รวมพลังภาคตะวันออก ประชาชนเตรียมฟ้องศาลปกครองยับยั้งผังเมืองอีอีซี

ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก 50 คนเดินทางเข้า กทม. ยื่นหนังสือ ระบุผังเมืองอีอีซี ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและไม่เป็นตามหลักผังเมือง สำนักนโยบายอีอีซีฯ ยืนยันทำตามกฎหมายทุกประการ ผังเมืองเสร็จกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว ประชาชนเตรียมขอ ครม. ให้ระงับแผนชั่วคราว พร้อมรวบรวมหลักฐานเตรียมฟ้องขอความคุ้มครองจากศาลปกครอง

กลุ่มโกงกาง มหาวิทยาลัยบูรพาทาร่างกายเป็นสีเขียว เพื่อเรียกร้องให้กันพื้นที่สีเขียวในประกาศแผนผังเมือง 3 จังหวัด แทนที่จะเป็นพื้นที่สีม่วงซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม

23 ก.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 8.30 น. กัญจน์ ทัตติยกุล เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก พร้อมประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี) ประมาณ 50 คน เดินทางจากภูมิลำเนามาถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อเดินขบวนไปยื่นหนังสือที่สำนักคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือสำนักนโยบายอีอีซีฯ  วัตถุประสงค์คือการคัดค้านคำชี้แจงของสำนักนโยบายอีอีซีฯ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ระบุว่ามีการจัดรับฟังความคิดเห็นและจัดสรรพื้นที่ตามหลักผังเมืองแล้ว ประชาชนยืนยันว่าอีอีซียังขาดการมีส่วนร่วม ขัดหลักสิทธิชุมชน และไม่เป็นไปตามหลักผังเมือง จึงเดินทางเข้ามาใน กทม. เพื่อคัดค้านคำชี้แจงดังกล่าว  

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเดินทางไปยังสำนักนโยบายอีอีซีฯ ถนนเจริญกรุงเกิดอุปสรรคเล็กน้อย เนื่องจากตัวแทนของประชาชนต้องใช้เวลาเจรจากับตำรวจ สน.บางรักเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่กังวลว่าการเดินขบวนชูป้ายก่อนไปถึงจุดนัดหมายอาจเป็นการละเมิด พ.ร.บ.ชุมนุม เพราะเป็นการชุมนุมก่อนถึงจุดนัดหมาย

อย่างไรก็ตาม ทนายความจาก มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLaw ยืนยันว่ากลุ่มดำเนินการตาม พ.ร.บ. ชุมนุมทุกประการ แต่กลุ่มประชาชนยอมตกลงไม่ชูป้ายระหว่างเดินเท้าไปยังสำนักนโยบายอีอีซีฯ ส่งผลให้คนทั่วไปไม่ทราบถึงข้อเรียกร้องของประชาชนที่เดินขบวน ก่อนถึงคอนโดแห่งหนึ่งบริเวณใกล้​สำนักนโยบายอีอีซีฯ ประชาชนตั้งใจจะชูป้ายที่เตรียมมา แต่ตำรวจขอให้ถึงหน้าคอนโดเสียก่อนแล้วจึงอนุญาตให้แจกป้าย ทำให้ปรากฏว่าภาพออกมาคล้ายกับการโฆษณา​คอนโดทั่วไป

ก่อนถึงคอนโดแห่งหนึ่งบริเวณใกล้​สำนักนโยบายอีอีซี ประชาชนตั้งใจจะชูป้ายที่เตรียมมา แต่ตำรวจขอให้ถึงหน้าคอนโดเสียก่อนแล้วจึงอนุญาตให้แจกป้าย ทำให้ปรากฏว่าภาพออกมาคล้ายกับการโฆษณา​คอนโดทั่วไป

เมื่อเดินทางถึงที่หมายคือสำนักนโยบายอีอีซีฯ เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มประชาชนดังกล่าวอ่านแถลงการณ์ จัดกิจกรรมแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ พร้อมกับยื่นหนังสือต่อ ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชนของอีอีซี

ทัศนีย์ ชี้แจงต่อประชาชนที่มายื่นหนังสือว่าทุกอย่างในโครงการอีอีซีเป็นไปตามกฎหมาย พร้อมระบุว่าประกาศผังเมือง 3 จังหวัดภาคตะวันออก พิจารณาแล้วเสร็จไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว และมีการชี้แจงออกมาเป็นหนังสือโดยทันที (ลงนามวันที่ 23 กรกฎาคม) ว่าโครงการอีอีซีมีการจัดรับฟังความเห็นกว่า 40 ครั้ง มีการกันพื้นที่ป่าไม้ กันที่ดินประเภทโล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกำหนดประเภทการใช้ที่ดินอย่างสอดคล้องเหมาะสม 

