มากกว่า 20 ภาษาในไทยเสี่ยงเป็น "ภาษาสาบสูญ" จากข้อมูลยูเนสโก

ในประเทศไทยมีภาษาจำนวนมากที่กลายเป็นภาษาที่เสี่ยงต่อการสาบสูญ จากข้อมูลของเว็บไซต์องค์กรยูเนสโกแสดงให้เห็นว่ามีอยู่ราว 25 ภาษา ในประเทศไทยที่เสี่ยงต่อการเป็นภาษาที่สาบสูญ และมีหนึ่งภาษาที่ถูกจัดว่าสาบสูญไปแล้วคือภาษาพะล็อก (Phalok) การลดลงของภาษาเสี่ยงต่อการสูญเสียทั้งมรดกวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่อยู่ในนั้น

ภาพการสอนภาษาในหมู่ชาวลัวะ (ที่มา:Prachatai Eyes View)

โลกใบนี้ยังมีภาษาอีกหลายภาษาที่เสี่ยงจะสาบสูญและไม่มีคนใช้อีกต่อไป องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ "ยูเนสโก" (UNESCO) เคยประเมินไว้ว่าถ้าหากปล่อยเอาไว้จะมีภาษามากกว่า 6,000 ภาษาสาบสูญไปภายในอีก 100 ปีข้างหน้าซึ่งถือเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของภาษาที่กำลังมีคนใช้งาน

ยูเนสโกระบุว่า "การสาบสูญไปของภาษาที่ไม่ได้เขียนและไม่ได้มีการบันทึกไว้นั้น อาจจะทำให้มนุษยชาติไม่เพียงแค่สูญเสียความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมแต่จะสูญเสียความรู้จากบรรพชนที่แฝงอยู่ในตัวภาษาเหล่านี้ไปด้วย โดยเฉพาะกับภาษาพื้นเมือง"

เมื่อปี 2554 สื่อเดอะการ์เดียนเคยนำเสนอเรื่องที่ภาษาอะยาปาเนโก (Ayapaneco) ภาษาเก่าแก่ของชนพื้นเมืองเม็กซิโกซึ่งเหลือคนพูดได้อยู่เพียง 2 คนในโลก ในเนื้อความดังกล่าวยังมีการเผยแพร่ตารางของภาษาต่างๆ จำนวนมากที่ถูกจัดว่ามีความเสี่ยงที่จะสาบสูญ ซึ่งในจำนวนนั้นมีภาษาที่ใช้กันในประเทศไทยอยู่ด้วยจำนวน 25 ภาษา และมีที่สาบสูญไปแล้วอีกหนึ่งภาษา

จากข้อมูลของแผนที่โลกว่าด้วยภาษาที่เสี่ยงจะสาบสูญ (Atlas of the World's Languages in Danger) ของยูเนสโกระบุว่า ในประเทศไทยมีภาษาที่ "เกือบอยู่ในข่ายใกล้สาบสูญ" 2 ภาษา คือภาษามอญและปาตานีมาเลย์ 

ภาษาที่ "ใกล้สาบสูญอย่างชัดเจน" ในไทยมี 15 ภาษา เช่น ภาษาละว้า หรือ เลอเวือะ หรือ (Lavua) ภาษาอูรักลาโว้ยที่กลุ่มชาวเลอูรักลาโว้ยใช้ หรือ ภาษามลาบรี (Mlabri) ซึ่งเป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์มลาบรีที่อยู่ตามชายแดนไทย-ลาว ในจังหวัดพะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หรืออาจจะมีในจังหวัดอื่นๆ 

ภาษาที่ "ใกล้สาบสูญอย่างหนัก" มีอยู่ 4 ภาษา เช่น ภาษาชอง (Chong) ซึ่งพบว่าใช้พูดในหมู่ชาวชองในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ภาษากฺ๋อง (Gong) ที่เป็นของกลุ่มชาติพันธุ์กฺ๋องในบางหมู่บ้านของจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดอุทัยธานี

ภาษาที่ "ใกล้สาบสูญระดับวิกฤต" นั้นมีอยู่ 4 ภาษา เช่น ภาษากะซอง (Kasong) และ ภาษาสมราย (Samray) ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาชอง

ส่วนภาษาที่สาบสูญไปแล้วคือ ภาษาพะล็อก (Phalok) ข้อมูลจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ว่าชาติพันธุ์ "ลัวะ" เป็นชื่อที่ถูกเรียกโดยคนนอก ส่วนภายในกลุ่มกันเองนั้นเดิมเรียกตนเองว่าพะล็อก (Phalok) แต่งานวิจัยหลังปี 2513 เป็นต้นมา ไม่มีงานศึกษาที่เรียกชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวว่าพะล็อกอีก มีแต่ใช้ชื่อลัวะ ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่ามีเพียงผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่อายุราว 50-80 ปีเท่านั้นที่ทราบว่าตนเองเป็นพะล็อก ส่วนชาวบ้านอายุน้อยกว่านั้นรับรู้ว่าตนเป็นลัวะเนื่องจากไม่ได้รับการอธิบายให้ฟังจากผู้อาวุโสกว่า ความรับรู้เรื่องพะล็อกยิ่งเบาบางลงเมื่อมีการแต่งงานกับคนไทยภาคเหนือหรือคนเมืองเข้าไปในชุมชน

ยูเนสโกแบ่งระดับภาษาที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะสาบสูญไว้ในระดับต่างๆ ดังนี้ คือภาษาที่ "เกือบอยู่ในข่ายใกล้สาบสูญ" (Vulnerable) หมายถึงภาษาที่เด็กส่วนใหญ่ยังคงพูดได้แต่มักจะถูกจำกัดอยู่แค่ในบางพื้นที่ เช่น พูดแค่ในบ้าน ระดับต่อมาคือ "ใกล้สาบสูญอย่างชัดเจน" (Definitely endangered) คือภาษาที่เด็กๆ ไม่ได้เรียนในสถานะ "ภาษาแม่" ในบ้านตัวเองอีกแล้ว ระดับถัดมาคือ "ใกล้สาบสูญอย่างหนัก" (Severely endangered) คือภาษาที่พูดกันในหมู่คนรุ่นปู่ย่าตายายหรือรุ่นเก่ากว่านั้น ขณะที่คนรุ่นพ่อแม่อาจจะเข้าใจภาษาเหล่านี้แต่พวกเขาก็ไม่ได้ใช้พูดกับลูกๆ หรือใช้พูดกันเอง ระดับต่อมาคือ "ใกล้สาบสูญระดับวิกฤต" (Critically endangered) คือภาษาที่รุ่นปู่ย่าตายายหรือรุ่นเก่ากว่านั้นเป็นกลุ่มคนที่อายุน้อยที่สุดที่ยังใช้ภาษานี้อยู่ แต่พวกเขาก็ใช้ภาษานี้แค่เป็นบางส่วนและไม่ได้ใช้บ่อยครั้ง และสุดท้ายคือ "ภาษาที่สาบสูญไปแล้ว" (Extinct) คือภาษาที่ไม่มีใครพูดอีกแล้ว

เรียบเรียงจาก

Endangered languages: the full list, The Guardian, Apr. 15, 2011

UNESCO Interactive Atlas of the World’s Languages in Danger, UNESCO

Archive ของเว็บไซต์ UNESCO เรื่อง Endangered languages

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท