน แต่ต้องแก้ไขผ่านโครงสร้างเชิงนโยบายอย่างรูปธรรม

ปกหนังสือ ตำนานเสาไห้ ที่มา http://daen-aran-saengthong.blogspot.com/2010/09/blog-post.html

พชรวรรณ ได้หยิบยกหนังสือเรื่อง ‘ตำนานเสาไห้’ เป็นผลงานของ แดนอรัญ แสงทอง ซึ่งจะเป็นหนังสือที่นำไปสู่วิธีคิด และการตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ตำนานเสาไห้ สำหรับพชรวรรณ ได้สะท้อนคิดถึงการถูกทำให้กลายเป็นชายขอบของทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านการแปรรูปธรรมชาติให้กลายเป็นวัตถุโดยอำนาจของรัฐ ดังนั้นวิธีคิดเรื่องการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงถูกทับซ้อนด้วยเรื่องของการจัดลำดับชั้นทางอำนาจตามค่านิยมที่สังคมกำหนดขึ้นมา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในการพยายามอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องการการมองและความเข้าใจแบบองค์รวมที่ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งในธรรมชาติ

ธนัท ปรียานนท์ กล่าวถึงความสำคัญในวิชาประวัติศาสตร์ก่อนเริ่มการบรรยายแนะนำหนังสือว่า วิชาความรู้ทางประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อผู้คนในสังคมอย่างมาก เนื่องจากประวัติศาสตร์คือส่วนหนึ่งในการสร้างวิธีคิด ความเข้าใจอุดมการณ์ต่อเรื่องต่างๆของผู้คนในสังคม และสิ่งนี้ก็นำมาซึ่งการเกิดปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ทั้งในทางสร้างสรรค์และการสูญเสีย

ปกหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ที่มา https://readery.co/9789740212652-7

ธนัท ได้แนะนำหนังสือเรื่อง ‘ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย’ เขียนโดยโดย คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร โดยเทียบเคียงกับปัญหาของหนังสือเรื่อง ‘ประวัติศาสตร์ชาติไทย’ เขียนโดย กรมศิลปากร ซึ่งก็มีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อย่าง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ออกมาวิจารณ์ว่าหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยมีปัญหาในการสอดแทรกอคติทางการเมืองของ คสช. ในเนื้อหาตอนท้ายที่ว่าด้วย คสช.จำเป็นที่จะต้องเข้ามายึดอำนาจเพื่อให้ประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งสำหรับธนัทมองว่า สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยากจะให้คนไทยรู้ประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้นเพื่อที่จะทำให้เกิดความสามัคคีปรองดองในชาติ และทำให้เกิดประชาธิปไตยในความหมายที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้าใจ ผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์ที่เน้นไปยังบทบาทของผู้นำในยุคสมัยต่างๆ ซึ่งแทบจะไม่ปรากฏเรื่องราวของประชาชนในหนังสือเล่มนี้

ธนัท กล่าวถึง หนังสือประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยว่าต่างจากหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยในแง่ของความหลากหลายทางบริบทของประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดคีต กล่าวคือ หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยร่วมสมัยสะท้อนให้เห็นถึงการมีชีวิตของผู้คน เช่น การมีคนจีนอพยพเข้ามาในสยามช่วงตอนต้นรัตนโกสินทร์ และในช่วงรัชกาบที่ 5 ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยรวมไปถึงมีความเชื่อมโยงกับชีวิตและตัวตนของคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มากกว่าประวัติศาสตร์สุโขทัย หรือ ประวัติศาสตร์อยุทธยา

ธนัท กล่าวว่า ประเด็นคำถามคือ เราจะสนใจหรือศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่างไรให้เข้าใจว่ามีความเกี่ยวข้องกับชีวิตเราได้ ซึ่งนอกจากเรื่องราวของจีนอพยพมา ก็มีเรื่องของการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางและปัญญาชนสยามที่ปรากฎอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ในยุคสมัยนั้นซึ่งเป็นตัวบ่งสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงในชีวิตประจำวันของผู้คนที่หลากหลาย ดังนั้นหากเราคิดว่าเราสามารถเข้าใจกลุ่มคนอื่นๆได้มากขึ้น และนำไปสู่ความสงบสุขในสังคมไทย ก็อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าท้ายสุดแล้วต้องมีความขัดแย้งทางการเมือง แต่อย่างน้อยที่สุดเราจะเข้าใจความต้องการของคนต่างอุดมการณ์มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นหนทางที่นำไปสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีคุณภาพมากขึ้นและไม่นำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งหนังสือประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยก็น่าจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีกว่าหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย

ปกหนังสือ Happiness and Education ที่มา https://www.bol.com/nl/f/happiness-and-education/30030716/

ธีรภัทร รื่นศิริ ได้วิจารณ์ปรัชญาการศึกษาที่ว่าด้วยเรื่องของการมองการศึกษาเป็นเพียงแค่ทางผ่านหนังสือเรื่อง ‘Happiness and Education’ เขียนโดย Nel Noddings ซึ่ง ธีรภัทร กล่าวว่า ตนไม่ได้จะมาเล่าสิ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้แต่จะมาสะท้อน หรือ Reaction หลังจากที่ได้อ่านหนังสือดังกล่าว

ธีรภัทร กล่าวว่า ประเด็นหลักของหนังสือคือ การชวนคิดว่าเราควรจะกลับมาคุยเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษา โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องเป้าหมายของการศึกษา ซึ่งการศึกษาไม่ควรอยู่ในฐานะที่เป็นทางผ่านแต่การศึกษาควรอยู่ในฐานะของชีวิต โดยธีรภัทรได้แจกแจงวิธีการคิดของระบบกาศึกษากระแสหลักในฐานะที่เป็นทางผ่านออกมาคือ เมื่อเราอยู่ในระบบการศึกษาเราถูกทำให้เป็นทุกข์และเราก็ถูกสั่งสอนมาว่าให้อดทนเพื่อที่จะได้สบายตอนที่เรียนจบแล้ว เช่น การมีอาชีพที่มั่นคงจะทำให้คุณภาพชีวิตมั่นคง หรือการศึกษาในยุคปัจจุบันจะทำให้เราเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ต่อโลกในศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งให้คนมีทักษะการสื่อสารได้หลายภาษา การคิดวิพากษ์ การบูรณาการองค์ความรู้ และ อื่นๆ

อย่างไรก็ตามสำหรับธีรภัทร การศึกษากระแสหลักในปัจจุบันก็ยังคงมีปัญหา ธีรภัทรมองว่าการศึกษากระแสหลักในฐานะของการเป็นทางผ่านเพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าเช่นนิ้ เป็นการขูดรีด กดขี่ และลดทอนคุณค่าหรือศักยภาพของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน นอกจากนั้น วิธีคิดเรื่องคุณสมบัติของคนในโลกศตววรรษที่ 21 ที่เป็นผลผลิตจากระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์เฉพาะคนบางกลุ่มในสังคมก็เป็นสิ่งที่ตอกย้ำความตื้นเขินของการใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์

ฝ่ายประชาธิปไตยอึ้ง! 'ประยุทธ์' แนะนำ 'Animal Farm'

สืบเนื่องมาจากช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ต่อการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมากล่าวว่า เฉลี่ยแล้วคนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด แต่ตนเองอ่านหนังสือวันละ 800 บรรทัด เมื่ออ่านจะทำให้เกิดการสังเคราะห์ในสมองและจะทำให้เกิดปัญญา ปีต่อมา 29 พ.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาแนะนำหนังสือชื่อ Animal Farm ที่เขียนโดย George Orwell ผ่านทางรองโฆษกประจำสำนักนายกรับมนตรี จากนั้นก่อให้เกิดการกล่าวถึงและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อการแนะนำหนังสือเล่มนี้จากพล.อ.ประยุทธ์ ในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากว่า การตีความหนังสือของ George Orwell เป็นการตีความที่อยู่บนหลักการของความเป็นประชาธิปไตย รวมถึงตัวตนของ George Orwell ก็ถูกมองว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยมาโดยเสมอมา ซึ่งนอกจาก Animal Farm ที่เป็นผลงานชื่อดังแล้ว หนังสือเรื่อง 1984 ก็เป็นผลงานที่สำคัญและโดดเด่นที่ทำให้ George Orwell เป็นที่รู้จักต่อสังคมประชาธิปไตยในฐานะของผู้ที่ต่อต้านเผด็จการ

บางสำนักพิมพ์ไม่พอใจ หลังถูกขอส่งหนังสือเพื่อให้ 'ประยุทธ์' แนะนำ

ช่วงเดือนมิถุนายน 2562 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือฯส่งจดหมายไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือให้ส่งหนังสือไปให้ พล.อ.ประยุทธ์ แนะนำ โดยเน้นยำเนื้อหาที่เกี่ยวกับสถานการณ์สังคในปัจจุบันและไม่เสียดสีการเมือง และมีการระบุลักษณะกรอบเนื้อหาของหนังสือที่จะส่งให้นายกออกเป็น 6 ประเภท แต่ก็มีสำนักพิมพ์ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจและปฏิเสธการให้ความร่วมมือในการส่งหนังสือในครั้งนี้อย่างชัดเจน เช่น การที่เฟสบุ๊คแฟนเพจ ‘สำนักพิมพ์สมมติ’ เฟสบุ๊คแฟนเพจ ‘สำนักพิมพ์กำมะหยี่’ หรือ ผู้ใช้บัญชีเฟสบุ๊ค ‘Vieng-Vachira Buason’ ซึ่งเป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์สามัญชน ก็ได้ออกมาชี้แจงและปฎิเสธความร่วมมือนี้อย่างชัดเจน

ซ้าย จดหมายจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือฯ ภาพขวาขณะที่พล.อ.ประยุทธ์แนะนำหนังสือ จินดามณี เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2561 

รวมหนังสือที่ 'ประยุทธ์' เคยแนะนำ

PPTV ได้ทำการรวบรวมรายชื่อหนังสือที่นายกฯแนะนำตั้งแต่ปี 2559 ถึง ปัจจุบันมาไว้ดังนี้

  • 12 เมษายน 2559 พล.อ.ประยุทธ์ แนะนำหนังสือเรื่อง “The Governance of China” เขียนโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง  ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากสถานการณ์ในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาปฏิรูปประเทศนายกจึงเห็นว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงาน
  • 17 พฤษภาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์  แนะนำหนังสืออีก 3 เล่ม คือ หนังสือเรื่อง ‘พูดอย่างไรไม่ให้พัง’ (Crucial Conversation) ของ เดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times), หนังสือ ‘เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตเปลี่ยน’ (INFLUENCER THE N NEW SCIENCE OF LEADING CHANGE) และหนังสือ ‘ชีวิตของประเทศ’ ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
  • วันที่ 12 ก.ย. 2560  พล.อ.ประยุทธ์ แจกหนังสือ  ‘The Speed Of Trust พลานุภาพแห่งความไว้วางใจ’ ให้กับคณะรัฐมนตรี พร้อมระบุว่า หนังสือดังกล่าวเหมือนเป็นพี่เลี้ยงกับ ครม. ที่ต้องปรับทัศนคติและมีจิตสำนึกในการขับเคลื่อนองค์กร โดยตนศึกษาหนังสือดังกล่าว เพื่อนำมาปรับเรื่องความอารมณ์ร้อน และการพูดไม่ไพเราะ แต่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งอยากให้เข้าใจ
  • วันที่ 20 มี.ค. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ สั่งให้คณะรัฐมนตรี ไปท่องจำหนังสือ ‘จินดามณี’ มาคนละ 1 บท แล้วมาสอบปากเปล่ากับนายกรัฐมนตรี
  • วันที่ 31 ต.ค. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์ภาพบนเฟซบุ๊กเป็นรูปหนังสือว่าบนโต๊ะทำงาน ชื่อว่า ‘ชนะสิบทิศ การบริหารท้องถิ่นสู่ความเป็นเลิศ’ พร้อมระบุว่า อยากให้ข้าราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กทม. อ่านหนังสือเล่มนี้
  • ล่าสุดวันที่ 29 พ.ค. 62 พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ได้แนะนำให้ประชาชนอ่านหนังสือเรื่อง ‘Animal Farm’ ฉบับภาษาไทย ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทย แต่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าผู้เขียนถ่ายทอดเนื้อเรื่องได้ดีและน่าสนใจ

เคยจับ นศ.หลังอ่าน 1984 ประท้วง คสช.

ภาพ 'แชมป์ 1984' อ่านหนังสือ 1984 ซึ่งเขียนโดย George Orwell เพื่อประท้วง คสช. เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.57 บริเวณหน้าห้างพารากอน ก่อนถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับกุมตัวในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตามภายหลังจากช่วงที่ คสช. ได้ทำการรัฐประหารใหม่ๆ ได้มีกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเชิงสัญลักลักษณ์ทางการเมืองผ่านการใช้หนังสือเป็นเครื่องมือ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว กล่าวคือ ในวันที่ 22 มิถุนายน 2557 มีนักศึกษาที่รวมตัวกันเพื่อแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองโดยการกินแซนวิซและอ่านหนังสือเรื่อง 1984 ซึ่งเขียนโดย George Orwell แต่หลังจากนั้นก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวและจับกุม

สำหรับ กิตติคุณ สกลวิศาลศักดิ์ ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท