Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในปลายปี 2552 ทั้งๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สิ้นสภาพการเป็นพรรคนานแล้วตั้งแต่ “ป่าแตก” แต่ได้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ซึ่งความขัดแย้งนี้สะท้อนความแตกแยกในสังคมไทยโดยทั่วไประหว่าง “เหลือง” กับ “แดง”

ส่วนหนึ่งของคนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ไปเข้าข้างเสื้อเหลือง ชูเจ้า และต้านทักษิณ และอีกส่วน ซึ่งรวมถึง สหายธง แจ่มศรี ออกมาคัดค้านและสนับสนุนเสื้อแดงกับทักษิณ

จุดยืนของ สหายธง แจ่มศรีตรงนี้ ถือว่าก้าวหน้ากว่าอีกซีก เพราะเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมาก โดยเฉพาะคนจน แทนที่จะกอดคอกับทหารเผด็จการและพวกอวยเจ้า

อย่างไรก็ตามจุดยืนของสหายธง แจ่มศรี ไม่ได้มาจากเงื่อนไขการเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมากเป็นหลัก แต่มาจากมุมมองที่แสวงหาแนวร่วมกับนายทุน ตามสูตร “ปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” ของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมาทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

ในความเป็นจริงจุดยืนของ พคท. สายเสื้อเหลืองก็เริ่มจากจุดยืนนี้เหมือนกัน แต่มีการทำให้การแสวงหาแนวร่วมกับชนชั้นนายทุน แปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไปยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้ออ้างในการไปจับมือกับพวกเสื้อเหลือง ปรากฏการณ์นี้ไม่แตกต่างจากพวกสายเอ็นจีโอที่ไปเข้ากับเสื้อเหลืองด้วย

การวิเคราะห์สังคมไทยตามแนว เหมาเจ๋อตุง และ สตาลิน ของ พคท. ที่เคยเสนอว่าไทยยังเป็นสังคม “กึ่งศักดินา” ที่มีความขัดแย้งระหว่างศักดินากับนายทุนดำรงอยู่ พร้อมกับการมีลักษณะ “กึ่งเมืองขึ้น” ของสหรัฐอเมริกา นำไปสู่ข้อเสนอของ พคท. ว่าการปฏิวัติไทยในขั้นตอนแรกยังไม่ควรนำไปสู่สังคมนิยม แต่ควรเป็นการปฏิวัติชาตินิยมเพื่อสร้างประชาธิปไตยทุนนิยม ในรูปธรรมมันแปลว่า พคท. พร้อมจะทำแนวร่วมข้ามชนชั้นกับชนชั้นนายทุนไทย เพื่อต้านสิ่งที่เขาเรียกว่าพวกขุนศึกและศักดินา มันมีต้นกำเนิดจากลัทธิสตาลินในรัสเซีย ที่ต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกทำแนวร่วมกับนายทุน เพื่อปกป้องเสถียรภาพของรัสเซียด้วยการลดศัตรู มันกลายเป็นแนวกู้ชาติ และมันเป็นข้อเสนอที่ขัดแย้งกับจุดยืนหลักของนักมาร์คซิสต์ อย่างมาร์คซ์ เลนิน หรือตรอทสกี้ เพราะมีการเสนอให้กรรมาชีพและชาวนาร่วมมือกับนายทุนผู้เป็นศัตรู และชะลอการต่อสู้เพื่อสังคมนิยม [ดู “สังคมนิยมจากล่างสู่บน” https://bit.ly/2vbhXCO เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง(บทเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์) https://bit.ly/1sH06zu  และ “แนวของตรอทสกี้”  https://bit.ly/2zCPB5h]

การปฏิวัติในจีน ลาว เวียดนาม และที่อื่นที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศด้อยพัฒนา จึงมีลักษณะชาตินิยมเป็นหลัก เป้าหมายกลายเป็นการสร้างระบบทุนนิยม และไม่ใช่การปฏิวัติที่นำโดยชนชั้นกรรมาชีพหรือแม้แต่ชาวนาแต่อย่างใด ในรูปธรรมสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องความอ่อนแอของทุนชาติในประเทศเหล่านั้น แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต้องเข้ามาเป็น “นายทุนรัฐ” เสียเอง จึงเกิดระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”ซึ่งในปัจจุบันแปรธาตุไปเป็นทุนนิยมตลาดเสรีภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ในจีน ลาว หรือเวียดนาม

การวิเคราะห์สังคมไทยโดย พคท. ในยุคหลัง 6 ตุลา มีปัญหามาก เพราะระบบศักดินา ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิ้นไปจากสังคมไทยในยุครัชกาลที่ 5 และประเทศไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด ในความจริงรัฐไทยเป็นรัฐทุนนิยมที่เอื้อกับระบบทุนนิยมไทยในโลกที่มีอำนาจจักรวรรดินิยมดำรงอยู่ คือประเทศใหญ่มีอำนาจมากกว่าประเทศเล็กโดยไม่ต้องนำมาเป็นเมืองขึ้น [ดู “การเปลี่ยนแปลงจากศักดินาสู่ทุนนิยมในไทย” https://bit.ly/2ry7BvZ   และ “การเมืองไทย” https://bit.ly/2t6CapR ]

แต่ปัญหาใหญ่สุดของแนว พคท. คือการที่ไม่นำการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมโดยมีชนชั้นกรรมาชีพเป็นศูนย์กลางการต่อสู้ แต่กลับไปเน้นการสร้างชาติโดยจับมือกับนายทุน

ฝ่ายซ้ายในวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยา ต้องสนับสนุนคนชั้นล่างในการต่อสู้กับเผด็จการ เพื่อสร้างประชาธิปไตย โดยเน้นผลประโยชน์ของกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจนเป็นหลัก และต้องพยายามสร้างพรรคของคนชั้นล่าง ไม่ใช่ไปอวยนักการเมืองนายทุนอย่างทักษิณที่หักหลังการต่อสู้ของเสื้อแดงด้วยการเสนอนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือการยุติบทบาทของเสื้อแดงเพื่อหวังประนีประนอมกับทหาร และในปัจจุบันมันแปลว่าต้องไม่สร้างความหวังในพรรคนายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือสร้างความหวังในระบบรัฐสภาภายใต้เผด็จการประยุทธ์ คือต้องเน้นการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภาเป็นหลัก [ดู “มาร์คซิสต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมไทย” https://bit.ly/3112djA]

สำหรับสหายธง แจ่มศรี เขาไม่เคยทิ้งจุดยืนสามัคคีข้ามชนชั้นแบบสตาลิน-เหมา ทั้งๆ ที่มีการปรับในภายหลังว่าไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอีกแล้วตั้งแต่มีการถอนทหารออกไปในปี 2519

สหายธง แจ่มศรี เคยเขียนในปี2552 ว่า “ผมเห็นว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมทุนนิยมแล้วในด้านเศรษฐกิจ แต่ภาคการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและความคิดของผู้คนในสังคมยังไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย…..  หลังเหตุการณ์ 14  ตุลา  2516  เป็นต้นมา  ศักดินามีบทบาทนำสูงสุดในการบงการรูปแบบการเมืองการปกครองของไทย เช่นรูปแบบการเลือกตั้ง การรัฐประหาร ประชาธิปไตยครึ่งใบเหล่านี้เป็นต้น….. ดังนั้นขณะนี้สังคมไทยถูกปกครองโดย “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  เพราะได้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าสถาบันนี้อยู่เหนือรัฐ กลไกรัฐไม่สามารถควบคุมได้ (ไม่มีความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย) ซึ่งกลุ่มนี้ได้พัฒนาตนเองเป็น “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

สหายธง แจ่มศรี เสนออีกว่า “ทักษิณ ชินวัตร มีแนวคิดทุนนิยมเสรีใหม่ และเป็นกลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มใหม่ที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

ในความเป็นจริงเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่เป็น “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  แต่เราอยู่ในสังคมที่ถูกครอบงำโดยเผด็จการทหารที่จับมือกับนายทุนและพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยม นอกจากนี้ ทั้งๆ ที่ สหายธงเสนอว่า “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ” มีความสัมพันธ์กับทุนโลกาภิวัตน์ แต่เขาวิเคราะห์ทักษิณว่าเป็น “นายทุนเสรีนิยมใหม่” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสับสนเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะฝ่ายเหลือง ประชาธิปัตย์ และทหารเผด็จการคลั่งกลไกตลาดเสรีมากกว่าทักษิณ ทักษิณใช้กลไกตลาดผสมเศรษฐกิจนำโดยรัฐ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนจน สิ่งที่ไทยรักไทยเรียกว่าเศรษฐกิจคู่ขนาน

ข้อดีของ พคท. และจุดยืนของ สหายธง แจ่มศรี ไม่ใช่เนื้อหาการวิเคราะห์สังคมไทยที่ผิดพลาด หรือการเสนอแนวร่วมกับนายทุน แต่เป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับการสร้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ไม่จำเป็นต้องสนใจรัฐสภาเป็นหลัก และการที่เขาพยายามเสนอแนวทางในการต่อสู้ผ่านการศึกษาและพัฒนาทฤษฏี เรายังรอวันที่จะมีการสร้างพรรคแบบนั้นขึ้นมาใหม่ในไทย

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Turnleft Thailand 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net