ทำไมโลกร้อนถึงส่งผลกระทบหนักต่อคนจน

ถึงแม้ว่าคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) จะเคยออกรายงานระบุกำหนดเส้นตายให้กับหายนะจากโลกร้อนไว้ที่ 12 ปี แต่ในหลายพื้นที่ของโลกใบนี้ปัญหาวิกฤตโลกร้อนได้กลายเป็นหายนะไปเรียบร้อยแล้ว

แฟ้มภาพชาวนาแสดงภาพที่นาแห้งแล้งที่รัฐกรณาฏกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย  (ที่มา: Pushkarv/Wikipedia)

มัลลิกา คานนา นักข่าวอิสระในอินเดียรายงานว่ารัฐพิหารหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของอินเดียมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อน (Heat Wave) ไปแล้วมากกว่า 40 รายภายในวันเดียว ทั้งนี้ยังมีผลกระทบที่เกิดขึ้นแบบคลืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่รัฐไมอามีของสหรัฐฯ กำลังค่อยๆ จมลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบให้น้ำดื่มลดลงเนื่องจากการที่ไซยาโนแบคทีเรียหรือ "สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน" ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ

ทั้งนี้ยังเคยมีรายงานการวิจัยขององค์การยูนิเซฟที่มาจากทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และสาธารณสุขระบุว่าอัตราการเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโลกร้อนมากกว่าร้อยละ 99 เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา และคนที่เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวนี้เป็นเด็กถึงมากกกว่าร้อยละ 80

คานนาระบุว่ากลุ่มประชากรที่เปาระบางกว่าต้องเผชิญกับผลของปัญหาวิกฤตโลกร้อนและมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ไม่ได้มีแต่ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แม้แต่ในบางพื้นที่ของสหรัฐฯ ที่อยู่ใกล้กับมลภาวะจากปิโตรเคมีก็มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงมาก เช่น ชุมชนในรัฐลุยเซียนาที่อยู่ใกล้กับโรงงานเคมีภัณฑ์จำพวกยางสังเคราะห์นีโอพรีนมีอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศมากกว่า 700 เท่า จากการสำรวจของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) คานนาตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มบรรษัทมักจะตั้งเป้าหมายกับกลุ่มประชากรที่มีความเสียเปรียบทางสังคมและทางเศรษฐกิจเพราะคิดว่าคนกลุ่มนี้จะไม่ลุกขึ้นมาต่อต้าน

ทั้งนี้ปัญหาไม่ได้มาแต่จากบรรษัทเอกชนอย่างเดียวเท่านั้น คานนายังระบุว่าปัญหามาจากภาครัฐเองด้วย โดยยกตัวอย่างกรณีพายุเฮอร์ริเคนมาเรียพัดกระหน่ำเปอร์โตริโกในปี 2560 ที่มีจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิต 2,975 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 9-11 คือ 2,996 ราย แต่ปฏิกิริยาตอบสนองจากภาครัฐในการเข้าไปแก้ไขปัญหาก็มีน้อยมาก เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าผลกระทบองปัญหาโลกร้อนต่อกลุ่มประชากรชายขอบถูกเพิกเฉยมองข้ามมากขนาดไหน เรื่องนี้ทำให้คานนาสรุปว่าการมองว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็น "ประเด็นของชนชั้นนำ" เป็นเรื่องเท็จ

ในบทความของคานนาซึ่งเผยแพร่ใน Foreign Policy in Focus สนับสนุนเรื่อง "ข้อตกลงใหม่สีเขียว" (Green New Deal) ซึ่งเป็นข้อเสนอที่มุ่งจะแก้ไขทั้งปัญหาโลกร้อนและปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจไปด้วยกัน คานนาบอกว่าข้อตกลงนี้จะช่วยสร้างงานให้กับผู้คนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไปพร้อมๆ กับการหลีกเลี่ยงอุตสาหกรรมที่ไม่ยั่งยืนและส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้คน

เรียบเรียงจาก

Climate Change Is a Poor People’s Issue, Mallika Khanna, Foreign Policy in Focus, 11-07-2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

It’s Official: Hurricane Maria Led to as Many Deaths as 9/11, Daily Beast, 20-09-2018

After Decades Of Air Pollution, A Louisiana Town Rebels Against A Chemical Giant, NPR, 06-03-2018

Heatwave Kills 40 In Bihar In A Day; Encephalitis Deaths Rise To 82, NDTV, 17-06-2019

Children make up for 80 per cent of deaths attributed to climate change, Down to Earth, 04-07-2015

Miami Will Be Underwater Soon. Its Drinking Water Could Go First, BloombergQuint, 29-08-2018

Green New Deal, Wikipedia

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท