ในประเทศไทยมีภาษาจำนวนมากที่กลายเป็นภาษาที่เสี่ยงต่อการสาบสูญ จากข้อมูลของเว็บไซต์องค์กรยูเนสโกแสดงให้เห็นว่ามีอยู่ราว 25 ภาษา ในประเทศไทยที่เสี่ยงต่อการเป็นภาษาที่สาบสูญ และมีหนึ่งภาษาที่ถูกจัดว่าสาบสูญไปแล้วคือภาษาพะล็อก (Phalok) การลดลงของภาษาเสี่ยงต่อการสูญเสียทั้งมรดกวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่อยู่ในนั้น
ภาพการสอนภาษาในหมู่ชาวลัวะ (ที่มา:Prachatai Eyes View)
โลกใบนี้ยังมีภาษาอีกหลายภาษาที่เสี่ยงจะสาบสูญและไม่มีคนใช้อีกต่อไป องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ "ยูเนสโก" (UNESCO) เคยประเมินไว้ว่าถ้าหากปล่อยเอาไว้จะมีภาษามากกว่า 6,000 ภาษาสาบสูญไปภายในอีก 100 ปีข้างหน้าซึ่งถือเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของภาษาที่กำลังมีคนใช้งานปฏิทินประชาไทxไข่แมว2020
ยูเนสโกระบุว่า "การสาบสูญไปของภาษาที่ไม่ได้เขียนและไม่ได้มีการบันทึกไว้นั้น อาจจะทำให้มนุษยชาติไม่เพียงแค่สูญเสียความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมแต่จะสูญเสียความรู้จากบรรพชนที่แฝงอยู่ในตัวภาษาเหล่านี้ไปด้วย โดยเฉพาะกับภาษาพื้นเมือง"
เมื่อปี 2554 สื่อเดอะการ์เดียนเคยนำเสนอเรื่องที่ภาษาอะยาปาเนโก (Ayapaneco) ภาษาเก่าแก่ของชนพื้นเมืองเม็กซิโกซึ่งเหลือคนพูดได้อยู่เพียง 2 คนในโลก ในเนื้อความดังกล่าวยังมีการเผยแพร่ตารางของภาษาต่างๆ จำนวนมากที่ถูกจัดว่ามีความเสี่ยงที่จะสาบสูญ ซึ่งในจำนวนนั้นมีภาษาที่ใช้กันในประเทศไทยอยู่ด้วยจำนวน 25 ภาษา และมีที่สาบสูญไปแล้วอีกหนึ่งภาษา
จากข้อมูลของแผนที่โลกว่าด้วยภาษาที่เสี่ยงจะสาบสูญ (Atlas of the World's Languages in Danger) ของยูเนสโกระบุว่า ในประเทศไทยมีภาษาที่ "เกือบอยู่ในข่ายใกล้สาบสูญ" 2 ภาษา คือภาษามอญและปาตานีมาเลย์
ภาษาที่ "ใกล้สาบสูญอย่างชัดเจน" ในไทยมี 15 ภาษา เช่น ภาษาละว้า หรือ เลอเวือะ หรือ (Lavua) ภาษาอูรักลาโว้ยที่กลุ่มชาวเลอูรักลาโว้ยใช้ หรือ ภาษามลาบรี (Mlabri) ซึ่งเป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์มลาบรีที่อยู่ตามชายแดนไทย-ลาว ในจังหวัดพะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หรืออาจจะมีในจังหวัดอื่นๆ
ภาษาที่ "ใกล้สาบสูญอย่างหนัก" มีอยู่ 4 ภาษา เช่น ภาษาชอง (Chong) ซึ่งพบว่าใช้พูดในหมู่ชาวชองในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ภาษากฺ๋อง (Gong) ที่เป็นของกลุ่มชาติพันธุ์กฺ๋องในบางหมู่บ้านของจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดอุทัยธานี
ภาษาที่ "ใกล้สาบสูญระดับวิกฤต" นั้นมีอยู่ 4 ภาษา เช่น ภาษากะซอง (Kasong) และ ภาษาสมราย (Samray) ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาชอง
ส่วนภาษาที่สาบสูญไปแล้วคือ ภาษาพะล็อก (Phalok) ข้อมูลจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ว่าชาติพันธุ์ "ลัวะ" เป็นชื่อที่ถูกเรียกโดยคนนอก ส่วนภายในกลุ่มกันเองนั้นเดิมเรียกตนเองว่าพะล็อก (Phalok) แต่งานวิจัยหลังปี 2513 เป็นต้นมา ไม่มีงานศึกษาที่เรียกชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวว่าพะล็อกอีก มีแต่ใช้ชื่อลัวะ ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่ามีเพียงผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่อายุราว 50-80 ปีเท่านั้นที่ทราบว่าตนเองเป็นพะล็อก ส่วนชาวบ้านอายุน้อยกว่านั้นรับรู้ว่าตนเป็นลัวะเนื่องจากไม่ได้รับการอธิบายให้ฟังจากผู้อาวุโสกว่า ความรับรู้เรื่องพะล็อกยิ่งเบาบางลงเมื่อมีการแต่งงานกับคนไทยภาคเหนือหรือคนเมืองเข้าไปในชุมชน
ยูเนสโกแบ่งระดับภาษาที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะสาบสูญไว้ในระดับต่างๆ ดังนี้ คือภาษาที่ "เกือบอยู่ในข่ายใกล้สาบสูญ" (Vulnerable) หมายถึงภาษาที่เด็กส่วนใหญ่ยังคงพูดได้แต่มักจะถูกจำกัดอยู่แค่ในบางพื้นที่ เช่น พูดแค่ในบ้าน ระดับต่อมาคือ "ใกล้สาบสูญอย่างชัดเจน" (Definitely endangered) คือภาษาที่เด็กๆ ไม่ได้เรียนในสถานะ "ภาษาแม่" ในบ้านตัวเองอีกแล้ว ระดับถัดมาคือ "ใกล้สาบสูญอย่างหนัก" (Severely endangered) คือภาษาที่พูดกันในหมู่คนรุ่นปู่ย่าตายายหรือรุ่นเก่ากว่านั้น ขณะที่คนรุ่นพ่อแม่อาจจะเข้าใจภาษาเหล่านี้แต่พวกเขาก็ไม่ได้ใช้พูดกับลูกๆ หรือใช้พูดกันเอง ระดับต่อมาคือ "ใกล้สาบสูญระดับวิกฤต" (Critically endangered) คือภาษาที่รุ่นปู่ย่าตายายหรือรุ่นเก่ากว่านั้นเป็นกลุ่มคนที่อายุน้อยที่สุดที่ยังใช้ภาษานี้อยู่ แต่พวกเขาก็ใช้ภาษานี้แค่เป็นบางส่วนและไม่ได้ใช้บ่อยครั้ง และสุดท้ายคือ "ภาษาที่สาบสูญไปแล้ว" (Extinct) คือภาษาที่ไม่มีใครพูดอีกแล้ว
เรียบเรียงจาก
Endangered languages: the full list, The Guardian, Apr. 15, 2011
UNESCO Interactive Atlas of the World’s Languages in Danger, UNESCO
Archive ของเว็บไซต์ UNESCO เรื่อง Endangered languages

โอนเงิน พร้อมเพย์ PromptPay "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน" 0993000060423
โอนเงิน PayPal คลิกที่นี่ https://paypal.me/prachatai (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)
เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai
ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai
LINE ไอดี = @prachatai
แสดงความคิดเห็น