กัญจน์ ทัตติยกุลยื่นหนังสือแก่ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์

อย่างไรก็ตาม ข้อชี้แจงโดยโครงการอีอีซียังถูกตั้งคำถามจากภาคประชาชน ในหนังสือที่ประชาชนมอบต่อทัศนีย์ มีการขอให้สำนักนโยบายอีอีซีฯ ส่งบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแก่ภาคประชาชนภายใน 7 วัน ซึ่ง สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการ EnLaw ระบุว่าจะนำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอความคุ้มครองและระงับโครงการชั่วคราวไว้ก่อนเป็นการด่วน เนื่องจาก พ.ร.บ. อีอีซีกำหนดว่าจะต้องมีการสรุปประกาศผังเมือง 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) โดยผ่านคณะกรรมการอีอีซี คณะรัฐมนตรี และประกาศเป็นพระราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 9 ส.ค. 2562 ซึ่งนับแล้วมีเวลาอีกไม่ถึง 3 สัปดาห์ นอกจากนี้ โครงการอีอีซียังดำเนินการโดยละเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ. ผังเมือง การดำเนินการโครงการอีอีซีจึงไม่น่าเป็นไปตามหลักผังเมืองหรือหลักการมีส่วนร่วมตามที่กล่าวอ้าง

กัญจน์ ทัตติยกุลยื่นหนังสือให้แก่สมพาส นิลพันธุ์

ต่อมาเมื่อเวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนในพื้นที่​ 3 จังหวัดภาคตะวันออกได้เดินทางไปยังสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) เพื่อยื่นหนังสืออีกฉบับต่อนายกรัฐมนตรี โดยมี สมพาส นิลพันธุ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับหนังสือ ซึ่งหนังสือฉบับดังกล่าวได้มีการขอให้ตรวจสอบการจัดทำผังเมืองอีอีซี และสั่งให้ดำเนินการจัดทำใหม่ตั้งแต่ต้น เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ดร.สมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการกลุ่ม EEC Watch วิเคราะห์ว่าหากไม่มีการระงับการประกาศผังเมืองไว้ก่อน ประชาชนอาจฟ้องร้องคณะกรรมการอีอีซี คณะรัฐมนตรี และกรมโยธาและผังเมือง หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านศาลปกครองด้วย แต่จะฟ้องใครในข้อหาใดบ้าง ยังต้องดูความชัดเจนอีกครั้ง 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเคลื่อนไหวต่อจากนี้ในวันที่ 24 ก.ค.2562 ประชาชนกลุ่มดังกล่าวมีกำหนดว่าจะเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อรัฐบาล ณ รัฐสภาชั่วคราว (บริเวณสำนักงานใหญ่ ทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ) ทั้งนี้ในวันดังกล่าวจะมีการอภิปรายภายในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมธิการสำรวจผลกระทบของโครงการอีอีซีด้วย   

สำหรับผู้เข้าร่วมยื่นหนังสือในวันนี้นั้นมาจากหลายพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบในภาคตะวันออก เช่น ชาวประมงจาก อ.บางละมุง จ. ชลบุรี ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เกษตรกรจาก ต. โยธะกา อ. บางน้ำเปรี้ยว จ. ฉะเชิงเทรา และ ต. เขาดิน อ.บางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา ที่ได้รับผลกระทบจากผังเมืองซึ่งเปลี่ยนเขตอนุรักษ์ รวมถึงที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยื่นหนังสือยังมาจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กลุ่มโกงกาง (กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสิทธิชุมชน มหาวิทยาลัยบูรพา) และกลุ่มลูกปลานีล (กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสิทธิชุมชน จังหวัดฉะเชิงเทรา)

กลุ่มลูกปลานีล (กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสิทธิชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา)

แถลงการณ์หยุดผังเมืองอีอีซี

 

หนังสือจากประชาชนในพื้นที่ถึงสำนักนโยบายอีอีซี

หนังสือจากประชาชนในพื้นที่ถึงนายกรัฐมนตรี

หนังสือจากสำนักนโยบายอีอีซีต่อประชาชนในพื้นที่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท